ยกฟ้องคดี ‘สี่ทัพ’ ร่วม #ม็อบ17สิงหา64 เห็นว่าไม่ได้ชุมนุมในที่แออัด แต่ให้รอลงอาญา ‘วรัณยา’ เหตุปาสีใส่ป้าย สตช.

วันที่ 17 ก.พ. 2568 ที่ศาลแขวงปทุมวัน วรัณยา แซ่ง้อ และ สี่ทัพ (นามสมมติ) ประชาชนสองราย เดินทางไปฟังคำพิพากษาคดีที่ถูกกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีร่วมชุมนุมใน #ม็อบ17สิงหาไล่ล่าทรราช เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2564 บริเวณสี่แยกราชประสงค์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)

เดิมเหตุจากการชุมนุมครั้งดังกล่าว มีประชาชนรวม 6 คน ถูกฟ้องแยกกันใน 3 คดี ต่อมาจำเลย 4 รายให้การรับสารภาพ เนื่องจากอยากให้คดีสิ้นสุดลงโดยเร็ว ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำคุกคนละ 1 เดือน ปรับคนละ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี เหลือเพียงวรัณยาและสี่ทัพยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา 

ทั้งสองถูกกล่าวหาว่า ร่วมชุมนุมในสถานที่แออัด โดยไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของบุคคลมากกว่าห้าคนขึ้นไป เสี่ยงต่อการแพร่โควิด-19 และร่วมกันขว้างปาถุงสีไปที่ป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อันมีลักษณะยุยงกระตุ้นให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยที่บริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

ในนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน วันที่ 6 พ.ย. 2567 ศาลมีคำสั่งให้รวมสองคดีนี้เป็นคดีเดียวกัน โดยมีวรัณยาเป็นจำเลยที่ 1 ส่วน สี่ทัพ เป็นจำเลยที่ 2  ก่อนนัดสืบพยานไประหว่างวันที่ 11-12 ธ.ค. 2567 โจทก์สืบพยาน 5 ปาก ส่วนจำเลยสืบพยาน 1 ปาก กระทั่งนำมาสู่การฟังคำพิพากษา 

.

ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 710 สิริมา วิริยะโพธิ์ชัย ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน อ่านคำพิพากษาสรุปใจความได้ว่า พิเคราะห์จากพยานหลักฐานต่าง ๆ เห็นว่าบริเวณด้านหน้าของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ได้มีทางเข้าออกอย่างจำกัดหรือคับแคบ ผู้เข้าร่วมสามารถเคลื่อนไหวได้สะดวก และมีระยะห่างจากผู้เข้าร่วมชุมนุมอื่น ๆ ได้  ในการทำกิจกรรมมีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 100 คน แต่เมื่อพิจารณาจากขนาดสถานที่ชุมนุมแล้ว ยังไม่สามารถรับฟังได้ว่าการทำกิจกรรมของจำเลย เป็นการทำกิจกรรมในสถานที่แออัด 

ส่วนการชุมนุมเป็นการทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือไม่นั้น เห็นว่า พยานโจทก์เบิกความยืนยันในระหว่างกิจกรรมชุมนุม มีผู้เข้าร่วมชุมนุมหลายคนขว้างปาถุงสีใส่ป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนกระทั่งถูกจับได้ในที่เกิดเหตุ และมีพยานโจทก์ยืนยันจากภาพเหตุการณ์พบเห็นจำเลยที่ 1 ขว้างปาวัตถุบางอย่างใส่ป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  

จึงน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ขว้างปาถุงสีใส่ป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย แม้ถุงสีดังกล่าวไม่เป็นอาวุธโดยสภาพ ที่เป็นของแข็ง ของมีคม หรือของที่มีลักษณะก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ หรือป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ถูกปาสีอาจถูกล้างออกได้ แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยงานราชการที่มีความสำคัญ ซึ่งประชาชนที่มีติดต่อราชการต้องปฏิบัติตามกฏระเบียบของสถานที่ เพื่อความสงบเรียบร้อย การที่จำเลยเจตนาปาถุงสีใส่ป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงเป็นเจตนาก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

จำเลยต่อสู้คดีโดยอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญเห็นว่า แม้รัฐธรรมนูญกำหนดว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่มาตรา 44 วรรคสอง กำหนดว่าการจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น  ซึ่งพิเคราะห์จากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อรักษาความสงบเรียบแล้วและปลอดภัยของประเทศ รวมถึงป้องกันภัยพิบัติ เพื่อประโยชน์สาธารณะ แล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ขัดกับบทบัญญัติดังกล่าว พยานหลักฐานของโจทก์เชื่อได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ฝ่าฝืนข้อกำหนดดังกล่าว อันเป็นความผิดตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

ส่วนจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่สามารถนำสืบ หรือมีพยานหลักฐานใดบ่งชี้ว่ามีพฤติกรรมขว้างปาวัตถุสิ่งของใส่ป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะฉะนั้นการเข้าร่วมชุมนุมของจำเลยที่ 2 จึงได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ส่วนการขว้างปาถุงสีที่เกิดขึ้นภายหลัง เป็นเจตนาของแต่ละบุคคลในที่ชุมนุม จะถือเป็นเจตนาร่วมไม่ได้ และไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 

พิพากษาว่า วรัณยา จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 (1) (2) และ มาตรา 18 ลงโทษจำคุก 2 เดือน โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี พร้อมลงโทษปรับ 10,000 บาท  ส่วนจำเลยที่ 2 สี่ทัพ  พิพากษายกฟ้อง

.

ย้อนไปเหตุการณ์วันที่ 17 ส.ค. 2567 กลุ่มทะลุฟ้าได้นัดหมายชุมนุมเปลี่ยนสีป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้กลายเป็นสีชมพู มีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และประณามตำรวจที่ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุสลายการชุมนุมของประชาชนที่ออกมาขับไล่รัฐบาล ระหว่างทางมีการปราศรัยและถือป้ายแสดงภาพความรุนแรงจากตำรวจ

กระทั่งเมื่อผู้ชุมนุมเริ่มทำกิจกรรม ตำรวจใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงที่คาดว่ามีแก๊สน้ำตาผสมใส่ผู้ชุมนุม 2 ครั้ง ทำให้ผู้ชุมนุมไม่พอใจและขว้างปาสิ่งของใส่ตำรวจ กลุ่มทะลุฟ้าประกาศยุติการชุมนุมเวลา 16.30 น. แต่หลังจากนั้นมีผู้ชุมนุม 5 คน ถูกควบคุมตัวเข้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  อีก 1 คนถูกจับที่หน้าเซ็นทรัลเวิลด์ขณะหลบฝน ถูกนำตัวไปควบคุมในรถผู้ต้องขัง โดยมีผู้ถูกจับกุมรายหนึ่งระบุว่าได้รับบาดเจ็บจากการกระชากแขน และอีกคนหนึ่งถูกเหยียบที่ข้อเท้า

ทั้งหมดถูกแจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศที่ออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก่อนพาตัวไปฝากขังที่ศาลแขวงปทุมวัน กระทั่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว 

ก่อนหน้านี้ช่วงปลายกันยายน 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเคยยื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด เพื่อขอให้พิจารณาชะลอการสั่งฟ้องคดี หรือใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง เช่น คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การยื่นหนังสือดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่มีการพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน โดยกรรมาธิการศึกษาแนวทางการนิรโทษกรรมที่สภาผู้แทนราษฎรตั้งขึ้น มีข้อเสนอให้อัยการใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องคดีหากเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ระหว่างที่ยังไม่มีการตรากฎหมายนิรโทษกรรม 

อย่างไรก็ตาม พนักงานอัยการในหลายคดียังคงนัดหมายสั่งฟ้องคดีในช่วงเวลาดังกล่าว เช่นเดียวกับคดีของ วรัณยาและสี่ทัพ 

X