พิพากษาคดี 112 – พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุก “ตี้ – เบนจา” รวม 4 ปี ส่วน “บิ๊ก” จำคุก 3 ปี เหตุปราศรัยม็อบ #ราษฎรยืนยันดันเพดาน ปี 64 ชี้กล่าวถึงอดีตกษัตริย์ก็ผิด โดยให้รอลงอาญา

วันที่ 24 มี.ค. 2568 เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ของ 3 นักกิจกรรม ได้แก่ “ตี้” วรรณวลี ธรรมสัตยา (จำเลยที่ 1), “บิ๊ก” เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ (จำเลยที่ 2), และ เบนจา อะปัญ (จำเลยที่ 3) กรณีสืบเนื่องจากการขึ้นปราศรัยในการชุมนุม #ราษฎรยืนยันดันเพดาน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2564 บริเวณสกายวอร์ค แยกปทุมวัน

พิพากษาว่า วรรณวลีและเบนจามีความผิดตามมาตรา 112, พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่วนเกียรติชัยมีความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป

ข้อหาตามมาตรา 112 ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 3 ปี, ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษจำคุกวรรณวลีและเบนจา คนละ 1 ปี ปรับคนละ 20,000 บาท และข้อหาตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ลงโทษปรับจำเลยทั้งสามคนละ 200 บาท

รวมจำคุกวรรณวลีและเบนจา คนละ 4 ปี ปรับ 20,200 บาท จำคุกเกียรติชัย 3 ปี ปรับ 200 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 5 ปี ให้คุมประพฤติมีกำหนดคนละ 2 ปี ให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 4 ครั้งภายในระยะเวลาคุมประพฤติ

.

คดีนี้มี พ.ต.ท.ธนพล ติ๊บหนู สารวัตรสืบสวน สน.ปทุมวัน กับ มะลิวัลย์ หวาดน้อย สมาชิกศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้กล่าวหา โดยเกียรติชัยเข้ารับทราบข้อหาเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2564  ส่วนวรรณวลีและเบนจาเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 9 ก.ย. 2564 

ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2565 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4) ได้มีคำสั่งฟ้องคดีนี้  ในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ 

คดีนี้ ศาลสืบพยานโจทก์และจำเลยไปกว่า 11 นัด โดยจำเลยทั้งสามมีข้อต่อสู้ในข้อหามาตรา 112 ว่า คำปราศรัยไม่ได้เป็นการกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิด

คำปราศรัยของจำเลยที่ 1 ข้อความแรกกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ในประวัติศาสตร์ยุคที่ยังมีศึกสงคราม ส่วนข้อความที่สองเป็นการวิจารณ์เจ้าหน้าที่รัฐและกระบวนการยุติธรรมที่เลือกปฏิบัติระหว่างกลุ่มคนเสื้อเหลืองและกลุ่มราษฎร

คำปราศรัยของจำเลยที่ 2 ข้อความที่กล่าวถึงรัชกาลที่ 5 เรื่องการเลิกไพร่ เลิกทาส แต่ประชาชนยังถูกกดขี่ และกล่าวถึงรัชกาลที่ 7 ว่าไม่เป็นกษัตริย์ประชาธิปไตย เป็นการพูดถึงประวัติศาสตร์อีกมุมนอกจากแบบเรียน ส่วนข้อความที่กล่าวว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ ถูกยกเป็นพระเจ้านั้น พยานต้องการวิจารณ์สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่ไม่อภิปรายตรวจสอบงบสถาบันฯ ปี 2564 จำนวน 37,000 ล้านบาท

คำปราศรัยของจำเลยที่ 3 เรื่องพระมหากษัตริย์ปล่อยให้รัฐประหารนั้น เพียงต้องการเล่าวิธีต่อต้านรัฐประหารซึ่งเคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งกบฏเมษาฮาวายที่ทำรัฐประหารไม่สำเร็จ ส่วนข้อความเรื่องการใช้ภาษีประชาชนจัดงานวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันพ่อหรือวันชาตินั้น พยานสื่อถึงพลเอกประยุทธ์และผู้มีอำนาจที่นำเงินภาษีประชาชนไปจัดงานใหญ่โต เป็นเพียงต้องการให้เป็นผลงานของตน

ข้อต่อสู้ของจำเลยในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยทั้งสามยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม เป็นเพียงผู้ร่วมปราศรัยเท่านั้น จึงไม่มีหน้าที่ต้องขออนุญาตจัดการชุมนุมหรือขอใช้เครื่องขยายเสียง และไม่มีหน้าที่ต้องจัดมาตรการควบคุมโรคโควิด 19

นอกจากนี้ สกายวอร์คซึ่งเป็นสถานที่ชุมนุมยังเป็นพื้นที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก เวทีปราศรัยอยู่ห่างจากผู้ชุมนุม ผู้ชุมนุมส่วนมากสวมหน้ากากอนามัยและพกเจลแอลกอฮอล์ และไม่พบว่ามีการระบาดของโควิด-19 จากการชุมนุม

อ่านบันทึกสืบพยาน >>> บันทึกสืบพยานคดี ม.112 “ตี้-บิ๊ก-เบนจา” เหตุปราศรัยม็อบ #ราษฎรยืนยันดันเพดาน ปี 64 ยืนยันวิจารณ์รัฐบาล-เจ้าหน้าที่รัฐ กล่าวถึงประวัติศาสตร์ พร้อมข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ

.

วันนี้ (24 มี.ค. 2568) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 602 เบนจาและตี้เดินทางมาตามนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้ โดยในห้องพิจารณาคดีมีเพื่อน ประชาชน เจ้าหน้าที่จากองค์กรสิทธิมนุษยชน และนักวิชาการ เช่น รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ เดินทางมาสังเกตการณ์การอ่านคำพิพากษาจนเต็มพื้นที่นั่งในห้องพิจารณาคดี

เบนจาเปิดเผยก่อนฟังคำพิพากษาว่า ไม่ได้มีข้อกังวลอะไร ยกเว้นเรื่องแมวที่เลี้ยงอยู่ ส่วนตี้ก็ไม่ได้มีข้อกังวลอะไรเป็นพิเศษเช่นกัน

ในขณะที่บิ๊กไม่ได้เดินทางมาศาลในวันนี้ โดยเขาถูกออกหมายจับในคดีนี้ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. 2567 เนื่องจากไม่ได้มาศาลในนัดสืบพยานจำเลยครั้งสุดท้าย ศาลจึงสั่งให้สืบพยานลับหลังต่อจนเสร็จสิ้น 

เวลา 09.48 น. ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดีและพิจารณาคดีอื่น ๆ ที่มีนัดพิจารณาในวันนี้จนเสร็จสิ้น ก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษาคดีนี้ในเวลา 10.09 น. สามารถสรุปได้ดังนี้

ผู้พิพากษาอ่านคำฟ้องของโจทก์ให้ฟังอีกครั้ง ก่อนวินิจฉัยว่า พิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีรัชกาลที่ 10 เป็นพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน 

ในขณะเกิดเหตุ นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร มีข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามจัดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด เว้นแต่เป็นการดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ห้ามมีให้มีการชุมนุม หรือทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

ขณะเกิดเหตุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ออกประกาศปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว และห้ามจัดกิจกรรมเกินกว่า 50 คน กรณีเกินกว่า 50 คนแต่ไม่เกิน 500 คน ให้ขออนุญาตต่อสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร

ก่อนเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 และ 3 ได้โพสต์เฟซบุ๊กชักชวนให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรม ต่อมาในวันและเวลาเกิดเหตุ จำเลยทั้งสามเข้าร่วมปราศรัย โดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า

มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่

ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โจทก์มี พ.ต.ท.ธนพล ติ้นหนู เป็นพยานว่าจำเลยที่ 1 และ 3 โพสต์เชิญชวนมาชุมนุมในวันเกิดเหตุ พยานและพวกลงพื้นที่ เห็นจำเลยทั้งสามปราศรัยบนสกายวอร์ค จำข้อความไม่ได้ แต่เห็นว่าก้าวล่วงต่อสถาบันฯ เวลา 20.30 น. การชุมนุมจึงยุติลง การชุมนุมไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน

โจทก์มี พ.ต.อ.พันษา อมราพิทักษ์ ผู้กำกับการ สน.ปทุมวัน เบิกความว่า เพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้โพสต์เชิญชวนชุมนุมในวันเกิดเหตุ พยานลงพื้นที่ พบว่ามีการจัดแสดงดนตรีและปราศรัย พยานแจ้งผู้ชุมนุมว่าการชุมนุมขัดต่อกฎหมาย ในที่ชุมนุมไม่พบจุดคัดกรองโรค และไม่พบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

โจทก์มี ชูเกียรติ ชมกลิ่น เจ้าหน้าที่เทศกิจ สำนักงานเขตปทุมวัน ซึ่งลงพื้นที่ในวันเกิดเหตุตามหนังสือของ สน.ปทุมวัน เบิกความยืนยันว่าไม่มีการขออนุญาตจัดการชุมนุมกับสำนักงานเขตปทุมวัน 

เห็นว่า ไม่พบว่าพยานโจทก์มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย ไม่มีสาเหตุให้เบิกความปรักปรำจำเลย พยานโจทก์เบิกความตรงตามพยานเอกสาร ทั้งมีบันทึกภาพเคลื่อนไหวที่จำเลยทั้งสามขึ้นปราศรัย

จำเลยทั้งสามไม่มีพยานบุคคลหรือพยานหลักฐานมาหักล้าง จึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามเข้าร่วมชุมนุมและปราศรัย 

จำเลยที่ 1 และ 3 ต่อสู้ว่าเป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุม ไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม เห็นว่าทั้งสองคนโพสต์เชิญชวนร่วมชุมนุมผ่านช่องทางออนไลน์ และต่อมามีการชุมนุมเกิดขึ้น นอกจากนี้ คำถอดเทปของชาติชาย แกดำ พบว่ามีการจัดลำดับและหัวข้อปราศรัยชัดเจน แสดงให้เห็นว่ามีการนัดแนะตระเตรียม จึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการชุมนุม

ที่จำเลยทั้งสามต่อสู้ว่า ผู้เข้าร่วมสวมหน้ากากอนามัยและใช้เจลแอลกอฮอล์ เวทีปราศรัยห่างจากผู้ชุมนุม ไม่เสี่ยงต่อการแพร่โรคนั้น เห็นว่า แม้พื้นที่เปิดโล่ง แต่โจทก์มี พ.ต.ท.ธนพล ติ้นหนู และ พ.ต.อ.พันษา อมราพิทักษ์ ให้การในทำนองเดียวกันว่า มีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวน 200 – 300 คน ไม่มีจุดคัดกรองโรคโควิด-19 ผู้ชุมนุมบางคนไม่สวมหน้ากากอนามัย และจำเลยทั้งสามไม่ได้บอกผู้ชุมนุมว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ดังนั้นการชุมนุมจึงเสี่ยงต่อการแพร่โรค

ที่จำเลยทั้งสามต่อสู้ว่าการชุมนุมเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญนั้น เห็นว่า เสรีภาพการชุมนุมสามารถจำกัดได้โดยกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น เมื่อการชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อประโยชน์สาธารณะและคุ้มครองบุคคลทั่วไป จึงไม่สามารถอ้างข้อนี้ได้ 

ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และ 3  มีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  

ในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยทั้งสามปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า มีเสียงดัง คนจำนวน 200 – 300 คนได้ยิน จากการตรวจสอบไม่พบว่ามีการขออนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยผู้ที่จะทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงต้องขออนุญาต ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้จัดหามาเท่านั้น จำเลยทั้งสามปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียง ดังนั้น จึงเป็นการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดในฐานนี้

ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โจทก์มี มะลิวัลย์ หวาดน้อย, พล.ร.ต.ทองย้อย แสงสินชัย และ คมสัน โพธิ์คง ให้การในทำนองเดียวกันว่า อ่านข้อความของจำเลยที่ 1 เรื่องพระมหากษัตริย์อยู่ข้างหลังในสงครามแล้ว หมายความว่าพระมหากษัตริย์ให้ประชาชนไปรบ พระมหากษัตริย์อยู่ด้านหลังสบาย ซึ่งไม่เป็นความจริง พระมหากษัตริย์นำทัพออกรบด้วยตนเอง ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร ปี 2475 พระมหากษัตริย์จึงไม่มีหน้าที่นำทัพออกรบอีก

ส่วนคำปราศรัยของจำเลยที่ 1 เรื่องการใส่เสื้อเหลืองทำผิดแล้วไม่โดนดำเนินคดีนั้น หมายความว่า บุคคลใดเป็นคนของรัชกาลที่ 10 ทำผิดแล้วจะไม่มีความผิด สื่อว่ารัชกาลที่ 10 สามารถปกป้องพรรคพวกได้ แม้ทำผิด 

ข้อความของจำเลยที่ 2 เรื่องรัชกาลที่ 5 เลิกไพร่ เลิกทาส แต่ยังกดขี่ประชาชนนั้น หมายความว่า พระมหากษัตริย์ยังกดขี่ประชาชน เป็นการติเตียนพระมหากษัตริย์ ส่วนเรื่องรัชกาลที่ 7 เป็นกษัตริย์ประชาธิปไตย ไม่เป็นความจริงนั้น เป็นการปราศรัยโดยอคติ ทำให้ประชาชนเกลียดชังพระมหากษัตริย์

ข้อความของจำเลยที่ 2 เรื่องสถาบันกษัตริย์ถูกยกให้สูงส่ง เปรียบเสมือนพระเจ้า ทำให้ประชาชนและภาครัฐไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์นั้น กล่าวชัดเจนว่ายกย่องให้สูง จนตรวจสอบไม่ได้ เป็นการใส่ร้าย ทำให้ประชาชนดูหมิ่นและเกลียดชังพระมหากษัตริย์ ว่าทำอะไรก็ไม่ผิด

ข้อความของจำเลยที่ 2 ว่าการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ข้อที่หนึ่ง สถาบันกษัตริย์ต้องไม่เซ็นรัฐประหารนั้น ความจริงแล้วพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้เลย 

ข้อความของจำเลยที่ 3 เรื่องพระมหากษัตริย์ปล่อยให้มีการรัฐประหารนั้น เป็นการดูหมิ่น ใส่ความรัชกาลที่ 9 ว่ามีส่วนปล่อยให้เกิดการรัฐประหาร 

ข้อความของจำเลยที่ 3 เรื่องใช้ภาษีของประชาชนจัดงานวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันพ่อหรือวันชาตินั้น เป็นการใส่ร้ายว่ารัชกาลที่ 10 ว่านำเงินภาษีประชาชนไปจัดงาน ไม่เอามาให้กับประชาชน ซึ่งความจริงแล้ว งานวันพ่อจัดต่อเนื่องมาตั้งแต่รัชกาลก่อน ไม่เกี่ยวข้องกับรัชกาลที่ 10 และมีรัฐบาลเป็นผู้จัด

จำเลยอ้าง ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นพยานเบิกความว่า คำปราศรัยของจำเลยที่ 1 กล่าวถึงพระมหากษัตริย์ช่วงต้นรัตนโกสินทร์, คำปราศรัยของจำเลยที่ 2 วิจารณ์ประวัติศาสตร์ที่ต่างจากแบบเรียนและวิจารณ์สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และคำปราศรัยของจำเลยที่ 3 ไม่สามารถบอกได้ว่ากล่าวถึงบุคคลใด 

เห็นว่า การวินิจฉัยว่าคำปราศรัยของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่ จะต้องพิจารณาดูความคิดประชาชนที่มีต่อพระมหากษัตริย์ด้วย พระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่เป็นที่เคารพ ไม่สามารถเป็นปฏิปักษ์ในทางใดได้ รัฐและประชาชนต้องรักษาสถาบันฯ ให้อยู่เป็นที่เคารพมาตั้งแต่บรรพกาล และมีการกำหนดบทกฎหมายเรื่องการหมิ่นประมาทไว้แตกต่างจากบุคคลทั่วไป การกล่าวจาบจ้วงให้ระคายเคืองจึงไม่สามารถทำได้

ความผิดตามมาตรา 112 ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ แสดงให้เห็นว่า แม้คำปราศรัยกระทบพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท พระองค์เดียวก็กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ แม้อำนาจอธิปไตยจะเป็นของประชาชน แต่พระมหากษัตริย์ยังคงเป็นประมุข การสืบราชสันตติวงศ์โดยเฉพาะราชวงศ์จักรี สืบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน 

ดังนั้น เมื่อกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ การดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายอดีตพระมหากษัตริย์ ก็ยังเป็นความผิดตามมาตรา 112 การปราศรัยกระทบอดีตพระมหากษัตริย์ก็กระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน

จำเลยที่ 1 แม้อ้างว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์  แต่กระทบความรู้สึกของประชาชน ทำให้เกิดความไม่พอใจ กระทบต่อความมั่นคง และจำเลยที่ 1 ทำให้ประชาชนเข้าใจว่ารัชกาลที่ 10 อยู่เหนือกฎหมาย

จำเลยที่ 2 ทำให้เข้าใจว่ารัชกาลที่ 5 ยังกดขี่ประชาชนหลังเลิกทาส และรัชกาลที่ 7 ไม่เป็นกษัตริย์ประชาธิปไตย เป็นการใส่ความพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ และข้อความของจำเลยที่ 2 ว่าสถาบันกษัตริย์ถูกยกให้สูงส่ง ทำให้ประชาชนและภาครัฐไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์นั้น ทำให้เข้าใจว่าพระมหากษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย ไม่โปร่งใส และข้อความของจำเลยที่ 2 ยังทำให้เข้าใจว่าพระมหากษัตริย์อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร

จำเลยที่ 3 ทำให้เข้าใจว่าพระมหากษัตริย์อยู่เบื้องหลังรัฐประหาร และทำให้เข้าใจว่ารัชกาลที่ 10 นำเงินภาษีประชาชนไปใช้จัดงานให้รัชกาลที่ 9

เมื่อจำเลยทั้งสามปราศรัยใส่ความ ตำหนิ ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ โดยใช้ความจริงบางส่วน ทำให้ประชาชนดูหมิ่น เกลียดชัง พระมหากษัตริย์ 

จำเลยทั้งสามแม้บอกว่าไม่ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์องค์ใด แต่พิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสามมุ่งหมายปราศรัยถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 5, รัชกาลที่ 7, รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 อย่างชัดเจน แม้รัชกาลที่ 5, รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 จะเป็นอดีตพระมหากษัตริย์ แต่รัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันสืบราชสันตติวงศ์มา การหมิ่นประมาทอดีตพระมหากษัตริย์ก็กระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสีย ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง และความผิดตามมาตรา 112 ไม่มีเหตุยกเว้นโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 และ 330

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และ 3 มีความผิดตามมาตรา 112, พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียง, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป

ข้อหาตามมาตรา 112 ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 3 ปี, ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และ 3 คนละ 1 ปี ปรับคนละ 20,000 บาท และข้อหาตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ลงโทษปรับจำเลยทั้งสามคนละ 200 บาท

รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และ 3 คนละ 4 ปี ปรับ 20,200 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 3 ปี ปรับ 200 บาท 

เนื่องจากจำเลยทั้งสามไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ปัจจุบันยังศึกษาอยู่ระดับอุดมศึกษา ขณะกระทำความผิดอายุน้อย อาจมีความคึกคะนอง ขาดความรู้ ขาดประสบการณ์ในการดำเนินชีวิตและขาดวิจารณญาณในการไตร่ตรองถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่ตนได้รับ เชื่อว่ายังอยู่ในวิสัยที่จะกลับตนเป็นพลเมืองดีได้ เห็นควรให้โอกาสจำเลยทั้งสามกลับตัวเป็นพลเมืองดี

โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 5 ปี ให้คุมประพฤติมีกำหนดคนละ 2 ปี และให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 4 ครั้ง ภายในระยะเวลาคุมประพฤติ

คำขอของโจทก์ส่วนที่ขอให้นับโทษต่อนั้น เนื่องจากคดีนี้ศาลให้รอการลงโทษ คำขอในส่วนนี้ให้ยก

ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ได้แก่ นัดดา โชคบุญธิยานนท์

X