ยกฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ – ทำให้เสียทรัพย์ 8 นักศึกษา-นักกิจกรรม ร่วม #ม็อบ14ตุลา63

25 มี.ค. 2568 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงดุสิต นัดฟังคำพิพากษาของนักศึกษา-นักกิจกรรม 8 ราย นำโดย “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล และ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จากกรณีชุมนุม #ม็อบ14ตุลา63 ที่มีการย้ายต้นไม้รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก่อนเดินไปหน้าทำเนียบรัฐบาล

พิพากษายกฟ้องทุกข้อหาและยกคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหม เห็นว่าจำเลยทั้งแปดไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรมและไม่มีเจตนาที่จะทำให้ทรัพย์เสียหาย

.

ย้อนไป เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 กลุ่มคณะราษฎรได้นัดชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อกดดันให้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ ให้ 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออก 2. เปิดประชุมวิสามัญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หลังร่วมกันทำกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ก็ได้มีการเคลื่อนขบวนไปปักหลักชุมนุมที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลในช่วงเย็น

ต่อมา วันที่ 15 ต.ค. 2563 เวลา 04.30 น. หลังนายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในท้องที่กรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่รัฐได้เข้าไปสลายการชุมนุมและมีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 27 ราย 

หลังจากนั้น พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ได้ออกหมายเรียกนักศึกษาและนักกิจกรรมรวม 9 ราย รวมถึง “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษาที่ถูกจับกุมตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาอื่น ๆ โดยทั้งหมดทยอยเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 16, 21  ธ.ค. 2563 และ 5 ม.ค. 2564

ต่อมา วันที่ 31 พ.ค. 2565 ประยุทธ์ แก้วยอด พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ได้ยื่นฟ้องจำเลย 8 ราย ในข้อหาหลัก คือ ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จัดให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มเพื่อการชุมนุมใด ๆ โดยไม่จัดให้ผู้เข้าร่วมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด โดยมี 2 ราย ถูกฟ้องข้อหาทำให้เสียทรัพย์ด้วย

โดยคำฟ้องโจทก์ สรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2563 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 กับอานนท์ นำภา ร่วมกันแถลงข่าวต่อหน้าสื่อมวลชน และจำเลยทั้งหมดได้โพสต์การแถลงข่าวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในนาม “คณะราษฎร” ชักชวนให้ประชาชนมาชุมนุมทางการเมือง ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 14 ต.ค. 2563

จำเลยทั้งแปดจัดกิจกรรมโดยไม่แจ้งความประสงค์ว่าจะจัดการชุมนุมสาธารณะตามแบบในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนด และไม่มีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อตามที่ทางราชการกำหนด ไม่มีจุดวัดอุณหภูมิร่างกายหรือจุดคัดกรอง ไม่จัดให้สวมหน้ากากอนามัย ไม่อำนวยความสะดวกในการเว้นระยะห่าง

ส่วนจำเลยที่ 1 และ ที่ 2 ร่วมกันปราศรัยสั่งให้ประชาชนรื้อกระถางต้นไม้ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ประดับไว้รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทำให้ทรัพย์ของกรุงเทพมหานครได้รับความเสียหาย ถูกทำลาย ทำให้เสื่อมค่าไร้ประโยชน์ 

ต่อมา วันที่ 10 ต.ค. 2565 ในนัดตรวจพยานหลักฐาน ศาลได้กำหนดวันนัดสืบพยานและได้สืบพยานเสร็จสิ้นในวันที่ 28 พ.ย. 2567 จากนั้นได้กำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาเป็นวันที่ 14 ก.พ. 2568

ต่อมา วันที่ 14 ก.พ. 2568 จำเลยที่ 1, ที่ 2 และ ที่ 4 ไม่ปรากฏตัวต่อศาลและทนายจำเลยที่ 6 ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนนัดฟังคำพิพากษา เนื่องจากจำเลยที่ 6 ได้เดินทางไปต่างประเทศและจะกลับมารายงานตัวต่อศาลหลังเดินทางกลับมา โดยศาลได้ออกหมายจับ จำเลยที่ 1, ที่ 2, ที่ 4 และ ที่ 6 และกำหนดนัดฟังคำพิพากษาใหม่เป็นวันนี้

.

วันนี้ (25  มี.ค. 2568) เวลา 09.00 น. ห้องพิจารณาที่ 409 ชลธิชา แจ้งเร็ว เดินทางมาถึงห้องพิจารณาเป็นคนแรก ตามด้วย สมยศ พฤกษาเกษมสุข, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ 

ต่อมา เวลา 09.35 น. ศาลได้ออกนั่งพิจารณาและสอบถามว่าจำเลยรายใดมาแล้วบ้าง ทนายได้แจ้งว่า ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล กำลังเดินทางมา คาดว่าจะมาถึงภายใน 10 นาที หลังจากที่ภัสราวลีเดินทางมาถึง ศาลได้เริ่มอ่านคำพิพากษาโดยสรุปใจความได้ว่า

คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยดังนี้

  1. การกระทำของจำเลยฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่

ในทางนำสืบของโจทก์ พยานโจทก์เบิกว่าในวันที่ 14 ต.ค. 2563 จำเลยที่ 1, ที่ 2, ที่ 4 ถึงที่ 8 และอานนท์ นำภา ได้ร่วมกันรวมตัวบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยพร้อมปราศรัยผ่านรถบรรทุกติดเครื่องขยายเสียง และอานนท์ได้ประกาศให้ทำลายหรือเคลื่อนย้ายต้นไม้ที่ประดับรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปไว้ด้านนอก และได้เดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล

ในการชุมนุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,000 คน มีข้อเรียกร้องทางการเมือง 3 ข้อ คือ ให้ 1. พลเอกประยุทธ์ลาออก 2. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อแก้ผลพวงจากการรัฐประหาร และ 3. มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

จำเลยที่ 1, ที่ 2 และ ที่ 4 ถึงที่ 8 ไม่ได้ปราศรัยยั่วยุ ไม่มีการปะทะกัน แต่มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมเป็นจำนวนมาก ไม่มีการเว้นระยะห่าง ไม่มีจุดคัดกรองโรค ไม่มีจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ และผู้ชุมนุมบางส่วนสวมหน้ากากอนามัย บางส่วนไม่ได้สวม

เห็นว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า จำเลยทั้งแปดเป็นเจ้าของหรือผู้จัดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาดหรือเป็นผู้ดูแลหรือผู้รับผิดชอบกิจกรรมอย่างไร ลำพังจะรับฟังเพียงแค่ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ได้แถลงข่าวต่อหน้าสื่อมวลชนก่อนวันนัดหมายการชุมนุม หรือ การที่จำเลยทั้งแปดโพสต์ข้อความเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว หรือการที่จำเลยที่ 1, ที่ 2, ที่ 4 ถึง ที่ 8 ร่วมกันปราศรัยโจมตีรัฐบาล เรียกร้องทางการเมือง ร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมอื่น ๆ หาได้ไม่

เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นโดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยทั้งแปดเป็นผู้จัดกิจกรรมหรือมีส่วนร่วมเป็นผู้รับผิดชอบกิจกรรมชุมนุมตามฟ้อง จำเลยทั้งแปดย่อมไม่มีหน้าที่ต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตามข้อกำหนดแห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ที่โจทก์นำสืบมาว่า จำเลยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ แต่โจทก์ก็ไม่ได้นำสืบให้ชัดแจ้งว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นการเรียกร้องที่เกินขอบเขตการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานของจำเลย

  1. จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำผิดฐานให้เสียทรัพย์หรือไม่

พยานโจทก์เบิกความทำนองเดียวกันว่า อานนท์, จำเลยที่ 1 และที่ 2 ประกาศให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนย้ายต้นไม้ ให้ทำลายกระถางต้นไม้ที่ทางกรุงเทพมหานครนำไปประดับบริเวณรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งคิดเป็นเงินประมาณ 3,000,000 บาท

เห็นว่า ในการกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ต้องมีองค์ประกอบภายนอก คือ ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ในทรัพย์ของผู้อื่น และมีองค์ประกอบภายใน คือ จะต้องมีเจตนาทำให้เสียหาย ในคลิปที่ผู้ชุมนุมเคลื่อนย้ายต้นไม้ ผู้ชุมนุมส่วนมากก็เคลื่อนย้ายด้วยความระมัดระวัง แต่ก็มีบางส่วนที่มีโทสะและทำลายกระถางต้นไม้ ทั้งโจทก์เองก็ไม่ได้นำสืบว่าผู้ที่ทำลายเป็นใคร เกี่ยวข้องอย่างไรกับจำเลยที่ 1 และที่ 2

ในการถอดเทปคำปราศรัย ปรากฏว่า ขณะเคลื่อนย้ายต้นไม้จำเลยทั้งสองก็ได้กล่าวห้ามไม่ให้ผู้ชุมนุมทำลายกระถางต้นไม้ และกล่าวว่าให้ค่อย ๆ ขนย้ายต้นไม้ ต้นไม้ก็มีชีวิตอย่าโยน

เชื่อได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ประกาศให้เคลื่อนย้ายโดยมีเจตนาเพียงต้องการให้ผู้ชุมนุมขึ้นไปแสดงสัญลักษณ์บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไม่ได้ต้องการทำให้ทรัพย์สินเสียหาย จึงขาดเจตนาในการกระทำความผิด

  1. จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในค่าสินไหมหรือไหม

เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้ทำผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ จึงไม่จำเป็นต้องรับผิดในค่าสินไหม

พิพากษายกฟ้อง ยกคำร้องของผู้เสียหายและให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ

.

.

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สรุปสถานการณ์ชุมนุม 14 ต.ค. ก่อนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง จับกุมแกนนำ

X