5 ก.พ. 2568 ศาลจังหวัดขอนแก่นนัดฟังคำพิพากษาในคดีมาตรา 116 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักกิจกรรมวัย 33 ปี ถูกฟ้องจากการเข้าร่วมกิจกรรม “หมายที่ไหนม็อบที่นั่น” จัดโดยกลุ่ม “ขอนแก่นพอกันที” เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563 เพื่อให้กำลังใจกลุ่มนักกิจกรรมที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีจากการชุมนุมครั้งก่อนหน้านี้ และย้ำข้อเสนอในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยในวันดังกล่าวไผ่เป็นหนึ่งในผู้ถูกออกหมายเรียกที่ต้องเข้ารับทราบข้อกล่าวหาด้วย
คดีมี สุพัฒน์ ปัสสาคร อดีตประธานชมรมคนรักในหลวงขอนแก่น และ พ.ต.ท.อดิศักดิ์ งามชัด ชุดสืบสวน สภ.เมืองขอนแก่น เป็นผู้กล่าวหา โดยพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่น เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลกล่าวหาว่า การเดินขบวนถือป้ายผ้าและการกล่าวปราศรัยตามความหมายในป้ายผ้า ซึ่งมุ่งหมายให้ยกเลิกหรือริดรอนพระราชอํานาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการกระทําเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน
สำหรับไผ่มีข้อต่อสู้คดีว่า กิจกรรมในวันดังกล่าวเป็นการให้กำลังใจผู้ถูกออกหมายเรียกจากการชุมนุม ทั้งเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้แก้ไขกฎหมายและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีความมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง อันเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต และเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ โดยมีนักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนเบิกความเป็นพยานจำเลยว่า การเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน หากไม่ได้เสนอให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ อีกทั้งข้อความในป้ายผ้าก็อยู่ในขอบเขตการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
อ่านคำเบิกความพยานบนเว็บไซต์: บันทึกปากคำพยานคดี ม.116 เหตุปราศรัย-แห่ป้ายยกเลิกมาตรา 6 – ม.112 ที่ขอนแก่นปี 63 “ไผ่” ยืนยัน เรียกร้องแก้ไขกฎหมาย ไม่ได้มุ่งเปลี่ยนแปลงการปกครอง
.
ประมาณ 13.30 น. ไผ่และทนายจำเลยเดินทางมาถึงศาล หน้าห้องพิจารณาคดีที่ 9 มีตำรวจศาลและ รปภ. 3 นาย ยืนรักษาการณ์ ขณะในห้องพิจารณามีตำรวจศาล 2 นาย นั่งอยู่สองข้างประตูห้อง และตำรวจประจำศาลพร้อมกุญแจมือสำหรับควบคุมตัวผู้ต้องขังนั่งใกล้ ๆ ไผ่
ราว 14.00 น. องค์คณะผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดีและอ่านคำพิพากษาที่เลื่อนมาจากช่วงเช้า เนื่องจากไผ่ติดธุระจำเป็นที่ทำให้เดินทางมาศาลไม่ทัน และทนายจำเลยได้แถลงขอเลื่อนฟังคำพิพากษาในช่วงบ่าย
คำพิพากษามีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้
พิเคราะห์พยานหลักฐาน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้พนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ออกหมายเรียกผู้ต้องหากรณีร่วมกันชุมนุมที่สวนรัชดานุสรณ์เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2563 ให้ไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 10 ก.ย. 2563 ต่อมา วันที่ 10 ก.ย. 2563 เวลาประมาณ 08.00 น. จำเลยกับพวกได้เดินขบวนถือป้ายผ้าไปตามถนนสาธารณะในเมืองขอนแก่นพร้อมกับมีการปราศรัย เมื่อไปถึง สภ.เมืองขอนแก่น จำเลยกับพวกได้นำป้ายผ้าไปติดหน้าอาคาร สภ.เมืองขอนแก่น และมีการปราศรัยก่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหา และในวันที่ 17 กันยายน 2563 เจ้าพนักงานได้เข้าตรวจค้นและยึดป้ายผ้าจำนวน 17 แผ่น ได้ที่บ้านพักของจำเลย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมและร่วมกันชุมนุมในสถานที่แออัด หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่
เห็นว่า ข้อกำหนดดังกล่าวที่ห้ามชุมนุม นอกจากไม่ได้กำหนดว่า สถานที่ใดแออัดหรือเสี่ยงต่อการแพร่โรคแล้ว การชุมนุมยังต้องอยู่ในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงประกาศกำหนด จึงจะเป็นความผิด แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบว่า พื้นที่ที่จำเลยกับพวกชุมนุมอยู่ในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ ประกาศกำหนด ซึ่งประกาศดังกล่าวหาใช่ข้อกฎหมายที่รู้กันทั่วไป ประกอบกับจำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมและร่วมกันชุมนุมในสถานที่แออัด หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปคือ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานทำให้ปรากฏแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรและเพื่อให้ประชาชนร่วมละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (2)(3) หรือไม่
โจทก์มี พ.ต.อ.ธน, พ.ต.ท.อดิศักดิ์, พ.ต.ท.วัชรสิทธิ์, พ.ต.ท.วิโรจน์ และ พ.ต.ท.สุพรรณ เจ้าพนักงานสืบสวนและสอบสวน รวมทั้ง ร.ต.ท.สุรพล ปราบพาล ตำรวจจราจร เป็นพยานเบิกความในทำนองเดียวกันว่า วันเกิดเหตุจำเลยกับพวกประมาณ 50 คน เดินขบวนถือป้ายผ้าไปตามถนนในเมืองขอนแก่น ระหว่างเดินมีการปราศรัยเรียกร้องให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 6, ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมทั้งให้ลดงบประมาณสถาบันกษัตริย์และให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ทั้งยังมีการถ่ายทอดสดผ่านโซเชียลมีเดีย มีการเชิญชวนประชาชนชู 3 นิ้ว และตะโกนว่า ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ และชักชวนให้ประชาชนไปร่วมการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อถึง สภ.เมืองขอนแก่น จำเลยกับพวกยังได้กล่าวปราศรัยเกี่ยวกับข้อความในป้ายผ้า ก่อนเข้าพบพนักงานสอบสวน
ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ การที่จําเลยกับพวกชุมนุมเรียกร้องให้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 6 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมทั้งให้ตรวจสอบทรัพย์สินของสถาบันกษัตริย์และยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ เป็นการก้าวล่วงพระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์ มีจุดประสงค์ให้สถาบันกษัตริย์อ่อนแอ ประชาชนไม่เคารพและเทิดทูน เกิดความแตกแยกในประเทศชาติ หากมีประชาชนที่ไม่เห็นด้วยก็จะออกมาต่อต้านเกิดการกระทบกระทั่งกัน จนอาจเกิดความปั่นป่วนในหมู่ประชาชน และอาจก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร อีกทั้งในช่วงเกิดเหตุมีประกาศห้ามชุมนุม การชักชวนให้ประชาชนมาชุมนุมจึงเป็นการละเมิดกฎหมายแผ่นดิน
พยานโจทก์อีกหลายปากที่เป็นประชาชนที่พบเห็นเหตุการณ์ทั้งในเมืองขอนแก่นและผ่านทางเฟซบุ๊กเบิกความทำนองเดียวกันว่าการชุมนุมถือป้ายเรียกร้องให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 6 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีข้อความพาดพิงสถาบันกษัตริย์ อาจมีประชาชนไม่เห็นด้วย ทำให้เกิดความไม่สงบ
เห็นว่า พยานโจทก์ไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน เบิกความสอดคล้องต้องกัน เชื่อว่าพยานเปลี่ยนโจทก์เบิกความไปตามความจริง ประกอบกับวัตถุพยานซึ่งเป็นคลิปเหตุการณ์ชุมนุมที่จำเลยกับพวกถ่ายทอดสดมีความต่อเนื่องและมีข้อเท็จจริงสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจทก์ ทั้งจำเลยก็รับว่าได้เข้าร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุจริงและไม่ได้นำสืบว่า คลิปเหตุการณ์มีการตัดต่อแต่อย่างใด
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (2)(3) มีองค์ประกอบภายนอกว่า เป็นการทำให้ปรากฏแก่ประชาชน อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และมีองค์ประกอบภายในว่ากระทำโดยเจตนาและโดยมีเหตุจูงใจ
แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีส่วนจัดทำป้ายผ้าทั้ง 17 ป้าย ตามฟ้องก็ตาม แต่การที่จำเลยกับพวกร่วมกันแสดงป้ายผ้าและปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียง รวมทั้งถ่ายทอดภาพและเสียง ย่อมถือได้ว่าจำเลยกับพวกร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนแล้ว
ส่วนการพิจารณาว่าจำเลยกระทำโดยเจตนาและมีเหตุจูงใจหรือไม่ เมื่อพิจารณาข้อความในป้ายผ้าทั้ง 17 ป้าย เห็นว่าไม่ใช่ข้อความที่เป็นการต่อต้านรัฐประหารเพียงอย่างเดียว มีข้อความเรียกร้องให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 6 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่คุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งให้ตรวจสอบทรัพย์สินของสถาบันกษัตริย์และยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ อันเป็นการก้าวล่วงพระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์ โดยจำเลยเล็งเห็นได้ว่า ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพและเทิดทูนสถาบันกษัตริย์
ทั้งรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 2 บัญญัติว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข, มาตรา 6 บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิด กล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใด ๆ มิได้, มาตรา 49 บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ และมาตรา 255 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทำมิได้ เช่นนี้เห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญได้ดำรงเจตนาให้ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
การที่จำเลยกับพวกถือป้ายผ้าที่มีข้อความเรียกร้องให้ลิดรอนพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์เดินไปตามถนน มีประชาชนเห็นได้ชัดเจน และจำเลยได้กล่าวปราศรัยว่า ก็เพราะประมุขของรัฐไม่อยู่ใต้กฎหมาย ทำให้องคาพยพทั้งหลายไม่อยู่ใต้กฎหมายแล้วใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของนักเรียนนิสิตนักศึกษาและประชาชน อันเป็นกล่าวหาพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ ทำให้ผู้ฟังเชื่อถือ คล้อยตาม และไม่เคารพสถาบันกษัตริย์ จึงไม่ใช่การกระทำที่อยู่ในขอบเขตของการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต อาจก่อให้เกิดความปั่นป่วนในหมู่ประชาชน เกิดความแตกแยก และอาจก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (2)(3) จำคุก 3 ปี จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ต้องโทษจำคุก และได้กระทำความผิดในคดีนี้อีกภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษ จึงให้เพิ่มโทษ 1 ใน 3 รวมจำคุก 4 ปี คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน และให้ริบป้ายผ้าของกลาง 17 ผืน
อนึ่ง อธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 มีคำสั่งให้รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 นั่งเป็นองค์คณะร่วมพิจารณาคดี แต่ไม่ได้ให้ร่วมจัดทำคำพิพากษา จึงมีเพียงองค์คณะผู้พิพากษา 2 คน ลงนามท้ายคำพิพากษา
องค์คณะผู้พิพากษาคดีนี้ประกอบด้วย สุวัฒน์ ปิ่นแก้ว หัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดขอนแก่น เจ้าของสำนวน และปวีณ งามเจตวรกุล
.
หลังจบคำพิพากษาตำรวจประจำศาลได้ควบคุมตัวไผ่ลงไปที่ห้องรอประกัน ซึ่งอยู่บริเวณเดียวกันกับห้องขังใต้ถุนศาล ขณะที่ทนายความและนายประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ยื่นประกันไผ่ในชั้นอุทธรณ์โดยใช้หลักประกันเป็นเงินสด 70,000 บาท โดยมีนักกิจกรรมจำนวนหนึ่งมารอคอยฟังผลประกัน
ประมาณ 15.30 น. ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันไผ่ระหว่างอุทธรณ์ตีราคาประกัน 100,000 บาท แต่ให้วางหลักประกันเป็นเงินสดส่วนหนึ่งคือ 70,000 บาท ไม่กำหนดเงื่อนไขประกันใด ๆ นอกจากให้จำเลยมาตามนัดของศาลทุกนัด
ภายหลังไผ่ได้รับการปล่อยตัว ได้ให้ความเห็นต่อคำพิพากษาสั้น ๆ ว่า ลงโทษหนักเกินไป โดยมีข้อสังเกตว่า โทษที่ศาลวางให้จำคุก 3 ปี นั้น ใกล้เคียงกับโทษจำคุกในคดีมาตรา 112 ซึ่งในปัจจุบันศาลมักมีคำพิพากษาให้จำคุก 3-4 ปี
.
อ่านฐานข้อมูลคดี: คดี 112 – เพนกวิน, 116 – ไผ่ #ม็อบ20สิงหา ขอนแก่น