ศาลฏีกายังคงไม่ให้ประกัน “กัลยา” จำเลยคดี 112 แม้จำเลยอาการแย่จากลิ่มเลือดอุดตัน จำเป็นต้องรักษากับแพทย์เฉพาะทาง – วางเงินประกันสูงถึง 1 ล้าน 

วันที่ 5 เม.ย. 2567 ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกัน “กัลยา” (นามสมมติ) อดีตพนักงานบริษัทเอกชนจากจังหวัดนนทบุรี จำเลยในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)  กรณีถูกกล่าวหาว่าคอมเมนต์ในเพจแนะนำหนังเกี่ยวกับกษัตริย์ในอดีตของเกาหลี, โพสต์ข้อความและภาพถ่ายจากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2563 ประกอบการแชร์โพสต์ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 

สำหรับคดีนี้กัลยาถูกศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9  พิพากษาว่ามีความผิดใน 2 ข้อหา ตามฟ้อง ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา แม้กัลยาจะได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุก แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และศาลจังหวัดนราธิวาสส่งคำร้องขอประกันระหว่างฎีกาให้ศาลฎีกาพิจารณา ศาลฎีกากลับไม่อนุญาตให้ประกันเรื่อยมา ทำให้กัลยาถูกคุมขังที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาสมาตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. 2566 จนถึงปัจจุบัน (7 เม.ย. 2567) เป็นระยะเวลา 171 วัน หรือเกือบ 6 เดือนแล้ว 

คำร้องขอประกันระหว่างฎีกาซึ่งยื่นเป็นครั้งที่ 4 นี้ ระบุถึงข้อเท็จจริงใหม่หลายประการอันจะเปลี่ยนแปลงคำสั่งไม่ให้ประกันของศาลฎีกา ได้แก่ ศาลได้รับรองและอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว อันถือว่าจำเลยยังไม่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิด จึงยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ทั้งข้อต่อสู้ในชั้นฎีกาของจำเลยมีประเด็นที่ศาลฎีกาสามารถพิพากษากลับยกฟ้องได้, จำเลยไม่ได้กระทำความผิดในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอีก ทั้งไม่มีพฤติการณ์หลบหนีตลอดเวลาที่ถูกดำเนินคดี ที่สำคัญ อาการป่วยเป็นลิ่มเลือดอุดตันบริเวณขามีอาการเจ็บปวดมากขึ้น และไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทาง ส่งผลกระทบต่อชีวิตและร่างกายของจำเลยเป็นอย่างยิ่ง 

นอกจากนี้ จำเลยยังได้วางหลักประกันเป็นจำนวนที่สูงถึง 1,000,000 บาท ทั้งแสดงความยินยอมติด EM, ให้ศาลตั้งผู้กำกับดูแลตามที่ศาลเห็นสมควร และยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวของศาลทุกประการ เพื่อประโยชน์ในการกลับไปรักษาตัวให้พ้นจากความเสี่ยงในชีวิตและร่างกาย 

อย่างไรก็ตาม วันที่ 6 เม.ย.2567 ศาลฎีกายังคงมีคำสั่งไม่ให้ประกันกัลยาระหว่างฎีกา ระบุเช่นเดิมว่า “พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบเหตุผลตามคำร้องแล้ว กรณียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง” 

.

คำร้องขอประกันครั้งที่ 4 ระบุ ศาลอนุญาตให้จำเลยฎีกาแล้ว “กัลยา” จึงยังเป็นผู้บริสุทธิ์ อีกทั้งไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน – ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี 

สำหรับรายละเอียดของคำร้องขอประกันตัวในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการยื่นประกันเป็นครั้งที่ 4 มีรายละเอียดว่า จำเลยขอวางหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 1,000,000 บาท และยินยอมติด EM อันเป็นหลักประกันที่สูงและเชื่อว่าหากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยจะไม่หลบหนี 

ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงใหม่ประกอบข้อกฎหมายอันจะเปลี่ยนแปลงคำสั่งไม่ให้ประกันของศาลฎีกา กล่าวคือ พฤติการณ์ในคดีนี้จำเลยเป็นเพียงผู้ถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งจำเลยให้การปฎิเสธต่อสู้คดีมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น อีกทั้งจำเลยได้ยื่นฎีกาต่อศาลและผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีรับรองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและอนุญาตให้จำเลยฎีกาแล้วเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2567 จึงปรากฏข้อเท็จจริงแห่งคดีว่า ปัจจุบันจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ได้กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอันถึงที่สุดแต่อย่างใด 

จำเลยไม่เคยมีประวัติการทำความผิดในคดีอาญาอื่นมาก่อน ทั้งยังไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำการอย่างใดในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหานี้อีก จึงปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนว่า จำเลยไม่ได้มีความคิดที่จะกระทำผิดต่อมั่นคงฯ โดยเฉพาะความผิดตามมาตรา 112 อยู่เป็นนิจ ดังนั้น การที่ศาลฎีกาไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวโดยอาศัยเหตุพฤติการณ์คดีที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ และเป็นการกระทำที่อุกอาจ ย่อมขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพของจำเลยที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 29 วรรคสอง และหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ  

นอกจากนี้ นับตั้งแต่ถูกแจ้งความดำเนินคดี จนกระทั่งชั้นอุทธรณ์ จำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมาโดยตลอด และไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี ดังนั้น การที่ศาลฎีกาไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลยโดยอาศัยเหตุว่า หากปล่อยชั่วคราวเกรงว่าจะหลบหนี จึงเป็นคำสั่งที่เกิดจากการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าเองโดยมิได้พิจารณาถึงเหตุจำเป็นหรือข้อเท็จจริงในสำนวนซึ่งปรากฏชัดว่าตลอดระยะเวลาที่จำเลยถูกดำเนินคดี คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ขัดต่อหลักการคุมขังจำเลยต้องทำเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้หลบหนี ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 29 วรรคสาม บัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของจำเลยไว้ 

พยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ไม่สามารถรับฟังได้ว่า “กัลยา” กระทำผิดตามฟ้องจริง  

คำร้องขอประกันยังระบุอีกว่า ข้อต่อสู้ในชั้นฎีกาของจำเลยมีประเด็นที่ศาลฎีกาสามารถพิพากษากลับยกฟ้องได้ กล่าวคือ เนื่องจากคดีนี้ไม่มีพยานหลักฐานชัดเจนว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้อง ข้อความและภาพที่พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ผู้กล่าวหา ถ่ายจากหน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่แล้วนำไปเข้าโปรแกรมตัดแต่ง ไม่ปรากฏต้นุทางข้อมูลหรือ URL ให้ตรวจสอบ จึงมิอาจบ่งชี้ได้ว่าข้อความมีต้นทางจากแหล่งใด  

ทั้งไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนนำยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่และคอมพิวเตอร์จำเลยมาตรวจสอบ และไม่ได้ตรวจสอบโทรศัพท์มือถือของผู้กล่าวหา พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อและยังคงมีข้อสงสัยตามสมควร ไม่สามารถรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง

“กัลยา” ป่วยเป็นลิ่มเลือดอุดตัน หากไม่ได้รับการรักษากับแพทย์เฉพาะทาง ย่อมส่งผลกระทบต่อร่างกายและชีวิต

คำร้องขอประกันระบุถึงปัญหาสุขภาพของกัลยาที่มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนถูกคุมขังว่า ปัจจุบันอาการลิ่มเลือดอุดตันบริเวณขามิได้ทุเลาลงและมีอาการเจ็บปวดมากขึ้น โดยขาข้างขวาที่ผ่าตัดมีลักษณะบวมและปวดตลอดเวลา ทั้งปวดมากขึ้นในเวลาอากาศเย็น ยกของหนักและนั่งนาน ๆ ไม่ได้ 

ประกอบกับโรงพยาบาลนราธิวาสฯ ที่จำเลยถูกส่งไปรักษาไม่มีแพทย์เฉพาะทางในด้านนี้ โดยแพทย์ที่รักษาก็แนะนำให้จำเลยหยุดทานยาสลายลิ่มเลือดและให้ผ่าตัดเอาแสตนถังบอลลูนเส้นเลือดออก ทั้งที่แพทย์ประจำตัวของจำเลยที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ให้ความเห็นว่าต้องใส่ตลอดชีวิต ซึ่งหากจำเลยยังต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาลนราธิวาสฯ ต่อไป ย่อมจะส่งผลกระทบต่อชีวิตและร่างกายของจำเลยเป็นอย่างยิ่ง การคุมขังจำเลยไว้ในระหว่างฎีกาย่อมไม่มีเหตุจำเป็น ทั้งยังส่งผลกระทบให้จำเลยไม่ได้รับการรักษาโรคตามปกติกับแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง  

สุดท้าย กัลยาระบุว่า จำเลยยินยอมติดอุปกรณ์ติดตามตัว ยินดีให้ศาลแต่งตั้งเจ้าพนักงานที่ศาลเห็นสมควรเป็นผู้กำกับดูแลให้จำเลยไปรายงานตัวทุกเดือน และยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวของศาลทุกประการ เพื่อประโยชน์ในการกลับไปรักษาตัวของจำเลยให้พ้นจากความเสี่ยงในชีวิตและร่างกายของจำเลยต่อไป

X