6 มี.ค. 2568 ศาลแขวงสุรินทร์นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในคดี “คาร์ม็อบสุรินทร์” ที่ นิรันดร์ ลวดเงิน และวิสณุพร สมนาม 2 นักกิจกรรมและสมาชิกพรรคก้าวไกล จ.สุรินทร์ ถูกฟ้องในข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเข้าร่วมคาร์ม็อบสุรินทร์ สาปแช่งรัฐบาล ขับไล่ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 โดยครั้งนี้เป็นการเดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 2 ของทั้งนิรันดร์, วิสณุพร และทนายจำเลย หลังการต่อสู้คดีมากว่า 3 ปี
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2566 ศาลแขวงสุรินทร์มีคำพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9(2) ปรับคนละ 30,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละ 1 ใน 3 คงปรับคนละ 20,000 บาท
.
หลังจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ เหตุลงโทษปรับเกินอำนาจ ก่อนจำเลยอุทธรณ์อีกครั้ง
ต่อมา วันที่ 31 ม.ค. 2567 นิรันดร์และวิสณุพรได้ยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ยกฟ้องจำเลยทั้งสองทุกข้อหา ยืนยันว่า ทั้งสองคนไปเข้าร่วมกิจกรรมในฐานะประชาชน อันเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่ใช่ผู้จัดให้มีการชุมนุมตามที่โจทก์ฟ้อง อีกทั้งการชุมนุมไม่ได้มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด โดยผู้ชุมนุมสวมหน้ากากอนามัย ไม่ได้ใกล้ชิดกัน ที่ชุมนุมอากาศถ่ายเทสะดวก และไม่ปรากฏว่ามีผู้ติดโควิดจากการไปร่วมกิจกรรม
จากนั้นในวันที่ 28 พ.ค. 2567 ศาลแขวงสุรินทร์ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ยกคําพิพากษาศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีใหม่ให้ถูกต้องตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม เนื่องจากศาลแขวงซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะ มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่มีอัตราโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท แต่จะลงโทษจําคุกเกิน 6 เดือน หรือปรับเกิน 10,000 บาท ไม่ได้ ตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง (5) ของพระธรรมนูญศาลยุติธรรม การที่ศาลชั้นต้นโดยผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะลงโทษปรับจําเลยในคดีนี้คนละ 20,000 บาท จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ในวันเดียวกันนั้นศาลแขวงสุรินทร์จึงมีคำพิพากษาในคดีนี้ใหม่ ปิยฤดี สืบเพ็ชร ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนแจ้งกับนิรันดร์และวิสณุพรว่า คำพิพากษาเหมือนเดิม โดยมีหัวหน้าศาลลงลายมือชื่อร่วมจัดทำคำพิพากษาด้วย
ทั้งนี้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 29 ประกอบมาตรา 31 (2) วางหลักให้กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาคดีอาญาแล้วเห็นควรพิพากษาให้ลงโทษจำคุกเกินกว่า 6 เดือน หรือปรับเกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเกินกว่าอัตราดังกล่าว ถือเป็นเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ที่ให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลมีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษา
ทำให้นิรันดร์และวิสณุพรใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 อีกครั้งในวันที่ 21 ต.ค. 2567 เพื่อโต้แย้งคำพิพากษาศาลแขวงสุรินทร์ฉบับใหม่ และศาลแขวงสุรินทร์นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นครั้งที่ 2 ในครั้งนี้
.
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ชี้ จำเลยโพสต์นัดชุมนุม – รับบริจาค – ร่วมปราศรัย ถือเป็นผู้ร่วมจัดกิจกรรม ทั้งผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมากเสี่ยงแพร่โควิด
6 มี.ค. 2568 นิรันดร์, วิสณุพร และทนายจำเลย เดินทางมาที่ศาลแขวงสุรินทร์ตามนัด ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีสาระสำคัญว่า
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ตรวจสํานวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจําเลยทั้งสองประการแรกว่า จําเลยทั้งสองเป็นแกนนําหรือผู้จัดให้มีการชุมนุม “Surin Car Mob” ตามฟ้องหรือไม่
จําเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า เข้าร่วมการชุมนุมในฐานะประชาชนอันเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นแกนนําหรือผู้จัดการชุมนุม การตีความคําว่า “ผู้จัดการชุมนุม” ต้องตีความอย่างเคร่งครัด จําเลยที่ 1 ได้รับเชิญให้ร่วมปราศรัย และจําเลยที่ 2 เปิดรับบริจาคเงินเพื่อเติมน้ำมันให้แก่รถยนต์ของกลุ่มจําเลยที่ 2 แต่ทั้งสองไม่ได้เป็นผู้กําหนดเส้นทางการเคลื่อนขบวนและไม่ได้จัดหารถยนต์ในการชุมนุม
เห็นว่า การที่จะพิจารณาว่าจําเลยทั้งสองเป็นแกนนําหรือผู้จัดให้มีการชุมนุมหรือไม่ต้องพิจารณาจากพฤติการณ์ของจําเลยทั้งสองทั้งก่อนและขณะที่มีการชุมนุม ปรากฏว่าก่อนการชุมนุมจําเลยที่ 2 โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเพื่อเชิญชวนหรือนัดให้บุคคลอื่นเข้าร่วมชุมนุมในวัน เวลา และสถานที่ที่กําหนด พร้อมขอรับบริจาคเงินโดยให้โอนเงินเข้าบัญชีของจําเลยที่ 2 ซึ่งมีคําอธิบายว่า การจัดงานต้องมีค่าใช้จ่ายและจะทําสติกเกอร์ไปแปะที่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และที่บ้าน
ต่อมา มีการชุมนุมในวัน เวลา และสถานที่ตามที่จําเลยที่ 2 โพสต์ และจําเลยที่ 2 ใช้เงินที่รับบริจาคจัดทําสติกเกอร์แจกให้แก่ผู้ร่วมชุมนุมใช้ติดที่ป้ายทะเบียนรถ ข้อเท็จจริงดังกล่าวเพียงพอให้รับฟังได้ว่าจําเลยที่ 2 มีพฤติการณ์ร่วมในการเป็นแกนนําหรือผู้จัดให้มีการชุมนุม “Surin Car Mob” ตามฟ้องแล้ว
ส่วนจําเลยที่ 1 ซึ่งทําหน้าที่ปราศรัยทั้งขณะทํากิจกรรมเผาหุ่นจําลองและตามจุดต่าง ๆ รวมทั้งบนรถกระบะสองแถวขณะเคลื่อนขบวน บ่งชี้ว่าจําเลยที่ 1 ร่วมในการเป็นแกนนําหรือผู้จัดให้มีการชุมนุม “Surin Car Mob” ตามฟ้องเช่นเดียวกัน อุทธรณ์ของจําเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจําเลยทั้งสองประการสุดท้ายว่า การชุมนุม “Surin Car Mob” ตามฟ้องเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด – 19 หรือไม่
จําเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า การชุมนุมดังกล่าวจัดขึ้นในพื้นที่โล่งกว้าง อากาศถ่ายเทสะดวก จึงไม่ใช่กิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด
เห็นว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุนายกรัฐมนตรีประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (คราวที่ 13) โดยมีเหตุผลในการขยายระยะเวลาว่า “โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้กลายพันธุ์และสามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วกว่าเดิมโดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้า ส่งผลให้จํานวนผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภูมิภาคหลายจังหวัดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องในลักษณะการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ กรณีจึงจําเป็นที่จะต้องคงไว้ซึ่งมาตรการที่เข้มข้นในการเฝ้าระวังและสอบสวนโรค รวมทั้งการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคเพื่อความมั่นคงปลอดภัยด้านสุขภาพและชีวิตของประชาชน และสาธารณสุขของประเทศ”
และข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 28) ระบุว่า “ยังไม่อาจชะลออัตราการเพิ่มของจํานวนผู้ติดเชื้อและจํานวนผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอาการโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง และกลุ่มผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภูมิภาคหลายจังหวัดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มต่อเนื่อง…” โดยจังหวัดสุรินทร์ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและมีคําสั่งที่ 2831/2564 ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจํานวนรวมกันมากกว่า 100 คน
ทําให้เห็นว่าวัตถุประสงค์ของกฎหมายและคําสั่งข้างต้นก็เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด ซึ่งเป็นโรคระบาดร้ายแรงที่ยังมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว อีกทั้งความเสี่ยงต่อการแพร่โรคโควิดต้องดูจากผลกระทบต่อความปลอดภัยด้านสุขภาพและชีวิต โดยไม่ได้คํานึงว่าจะมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด
คดีนี้ได้ความว่ามีผู้เข้าร่วมชุมนุมจํานวนมากประมาณ 300 คน มีการรวมกลุ่มกันอย่างใกล้ชิดกัน จึงถือว่าเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดแล้ว ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจําเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน พิพากษายืน.
องค์คณะผู้พิพากษาที่ลงนามท้ายคำพิพากษาประกอบด้วย สุทธิมาลย์ วิริยะการุณย์, วรศักดิ์ จันทร์คีรี และวีระ คงทวีเลิศ
.
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษา นิรันดร์และวิสณุพรได้ชำระค่าปรับคนละ 20,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจนครบแล้ว หลังฟังคำพิพากษาทั้งสองจึงเดินทางกลับไปทำงานหาเลี้ยงชีพตามปกติ
สำหรับ 2 นักกิจกรรมทางการเมือง นิรันดร์และวิสณุพร ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถึง 2 คดี จากการเข้าร่วม #คาร์ม็อบสุรินทร์ไล่เผด็จการ เมื่อวันที่ 1 และ 15 ส.ค. 2564 เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาโควิดที่มีประสิทธิภาพ หยุดการระบาดของโควิดและประชาชนทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยทั้งสองคดีศาลแขวงสุรินทร์และศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษาว่าทั้งสองคนมีความผิดตามฟ้อง โดยในอีกคดีคือ คาร์ม็อบสุรินทร์ 15 ส.ค. 2564 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ปรับวิสณุพร 20,000 บาท และปรับนิรันดร์เป็นเงิน 30,000 บาท
ทำให้ทั้งวิสณุพรและนิรันดร์ต้องหาเงินมาจ่ายค่าปรับใน 2 คดี ถึงคนละ 40,000 – 50,000 บาท วิสณุพรเคยให้ความเห็นต่อคำพิพากษาว่า โทษปรับที่สูงเป็นเหมือนการปรามคนที่อยากออกมาแสดงออกทางการเมืองว่า มันมีค่าใช้จ่ายสูงในการต่อสู้คดีชุมนุมทางการเมือง แต่ทางรัฐก็อย่าหลงลืมไปว่า ยังมีผู้คนอีกมากมายที่มองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นปัญหา และต้องการแสดงจุดยืนเช่นเดียวกับพวกตน
.