ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา คดีดูหมิ่นศาลของ “มานี – จินนี่” ด้านทนายไม่ได้รับหมายนัดให้มาฟังคำพิพากษา

วันที่ 18 ก.พ. 2568 ศาลอาญากรุงเทพใต้เบิกตัว “มานี” เงินตา คำแสน และ “จินนี่” จิรัชยา สกุลทอง จากทัณฑสถานหญิงกลางเพื่อมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีดูหมิ่นศาล จากกรณีปราศรัยวิจารณ์การทำงานของศาลระหว่างกิจกรรมเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของ “บุ้ง-ใบปอ” ที่หน้าศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2565 โดยไม่มีหมายนัดแจ้งทนายมาก่อน

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา 

.

คดีนี้มี สันติ ชูกิจทรัพย์ไพศาล รองอธิบดีศาลอาญากรุงเทพใต้ มอบอำนาจให้ เนติพันธ์ สมจิตต์ เข้าร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีเงินตาและจิรัชยา โดยผู้กล่าวหาเห็นว่าคำพูดของทั้งสองคนทำให้ศาลหรือผู้พิพากษาได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง 

ต่อมา วันที่ 25 ส.ค. 2565 ทั้งสองถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมจากที่พัก ตามหมายจับของศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 19 ส.ค. 2565 ควบคุมตัวไปยังกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) พนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา ได้เดินทางมาแจ้งข้อกล่าวหา 3 ข้อหา ได้แก่ ร่วมกันดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี, ร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198, 328 และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งคู่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา 

ก่อนที่ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งไม่ให้ประกันในชั้นฝากขัง อ้างเหตุว่า การกระทำของทั้งคู่ถือเป็นภัยอันตรายอย่างร้ายแรงต่อศาล ทำให้ทั้งสองถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางอยู่นาน 9 วัน กระทั่งศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในวันที่ 3 ก.ย. 2566 

หลังอัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2565 ทั้งคู่ยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนจะแถลงขอถอนคำให้การเดิม และขอให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้องในเวลาต่อมา ศาลอาญากรุงเทพใต้จึงมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2566 ว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198, 328 และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ  เนื่องจากการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษตามมาตรา 198 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำเลยทั้งสองสำนึกในการกระทำความผิด ตลอดจนมีการแถลงขอโทษต่อผู้เสียหาย เห็นสมควรให้ลงโทษสถานเบา จำคุกคนละ 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา 

ทั้งสองได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์ โดยให้วางหลักประกันคนละ 105,000 บาท เป็นเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ จนกระทั่งทั้งสองถูกคุมขังตามคำพิพากษาในคดีอื่น จึงมีการถอนประกันในคดีนี้ไปในภายหลัง

ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เงินตาและจิรัชยาได้ยื่นอุทธรณ์ ขอให้ศาลอุทธรณ์ลงโทษสถานเบากว่าที่ศาลชั้นต้นลงโทษ และให้รอการลงโทษ หรือรอการกำหนดโทษ เพื่อที่จำเลยจะได้มีโอกาสกลับตนเป็นพลเมืองของสังคมต่อไป 

.

วันนี้ (18 ก.พ. 2568) เวลา 10.20 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า เงินตาและจิรัชยาถูกเบิกตัวจากทัณฑสถานหญิงกลางไปฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 604 ศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยไม่มีหมายนัดมายังทนายมาก่อน 

ทนายความได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ศาลว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา

(อัปเดต 20 ก.พ. 2568) ศูนย์ทนายความฯ ได้รับคำพิพากษาที่ทนายความได้ขอคัดถ่ายไว้ ระบุว่า

ความผิดฐานร่วมกันทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนัหงานเจ้าหน้าที่ เป็นอันยุติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรัยเป็นพินัย พ.ศ.2565 หรือไม่

เห็นว่า ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ มี พ.ร.บ.ปรับเป็นพินัยฯ ใช้บังคับ ให้เปลี่ยความผิดทางอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวตามกฎหมายในบัญชี 1 ท้ายพระราชบัญัติดังกล่าว เป็นความผิดทางพินัย และให้ถือว่าอัตราโทษปรับอาญาที่บัญญัติไว้ในกฎหมายนั้น เป็นอัตราค่าปรับเป็นพินัย ให้การปรับเป็นพินัยไม่เป็นโทษอาญา ซึ่งความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ จึงเปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัยโดยผลของกฎหมาย เมื่อการกระทำความผิดกรรมเดียวของจำเลยทั้งสองเป็นทั้งความผิดทางพินัยและความผิดอาญาและศาลพิพากษาลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 แก่จำเลยทั้งสองแล้ว ความผิดทางพินัยย่อมเป็นอันยุติ ตาม พ.ร.บ.ปรับเป็นพินัยฯ

สมควรลงโทษจำเลยทั้งสองให้เบากว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือรอการกำหนดโทษแก่จำเลยทั้งสองหรือไม่

เห็นว่า ศาลชั้นต้นใช้ดุลยพินิจลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 1 ปี จำเลยทั้งสองรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 6 เดือน จึงเป็นโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ นับว่าเหมาะสมและเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองมากแล้ว ไม่มีเหุที่ศาลอุทธรณ์จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อนี้ ฟังไม่ขึ้น

สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสองหรือไม่

เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม พฤติการณ์จึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ก็เป็นเพียงเหตุบรรเทาโทษ ซึ่งศาลชั้นต้นลดโทษทั้งสองคนละกึ่งหนึ่งแล้ว การที่จำเลยทั้งสองไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนกับมีภาระต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวและมีโรคประจำตัว ล้วนเป็นเพียงเหตุผลและความจำเป็นส่วนตัวของจำเลยทั้งสอง ยังไม่เพียงพอที่จะรอการลงโทษ เนื่องจากไม่เหมาะสมกับสภาพความผิด ทั้งยังเป็นเยี่ยงอย่างให้แก่ผู้ที่คิดจะกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลยพินินจไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษาแก้ว่า ความผิดอาญาฐานร่วมกันดูหมิ่นผู้พิพากษาในการพิจารณาคดีและฐานร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา กับความผิดทางพินัย ฐานร่วมกันทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวกัน จึงให้ลงโทษอาญษฐานร่วมกันดูหมิ่นผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักสุด ส่วนความผิดทางพินัยเป็นอันยุติ โทษทางอาญานอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ทั้งนี้ เงินตาถูกคุมขังในทัณฑสถานหญิงกลางมาเป็นเวลา 216 วันแล้ว ในคดีมาตรา 112 และดูหมิ่นศาลอีกคดีของเธอ จากกรณีทำกิจกรรม “ยืนบอกเจ้าว่าเราโดนรังแก” และการร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2567 ศาลมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา และศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันตัวเรื่อยมา

ส่วนจิรัชยาก็ถูกคุมขังในทัณฑสถานหญิงกลางมาเป็นเวลา 35 วันแล้ว ในคดีมาตรา 112 จากกรณีไลฟ์สดบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ในขณะที่กำลังเดินทางไปเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ25กรกฎาคมแห่เทียนไล่นายกฯ ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มทะลุฟ้า โดยเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2568 ศาลอาญามีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา และศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวเช่นกัน

X