ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ปรับ 1 พัน คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “ป้าเป้า” ชุมนุม #ม็อบ11สิงหา64 ส่วนประชาชนอีก 6 คน ยกฟ้องทุกข้อหา

3 ก.พ. 2568 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ในคดีของ วรวรรณ แซ่อั้ง หรือ “ป้าเป้า” และประชาชนรวม 8 ราย ถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 140, 215 และ 216 กรณีถูกจับกุมจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2564 หรือ #ม็อบ11สิงหาไล่ล่าทรราช จัดโดยกลุ่มทะลุฟ้า ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยทั้งหมดเป็นเพียงประชาชนทั่วไป ไม่ได้เป็นแกนนำหรือนักกิจกรรม 

เดิมศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยทั้งหมดในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุก 1 ปี ปรับคนละ 20,000 บาท ให้รอลงอาญา 3 ปี  แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เห็นว่าเฉพาะป้าเป้ามีความผิดข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่พฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรง สมควรแก้ไขให้เหมาะสม ให้ลงโทษปรับ 1,000 บาท ส่วนจำเลยอีก 6 ราย เนื่องจากโจทก์ไม่มีพยานปากใดเบิกความยืนยันว่าเข้าร่วมชุมนุมตั้งแต่เวลาใด พฤติการณ์ที่เข้าร่วมชุมนุมเป็นอย่างไร ทั้งไม่ได้ความว่าเป็นแกนนำในการชุมนุม ยกฟ้องทุกข้อหา

.

คดีนี้ทั้งหมดถูกจับกุมจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2564 หรือ #ม็อบ11สิงหาไล่ล่าทรราช จัดโดยกลุ่มทะลุฟ้า ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เตรียมเคลื่อนขบวนไปยังบ้านพักของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยทั้งหมดเป็นเพียงประชาชนทั่วไป ไม่ได้เป็นแกนนำหรือนักกิจกรรม 

หลังการฟ้องคดีมีจำเลย 7 ราย ที่ต่อสู้ในศาล โดยยืนยันว่าจำเลยทุกคนไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรม หรือสมาชิกทะลุฟ้า เป็นเพียงมวลชนที่อยู่ในเหตุการณ์ จึงไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุม และการชุมนุมดังกล่าวเป็นการเรียกร้องเกี่ยวกับเรื่องรักษาพยาบาล และการสาธารณสุข ซึ่งเป็นข้อยกเว้นที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต 

รวมไปถึงตัวจำเลยได้สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ทั้งพื้นที่เกิดเหตุเป็นที่โล่งแจ้ง ไม่แออัด จึงไม่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด สำหรับข้อกล่าวหาที่ระบุว่าจำเลยได้ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ทนายได้ยื่นหลักฐานคลิปวิดีโอที่จำเลยถูกเจ้าหน้าที่ คฝ. ทำร้ายขณะจับกุม เพื่อชี้ให้เห็นปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ว่าเป็นไปเกินกว่าเหตุ และการตรวจค้นจำเลยแต่ละรายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ไม่ได้พบอาวุธใด ๆ ตามข้อกล่าวหา

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2565 ศาลอาญามีคำพิพากษาในคดีนี้ โดยเห็นว่าแม้ว่ากิจกรรมจะจัดขึ้นในสถานที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก รวมทั้งจำเลยทั้งแปดไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรม เป็นแต่เพียงผู้เข้าร่วม แต่หากพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อใช้รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองแล้ว กรณีเช่นนี้ จึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาในประเด็นอื่นอีก เช่นว่ากิจกรรมนั้นจัดขึ้นที่ใด เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดหรือไม่ หรือจำเลยเป็นผู้จัดกิจกรรมหรือไม่ เพียงแต่จำเลยได้เข้าร่วมกิจกรรมและมีจำนวนมากกว่าห้าคนขึ้นไป ในพื้นที่ที่ซึ่งประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดแล้ว 

ส่วนข้อหาอื่น ๆ ศาลพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่ายังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งหมด เป็นผู้ขว้างปาสิ่งของ ระเบิด หรือยิงหนังสติ๊กลูกแก้วใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ แม้จะปรากฎภาพว่ามีการยื้อรั้งฉุดกระชากระหว่างจำเลยและเจ้าหน้าที่ตำรวจจริง แต่การกระทำดังกล่าวไม่รุนแรงถึงขนาดเป็นการต่อสู้หรือขัดขวางพนักงานเจ้าหน้าที่

ในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับคนละ 20,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ มีระยะเวลา 3 ปี ให้คุมประพฤติจำเลยเป็นระยะเวลา 2 ปี รายงานตัวกับเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ 8 ครั้ง และทำงานบริการสังคมจำนวน 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้โทษที่ศาลกำหนดในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในคดีนี้ นับได้ว่าสูงกว่าคดีอื่น ๆ มาก ซึ่งโดยมากมักลงเพียงอัตราโทษปรับ จำเลยจึงได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อมา

รวมทั้งน่าสังเกตว่าต่อมาในปี 2566 ศาลอาญาเดียวกันนี้ ได้มีคำพิพากษายกฟ้องทุกข้อกล่าวหาคดีของประชาชนอีก 4 ราย ที่ถูกจับกุมจากเหตุการณ์ชุมนุมเดียวกันนี้ และมีข้อเท็จจริงในลักษณะเดียวกัน โดยแนววินิจฉัยแทบจะแตกต่างจากศาลในคดีแรกโดยสิ้นเชิง คือเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดชุมนุม และในที่เกิดเหตุเป็นสถานที่โล่งแจ้ง เป็นการชุมนุมที่ไม่ใช้ระยะเวลานาน จึงไม่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค อีกทั้งเป็นการรวมตัวเพื่อเรียกร้องเรื่องการจัดการกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ของรัฐบาล จึงเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ 

.

วันนี้ (3 ก.พ. 2568) เวลา 9.45 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 913 จำเลยทั้ง 7 รายเดินทางมาฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ ต่อมาผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาโดยย่อ สามารถสรุปได้ดังนี้

เห็นว่า จำเลยที่ 1 (ป้าเป้า วรวรรณ) ถูกจับกุมบริเวณที่เกิดเหตุ และเป็นผู้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ขณะที่ถูกจับกุมสอดคล้องกับภาพถ่ายตามพยานเอกสารของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

ส่วนจำเลยที่ 2 – 4, 6 – 8 โจทก์ไม่มีพยานปากใดเบิกความยืนยันว่าเข้าร่วมชุมนุมตั้งแต่เวลาใด พฤติการณ์ที่เข้าร่วมชุมนุมเป็นอย่างไร ทั้งไม่ได้ความว่าเป็นแกนนำในการชุมนุม ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 – 4, 6 – 8 ฟังขึ้น

เนื่องจากสถานที่เกิดเหตุเป็นที่โล่งแจ้ง ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย ไม่ปรากฏการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากการชุมนุม พฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรง เห็นว่าศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 หนักไป สมควรแก้ไขให้เหมาะสม

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้ลงโทษปรับ 1,000 บาท สถานเดียว ไม่คุมประพฤติ ส่วนจำเลยที่ 2 – 4, 6 – 8 ยกฟ้องทุกข้อหา

ผู้พิพากษาที่ลงนามในคำพิพากษา ได้แก่ สุริยา พวงจันทน์แดง, ทวีศักดิ์ สายสุวรรณนที และ กันตธรณ์ กันตธนาธรณ์

ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าหลังคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยแต่ละคนทั้งถูกคุมประพฤติเป็นระยะเวลา 2 ปี ต้องไปรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ 8 ครั้ง และทำงานบริการสังคมจำนวน 24 ชั่วโมง มาแล้ว แม้ในที่สุดศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้เป็นยกฟ้องคดีแทบทั้งหมดก็ตาม

X