บันทึกปากคำพยานคดี ม.116 เหตุปราศรัย-แห่ป้ายยกเลิกมาตรา 6 – ม.112 ที่ขอนแก่นปี 63 “ไผ่” ยืนยัน เรียกร้องแก้ไขกฎหมาย ไม่ได้มุ่งเปลี่ยนแปลงการปกครอง 

24 ธ.ค. 2567 ศาลจังหวัดขอนแก่นนัดฟังคำพิพากษาในคดีมาตรา 116 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักกิจกรรมวัย 33 ปี ถูกฟ้องจากการเข้าร่วมกิจกรรม “หมายที่ไหนม็อบที่นั่น” จัดโดยกลุ่ม “ขอนแก่นพอกันที” เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563 เพื่อให้กำลังใจกลุ่มนักกิจกรรมที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีจากการชุมนุมครั้งก่อนหน้านี้ และย้ำข้อเสนอในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยในวันดังกล่าวไผ่เป็นหนึ่งในผู้ถูกออกหมายเรียกที่ต้องเข้ารับทราบข้อกล่าวหาด้วย

คดีมี สุพัฒน์ ปัสสาคร อดีตประธานชมรมคนรักในหลวงขอนแก่น และ พ.ต.ท.อดิศักดิ์ งามชัด ชุดสืบสวน สภ.เมืองขอนแก่น เป็นผู้กล่าวหา

คดีนี้เดิมมี “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ถูกฟ้องในข้อหาตามมาตร 112, 116 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการปราศรัย 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในการชุมนุม “จัดม็อบไล่ แม่งเลย” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2563 และจากการร่วมเดินไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองขอนแก่น ในวันที่ 10 ก.ย. 2563 พร้อมกับไผ่ด้วย แต่เพนกวินไม่ได้มาศาลในนัดสืบพยาน ศาลจึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว 

.

พนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่นบรรยายคำฟ้องเฉพาะในส่วนของไผ่มีเนื้อหาโดยสรุปว่า 

1. เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563 พริษฐ์และจตุภัทร์ได้ร่วมกันกับประชาชนอีกหลายคน จัดให้มีการรวมตัวกันตั้งขบวนที่บริเวณอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ มีประชาชนเข้าร่วมประมาณ 50 คน และเดินขบวนไปตามถนนมุ่งหน้าไปที่บริเวณหน้า สภ.เมืองขอนแก่น ปราศรัยเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ อันเป็นการร่วมกันชุมนุมในสถานที่แออัด หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค

2. พริษฐ์และจตุภัทร์ได้ร่วมกันเป็นแกนนําจัดกิจกรรม “จัดม็อบไล่แม่งเลย” และ “หมายที่ไหน ม็อบที่นั่น” มีการประกาศนัดหมายเชิญชวนประชาชนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยจําเลยทั้งสองกับพวกอีกหลายคนได้จัดทําป้ายผ้า จํานวน 17 แผ่น มีข้อความดังนี้ 1.มิได้เป็นผู้มีมลทินมัวหมอง, 2.ยุบสภาภายใต้กติกาใหม่, 3.ไม่เอารัฐประหาร, 4.ไม่เอา รบ.แห่งชาติ, 5.กษัตริย์อยู่ใต้ รธน., 6.ยกเลิก รธน.ม.6, 7.ยกเลิก ม.112, 8.ควบคุมตรวจสอบทรัพย์สินกษัตริย์, 9.ลดงบกษัตริย์, 10.ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์, 11.ยกเลิกรับบริจาคโดยราชกุศล, 12.ยกเลิกราชอํานาจในการแสดงความเห็นทางการเมือง, 13.ยกเลิกการประชาสัมพันธ์ด้านเดียว, 14.หยุดคุกคามประชาชน, 15.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่, 16.ยกเลิกเกณฑ์ทหาร, 17.ยกเลิกรับรอง รปห. 

จากนั้นมีการเดินแห่ป้ายข้อความดังกล่าวไปตามถนน พร้อมกับกล่าวปราศรัยทางเครื่องขยายเสียงให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมต่อต้านการปกครองแผ่นดินในความหมายตามป้าย ซึ่งมุ่งหมายให้ยกเลิกหรือลิดรอนพระราชอํานาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะของปวงชน และให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ซึ่งเป็นข้อกฎหมายโดยตรงของสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต แต่ถือเป็นการร่วมกันกระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่การกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน 

ท้ายคำฟ้อง อัยการขอให้เพิ่มโทษจตุภัทร์ จากเหตุที่พ้นโทษจำคุกในคดี 112 ของศาลนี้ ยังไม่ถึง 5 ปี แล้วมาถูกดำเนินคดีในคดีนี้อีก

อ่านฐานข้อมูลคดี: คดี 112 – เพนกวิน, 116 – ไผ่ #ม็อบ20สิงหา ขอนแก่น 

.

การสืบพยานในคดีนี้มีขึ้นในช่วงต้นเดือน ส.ค. 2567 องค์คณะผู้พิพากษาประกอบด้วย สุวัฒน์ ปิ่นแก้ว หัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดขอนแก่น เจ้าของสำนวน และปวีณ งามเจตวรกุล นอกจากนี้ จากการตรวจสำนวนของทนายความพบว่า อธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 มีคำสั่งให้ ปรีชา พันธไชย รองอธิบดีมานั่งเป็นองค์คณะ พร้อมทั้งมี นรวัฒน์ สวยงาม ผู้พิพากษาอาวุโสประจำศาลจังหวัดขอนแก่น มานั่งร่วมเป็นองค์คณะในช่วงหลังด้วย

โจทก์นำพยานเข้าเบิกความรวม 12 ปาก ประกอบด้วย ประชาชนและตำรวจสืบสวน ผู้กล่าวหา, ตำรวจสืบสวน, สันติบาล, ตำรวจจราจร, เจ้าหน้าที่สาธารณสุข, ประชาชนที่ขับรถผ่านและเห็นเหตุการณ์จากโพสต์ในเฟซบุ๊ก, รอง ผอ.โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน และพนักงานสอบสวน

พยานโจทก์ต่างเบิกความในทำนองว่า ไผ่เป็นแกนนำหลักในการชุมนม ปราศรัย และร่วมเดินถือป้ายเชิญชวนชุมนุมเรียกร้องให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงลดงบกษัตริย์ ซึ่งมีลักษณะต่อต้านและลิดรอนอำนาจพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่การติชมโดยสุจริต หากมีคนคัดค้านอาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย ความไม่สงบ อีกทั้งผู้ชุมนุมไม่สวมแมสก์และไม่เว้นระยะห่างอาจทำให้โควิดแพร่ระบาดได้

อย่างไรก็ตาม พยานโจทก์เองก็รับว่า ไม่เห็นไผ่ถือป้ายผ้าในระหว่างเดินขบวนและไม่มีหลักฐานว่าไผ่เกี่ยวข้องกับเพจที่นัดหมายชุมนุม ทั้งไม่สามารถระบุได้ว่าไผ่ปราศรัยเรื่องอะไร เนื้อหาในป้ายผ้าก็เป็นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ยกเลิกกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลต้องดำเนินการผ่านสภา นอกจากนี้ ก่อนและหลังชุมนุมไม่มีผู้ติดเชื้อในจังหวัดขอนแก่น

ฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าสืบทั้งหมด 2 ปาก คือ ไผ่และนักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน  โดยไผ่มีข้อต่อสู้คดีว่า กิจกรรมในวันดังกล่าวเป็นการให้กำลังใจผู้ถูกออกหมายเรียกจากการชุมนุม ซึ่งไผ่เป็นผู้ถูกออกหมายเรียกด้วย และเป็นการประจานกระบวนการยุติธรรมที่ใช้การดำเนินคดีปิดปากประชาชนที่ออกมาคัดค้านรัฐบาล ทั้งเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้แก้ไขกฎหมายและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีความมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง อันเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต และเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ 

คำเบิกความพยานโจทก์และพยานจำเลยมีรายละเอียดดังนี้

.

สุพัฒน์ ปัสสาคร เกษตรกร ผู้กล่าวหา เบิกความว่า เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2563 เวลาประมาณ 22.00 น. พยานดูข่าวทางโทรทัศน์พบภาพเหตุการณ์การจัดชุมนุมปราศรัยในเขตเทศบาลนครขอนแก่น โดยมีแกนนําหลักคือ เพนกวินหรือพริษฐ์ ชิวารักษ์ วันรุ่งขึ้นช่วงเช้าพยานก็พบภาพการชุมนุมดังกล่าวในโทรทัศน์อีกครั้ง 

พยานได้ยินจากข่าวว่า เพนกวิน จําเลยที่ 1 กล่าวปราศรัยพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพรักของประชาชน รวมทั้งมีการเสนอให้ยกเลิก 112 แต่พยานจํารายละเอียดคำปราศรัยไม่ได้ 

ต่อมา วันที่ 11 ก.ย. 2563 ช่วงเช้าพยานดูโทรทัศน์เห็นแกนนำ ที่จำได้มีไผ่ ดาวดิน หรือจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จําเลยที่ 2 และเพนกวิน กับพวก ถือป้ายเดินขบวนไปตามถนนในตัวเมืองขอนแก่นไปที่ สภ.เมืองขอนแก่น พยานมองเห็นป้ายไม่ชัด แต่ได้ยินผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นป้ายข้อความขอให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 6, มาตรา 7 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

พยานเห็นว่าการเดินขบวนของจําเลยทั้งสองกับพวกมีลักษณะเป็นการเชิญชวนให้ประชาชนออกมาชุมนุมเพื่อให้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 6 และมาตรา 7 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พยานเกรงว่าจะมีเหตุการณ์บานปลายเกิดความไม่สงบขึ้นจึงไปแจ้งความที่ สภ.เมืองขอนแก่น ให้ดําเนินคดีจําเลยทั้งสอง 

พยานไม่เคยรู้จักจําเลยทั้งสองมาก่อนแต่เคยเห็นจําเลยทั้งสองผ่านทางโทรทัศน์และไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจําเลยทั้งสองมาก่อน 

ต่อมา สุพัฒน์ตอบทนายจําเลยถามค้านว่า พยานเป็นประธานชมรมคนรักในหลวงจังหวัดขอนแก่นตั้งแต่ปี 2556 – 2561 

เมื่อปี 2554 พยานเคยเข้าแจ้งความมาตรา 112 กับสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ซึ่งมาบรรยายที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่จำไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่กล่าวถึงพระนเรศวรหรือไม่ จำได้เพียงว่ากล่าวถึงกษัตริย์หลายพระองค์ 

พยานจําไม่ได้ว่า ดูข่าวการชุมนุมทั้งสองครั้งจากโทรทัศน์ช่องใด และไม่ได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่าเห็นข่าวดังกล่าวจากโทรทัศน์ช่องใด แต่ยืนยันว่าไม่ได้ดูจากโทรศัพท์หรือเฟซบุ๊กเพจขอนแก่นพอกันที เนื่องจากพยานใช้โทรศัพท์ไม่เป็น และไม่รู้จักเพจดังกล่าว

ตามภาพในรายงานความเคลื่อนไหวฯ ไม่ปรากฏภาพจําเลยที่ 2 เป็นคนถือป้ายผ้า 

ข้อความบนป้ายที่ขอให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 6, มาตรา 7 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นเพียงข้อความเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึงการใช้กําลังขู่เข็ญให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าว 

ข้อความในป้ายผ้าเป็นที่บาดใจแก่พยาน แต่ก็เป็นเพียงความรู้สึกส่วนตัวของเพยานเท่านั้น 

เหตุการณ์ชุมนุมทั้งสองวันตามข่าวที่พยานเห็นเป็นไปโดยสงบ ไม่มีการบุกรุกเข้าไปในสถานที่ราชการหรือใช้อาวุธหรือใช้กําลังประทุษร้าย 

.

พ.ต.ท.อดิศักดิ์ งามชัด ชุดสืบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ผู้กล่าวหา เบิกความว่า ในเดือน ส.ค. 2563 พยานทราบข่าวจากเพจเฟซบุ๊ก ขอนแก่นพอกันที ซึ่งโพสต์เชิญชวนประชาชนให้มาร่วมชุมนุมที่ศาลหลักเมืองจังหวัดขอนแก่น ต่อมาวันที่ 20 ส.ค. 2563 เวลาประมาณ 17.00 น. มีผู้ชุมนุมเข้ามาฟังการปราศรัยของเพนกวินหรือพริษฐ์ จําเลยที่ 1 เรียกร้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ส่วนแกนนําคนอื่นพยานจําชื่อไม่ได้ ระหว่างการปราศรัยมีตํารวจถ่ายรูป หลังจากนั้นพยานจัดทํารายงานความเคลื่อนไหวทางการเมืองเสนอต่อ พ.ต.ท.วิโรจน์ นาหนองขาม 

ต่อมา ต้นเดือน ก.ย. 2563 เพจ ขอนแก่นพอกันที เชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมที่บริเวณด้านหน้า สภ.เมืองขอนแก่น เพื่อให้กําลังใจแก่ผู้ต้องหาที่มารับทราบข้อกล่าวหา โดยนัดรวมตัวกันที่อนุสารีย์จอมพลสฤษดิ์ ในวันที่ 10 ก.ย. 2563 ตั้งแต่เวลา 08.00 น. เพื่อเดินขบวนตามถนนไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแล้วไปที่ สภ.เมืองขอนแก่น 

จากนั้นวันที่ 10 ก.ย. 2563 เวลาประมาณ 08.00 น. พยานอยู่ที่ สภ.เมืองขอนแก่น แต่มีตํารวจคนอื่นไปถ่ายรูปผู้ชุมนุมที่อนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์และขณะเดินขบวน โดยรายงานความเคลื่อนไหวให้พยานกับพวกทราบทางไลน์กลุ่ม สภ.เมืองขอนแก่น เป็นระยะ ๆ 

เวลาประมาณ 10.00 น. พยานเห็นผู้ชุมนุมมารวมตัวกันอยู่ที่บริเวณลานจอดรถและทางขึ้นอาคาร สภ.เมืองขอนแก่น โดยพยานยืนสังเกตการณ์อยู่หน้าห้องสืบสวน พยานจำแกนนําสําคัญได้เฉพาะเพนกวินและไผ่ ทั้งสองคนกล่าวปราศรัยผ่านไมโครโฟนเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ แต่พยานจำเนื้อหาคำปราศรัยไม่ได้ จากนั้นพยานเห็นจําเลยทั้งสองนําหมายเรียกผู้ต้องหามาจุดไฟเผาที่บริเวณด้านหน้าอาคาร สภ.เมืองขอนแก่น จนกระทั่งเวลาประมาณ 12.00 น. ผู้ชุมนุมจึงเดินทางกลับ 

ผู้ชุมนุมไม่ได้ขออนุญาตจัดชุมนุมกับผู้กํากับการ สภ.เมืองขอนแก่น บางคนไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ไม่ได้ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และไม่ได้เว้นระยะห่าง ซึ่งหากมีผู้ชุมนุมคนใดติดโควิด อาจแพร่ระบาดไปยังผู้ชุมนุมคนอื่นได้ 

หลังเกิดเหตุพยานรวบรวมหลักฐานจัดทำเป็นรายงานความเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563 ซึ่งตามรายงานดังกล่าวปรากฏภาพผู้ชุมนุมนําป้ายข้อความรวม 17 ป้าย มาวางเรียงที่ด้านหน้าอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ และมีภาพจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ยืนชูนิ้ว 3 นิ้วอยู่ 

จากนั้นผู้ชุมนุมซึ่งมีประมาณ 50 คน ช่วยกันถือป้ายป้ายละ 2 คน เคลื่อนตัวไปตามถนน ระหว่างนั้นมีการกล่าวปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมทั้งให้ลดงบประมาณสถาบันกษัตริย์ กับเชิญชวนประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุม เมื่อถึงบริเวณด้านหน้าโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน ผู้ชุมนุมหยุดขบวนและกล่าวปราศรัย โดยมีนักเรียนโรงเรียนขอนแก่นวิทยายนร่วมปราศรัยด้วย 

ขบวนผู้ชุมนุมเดินต่อไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ระหว่างทางผู้ชุมนุมผลัดกันปราศรัยเชิญชวนประชาชนไปร่วมกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จากนั้นหยุดขบวนที่หน้าโรงเรียนกัลยาณวัตรแล้วเชิญชวนประชาชนชู 3 นิ้ว และตะโกนว่า ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ ก่อนเดินไปหยุดที่หน้าอาคาร สภ.เมืองขอนแก่น แกนนํากล่าวปราศรัยเกี่ยวกับข้อความในป้ายผ้า 

ระหว่างที่ผู้ต้องหาตามหมายเรียกเข้าพบพนักงานสอบสวน ผู้ชุมนุมต่างสับเปลี่ยนกันกล่าวปราศรัยอยู่ด้านหน้าอาคาร และหลังจากผู้ต้องหาออกมาจากอาคาร อรรถพลหรือครูพี่ใหญ่ และไผ่ได้กล่าวปราศรัย จากนั้นผู้ชุมนุมจึงแยกย้ายกันกลับ 

การที่จําเลยทั้งสองชุมนุมเรียกร้องให้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 6 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่คุ้มครองพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เคารพสักการะของประชาชน ประชาชนไม่สามารถฟ้องร้องได้ เป็นการลิดรอนพระราชอํานาจและละเมิดสิทธิของพระมหากษัตริย์ ข้อเรียกร้องของจําเลยทั้งสองอาจมีประชาชนทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทําให้ประชาชนเกิดความขัดแย้งกัน และก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง 

หลังจากนั้น จำวันที่ไม่ได้ แต่ตามรายงานการตรวจค้น ระบุวันที่ 17 ก.ย. 2563 เวลาประมาณ 12.00 น. พยานกับพวกได้ไปตรวจค้นบ้านที่ไผ่ จําเลยที่ 2 เช่าพักอาศัย พบป้ายผ้า 17 ป้าย ที่ผู้ชุมนุมถือเดินขบวนในวันที่ 10 ก.ย. 2563 จึงได้ตรวจยึดมาเป็นของกลาง และส่งมอบให้พนักงานสอบสวน ในวันดังกล่าวพยานเห็นจําเลยที่ 2 อยู่ภายในบ้านกับพวก

วันเกิดเหตุมีคนเข้าร่วมกิจกรรมหลายคน แต่เหตุที่พยานกล่าวโทษขอให้ดําเนินคดีจําเลยทั้งสอง เนื่องจากพยานเห็นว่าจําเลยทั้งสองเป็นตัวหลักในการเคลื่อนไหว ส่วนคนอื่นไม่ใช่แกนนําสําคัญ 

จากนั้น พ.ต.ท.อดิศักดิ์ ตอบทนายจําเลยถามค้านว่า บริเวณที่ผู้ชุมนุมรวมตัวและเคลื่อนขบวนเป็นที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทสะดวก ผู้ต้องหาที่มารับทราบข้อกล่าวหาในวันเกิดเหตุ ทนายความ และบุคคลที่ผู้ต้องหาไว้วางใจได้ผ่านการคัดกรองก่อนเข้าไปด้านในอาคาร สภ.เมืองขอนแก่น ผู้ชุมนุมไม่แออัด เคลื่อนย้ายไปมาได้ และไม่ได้หยุดอยู่กับที่เป็นเวลานาน จะมายืนอยู่ใกล้กันเฉพาะตอนถ่ายรูปเป็นเวลาสั้น ๆ 

เพจที่ประชาสัมพันธ์เชิญชวนชุมนุมคือ เพจขอนแก่นพอกันที จากการสืบสวนทราบว่า อรรถพลหรือครูใหญ่เป็นแอดมินดูแลเพจดังกล่าว ไม่ใช่จําเลยทั้งสอง  

ตามรายงานความเคลื่อนไหวทางการเมืองวันที่ 10 ก.ย. 2563 ไม่ปรากฏภาพจําเลยทั้งสองเป็นผู้ถือป้ายผ้า และมีข้อมูลระบุว่า อรรถพลได้แจ้งการชุมนุมผ่านไลน์แล้ว ซึ่งเป็นหลักฐานว่า อรรถพลเป็นแกนนำในการชุมนุม

รายงานดังกล่าวยังปรากฏว่า จําเลยที่ 2 ปราศรัยครั้งเดียวที่บริเวณด้านหน้าอาคาร สภ.เมืองขอนแก่น ในเวลา 12.11 น. โดยไม่ปรากฏเนื้อหาการปราศรับ พยานเองก็จําไม่ได้ว่า จําเลยที่ 2 ปราศรัยเกี่ยวกับ เรื่องอะไร 

การที่ผู้ชุมนุมนําหมายเรียกมาเผาที่ด้านหน้าอาคาร สภ.เมืองขอนแก่น เป็นการแสดงออกถึงความไม่พอใจที่พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกผู้ต้องหา การชุมนุมในภาพรวมแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาจากการรัฐประหาร 

ตามรายงานความเคลื่อนไหวฯ ในการเชิญชวนให้คนไปร่วมชุมนุมในวันที่ 20 ส.ค. 2563 มีการโพสต์บัญชีธนาคารให้คนโอนเงินไปช่วยสมทบทุน ซึ่งไม่ใช่ชื่อของจำเลยทั้งสอง และมีวชิรวิทย์แจ้งการชุมนุมต่อ สภ.เมืองขอนแก่น ทั้งสองคนทําในนามกลุ่มขอนแก่นพอกันที ส่วนจําเลยที่ 2 มีชื่อเรียกว่า ไผ่ ดาวดิน ซึ่งแสดงสังกัดว่าอยู่กลุ่มดาวดิน ไม่ใช่กลุ่มขอนแก่นพอกันที 

ข้อความในป้ายผ้าที่ผู้ชุมนุมถือเป็นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ซึ่งหากรัฐบาลจะดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังกล่าวโดยการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายก็ต้องผ่านความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติ 

ผู้ชุมนุมไม่ได้บุกรุกเข้าไปในสถานที่ราชการ หรือมีอาวุธ หรือใช้ความรุนแรง 

ตามรายงานการตรวจค้นบ้านระบุว่า เมื่อตํารวจเข้าตรวจค้นบ้านที่อ้างว่าไผ่เช่าพักนั้น มีคนอยู่ภายในบ้าน 5 – 10 คน โดยไผ่เดินทางมาถึงในเวลา 12.22 น. ภายหลังตำรวจ ที่พยานเบิกความว่า ขณะพยานไปถึงเห็นจําเลยที่ 2 อยู่ภายในบ้านจึงคลาดเคลื่อนไป บ้านหลังดังกล่าวไม่ใช่บ้านของจําเลยที่ 2 และไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้เช่า 

.

พ.ต.ท.วิโรจน์ นาหนองขาม รอง ผกก.สืบสวน สภ.เมืองขอนแก่น เบิกความว่า วันที่ 31 ส.ค. 2563 พยานได้รับคําสั่งจากผู้กํากับการ สภ.เมืองขอนแก่น ให้ทําการสืบสวนหาข่าวการชุมนุมของพริษฐ์หรือเพนกวินกับพวก 

ต่อมา วันที่ 7 ก.ย. 2563 เพจขอนแก่นพอกันทีมีการโพสต์เชิญชวนให้ประชาชนร่วมชุมนุมต่อต้านการยัดเยียดข้อหากรณีที่ผู้ชุมนุมถูกออกหมายเรียกจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2563 

วันที่ 10 ก.ย. 2563 เวลาประมาณ 07.00 น. พยานมอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไปเฝ้าดูอยู่ที่บริเวณอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ ส่วนพยานอยู่ที่ สภ.เมืองขอนแก่น ต่อมา พยานได้รับแจ้งทางวิทยุสื่อสารว่า มีผู้ชุมนุมประมาณ 50 คน มารวมตัวกันอยู่ที่บริเวณด้านหน้าอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ โดยมีแกนนําสําคัญ คือ เพนกวินและไผ่ ดาวดิน ผู้ชุมนุมมีป้ายผ้าแสดงข้อความต่าง ๆ รวม 17 ป้าย 

จากนั้นผู้ชุมนุมได้ถือป้ายผ้าเดินขบวนไปตามถนน ระหว่างทางมีการปราศรัยบนรถเครื่องขยายเสียงเรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 112, ยกเลิกรัฐธรรมนูญ และลดงบประมาณสถาบันกษัตริย์ พยานจำเหตุการณ์ไม่ได้ และตามรายงานความเคลื่อนไหวฯ ไม่ปรากฏภาพไผ่ แต่พยานได้รับรายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่า ไผ่อยู่ร่วมในขบวนโดยตลอด

เมื่อผู้ชุมนุมเดินขบวนไปถึง สภ.เมืองขอนแก่น ได้นําป้ายผ้าไปติดที่บริเวณด้านหน้าอาคาร โดยมีเพนกวินและผู้ชุมนุมคนอื่นสลับกันกล่าวปราศรัย พยานยืนดูเหตุการณ์อยู่หน้าห้องสืบสวน แต่ไม่ต่อเนื่อง และจำไม่ได้ว่าเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร โจทก์ถามว่า เกี่ยวกับเรื่องที่ระบุในป้ายผ้าหรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ 

ต่อมา เวลา 12.05 น. ไผ่กับพวกออกมาจากอาคารหลังจากรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว และร่วมกันชู 3 นิ้ว บริเวณทางขึ้นอาคาร จากนั้นอรรถพลหรือครูพี่ใหญ่ได้อ่านแถลงการณ์ในนามกลุ่มขอนแก่นพอกันที โดยมีไผ่ยืนอยู่กลางกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย และกล่าวปราศรัยต่อจากอรรถพล แต่พยานจําเนื้อหาไม่ได้

พ.ต.ท.วิโรจน์ ตอบทนายจําเลยถามค้านในเวลาต่อมาว่า พยานเห็นเหตุการณ์เฉพาะเมื่อผู้ชุมนุมมาถึงหน้าอาคาร สภ.เมืองขอนแก่น เหตุการณ์ในส่วนอื่นพยานเบิกความตามที่ได้รับรายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชา 

บริเวณที่ผู้ชุมนุมทำกิจกรรมล้วนเป็นสถานที่สาธารณะ โล่งแจ้ง ไม่ใช่สถานที่ปิด ทางเข้าอาคาร สภ.เมืองขอนแก่น มี 3 ทาง ทั้งหมดตํารวจได้ตั้งจุดคัดกรอง มีเจลล้างมือและเครื่องวัดอุณหภูมิไว้บริการประชาชน 

โดยหลักแล้ว จําเลยที่ 2 กับพวกซึ่งเป็นผู้ต้องหารวม 6 คน รวมทั้งทนายความและผู้ที่ผู้ต้องหาไว้วางใจ ต้องผ่านการคัดกรองก่อนเข้าอาคาร

ผู้ชุมนุมที่มาร่วมชุมนุมเนื่องจากไม่พอใจที่พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกและไม่พอใจการทํางานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โดยมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้แก้ไขกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องดำเนินการตามกระบวนการของรัฐสภา 

หลังเกิดเหตุมีการชุมนุมอีกในปี 2564 อรรถพลกับพวกจัดกิจกรรมโดยใช้ชื่อกลุ่มว่า ขอนแก่นพอกันที มีการเดินขบวนและปราศรัยเรียกร้องขอให้แก้ไขกฎหมายและขอให้ยุบสภาในลักษณะเดียวกับคดีนี้ และถูกดําเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวม 3 คดี โดยศาลแขวงขอนแก่นมีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องทั้งหมด 

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2563 ช่วงเช้า พยานจําได้ว่า พยานร่วมกับ พ.ต.ท.อดิศักดิ์ ไปตรวจค้นบ้านหลังหนึ่ง และยึดป้ายผ้ามาได้ 17 ป้าย พยานไม่ทราบว่า ไผ่เป็นคนเช่าบ้านหลังดังกล่าวหรือไม่ แต่ในการขอออกหมายค้นตำรวจระบุเหตุว่า เนื่องจากเพนกวินซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ชุมนุมเคยพักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังดังกล่าว  

พยานไม่ทราบว่า สัญลักษณ์ชู 3 นิ้วที่ผู้ชุมนุมแสดงออกที่บริเวณด้านหน้าอาคาร สภ.เมืองขอนแก่น มีความหมายว่าอย่างไร 

.

พ.ต.ท.วัชรสิทธิ์ ภัทรโยธินอมร รอง ผกก.กก.1 บก.ส.2 เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุพยานเป็นหัวหน้าตํารวจสันติบาลจังหวัดขอนแก่น มีหน้าที่สืบสวนคดีเกี่ยวกับความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น

พยานได้รับมอบหมายให้สืบสวนหาข่าวเกี่ยวกับจตุภัทร์ หรือไผ่ ดาวดิน จําเลยที่ 2 ตั้งแต่ปี 2557 หลังจําเลยที่ 2 ชู 3 นิ้วต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ และสืบสวนหาข่าวเกี่ยวกับพริษฐ์หรือเพนกวินตั้งแต่ปี 2563

ต่อมา พยานสืบทราบว่า เพจขอนแก่นพอกันที โพสต์นัดหมายให้มาชุมนุมกันในวันที่ 10 ก.ย. 2563 โดยจะเดินจากอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ไปที่ สภ.เมืองขอนแก่น เพื่อเรียกร้องเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์, ลดทอนพระราชอํานาจพระมหากษัตริย์ เรียกร้องรัฐธรรมนูญและสิทธิเสรีภาพ 

วันเกิดเหตุพยานเห็นจําเลยทั้งสอง นักศึกษา และนักเรียน มาชุมนุมที่หน้าอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์แล้วเดินขบวนถือป้ายผ้าไปตามถนนจนถึง สภ.เมืองขอนแก่น ไผ่ได้กล่าวปราศรัยเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน และมีการกล่าวว่า ถ้าประมุขของประเทศอยู่ภายใต้กฎหมายจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้  

พยานได้ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สันติบาลที่ติดตามอยู่ในขบวนผู้ชุมนุม รวมถึงจากการติดตามไลฟ์สดที่เผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย เท่าที่พยานจําได้แกนนําสําคัญในวันเกิดเหตุ ได้แก่ จําเลยทั้งสองและอรรถพล บัวพัฒน์ 

การชุมนุมของจําเลยทั้งสองกับพวกซึ่งมีการแสดงออกในลักษณะต่อต้านสถาบันกษัตริย์ มีจุดประสงค์ให้สถาบันกษัตริย์อ่อนแอ ประชาชนไม่เคารพและเทิดทูน เกิดความแตกแยกในประเทศชาติ 

นอกจากการชุมนุมในวันเกิดเหตุ จำเลยทั้งสองยังไปร่วมชุมนุมที่สนามหลวง, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต โดยกล่าวปราศรัยโจมตีสถาบันกษัตริย์ 

ในการตอบทนายจําเลยถามค้าน พ.ต.ท.วัชรสิทธิ์ เบิกความว่า การที่ไผ่ไปชู 3 นิ้วต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นการแสดงออกถึงการต่อต้านการรัฐประหาร 

วันเกิดเหตุผู้ชุมนุมแสดงออกถึงความไม่พอใจที่ตำรวจออกหมายเรียกผู้ชุมนุมมารับทราบข้อกล่าวหา และไม่พอใจการบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์  

พยานเบิกความว่า ไผ่ปราศรัยหน้า สภ.เมืองขอนแก่น และตามรายงานการสืบสวนที่พยานร่วมจัดทำก็ระบุว่า ไผ่ปราศรัยที่หน้าอาคาร สภ.เมืองขอนแก่น แต่ไม่ปรากฏบันทึกการถอดเทปคำปราศรัยของไผ่  

ตามรายงานการสืบสวน จําเลยที่ 1 กล่าวปราศรัยในวันที่ 20 ส.ค. 2563 อธิบายเจตนาในการเสนอให้ยกเลิกมาตรา 6 ว่า ต้องการให้เพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร

กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องผ่านความเห็นชอบจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา หลังจากนั้นต้องให้ประชาชนลงประชามติ ส่วนการแก้ไขมาตรา 112 ก็ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภาตามขั้นตอน 

วันเกิดเหตุผู้ชุมนุมไม่ได้บุกรุกเข้าไปในสถานที่ราชการและไม่มีอาวุธ โดยรวมเป็นการชุมนุมที่สงบ การปราศรัยของผู้ชุมนุมไม่ได้เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นรูปแบบการปกครองที่ไม่มีกษัตริย์ และข้อความในป้ายผ้าก็ไม่มีถ้อยคําหยาบคายต่อกษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ 

ในชั้นสอบสวนพยานให้การเกี่ยวกับพฤติการณ์ของเพนกวินเท่านั้น ไม่ได้ให้การเกี่ยวกับไผ่ และจากการสืบสวนยังไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่า ใครเป็นแอดมินเพจขอนแก่นพอกันที ซึ่งโพสต์เชิญชวนประชาชนให้มาชุมนุม 

ในวันเกิดเหตุผู้ชุมนุมเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเพื่อให้ดําเนินการตามข้อเรียกร้องของตน ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 34 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น 

.

พิชาญ พงษ์พิทักษ์ อาชีพรับจ้าง เบิกความว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2563 ช่วงเช้าพยานนั่งดูเฟซบุ๊กอยู่ที่บ้านที่จังหวัดสมุทรปราการ เห็นเฟซบุ๊กชื่อ ลุงตู่อยู่ต่อ โพสต์ภาพผู้ชุมนุมถือป้ายผ้ารณรงค์ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมทั้งขอให้ตรวจสอบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พยานจึงแคปภาพหน้าจอจากโทรศัพท์แล้วนําไปโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของพยาน พร้อมพิมพ์ข้อความประกอบว่า มันกล้าทําขนาดนี้แล้ว 

พยานจําไม่ได้ว่า เฟซบุ๊ก ลุงตู่อยู่ต่อ โพสต์ภาพดังกล่าวในวันและเวลาใด แต่พยานเห็นในวันที่ 13 ก.ย. 2563 ส่วนพยานโพสต์ภาพพร้อมข้อความในเฟซบุ๊กของพยานวันใดพยานก็จำไม่ได้ โจทก์นําภาพโพสต์ของพยานให้ดู ซึ่งใต้ภาพระบุวันที่ 10 ก.ย. พยานจึงเบิกความใหม่ว่า พยานโพสต์ลงในเฟซบุ๊กของพยานในวันที่ 10 ก.ย. 2563 

พยานเห็นข้อความตามป้ายผ้าแล้วรู้สึกไม่เห็นด้วย เนื่องจากมีเนื้อหากระทบต่อสถาบันกษัตริย์และมีลักษณะเป็นการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกในบ้านเมือง เพราะมีการเสนอให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่คุ้มครองพระมหากษัตริย์ 

เมื่อพยานโพสต์ภาพพร้อมข้อความในเฟซบุ๊กของพยานก็มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็น 969 รายการ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตาม ในพยานเอกสารโจทก์ไม่ปรากฏข้อความแสดงความเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับโพสต์อย่างไร 

พยานทราบจากเพจ ลุงตู่อยู่ต่อ ว่า แกนนําจัดกิจกรรมดังกล่าว คือ เพนกวิน และไผ่ ดาวดิน 

ต่อมา พิชาญตอบทนายจําเลยถามค้านว่า เพจ ลุงตู่อยู่ต่อ เป็นเพจที่เสนอข่าวการทํางานของ พล.อ.ประยุทธ์ คนที่เข้ามาดูในเพจดังกล่าวส่วนใหญ่จึงเป็นคนที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ 

พยานไม่ทราบว่า เพจ ลุงตู่อยู่ต่อ นําภาพผู้ชุมนุมถือป้ายมาจากที่ใด และภาพที่พยานนำมาโพสต์ต่อก็ไม่ปรากฏภาพเพนกวินและไผ่ ทั้งนี้ ภาพที่พยานเห็นเป็นการชุมนุม ซึ่งผู้ชุมนุมย่อมต้องมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล โดยเนื้อหาในป้ายผ้าไม่ได้กระทบต่อสถาบันกษัตริย์โดยตรง และไม่มีถ้อยคำหยาบคาย 

.

ภูพัน รัตนจักร์ ข้าราชการบํานาญ เบิกความว่า พยานจําไม่ได้ว่าเหตุในคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อใด แต่เป็นช่วงก่อนพยานเกษียณอายุราชการ ขณะนั้นพยานเป็นผู้ช่วยผู้อํานวยการฝ่ายปกครอง โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน

ในวันดังกล่าวเวลาประมาณ 09.00 – 10.00 น. ขณะพยานเดินตรวจความเรียบร้อยรอบโรงเรียนมาถึงประตู 1 ซึ่งอยู่ติดกับถนนกลางเมือง พยานเห็นเยาวชน 3 คน เดินมา โดย 2 คนช่วยกันกางป้ายผ้าที่หน้าทางเข้าประตู 1 ส่วนอีก 1 คนถ่ายรูป หลังจากนั้นทั้งสามคนก็ถือป้ายผ้าไปถ่ายรูปกับป้ายโรงเรียน ใช้เวลาทำกิจกรรมเพียงไม่กี่วินาทีก็ผ่านไป เมื่อทั้งสามเดินออกจากป้ายโรงเรียนพยานก็ไม่ได้สนใจอีก ตลอดเวลาพยานดูเหตุการณ์อยู่ในโรงเรียนโดยไม่ได้เดินออกมา  

โรงเรียนขอนแก่นวิทยายนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมดังกล่าว โดยหลังจากพยานทำรายงานเสนอที่ประชุมผู้บริหาร ที่ประชุมมีมติไม่ให้สนับสนุน และขอความร่วมมือนักเรียนไม่ให้เข้าร่วมชุมนุมในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว 

ภาพตามรายงานความเคลื่อนไหวเป็นภาพนักเรียนโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน 2 คน ที่เข้าร่วมการชุมนุมในวันดังกล่าว ซึ่งเป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวของทั้งสอง ก่อนหน้านี้พยานเคยเรียกทั้งสองคนมาขอความร่วมมือไม่ให้ไปเข้าร่วมกับกิจกรรมทางการเมืองเพราะไม่อยากให้เกี่ยวข้องกับโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน 

พยานยังเห็นคนหลายคนถือป้ายหลายป้ายเดินมาตามถนน มุ่งหน้าไปทาง สภ.เมืองขอนแก่น แต่ไม่เห็นการปราศรัย ข้อความในป้ายผ้าให้ยกเลิกมาตรา 112 ซึ่งพยานเห็นว่า นักเรียนมีสิทธิที่จะแสดงความเห็น  

พยานเห็นว่า การถือป้ายเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 เป็นการสื่อสารกับประชาชนทั่วไป ซึ่งมีทั้งคนรู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว และคนที่ไม่รู้ ทำให้เกิดการสื่อสารผิด ๆ ต่อไป ซึ่งจะก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง พยานจึงอยากให้นักเรียนตั้งใจเรียนเท่านั้น ไม่อยากให้เข้าไปร่วมกิจกรรม เพราะนักเรียนยังเป็นเด็กและไม่รอบรู้เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่มีการรณรงค์ว่าถูกหรือผิด 

ภูพันยังตอบทนายจําเลยถามค้านว่า ช่วงเกิดเหตุเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด ก่อนนักเรียนเข้าโรงเรียนทางโรงเรียนต้องมีการคัดกรองนักเรียนก่อน โดยการตรวจวัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ และใส่หน้ากากอนามัย

ป้ายผ้าที่ผู้ชุมนุมถือเป็นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้แก้ไขกฎหมาย ซึ่งสุดท้ายแล้วหากรัฐบาลรับไปดำเนินการต่อก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติก่อน รวมทั้งพระมหากษัตริย์ต้องลงพระปรมาภิไธยด้วย  

.

ร.ต.ท.สุรพล ปราบพาล ตำรวจจราจร เบิกความว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563 ขณะพยานปฏิบัติหน้าที่ประจําสี่แยกไฟแดงถนนกลางเมืองตัดกับถนนศรีจันทร์ เห็นผู้ชุมนุมประมาณ 30 คน เดินถือป้ายผ้าประมาณ 10 แผ่น ใช้ช่องทางเดินรถ 1 ช่อง โดยรถยังสามารถแล่นไปมาได้ และพยานไปช่วยอํานวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ถนน 

พยานไม่ทราบว่า ใครเป็นแกนนําในการชุมนุม ระหว่างเดินไปตามถนนมีการปราศรัย พยานไม่ได้ตั้งใจฟังมากนัก และไม่ได้สนใจดูข้อความในป้ายผ้า แต่เห็นผู้ชุมนุมบางคนสวมหน้ากากอนามัย บางคนไม่สวม พยานเห็นว่า ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับข้อร้องเรียกของผู้ชุมนุมอาจคัดค้านและอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง 

ในการตอบทนายจําเลยถามค้าน ร.ต.ท.สุรพล รับว่า ที่ชุมนุมเป็นที่โล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงแดดส่องถึง การที่ผู้ชุมนุมเดินไปตามถนนย่อมทําให้การจราจรไม่สะดวกไปบ้างเช่นเดียวกันกับการเดินขบวนกีฬาสีของนักเรียน พยานไม่เห็นผู้ชุมนุมมีอาวุธ หรือทําลายทรัพย์สิน หรือก่อความวุ่นวาย

.

วัฒนา นิลพรรพต สํานักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ เบิกความว่า เมื่อเดือนมีนาคม – เมษายน 2563 มีผู้ป่วยโควิด 6 รายในจังหวัดขอนแก่น หลังจากนั้นไม่พบผู้ป่วยอีกจนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยเชื้อที่พบเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมจากมณฑลอู่ฮั่น 

รัฐบาลออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2563 เนื่องจากมีการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายและเป็นอันตรายอย่างมากต่อชีวิต ต่อมา นายกฯ ได้ออกข้อกําหนดฉบับที่ 1 ลงวันที่ 25 มี.ค. 2563 กําหนดการห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง และห้ามชุมนุม

หลังจากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดขอนแก่น ได้ออกประกาศจังหวัดขอนแก่นหลายฉบับรวมถึงฉบับที่ 18 ประกาศเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 โดยในข้อ 1 ระบุว่า การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มหรือชุมนุมย่อมกระทําได้ภายใต้ขอบเขตของรัฐธรรมนูญ โดยให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ และให้ผู้จัดกิจกรรมจัดมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกําหนด ซึ่งตามประกาศจังหวัดขอนแก่นฉบับที่ 17 ประกาศเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2563 ข้อ 6 ระบุถึงมาตรการป้องกันโรครวม 6 ข้อ ดังนั้น การชุมนุมสามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องจัดมาตรการดังกล่าว

พยานไม่ได้รู้เห็นเหตุการณ์ที่มีการชุมนุมและการถือป้ายเดินขบวนตามฟ้องในคดีนี้ แต่พนักงานสอบสวนเรียกพยานไปให้ความเห็นเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรคโควิดกรณีการชุมนุมคดีอื่น และได้ถามความเห็นเกี่ยวกับการชุมนุมในคดีนี้

สําหรับการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563 ต้องบังคับตามประกาศจังหวัดขอนแก่น ฉบับที่ 19 ในข้อ 2 ซึ่งระบุว่า ให้ผู้รับผิดชอบสถานที่หรือผู้จัดกิจกรรมจัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกําหนด ตามประกาศฉบับที่ 17 ข้อ 6 อย่างไรก็ตาม ประกาศฉบับที่ 19 ไม่ได้นิยามคําว่า ผู้ดูแลรับผิดชอบสถานที่และผู้จัดกิจกรรม 

พยานดูภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ชุมนุมในวันที่ 10 ก.ย. 2563 ด้วย แล้วเห็นว่า ไม่มีจุดตรวจวัดอุณภูมิ ผู้เข้าร่วมชุมนุมบางคนไม่สวมหน้ากากอนามัย และไม่มีการรักษาระยะห่างระหว่างกัน 1 เมตร ทั้งนี้มาตรการป้องกันโรคเกี่ยวกับการสวมใส่หน้ากากอนามัยและการรักษาระยะห่างต้องทําตลอดเวลาที่เข้าร่วมกิจกรรม 

จากนั้นวัฒนาตอบทนายจําเลยถามค้านว่า พยานไม่ได้รู้เห็นเหตุการณ์ชุมนุมทั้งสองครั้งจึงไม่ทราบว่าภาพที่โจทก์ให้ดูเป็นเหตุการณ์ในวันใด 

สถานที่ชุมนุมเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง มีอากาศถ่ายเท ช่วงเดือนกันยายน 2563 รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด เนื่องจากสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ และภายหลังการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563 ไม่มีข้อมูลพบผู้ติดเชื้อจากการเข้าร่วมชุมนุม

โดยปกติเจ้าของหรือผู้รับผิดชอบดูแลอาคารจะจัดวางเจลหรือแอลกอฮอล์สําหรับทําความสะอาดไว้ที่บริเวณด้านหน้าทางเข้าอาคาร เนื่องจากพื้นที่ปิดมีความเสี่ยงในการแพร่โรคมากกว่าที่โล่งแจ้ง

.

โกมล แก่นตระกูล อาชีพค้าขาย เบิกความว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563 เวลาประมาณ 15.00 น. พยานขับรถจากบ้านพักเพื่อไปซื้อของที่ตลาด ขณะผ่าน สภ.เมืองขอนแก่น เห็นกลุ่มคนยืนถือป้ายบนถนนหน้า สภ. มีเนื้อหาเกี่ยวกับการขอให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 มีคนยืนปราศรัยเกี่ยวกับข้อความในป้าย และมีประชาชนชู 3 นิ้ว แสดงสัญลักษณ์ รถยังสามารถสัญจรผ่านไปมาได้ พยานค่อย ๆ ขับรถชะลอตามรถคันอื่นไป โดยไม่ได้หยุดดู 

พยานเห็นมีคนจํานวนมากยืนชุมนุมโดยอยู่ชิดติดกัน ส่วนใหญ่ไม่สวมหน้ากากอนามัย เมื่อแกนนําปราศรัยชวนให้คนทั่วไปชู 3 นิ้ว พยานเห็นประชาชนละแวกนั้นชู 3 นิ้วตาม 

ภายหลังวันดังกล่าวพยานได้ย้อนดูภาพเหตุการณ์ทางยูทูบในโทรศัพท์ เห็นแกนนําสําคัญที่จําได้คือ เพนกวินและไผ่ ดาวดิน 

โกมลตอบทนายจําเลยถามค้านต่อไปว่า พยานทราบว่า ผู้ชุมนุมมาชุมนุมที่หน้า สภ.เมืองขอนแก่น เนื่องจากไม่พอใจการบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์  พยานเคยได้ยินชื่อ อรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ แต่ไม่แน่ใจว่า พยานเห็นอรรถพลอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าวหรือไม่ 

พยานไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ แต่เห็นว่าเป็นสิทธิของผู้ชุมนุมที่จะเรียกร้อง

.

โจทก์นำพนักงานสอบสวนเข้าเบิกความรวม 3 คน ได้แก่ พ.ต.อ.ธน พรรณนานนท์ ขณะเกิดเหตุเป็นผู้กํากับ (สอบสวน) สภ.เมืองขอนแก่น ซึ่งได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีนี้, พ.ต.ท.สุพรรณ สุขพิไลกุล พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวน และ พ.ต.ท.จตุเรศ ดอนอ่อนเบ้า พนักงานสอบสวน ทั้งสามเบิกความได้ความว่า 

เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2563 พ.ต.ท.อดิศักดิ์ งามชัด และสุพัฒน์ ปัสสาคร ได้มากล่าวโทษต่อ พ.ต.ท.สุพรรณ ขอให้ดําเนินคดีพริษฐ์และจตุภัทร์ โดยมอบรายงานความเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563 และรายงานการสืบสวน พร้อมคลิปวีดีโอเหตุการณ์ชุมนุมไว้เป็นหลักฐาน ต่อมา วันที่ 17 ก.ย. 2563 ตํารวจได้ตรวจยึดป้ายผ้า 17 แผ่น ที่บ้านพักของจําเลยที่ 2 มาเป็นของกลาง

วันที่ 21 ต.ค. 2563 พ.ต.ท.สุพรรณ เดินทางไปแจ้งข้อกล่าวหาจตุภัทร์ซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจําพิเศษกรุงเทพฯ ในข้อหา ร่วมกันกระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร, ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจํานวนมากในลักษณะติดต่อสัมผัสกันง่าย, ชุมนุมในสถานที่แออัด เสี่ยงต่อการแพร่โรค, ร่วมกันกระทําการซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ, ร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม, ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันกีดขวางการจรจาจร จตุภัทร์ให้การปฏิเสธ และไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกคําให้การและบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา

ต่อมา วันที่ 8 เม.ย. 2564 พ.ต.ท.สุพรรณ และ พ.ต.ท.จตุเรศ เดินทางไปแจ้งข้อกล่าวหาจตุภัทร์เพิ่มเติม ขณะจตุภัทร์ถูกเบิกตัวจากเรือนจำมาที่ศาลอาญา ในข้อหา ร่วมกันกระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่น ใดอันมิใช่การกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน จตุภัทร์ให้การปฏิเสธ 

พ.ต.อ.ธน และ พ.ต.ท.สุพรรณ เบิกความในทำนองเดียวกันว่า คณะพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องจตุภัทร์ เนื่องจากจากการรวบรวมพยานหลักฐาน เห็นว่า ร่วมกับพริษฐ์ซึ่งเคยชุมนุมร่วมกันหลายครั้ง เป็นแกนนําในการจัดชุมนุมวันที่ 10 ก.ย. 2563 ทั้งยังได้กล่าวปราศรัยที่หน้า สภ.เมืองขอนแก่น ประกอบกับตรวจค้นพบป้ายผ้า 17 ป้าย ที่บ้านพักของจตุภัทร์ โดยจตุภัทร์ไม่ได้ดําเนินการตามมาตรการป้องกันโรค ผู้เข้าร่วมชุมนุมมีลักษณะใกล้ชิดกัน 

นอกจากนี้ การที่จตุภัทร์ร่วมกับพวกกล่าวปราศรัยและถือป้ายผ้าเรียกร้องให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 6, ยกเลิกมาตรา 112, ตรวจสอบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์, ลดงบกษัตริย์ และยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ เป็นการก้าวล่วงพระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์ ซึ่งมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่การแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

ระหว่างเดินขบวนมีการชักชวนให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุม ซึ่งอาจมีประชาชนที่ไม่เห็นด้วย เกิดการกระทบกระทั่งกัน จนอาจเกิดความปั่นป่วนในหมู่ประชาชน และอาจก่อให้เกิดความไม่สงบ อีกทั้งในช่วงเกิดเหตุมีประกาศห้ามชุมนุม การชักชวนให้ประชาชนมาชุมนุมจึงเป็นการละเมิดกฎหมายแผ่นดิน 

เมื่อทนายจําเลยถามค้าน พ.ต.อ.ธน เบิกความตอบว่า พยานร่วมตรวจค้นบ้านเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2563 ซึ่งในวันดังกล่าวจําเลยที่ 2 ไม่ได้อยู่ภายในบ้าน แต่เดินทางมาถึงบ้านหลังพยานกับพวกไปถึง  

ข้อความในป้ายผ้าเป็นการเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมาย ไม่ปรากฏว่าในวันเกิดเหตุผู้ชุมนุมและแกนนําได้ข่มขู่ว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย เป็นความเข้าใจของพยานเองว่าจะทำให้เกิดความปั่นป่วน ซึ่งในความหมายของพยานคือกลัวว่าประชาชนที่ไม่เห็นด้วยจะออกมาชุมนุมและอาจมีการใช้กําลังปะทะกับกลุ่มที่เห็นด้วย

พยานจำไม่ได้ว่า เจตนารมณ์ของมาตรา 116 คือป้องกันรัฐบาล ไม่ได้บัญญัติมาเพื่อป้องกันประชาชนทะเลาะกันหรือไม่  

จากการสอบสวนไม่ปรากฏว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธหรือบุกรุกสถานที่ราชการในวันที่ 10 ก.ย. 2563 และไม่มีการถอดเทปคําปราศรัยของจตุภัทร์ พยานจึงไม่ทราบว่า จตุภัทร์กล่าวปราศรัยอะไรบ้าง

รัฐธรรมนูญ มาตรา 34 รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่พยานเห็นว่า ข้อเรียกร้องของจําเลยกับพวกไม่ได้อยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ

ด้าน พ.ต.ท.สุพรรณ ตอบทนายจําเลยถามค้านว่า ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน, ข้อกำหนด รวมถึงประกาศจังหวัดขอนแก่น ไม่มีคํานิยามของคำว่า ผู้จัดให้มีการชุมนุม และคําว่า แออัด และตามประกาศจังหวัดขอนแก่น ฉบับที่ 19 ข้อ 2 การจัดให้มีการป้องกันโรคเป็นหน้าที่ของผู้ดูแลรับผิดชอบสถานที่และกิจกรรมต่าง ๆ  

ตามรายงานความเคลื่อนไหวฯ ผู้ที่ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนมาชุมนุมคือ เพจขอนแก่นพอกันที แต่ตามบันทึกการตรวจสอบการใช้งานเฟซบุ๊กเพจดังกล่าว ไม่สามารถระบุได้ว่า เพจดังกล่าวเชื่อมโยงกับจตุภัทร์อย่างไร นอกจากนี้ ไม่ปรากฏหลักฐานว่า จตุภัทร์มีส่วนเกี่ยวกับข้องกับเพจที่ไลฟ์สดการชุมนุม

วันเกิดเหตุ ไผ่, เพนกวิน กับพวกรวม 6 คน ถูกพนักงานสอบสวนออกหมายเรียกมารับทราบข้อกล่าวหา กรณีการชุมนุมเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2563 ซึ่งคดีดังกล่าวศาลแขวงขอนแก่นมีคําพิพากษาให้ยกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว

พยานเข้าแจ้งข้อกล่าวหาคดีนี้กับไผ่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระบุว่า ไผ่ จําเลยที่ 2 ร่วมชุมนุมกับเพนกวินจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2563 ด้วย แต่ข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบสวนไม่ปรากฏว่า ไผ่อยู่ในที่เกิดเหตุ 

ข้อความที่ปรากฏอยู่ในป้ายผ้า ไม่มีคำหยาบคาย ไม่ได้ใส่ป้ายสีกษัตริย์ เพียงแต่แสดงข้อเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขกฎหมาย ซึ่งต้องกระทำผ่านรัฐสภา หากเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องมีการลงประชามติด้วย ส่วนคําว่า ลดงบกษัตริย์ ในป้ายผ้าก็หมายถึงงบประมาณซึ่งต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา 

.

ในประเทศประชาธิปไตยประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เยาวชนคนรุ่นใหม่ย่อมสามารถเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายและถือป้ายผ้าตามฟ้องได้

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เบิกความเป็นพยานให้ตนเองว่า พยานจบการศึกษาชั้นปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปัจจุบันเป็นนักดนตรีวงสามัญชน

ก่อนเกิดเหตุคดีนี้พยานได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองขอนแก่น ในวันที่ 10 ก.ย. 2563 ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุม “อีสานบ่ย่านเด้อ” เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2563 

ในช่วงปี 2563 มีนักเรียนนักศึกษาออกมาชุมนุมเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากการเป็นนายกฯ ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐจะใช้การดำเนินคดีอย่างเคร่งครัดกับผู้ชุมนุมทุกพื้นที่เพื่อปิดปากไม่ให้ผู้ชุมนุมออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล หรือเรียกว่า คดีปิดปาก มีผู้ชุมนุมถูกออกหมายเรียกจำนวนมาก จึงมีการจัดกิจกรรมให้กําลังใจแก่ผู้ชุมนุมที่ถูกออกหมายเรียก 

ก่อนเกิดเหตุพยานทราบจากเพจขอนแก่นพอกันทีว่า มีการนัดหมายจัดกิจกรรม หมายที่ไหนม็อบที่นั่น ในวันที่ 10 ก.ย. 2563 ที่อนุสาวรีย์สฤษดิ์ เพื่อให้กําลังใจพยานกับพวกที่ถูกออกหมายเรียก พยานเห็นโพสต์จึงไปร่วม แต่จําไม่ได้ว่าได้โพสต์ข้อความเชิญชวนคนทั่วไปด้วยหรือไม่ เพราะเหตุการณ์นานมาแล้ว

ในช่วงนั้นพยานไม่ได้อยู่ที่ใดเป็นหลักแหล่ง เนื่องจากเดินทางไปปราศรัยในหลายที่ และจําไม่ได้ว่าคืนก่อนเกิดเหตุพักที่ไหน แต่อยู่ที่อําเภอเมืองขอนแก่น เพราะเตรียมตัวมารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวน 

วันที่ 10 ก.ย. 2563 เวลาประมาณ 08.00 น. พยานขับรถไปที่สวนรัชดานุสรณ์ เมื่อไปถึงเห็นคนหลายคนมาถึงแล้ว และมีป้ายผ้าวางอยู่ที่พื้น พยานไม่ได้เป็นผู้จัดเตรียมป้ายผ้าดังกล่าว และไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรมชุมนุมตามฟ้อง เนื่องจากพยานต้องไปรับทราบข้อกล่าวหา ไม่ว่าจะมีการชุมนุมในวันดังกล่าวหรือไม่ พยานก็ต้องไป 

พยานใช้เจลล้างมือและสวมหน้ากากอนามัยโดยตลอด ถอดเฉพาะเวลาถ่ายรูปหรือปราศรัยเท่านั้น 

พยานจําเหตุการณ์วันเกิดเหตุไม่ค่อยได้แน่ แต่น่าจะมีการเคลื่อนขบวนไปตามถนนผ่านหน้าโรงเรียนขอนแก่นวิทยายนไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแล้วเดินต่อไป สภ.เมืองขอนแก่น พยานร่วมขบวนไปด้วยตลอดทาง อยู่หัวขบวนบ้าง กลางหรือท้ายขบวนบ้าง โดยมีผู้ชุมนุมที่เป็นการ์ดทําหน้าที่บอกเส้นทางตามที่มีการโพสต์ในเพจขอนแก่นพอกันที

ในวันเกิดเหตุพยานเห็นว่า เป็นการเดินทางไปรายงานตัว ไม่ใช่การชุมนุมหรือการเดินขบวน แต่เป็นการประจานกระบวนการยุติธรรมที่ดําเนินคดีกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ และแสดงข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล แต่ก็กลายเป็นอีกคดี ในความเห็นของพยาน การชุมนุมต้องมีเวที มีการปราศรัย 

ระหว่างเคลื่อนขบวนไปตามถนนพยานไม่ได้กล่าวปราศรัย มาจับไมค์พูดกับสื่อมวลชนเกี่ยวกับความคืบหน้าคดีที่หน้าอาคาร สภ.เมืองขอนแก่น หลังจากที่รับทราบข้อกล่าวหาแล้ว และแสดงความไม่เห็นด้วยกับการนํา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาดำเนินคดีประชาชนที่ออกมาชุมนุม 

คดีที่พยานเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันเกิดเหตุ ศาลแขวงขอนแก่นมีคําพิพากษายกฟ้อง โดยศาลวินิจฉัยว่า พยานกับพวกไม่ใช่ผู้จัดให้มีการชุมนุม คดีถึงที่สุดแล้ว

วันเกิดเหตุ ก่อนพยานเข้าไปในอาคาร สภ.เมืองขอนแก่น ต้องผ่านการคัดกรอง มีการตรวจวัดอุณหภูมิและล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์

ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปตามถนนซึ่งเป็นที่โล่ง มีผู้ร่วมเดินประมาณ 20 คน ไม่แออัด ส่วนด้านหน้าอาคาร สภ.เมืองขอนแก่น ก็เป็นพื้นที่โล่ง 

พยานเข้าใจว่า ข้อความในป้ายผ้าที่ถือเดินไปตามถนนเป็นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลดําเนินการแก้ไขกฎหมายตามกระบวนการรัฐสภา เป็นข้อเสนอเชิงโครงสร้าง ซึ่งในช่วงนั้นมีการชุมนุมของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ

พยานเห็นว่า เนื้อหาตามป้ายผ้าไม่ใช่เป็นเรื่องการลิดรอนพระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์ แต่เป็นเรื่องของกฎหมาย จึงสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้โดยการพูดคุยกันในรัฐสภา 

ระหว่างกิจกรรมไม่มีการใช้ความรุนแรง หากมีประชาชนคนใดเห็นด้วยก็จะแสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว บีบแตร หรือพูดให้กําลังใจ พยานไม่เห็นว่ามีบุคคลใดเข้ามาแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับการเรียกร้อง กิจกรรมเป็นไปโดยสงบ ในพื้นที่อื่นก็เช่นกัน 

แนวทางของผู้ชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 เป็นสันติวิธีไม่มีการใช้กําลังหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังเพื่อบังคับให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมาย ซึ่งเป็นแนวทางตามกติกาสากลระหว่างประเทศ

ข้อกําหนดฉบับที่ 13 ไม่ได้ห้ามการชุมนุมโดยเด็ดขาด เพราะประเทศที่เป็นประชาธิปไตยประชาชนทุกคนสามารถออกมาแสดงความคิดเห็นของตนได้  เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ดูแลให้เรียบร้อยทั้งสองฝ่าย ไม่เลือกปฏิบัติ แต่ในประเทศไทยเจ้าหน้าที่เลือกปฏิบัติ บังคับใช้กฎหมายเฉพาะฝ่ายต่อต้านรัฐบาล โดยอ้างว่ากระทบความมั่นคง ซึ่งเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 

รัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้บัญญัติรับรองเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนไว้ แต่รัฐธรรมนูญ 2560 มีข้อความว่า เว้นแต่… เจ้าหน้าที่ก็มักใช้ข้อยกเว้นมาจํากัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังนั้น ในช่วงเกิดเหตุจึงมีการเรียกร้องให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่

หลังจากวันเกิดเหตุพยานทราบว่า มีการชุมนุมอีกหลายครั้งในจังหวัดขอนแก่น แต่พยานไม่ได้เข้าร่วม เพราะพยานไปร่วมชุมนุมที่จังหวัดอื่นและถูกดําเนินคดี

สัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว หมายถึง สิทธิ เสรีภาพ และภราดรภาพ ซึ่งนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหารตั้งแต่ปี 2557 เรื่อยมา 

บ้านที่ตํารวจเข้าตรวจค้นยึดป้ายผ้าไปเป็นบ้านของนวพล นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รุ่นน้องของพยาน ในวันที่ตำรวจเข้าค้นนวพลโทรศัพท์หาพยาน บอกว่าตํารวจมาขอตรวจค้นบ้าน ขอให้พยานมาที่บ้าน ในฐานะที่พยานเป็นรุ่นพี่และเป็นนักปกป้องสิทธิ จึงรีบเดินทางไปที่บ้านหลังดังกล่าว 

เมื่อไปถึงพยานเห็นตํารวจอยู่นอกรั้วพูดคุยกับนวพลซึ่งอยู่ภายในบ้าน นวพลได้เปิดประตูรั้วให้พยาน เข้าแล้วปิดตามเดิม หลังจากตํารวจแสดงหมายค้น พยานตรวจดูเห็นว่บ้านเลขที่และวันเวลาที่ค้นตรงตามจริงจึงยินยอมให้เฉพาะตํารวจที่มีชื่อตามหมายค้นเข้ามาภายในบ้าน และให้ตรวจยึดเฉพาะป้ายผ้าที่ระบุไว้ในหมายค้น จากนั้นตํารวจก็กลับออกจากบ้านไป โดยไม่ได้นําบันทึกการตรวจค้นมาให้นวพลลงชื่อ ป้ายผ้าที่ถูกตรวจยึดไปไม่ได้เป็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้ชุมนุมแต่ละพื้นที่ก็จะมีป้ายผ้าลักษณะเดียวกันนี้ 

วันที่ 19 ก.ย. 2563 มีการชุมนุมที่สนามหลวง มีข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาลเหมือนข้อความในป้ายผ้า 17 ป้าย 

ก่อนและหลังเกิดเหตุไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ 

ประชาชนที่ถือป้ายและเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายลักษณะเดียวกันกับพยานก็ถูกดําเนินคดีที่ศาลอาญาและศาลจังหวัดอุดรธานีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ซึ่งศาลมีคําพิพากษายกฟ้อง

ในประเทศประชาธิปไตยประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เยาวชนคนรุ่นใหม่ย่อมสามารถเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายและถือป้ายผ้าตามฟ้องได้ 

พยานและผู้ชุมนุมในวันเกิดเหตุไม่ได้มีความมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง เป็นเพียงการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ โดยข้อเรียกร้องไม่ได้มีผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ เพราะเรียกร้องให้ดำเนินการทางรัฐสภา ไม่ได้มีเจตนาเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน หรือเพื่อให้ประชาชนละเมิดกฎหมายแผ่นดิน 

จากนั้นจตุภัทร์ตอบโจทก์ถามค้านว่า ก่อนเกิดเหตุพยานเคยไปร่วมการชุมนุมครั้งอื่น ๆ เป็นประจํา รวมถึงได้ขึ้นกล่าวปราศรัยด้วย โดยในช่วงแรกมีข้อเรียกร้องให้ยุบสภา ประยุทธืลาออก และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค. 2563 กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นข้อถกเถียงใหม่ 

การชู 3 นิ้วเป็นสัญลักษณ์ในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในทุกเรื่อง ไม่ได้ใช้เฉพาะการเรียกร้องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ 

กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ได้แก่ กลุ่มทุนผูกขาดที่เข้าถึงทรัพยากร, กลุ่มทหารที่ทําการรัฐประหาร, นักการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ต้องการรักษาผลประโยชน์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แต่พยานไม่ทราบว่า มีประชาชนกลุ่มใดไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องดังกล่าวหรือไม่ เนื่องจากไม่เห็นว่ามีใครออกมาต่อต้าน 

หากพนักงานสอบสวนไม่ออกหมายเรียกพยานกับพวกรวม 6 คน ก็จะไม่มีกิจกรรมในวันเกิดเหตุ 

พยานยืนยันว่า กิจกรรมในวันเกิดเหตุไม่ใช่การชุมนุม เป็นเพียงการไปตามหมายเรียกและการรณรงค์เดินขบวนเพื่อประจานรัฐที่ใช้คดีปิดปากประชาชน ต้องการให้ประชาชนในขอนแก่นทราบว่า มีการดําเนินคดีประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม 

ก่อนเกิดเหตุพยานเคยไปพักที่บ้านของนวพลที่ตำรวจเข้าตรวจค้นและยึดป้าย บ้านหลังดังกล่าวเป็นบ้านของกลุ่มนักศึกษานิติศาสตร์ที่เคลื่อนไหวคัดค้านโรงงานน้ำตาลชีวมวล ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มขอนแก่นพอกันที 

ในช่วงเกิดเหตุมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่รัฐบาลบริหารจัดการไม่ดี มีผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย ทำให้เกิดการแพร่ระบาดในประเทศ พยานเห็นว่า รัฐบาลสามารถป้องกันปัญหาดังกล่าวได้โดยการปิดประเทศ แต่รัฐบาลไม่ได้ทำ จึงได้มีประชาชนออกมาเรียกร้อง

พยานไม่ได้เป็นเจ้าของเพจเฟซบุ๊กขอนแก่นพอกันที และไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นเจ้าของ 

พยานสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ถอดออกเฉพาะช่วงถ่ายรูปและปราศรัยซึ่งอยู่ห่างบุคคลอื่น มีช่วงที่พยานยืนอยู่ใกล้คนอื่นในตอนท้ายเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น 

พยานจําไม่ได้ว่า เมื่อเดินผ่านหน้าโรงเรียนขอนแก่นวิทยายนมีการเชิญชวนให้ประชาชนตะโกนว่า “ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ” หรือไม่ แต่ถ้อยคําดังกล่าวฝ่ายประชาธิปไตยนำมาใช้พูดกันเป็นประจําอยู่แล้ว พยานเข้าใจคําว่า ศักดินา หมายถึง เครือข่ายชนชั้นนํา เช่น ทหาร นายทุน ไม่ได้มุ่งหมายถึงสถาบันกษัตริย์ 

ในวันที่ตรวจเข้าขอตรวจค้นบ้าน พยานไม่ทราบว่า นอกจาพยาน นวพลได้โทรศัพท์หาใครอีกหรือไม่ ส่วนที่มีภาพพยานและนวพลนอนทับป้ายนั้น เป็นการต่อต้านความไม่ถูกต้อง เนื่องจากตํารวจไม่ได้อธิบายว่าจะยึดป้ายไปดําเนินการเกี่ยวกับเรื่องอะไร แต่เมื่อตํารวจอธิบายชัดเจนจึงยินยอมให้ตรวจยึดไป พยานก็เคยแสดงออกในลักษณะนี้ในกรณีปัญหาของชาวบ้านที่ตำรวจไม่ทำตามกระบวนการตามกฎหมาย 

การที่ประชาชนออกมาเสนอข้อเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมาย รัฐบาลและสภาควรรับไปดำเนินการ ไม่ใช่ประชาชนถูกดำเนินคดี ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะความบิดเบี้ยวของกฎหมายไทย 

สิทธิในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายเป็นสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเสนอกฎหมาย… ข้อความตามป้ายผ้าไม่ได้มีการเสนอให้เปลี่ยนประมุขของรัฐจากพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแบบอื่น ในทางวิชาการเห็นว่ายังอยู่ในขอบเขตของการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ 

ศุภณัฐ บุญสด นักวิชาการ เบิกความว่า พยานจบการศึกษาชั้นปริญญาโทด้านกฎหมายมหาชนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันเป็นพนักงานราชการ 

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 6 ซึ่งบัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใด ๆ มิได้ ปรากฏครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 ซึ่งกําหนดให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ตีความรัฐธรรมนูญ และเคยมีการประชุมตีความมาตรานี้ในรายงานการประชุมสภาฯ ครั้งที่ 26 วันที่ 23 พ.ย. 2476 โดยลงมติดังนี้ “สภาผู้แทนราษฎรมีอํานาจฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ใช่ศาล ไม่มีอํานาจชําระ เมื่อคดีอาชญาหรือแพ่งที่เกี่ยวแก่พระมหากษัตริย์ ในกรณีแพ่งการฟ้องร้องไปยังโรงศาลให้ฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ส่วนในกรณีอาชญาซึ่งอาจจะบังอาจเกิดขึ้นก็จะฟ้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้ แต่สภามีอํานาจที่จะจัดการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญเพื่อให้การเป็นไปโดยยุติธรรมได้” 

ปัจจุบันมีตําราที่อธิบายเรื่องนี้ 2 เล่ม เป็นหนังสือของ ศจ.ดร.หยุด แสงอุทัย โดยอธิบายว่า มาตรานี้มี 2 นัยยะ คือ 1.ให้พระมหากษัตริย์ไม่ถูกดําเนินคดี และ 2.ให้พระมหากษัตริย์เป็นกลางทางการเมือง ซึ่งหมายถึงให้ผู้สนองพระบรมราชโองการ คือ รัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบทางการเมืองและกฎหมาย

โดยหลักการการตีความมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญ 2560 ต้องดูประกอบกับมาตรา 182 ที่ว่า บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ 

หลักการ The King Can Do No Wrong หรือพระมหากษัตริย์ไม่ทรงกระทําความผิด ปรากฏอยู่ในทั้งมาตรา 6 และมาตรา 182 คือกําหนดให้มีองค์กรทางการเมืองมารับผิดชอบความผิดทางการเมืองและทางกฎหมายแทนพระมหากษัตริย์ 

ขณะเดียวกันการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน รัฐธรรมนูญ 2560 ก็ให้การรับรองเสรีภาพในการแสดงความเห็นไว้ในมาตรา 34 โดยบัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและการสื่อความหมายอื่นใด การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทํามิได้เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจแห่งบทบัญญัติของกฎหมาย และรับรองเสรีภาพในการชุมนุมไว้ในมาตรา 44 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทํามิได้เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจแห่งบทบัญญัติของกฎหมาย 

ทั้งสองคุณค่าเป็นคุณค่าหลักของระบอบประชาธิปไตยที่ให้บุคคลสามารถถ่ายทอดความคิดของตนเอง และรวบรวมคนที่มีความคิดเห็นเหมือนกันมาแสดงออกในที่สาธารณะ ซึ่งจะต่อยอดเป็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับต่อไป โดยขอบเขตการใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวจะถูกจํากัดไว้ในมาตรา 49 ที่ว่า บุคคลจะใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ และมาตรา 255 ที่ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทํามิได้ 

ตําราทางวิชาการที่อธิบายขอบเขตการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ คือ ตําราของ ศจ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ชื่อ หลักพื้นฐานเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งอธิบายไว้ 3 นัยยะ คือ 1.ห้ามเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจากราชอาณาจักรเป็นสาธารณรัฐ คือ เปลี่ยนประมุขของรัฐจากพระมหากษัตริย์เป็นประธานาธิบดี 2.ห้ามเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบอื่น และ 3.ห้ามเปลี่ยนจากรัฐเดี่ยวเป็นรัฐรวม ดังนั้น การใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนจะต้องอยู่ในขอบเขตดังกล่าว 

สําหรับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันประชนชนมีสิทธิที่จะเสนอให้แก้ไขได้โดยอาศัยผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 50,000 ชื่อ ลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 (1) ตลอดจนคณะรัฐมนตรีหรือ สส.ตามจํานวนที่กําหนดไว้ก็มีสิทธิเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ โดยประธานรัฐสภาจะเป็นผู้พิจารณาว่าร่างกฎหมายดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 หรือไม่ ถ้าไม่ขัดก็บรรจุวาระให้สภาพิจารณาต่อไป หากสภาเห็นชอบ ศาลรัฐธรรมนูญก็ตรวจสอบว่าร่างดังกล่าวขัดมาตรา 255 หรือไม่ หากไม่ขัดศาลรัฐธรรมนูญก็จะส่งกลับให้รัฐสภาทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย ส่วนการทําประชามติจะต้องทำกรณีแก้ไขเกี่ยวกับอำนาจศาลหรือองค์กรอิสระ 

ส่วนการแก้ไขกฎหมายอื่นมีขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 133 ซึ่งระบุว่า ประชาชน 10,000 คน หรือคณะรัฐมนตรี หรือ สส. มีสิทธิเสนอร่างแก้ไขกฎหมายให้สภาพิจารณา โดยมีขั้นตอนคล้ายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

สิทธิในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายเป็นสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเสนอกฎหมาย

ข้อจํากัดสิทธิเสรีภาพในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนที่มีคำว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ปรากฏครั้งแรกในการจัดทํารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 โดยในการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 39 วันที่ 2 พ.ย. 2491 หลวงประกอบ นิติสาร กรรมาธิการ อธิบายความเรื่องดังกล่าวไว้ ซึ่่งเป็นการยืนยันว่า ระบอบการปกครองของประเทศไทยจะมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเท่านั้น 

ทนายจําเลยให้พยานดูภาพป้ายผ้าในคดีนี้ พยานให้ความเห็นทางวิชาการว่า ข้อความตามป้ายผ้าไม่ได้มีการเสนอให้เปลี่ยนประมุขของรัฐจากพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแบบอื่น ในทางวิชาการเห็นว่ายังอยู่ในขอบเขตของการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ 

เดิมส่วนราชการในพระองค์สังกัดอยู่ที่สํานักนายกรัฐมนตรี เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 15 วรรคสอง บัญญัติว่า การจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกา ต่อมา มีการออก พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ฯ และมีการโอนย้ายส่วนราชการในพระองค์ไปขึ้นตรงกับพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว 

ก่อนปี 2561 ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ทรัพย์สินที่เป็นของรัฐ เช่น พระราชวัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ของผู้ที่ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ต่อมา มีการออก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 ยุบทรัพย์สินของรัฐเป็นทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ทั้งหมด

สําหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในแง่วิชาการที่มีการถกเถียงกันมีปัญหาใน 3 ระดับ คือ 1.อุดมการณ์ทางการเมืองของผู้ที่ใช้บังคับกฎหมาย 2.อัตราโทษ 3.การใช้บังคับกฎหมาย 

ศุภณัฐยังตอบโจทก์ถามค้านว่า เสรีภาพในการแสดงความเห็นตามมาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ปรากฏครั้งแรกอยู่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 ซึ่งเป็นหลักการที่รับแนวคิดมาจากตะวันตก เสรีภาพดังกล่าวอาจถูกจํากัดได้โดยตัวบทของกฎหมาย ซึ่งในมาตรา 34 ก็บัญญัติไว้ว่า การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทํามิได้เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน 

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116 อยู่ในความหมายของกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ อย่างไรก็ตาม มาตรา 34 เป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญให้อํานาจสภาออกฎหมายเพื่อจํากัดเสรีภาพ ส่วนการใช้เสรีภาพที่มิชอบ กำหนดอยู่ในมาตรา 49 

การตีความและออกกฎหมายจํากัดเสรีภาพเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นดุลพินิจของรัฐสภา 

โจทก์ถามพยานว่า การที่ผู้ชุมนุมถือป้ายผ้าในวันเกิดเหตุมีลักษณะเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนหรือไม่ พยานเบิกความอธิบายว่า การที่ประชาชนเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายเป็นการใช้เสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรอง การแสดงออกดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด 

ในระบอบประชาธิปไตยสถานะของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ คือ อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่อยู่เหนือกฎหมายทั่วไป และมีเอกสิทธิคือได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายไม่ให้ถูกดำเนินคดี ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่มีเอกสิทธิก็จะสถานะเหมือนบุคคลธรรมดา 

รัฐธรรมนูญมาตรา 6 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นเอกสิทธิของพระมหากษัตริย์ แต่หากมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ผลทางกฎหมายก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง เนื่องจากมีรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 คุ้มครอง มีบุคคลที่ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบทางกฎหมายแทน

.

X