ศาลฎีกาพิพากษายืน คดี  “กัลยา” ม.112 จำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา กรณีโพสต์เฟซบุ๊ก 2 กระทง จำเลย-ทนายความไม่ทราบนัดล่วงหน้า

13 ก.พ. 2568 ศาลจังหวัดนราธิวาสเบิกตัว “กัลยา” (นามสมมติ)  อดีตพนักงานบริษัทเอกชนจากจังหวัดนนทบุรี อายุ 30 ปี ไปฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยที่จำเลยไม่ทราบนัดล่วงหน้าและไม่ได้ส่งหมายนัดมายังทนายจำเลยเพื่อมาฟังคำพิพากษา ก่อนทราบว่าศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ลงโทษจำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา

คดีของกัลยาเป็นอีกคดีหนึ่งในชุดคดีมาตรา 112 ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส ซึ่งมี พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้กล่าวหาคดีจำนวนมากไว้ที่ สภ.สุไหงโก-ลก โดยกรณีกัลยาถูกกล่าวหาจากการโพสต์เฟซบุ๊กรวม 4 ข้อความ โดยกล่าวหาเป็น 2 กระทง 

ข้อกล่าวหาที่ถูกกล่าวหา ถูกระบุว่าโพสต์เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 มาจากการคอมเมนต์ในเพจแนะนำหนังเกี่ยวกับกษัตริย์ในอดีตของเกาหลี, จากข้อความที่โพสต์ภาพถ่ายจากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2563, จากการเขียนข้อความประกอบการแชร์โพสต์ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และการแชร์โพสต์จากธนวัฒน์ วงค์ไชย แล้วเขียนประกอบว่า “แน่จริงยกเลิกม.112 #แล้วจะเล่าให้ฟัง”

.

ในคดีนี้ จำเลยต่อสู้ว่าไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความตามข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่บัญชีเฟซบุ๊กตามฟ้องมีผู้สามารถเข้าใช้ได้มากกว่าหนึ่งคน ทั้งพยานหลักฐานของโจทก์ก็เป็นเพียงการแคปหน้าจอข้อความมา ไม่ได้มี URL และวันเวลาของการโพสต์ จึงอาจมีการตัดต่อแก้ไขภาพได้โดยง่าย ทั้งข้อความแต่ละโพสต์มาจากคนละบริบท คนละเวลา แต่ถูกนำมาเรียงต่อกัน ซึ่งส่งผลถึงการตีความได้แบบหนึ่ง แต่เมื่ออ่านแยกจากกัน ก็อาจตีความได้หลากหลาย โดยแต่ละโพสต์ก็ไม่ได้ระบุชื่อถึงบุคคลใด

ย้อนอ่าน เปิดบันทึกสืบพยานคดี 112 ของ “กัลยา” พนักงานเอกชนนนทบุรี ผู้ถูกฟ้องที่นราธิวาส 

ต่อมา เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2565 ศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำพิพากษา โดยเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ข้อความตามฟ้องดังกล่าว เห็นว่าข้อความมีเจตนามุ่งหมายสร้างความเกลียดชังต่อสถาบันกษัตริย์ พิพากษาลงโทษกระทงละ 3 ปี สองกระทง รวมลงโทษจำคุก 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา 

ศาลจังหวัดนราธิวาสอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยระหว่างอุทธรณ์ โดยให้วางหลักทรัพย์ 200,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ และกัลยายื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อมา

.

ต่อมา เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2566 จำเลยเดินทางไปฟังคำพิพากษาหลังจากเลื่อนมาจากวันที่ 27 มิ.ย. 2566 ศาลจังหวัดนราธิวาสได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ภาค 9 โดยสรุปเห็นว่า ข้อความตามที่โจทก์ฟ้อง พยานโจทก์ต่างเบิกความทำนองเดียวกันว่าเมื่ออ่านแล้ว เห็นว่าเป็นการใส่ความโดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 ได้รับความเสียหาย 

พนักงานสอบสวนเบิกความว่าภายหลังได้รับคำร้องทุกข์ ได้ขอตรวจสอบหาบุคคลผู้ใช้งานเฟซบุ๊กดังกล่าวจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง แล้วได้รับแจ้งว่าไม่พบ เนื่องจากผู้ใช้งานอาจลบข้อมูลหรือผู้ให้บริการปิดบัญชีไม่ให้ใช้งาน จึงสืบสวนจากรูปภาพเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กและข้อมูลทะเบียนราษฎร แล้วได้อดีตคนรักของจำเลยมาให้การว่า ในขณะที่จำเลยโพสต์ข้อความทั้งคู่ได้เลิกกันแล้ว และอดีตคนรักไม่สามารถเข้าถึงเฟซบุ๊กของจำเลยได้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรหัสผ่านไปแล้ว

แม้จำเลยจะเบิกความว่าตนเองไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้อง แต่มีข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยได้รับในชั้นสอบสวนว่าเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊ก แต่ไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความ แต่การโพสต์ข้อความเกิดในช่วงเวลาที่จำเลยเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กของตนได้เพียงลำพัง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น กรณีไม่ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไป พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

.

ภายหลังฟังคำพิพากษา ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว โดยวางหลักทรัพย์ประกันจำนวน 500,000 บาท ศาลจังหวัดนราธิวาสได้มีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณา ทำให้ในวันนั้นกัลยาถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำจังหวัดนราธิวาส เพื่อรอฟังคำสั่งประกัน

ต่อมาวันที่ 22 ต.ค. 2566 ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวกัลยา ระบุว่า “พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 6 ปี หากปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยอาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างฎีกา ให้ยกคำร้อง”

จากนั้น ก็ได้มีการยื่นคำร้องขอประกันระหว่างฎีการวม 4 ครั้ง ระบุถึงข้อเท็จจริงใหม่หลายประการ ได้แก่ ศาลได้รับรองและอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว อันถือว่าจำเลยยังไม่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิด จึงยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ทั้งข้อต่อสู้ในชั้นฎีกาของจำเลยมีประเด็นที่ศาลฎีกาสามารถพิพากษากลับยกฟ้องได้, จำเลยไม่ได้กระทำความผิดในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอีก ทั้งไม่มีพฤติการณ์หลบหนีตลอดเวลาที่ถูกดำเนินคดี ที่สำคัญ จำเลยมีอาการป่วยเป็นโนคลิ่มเลือดอุดตันบริเวณขามีอาการเจ็บปวดมากขึ้น และไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทาง ส่งผลกระทบต่อชีวิตและร่างกายเป็นอย่างยิ่ง 

นอกจากนี้ จำเลยยังได้เสนอหลักประกันสูงถึง 1,000,000 บาท ทั้งแสดงความยินยอมติด EM, ให้ศาลตั้งผู้กำกับดูแลตามที่ศาลเห็นสมควร และยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลทุกประการ เพื่อประโยชน์ในการกลับไปรักษาตัวให้พ้นจากความเสี่ยงในชีวิตและร่างกาย 

อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งศาลฎีกายังคงมีคำสั่งไม่ให้ประกัน ระบุเช่นเดิมว่า “พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบเหตุผลตามคำร้องแล้ว กรณียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง” 

.

วันนี้ (13 ก.พ. 2568) เวลา 10.38 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับแจ้งจากญาติของกัลยาว่าได้ทราบว่า กัลยาถูกเบิกตัวไปยังศาลจังหวัดนราธิวาส เพื่อไปฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา 

ญาติของกัลยาได้โทรศัพท์สอบถามกับเจ้าหน้าที่ศาล และได้รับแจ้งว่า ในนัดฟังคำพิพากษาวันนี้ไม่ได้หมายแจ้งมายังทนายความจำเลย โดยสำนวนคดีเพิ่งกลับมาที่ศาลเมื่อวันที่ 10 ก.พ. และมีคำสั่งให้อ่านภายใน 3 วัน จึงให้ญาติโทรสอบถามผลคำพิพากษาในช่วงบ่าย ทำให้ในการฟังคำพิพากษาครั้งนี้ มีเพียงกัลยาที่ถูกนำตัวไปศาล โดยไม่มีทนายความและญาติสามารถเดินทางไปได้

ต่อมาศูนย์ทนายความฯ ได้รับแจ้งว่าศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ โดยจะได้ติดตามรายละเอียดคำพิพากษาต่อไป

.

สำหรับกัลยาแล้ว นับตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. 2566 วันแรกที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำจังหวัดนราธิวาส จนถึงวันนี้ เป็นระยะเวลากว่า 1 ปี 3 เดือน 28 วัน  หากเธอต้องรับโทษจนครบตามคำพิพากษา จะต้องถูกคุมขังต่อไปอีก 4 ปี 8 เดือนเศษ หรือจะพ้นโทษในเดือนตุลาคมปี 2572

กัลยาเป็นพนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งย่านนนทบุรี เธอเป็นคนกรุงเทพฯ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ หลังเรียนจบเธอได้ทำงานที่ธนาคารแห่งหนึ่งอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะผันตัวไปเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ก่อนหน้านี้เธอสอบเข้าทำงานราชการ ด้านพัฒนาชุมชนในองค์กรแห่งหนึ่งจนสำเร็จในปี 2565 แต่เมื่อถูกจองจำ ก็ต้องออกจากงานดังกล่าว

กัลยาไม่เคยรู้จักผู้กล่าวหาในคดีมาก่อน และการถูกกล่าวหาทำให้เธอต้องเดินทางไปต่อสู้คดีที่นราธิวาสกว่า 2 ปี ก่อนจะถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำของจังหวัด เธอยังมีอาการป่วยลิ่มเลือดอุดตัน และไม่ได้รับการดูแลการจัดฟันในช่องปาก ทำให้ช่วงขากรรไกรฟันล่างของเธอเคลื่อนไปจน ‘เบี้ยว’ ผิดรูป

ขณะเดียวกันที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส ยังมี “อุดม” พนักงานโรงงานจากปราจีนบุรี เป็นผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 อีกอย่างน้อย 1 ราย โดยคดีของเขาอยู่ระหว่างรอคำพิพากษาของศาลฎีกาเช่นเดียวกัน 

.

อ่านเรื่องราวของกัลยา

ชีวิต ‘กัลยา’ ในวันที่ถูกขังไกลบ้านด้วย ม.112 สองศาลยืนจำคุก 6 ปี อยู่ที่เรือนจำนราธิวาส ไร้แววได้ประกัน แม้ป่วยลิ่มเลือดอุดตัน ไม่เคยหลบหนี

1 ปีที่จำใจต้อง ‘ไกลบ้าน’ และชีวิตในคุกซ้อนคุก ของคนธรรมดาชื่อ “กัลยา”

ชีวิตพลัดถิ่น ในวันที่ถูกขัง ‘ไกลบ้าน’ ทำความรู้จัก เรือนจำจังหวัดนราธิวาส ในวันที่มีคนถูกขังด้วย ม.112 ถึง 2 คนแล้ว

X