เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2568 ทนายความเข้าเยี่ยม เชน ชีวอบัญชา หรือ “ขุนแผน” ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 และดูหมิ่นศาล จากคดีร่วมกิจกรรมเรียกร้องสิทธิประกันตัวที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ ขุนแผนถูกคุมขังโดยไม่ได้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์มาตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 2567 หลังศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก 3 ปี 6 เดือน
ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากอาการป่วยวัณโรคปอด (Tuberculosis หรือ TB) และรักษาตัวมาตั้งแต่ก่อนเข้าเรือนจำ รวมถึงที่เคยประสบภาวะเส้นเลือดในสมองตีบเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ยังคงเป็นเรื่องน่ากังวลของผู้ต้องขัง วัย 57 ปี คนนี้
สถานการณ์ในเรือนจำของขุนแผนน่าเป็นห่วงขึ้น เมื่อกรุงเทพฯ กำลังเผชิญวิกฤตมลพิษฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบทางเดินหายใจ สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของชีวิตผู้ต้องขังที่มีปัญหาสุขภาพท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย
___________________________________
ท่ามกลางกำแพงสูงของเรือนจำ เสียงไอแผ่วเบาดังแทรกผ่านสายโทรศัพท์ เป็นสัญญาณแรกของการพบกันครั้งนี้ ขุนแผนเล่าว่าสัปดาห์นี้มีอาการไอเล็กน้อย แต่ไม่บ่อยมาก โดยรวมยังถือว่าสุขภาพดีกว่าช่วงก่อน ส่วนอาการชาครึ่งซีกจากภาวะเส้นเลือดในสมองตีบยังเท่าเดิมทั้งวัน แต่ถือว่าดีขึ้นกว่าเดือนก่อน ๆ ที่ตอนตื่นมาจะชาน้อยกว่า พอช่วงบ่ายจะชามากขึ้น
ในยามที่ฝุ่น PM 2.5 ปกคลุมกรุงเทพฯ ชีวิตในเรือนจำดำเนินไปแบบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แม้หน้ากากอนามัยธรรมดาถูกแจกจ่าย แต่ไม่อาจต้านทานภัยจากฝุ่นละอองได้อย่างแท้จริง “เจ้าหน้าที่ประกาศให้ใส่หน้ากากอนามัย แต่ไม่ค่อยมีใครใส่หรอก หน้ากากที่มีในนี้มันเป็นแบบธรรมดา แบบที่ใส่กันโควิด ไม่น่ากันฝุ่นได้” ผู้ป่วยวัณโรคกล่าวถึงการป้องกันฝุ่น
แต่ละวันของขุนแผนและเพื่อนร่วมแดน 8 นอกจากเข้ากองงานเรือนนอน ที่จะถูกเรียกไปวันละ 2 รอบ ตอนเช้าเรียกไปกวาดบนห้อง ตอนกลางวันเรียกเช็คยอด มีหัวหน้ากองงานเป็นคนเช็ค เสร็จแล้วก็จะว่าง
จนถึงช่วงเข้าเรือนนอน ก็ผ่านไปด้วยการนอนดูโทรทัศน์ในห้องที่แออัด พักผ่อนตามจังหวะเวลาของเรือนจำกำหนดตื่นตี 5 นอน 3 ทุ่ม สำหรับขุนแผนในวัยที่อายุมากขึ้น ยิ่งช่วงนี้มีอากาศหนาว บางทีก็มีตื่นมากลางดึกบ้าง
สำหรับเรื่องอาหาร ขุนแผนเล่าว่า ที่กินส่วนมากก็สั่งเอา “อาหารในโรงเลี้ยงไม่มีรสชาติ” ก่อนสะท้อนภาพความเป็นจริงของระบบอาหารในเรือนจำ ที่แม้จะมีการตรวจสอบ แต่กลับเป็นเพียงภาพลวงตา อาหารที่นำมาให้ตรวจแตกต่างจากที่จัดให้จริง เขาเล่าอย่างเห็นภาพว่า อาหารที่ไปตรวจจะดูดีกว่าปกติมาก ๆ มีเนื้อสัตว์ มีหมู ไข่ ไก่ ต่างกับข้าวในโรงเลี้ยงที่มองไม่เห็นเนื้อสัตว์ ไม่รู้ว่ามีหรือไม่
“การตรวจคือเอาคนตรวจไปนั่งถ่ายรูป ถ่ายเสร็จแล้วไม่ได้กินด้วย แต่ผมคิดว่าโวยวายไปก็ไม่ได้อะไร เลือกที่จะไม่ไปยุ่งดีกว่า” ขุนแผนระบายความรู้สึกไว้อีกตอน
กระนั้น เขายังมองเห็นแง่บวกในการทำงานของเจ้าหน้าที่แดน 8 “เขาเอาใจใส่ผู้ต้องขัง” ขุนแผนกล่าว โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่พูดตอนรวมแถวก็พูดสิ่งที่เป็นประโยชน์กับผู้ต้องขัง พูดคุยเรื่องการปรับปรุงแดนให้อยู่ได้ดีขึ้น เจ้าหน้าที่เน้นย้ำให้อยู่กันให้ได้
ก่อนเล่าถึงสิ่งที่พบเห็นอย่างซื่อตรงว่า “เวลาเรามอง ด้านนึงเราก็เห็นแง่ลบ เห็นสิ่งแย่ ๆ ในระบบ แต่ด้านหนึ่งก็ต้องบอกว่าแดน 8 ยังทำงานได้ดีระดับหนึ่ง คงไม่ได้ใสสะอาด 100% แต่ก็ไม่ได้แย่ 100%”
สำหรับขุนแผน ข้อดีอีกประการของแดน 8 คือไม่ได้จำกัดเวลาอาบน้ำ ความสะอาดและที่นอนก็แออัดตามสภาพเพราะคนเยอะ และพอมีที่ให้ออกกำลังกาย ส่วนห้องสมุดเขายังไม่เคยไป แม้แต่ก่อนจะเป็นคนชอบอ่านหนังสือ แต่ด้วยอายุที่มากขึ้น สายตาเริ่มไม่ดี การใส่แว่นแม้จะช่วยได้บ้าง แต่ไม่ค่อยสะดวก
“อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด” เขากล่าวทิ้งท้ายถึงอาการทั้งสองโรคที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะการป่วยเส้นเลือดในสมองตีบ โดยเขามีกำหนดวันที่จะตรวจสุขภาพอีกครั้งในวันที่ 7 ก.พ. 2568
จนถึงปัจจุบัน (7 ก.พ. 2568) ขุนแผนถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้ว 205 วัน
.
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
“ขุนแผน” หลังถูกส่งกลับจาก รพ.ราชทัณฑ์ ร่างกายมีแรงขึ้น แต่ยังมีอาการชา-กินข้าวลำบาก
รู้จัก ‘ขุนแผน แสนสะท้าน’: เมื่อผู้ต้องขัง ‘112’ ต้องรักษาวัณโรคในเรือนจำ