วันที่ 26 ก.พ. 2568 เวลา 14.50 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับแจ้งว่ามีประชาชนชาวจังหวัดมหาสารคาม คือ วัชรพงษ์ ซินโซ พนักงานบริษัทเอกชน วัย 30 ปี ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดพัทลุง ในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ทราบภายหลังว่าเหตุจากกรณีโพสต์แสดงความคิดเห็นใต้พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ในกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส – ตลาดหลวง เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2565
.
จากการติดตามทราบรายละเอียดว่า วัชรพงษ์ถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ. 2568 ที่บ้านพักในจังหวัดปทุมธานี ตามหมายจับของศาลจังหวัดพัทลุง ในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากนั้นถูกควบคุมตัวไปทำบันทึกการจับกุมที่ สภ.เมืองปทุมธานี ก่อนถูกควบคุมตัวต่อไปที่ สภ.เมืองพัทลุง ซึ่งเป็นสถานีตำรวจท้องที่ที่รับผิดชอบคดี โดยเดินทางถึง สภ.เมืองพัทลุงในเวลา 02.22 น. ของวันที่ 26 ก.พ.
ในเช้าวันนี้ (27 ก.พ.) เวลา 09.00 น. ทนายความเดินทางเข้าไปที่ สภ.เมืองพัทลุง เพื่อขอพบผู้ต้องหา แต่ได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวนว่า ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนแล้ว โดยไม่ประสงค์ให้มีทนายความ ระหว่างสอบปากคำผู้ต้องหาจึงไม่มีทนายความอยู่ร่วมกระบวนการด้วย ก่อนพนักงานสอบสวนนำตัวไปฝากขังต่อศาลจังหวัดพัทลุงตั้งแต่เมื่อวาน และถูกนำตัวไปคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางพัทลุง
ตามคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาที่พนักงานสอบสวนยื่นต่อศาลระบุว่า คดีนี้มีทรงชัย เนียมหอม ประธานกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันฯ เป็นผู้กล่าวหา โดยมี ร.ต.อ.ประเสริฐ ด้วงเอียด รองสารวัตรสอบสวน สภ.เมืองพัทลุง เป็นพนักงานสอบสวน ซึ่งมีรายละเอียดพฤติการณ์แห่งคดีระบุว่า เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2565 เวลาประมาณ 10.23 น. ผู้ต้องหาได้ใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวเข้าไปแสดงความคิดเห็นในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส – ตลาดหลวง” ซึ่งมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายอื่นโพสต์ภาพรัชกาลที่ 10 พร้อมข้อความประกอบ ซึ่งผู้กล่าวหาเห็นว่า ข้อความที่ผู้ต้องหาแสดงความเห็นใต้โพสต์ดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น เพื่อให้รัชกาลที่ 10 ถูกด้อยค่า เสื่อมเสียพระเกียรติยศอย่างร้ายแรง จึงได้เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีผู้ต้องหา
ต่อมา 10.30 น. ทนายได้รับแจ้งจากครอบครัวว่า ศาลจังหวัดพัทลุงอนุญาตให้ประกันวัชรพงษ์ระหว่างสอบสวน หลังครอบครัวยื่นประกันด้วยหลักทรัพย์ส่วนตัวจำนวน 100,000 บาท ซึ่งครอบครัวได้รับแจ้งจากเรือนจำว่า วัชรพงศ์จะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำภายในเย็นวันนี้
.
อย่างไรก็ตาม ในคำร้องขอฝากขังมีข้อน่าสังเกตอยู่ว่า ทรงชัยในฐานะผู้กล่าวหาที่ได้เข้าร้องทุกข์ไว้ที่ สภ.เมืองพัทลุง ระบุกับพนักงานสอบสวนว่า ทราบถึงเหตุในคดีนี้ในวันที่ 19 พ.ค. 2566 ซึ่งเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี ภายหลังเกิดเหตุ
การแจ้งความในลักษณะดังกล่าวถือว่าเป็นการดำเนินคดีระยะไกล ซึ่งทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งถูกดำเนินคดีในพื้นที่ห่างไกลจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการต่อสู้คดี โดยจากการติดตามข้อมูลของศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าการแจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 – 116 ในระยะไกล โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 33 คดีแล้ว ซึ่งในจำนวนนี้เป็นคดีที่เกิดจากการเข้าแจ้งความของกลุ่มปกป้องสถาบันฯ เพื่อให้ดำเนินคดีกับประชาชนที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในโซเชียลมีเดีย เฉพาะกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันฯ มีการแจ้งความไว้ไม่น้อยกว่า 15 คดี
.