วันที่ 17 ก.พ. 2568 เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีของ “ธีรพงศ์” (นามสมมติ) จำเลยที่ 1, “พีรพงศ์” (นามสมมติ) จำเลยที่ 2 และ “ภัทรพล” (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 3 กรณีถูกกล่าวหาว่าร่วมกันขว้างระเบิดปิงปองเข้าใส่ตู้ควบคุมสัญญาไฟจราจรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บริเวณแยกอโศกมนตรี เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2564
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โทษจำคุกจำเลยทั้งสาม เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 และ 2 คนละ 2 ปี 4 เดือน 15 วัน ปรับคนละ 666.66 บาท และจำคุกจำเลยที่ 3 รวม 3 ปี 6 เดือน 15 วัน ปรับ 1,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
.
ย้อนไปเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2564 เวลาประมาณ 23.30 น. จำเลยที่ 1 และ 2 ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุม บริเวณถนนพระราม 4 ก่อนถูกนำตัวมาที่ สน.ทองหล่อ เพื่อทำบันทึกจับกุมและสอบปากคำ โดยไม่มีทนายความอยู่ร่วมด้วย
ต่อมาในวันที่ 12 ต.ค. 2564 เวลา 10.00 น. พนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ นำตัวผู้ต้องหาทั้งสองรายไปตรวจค้นบ้านโดยไม่มีหมายค้น แต่ไม่เจอหลักฐานเพิ่มเติม และได้เดินทางไปยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ตำรวจระบุว่าในชั้นสอบสวน ผู้ต้องหาทั้งสองรายให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา
ในวันเดียวกัน จำเลยที่ 3 ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลอาญากรุงเทพใต้ที่ 504/2564 ลงวันที่ 12 ต.ค. 2564 และเข้าตรวจค้นบ้านพักย่านรามคำแหงโดยไม่มีหมายค้น โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 16 นาย ก่อนถูกนำตัวไปยัง สน.ทองหล่อ และถูกตั้งข้อหาเช่นเดียวกับธีรพงศ์และพีรพงศ์ โดยภัทรพลไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม และให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา
ในชั้นสอบสวน ศาลอาญากรุงเทพใต้อนุญาตให้ประกันทั้งสามคน โดยวางหลักทรัพย์คนละ 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดให้ติด EM นอกจากนี้ ภัทรพลยังถูกกำหนดเงื่อนไขห้ามเข้าร่วมหรือก่อเหตุในลักษณะเดียวกันอีก
ต่อมาในวันที่ 29 ธ.ค. 2564 สกาวเดือน ลิ่มพงศธร พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ใน 5 ข้อหา ดังนี้
- ร่วมกันมีและใช้วัตถุระเบิดซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ใช้ในครอบครอง
- ร่วมกันกระทําให้เกิดระเบิด จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น
- ร่วมกันทําให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย
- ร่วมกันพาอาวุธ (ระเบิด) ติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต
- ร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ออกนอกเคหะสถานระหว่างเวลา 22.00 – 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น โดยไม่ได้รับอนุญาต)
ในชั้นศาล จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่วนข้อหาอื่น ๆ จำเลยให้การปฏิเสธ และสืบพยานไปเมื่อวันที่ 6 – 8 ธ.ค. 2565
ต่อมาในวันที่ 20 ก.พ. 2566 ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามฟ้อง เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ไว้ในครอบครอง จำคุกคนละ 2 ปี, ฐานร่วมกันทำให้เกิดการระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่นและฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิดฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน, ฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุสมควร ปรับคนละ 1,000 บาท และฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุก 1 เดือน รวมจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 3 ปี 7 เดือน และปรับคนละ 1,000 บาท
คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 และ 2 กระทงละ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และ 2 คนละ 1 ปี 12 เดือน 15 วัน และปรับคนละ 666.66 บาท
ต่อมาในวันที่ 15 พ.ค. 2566 ทนายจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ ใน 4 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นแรก ในความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อพิจารณาตามประกาศเรื่องการ ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องถิ่นทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 4) และข้อกําหนดออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 34) มีที่มีผลใช้บังคับในขณะนั้นและกําหนดโทษไว้ ซึ่งต่อมาในภายหลังได้มีการออกประกาศให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ย่อมมีผลให้การกระทําที่เป็นความผิดตามประกาศและข้อกําหนดออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สิ้นผลไป และมีผลย้อนหลังในทางที่เป็นคุณต่อผู้ต้องหาหรือจําเลยที่ได้มีการกระทําที่เคยบัญญัติว่าเป็นความผิดมาก่อน ศาลไม่มีอํานาจที่จะลงโทษจําคุกจําเลยทั้งสามในข้อหานี้ได้
ทั้งเมื่อพิจารณาอัตราโทษความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีอัตราโทษไม่สูง การลงโทษจําเลยทั้งสามโดยไม่รอการลงโทษ ทั้งที่จําเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ เป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ประเด็นที่สอง การรับฟังพยานหลักฐาน ในคืนเกิดเหตุมีการชุมนุมของเด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่ มีการปาระเบิดปิงปองเข้าใส่ป้อมจราจรของตำรวจ ซึ่งมีเจ้าพนักงานควบคุมฝูงชน (คฝ.) อยู่ ย่อมแสดงให้เห็นชัดเจนว่า เจ้าพนักงานชุดจับกุมจำเลยทั้งสามมีเหตุที่จะปรักปรำหรือกลั่นแกล้งให้จำเลยต้องรับผิดตามฟ้อง เพราะจำเลยทั้งสามไปเข้าร่วมการชุมนุมมาก่อน ศาลจึงต้องรับฟังพยานโจทก์ชุดจับกุมด้วยความระมัดระวังยิ่ง
นอกจากนี้ ขณะที่มีการทำบันทึกการจับกุมผู้ต้องหาที่ 1 และ 2 ไม่ปรากฏว่ามีทนายหรือญาติของผู้ต้องหาทั้งสองอยู่ร่วมด้วย แต่กลับมีการระบุว่า ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา มีการให้ผู้ต้องหาทั้งสองเขียนคำรับสารภาพ จึงเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยไม่ชอบ และผู้ต้องหาที่ 2 ถูกสอบสวนโดยไม่มีทนายความหรือญาติที่ตนเองไว้วางใจอยู่ร่วมด้วย จึงเป็นการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 และ 2 ศาลจะนำมารับฟังเพื่อลงโทษไม่ได้ ดังที่จำเลยที่ 1 และ 2 ให้การต่อศาลว่า เจ้าพนักงานตำรวจบอกให้เขียนข้อความตามที่บอกและถูกขู่ทำร้าย
ประเด็นที่สาม มีเหตุอันควรสงสัยว่าจําเลยทั้งสามเป็นผู้กระทําความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ หรือไม่ พยานโจทก์ปากเจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความระบุตัวผู้ที่ขว้างสิ่งของไปที่ป้อมตำรวจจราจรแยกอโศก ขัดแย้งกับพยานเอกสารที่ระบุภาพกล้องวงจรปิดหน้าตู้ป้อมจราจรในวันเกิดเหตุ พยานให้การมีพิรุธน่าสงสัยว่า จำเลยทั้งสามเป็นผู้ร่วมกันขว้างปาสิ่งของหรือวัตถุระเบิดจริงหรือไม่
เมื่อพิจารณาพยานเอกสารของโจทก์ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่า รถจักรยานยนต์ต้องสงสัยทั้งสองคันเป็นของจำเลยที่ 1 และที่ 3 และบุคคลต้องสงสัยทั้งสามคนคือจำเลยในคดีนี้
นอกจากนี้ แม้อัยการโจทก์จะอ้างว่าเป็นพฤติการณ์ในการร่วมกันกระทำความผิดก็ตาม แต่ต้องได้ความให้เป็นที่หายสงสัยอย่างยิ่งว่า ใครเป็นผู้ขว้างระเบิดใส่ป้อมจราจร เมื่อยังฟังไม่ได้ความตามที่กล่าวถึง ศาลย่อมจะลงโทษจำเลยทั้งสามให้ร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องไม่ได้
ประเด็นที่สี่ จําเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจําเลยที่ 1 และที่ 2 กระทําความผิด หรือไม่ ข้อเท็จจริงในคดีนี้ ไม่มีประจักษ์พยานโจทก์ปากใดที่ยืนยันได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นคนร้ายที่ขว้างระเบิด ศาลจึงต้องรับฟังพยานแวดล้อมด้วยความระมัดระวังยิ่ง กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ร่วมกันกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และ 2 หรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 3 คดียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้กระทำความผิดตามฟ้อง
.
อุทธรณ์พิพากษาแก้โทษ จำคุกจำเลยที่ 1 และ 2 คนละ 2 ปี 4 เดือน 15 วัน ส่วนจำเลยที่ 3 จำคุก 3 ปี 6 เดือน 15 วัน
เดิมคดีนี้มีนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 13 ม.ค. 2568 แต่เนื่องจากพีรพงศ์ไม่ได้เดินทางมาศาล ศาลจึงออกหมายจับและปรับนายประกันตามสัญญา โดยให้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มาในวันนี้ (17 ก.พ. 2568)
ที่ห้องพิจารณาคดี 503 ธีรพงศ์และภัทรพลเดินทางมาศาลพร้อมกับครอบครัว โดยมีประชาชนและสื่ออิสระหลายคนเข้าร่วมสังเกตการณ์คดี
ธีรพงศ์เดินทางมาศาลพร้อมพ่อ แม่ แฟน และลูกสาววัย 2 ขวบครึ่ง เขาเปิดเผยว่าความกังวลเดียวหากต้องเข้าเรือนจำคือลูกสาวของเขา เนื่องจากเขาเป็นผู้หารายได้หลักของครอบครัว โดยแฟนของเขาไม่ได้ประกอบอาชีพใด
ส่วนภัทรพลเดินทางมาศาลพร้อมพ่อและแม่ เขาเล่าว่าตนเองมีลูกวัย 1 ขวบ 2 เดือน ซึ่งอยู่กับแฟนที่เลิกรากันไปแล้ว
ก่อนศาลออกนั่งพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เบิกตัวพีรพงศ์เข้ามาในห้องพิจารณาคดี พีรพงศ์เล่าว่า เขาไม่ได้เดินทางมาศาลในนัดที่แล้วเนื่องจากจำวันนัดผิด หลังจากนั้น เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจำนวน 3 นาย เข้าจับกุมจากปากซอยที่พักเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2568 และถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันดังกล่าว
ต่อมา ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดี และเรียกจำเลยทั้งสามไปยืนด้านหน้าบัลลังก์ ก่อนอ่านคำพิพากษาให้ฟัง สามารถสรุปได้ดังนี้
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว เห็นว่า ขณะที่เกิดเหตุ จำเลยทั้งสามถูกจับกุมได้ทันที จำเลยที่ 1 และ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน แม้ไม่มีทนายความในชั้นสอบสวน แต่คำให้การรับสารภาพสามารถรับฟังพิสูจน์ความผิดได้ ส่วนข้ออ้างว่าถูกบังคับให้การนั้น ไม่สามารถรับฟังได้ โดยพยานโจทก์ซึ่งเป็นตำรวจเบิกความยืนยันว่า มีพยานหลักฐานเป็นแชทว่า สนับสนุนจำเลยที่ 3 ในการขว้างระเบิด และจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเพื่อนจำเลยที่ 3 พยานโจทก์นำสืบรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
แต่เนื่องจากศาลชั้นต้นคำนวณลดโทษไม่ถูกต้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โทษจำคุกจำเลยเป็น จำคุกจำเลยที่ 1 และ 2 คนละ 2 ปี 4 เดือน 15 วัน ปรับคนละ 666.66 บาท และจำคุกจำเลยที่ 3 รวม 3 ปี 6 เดือน 15 วัน ปรับ 1,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
ผู้พิพากษาที่ลงนามในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ได้แก่ วรางคณา สุจริตกุล, ธิดา จรรยาทิพย์สกุล และ ดุลโชค มนุญพร
ต่อมาเวลา 16.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งให้ส่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของจำเลยทั้งสามให้ศาลฎีกาพิจารณา ซึ่งทั้งสามจะถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันทีในวันนี้ โดยต้องรอคำสั่งประกันอีก 2 – 3 วัน ส่งผลให้ยอดผู้ต้องขังทางการเมืองพุ่งสูงเป็น 45 คนแล้ว
(อัปเดต 19 ก.พ. 2568) เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2568 ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1 และ 3 แต่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 2 ระบุว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 และ 3 ให้การปฏิเสธบางข้อหา และเคยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมาตลอด ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี เชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกาคงไม่หลบหนี จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1 และ 3 ตีราคาประกันคนละ 250,000 บาท ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป ส่วนจำเลยที่ 2 ปรากฏว่าเคยหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ มีเหตุอันควรเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวรระหว่างฎีกา จำเลยที่ 2 อาจหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 2 ให้ยกคำร้องในส่วนของจำเลยที่ 2