278 คน ใน 310 คดี คือผลลัพธ์ นับตั้งแต่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปี 2563 ที่ต่อเนื่องอยู่ราว 2 ปี เป็นการเคลื่อนไหวแสดงออกด้วยข้อเรียกร้องที่ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทย อย่าง ‘ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์’
เมื่อประเด็นแหลมคมเช่นนี้ รูปแบบการแสดงออกย่อมต้องมี ‘งานศิลปะ’ เป็นหนึ่งในนั้น ทั้ง ‘ศิลปะการแสดง’ (Performance Art), ‘ศิลปะในพื้นที่สาธารณะ’, ภาพวาด, ภาพถ่าย, การแสดง หรือแม้กระทั่งแฟชั่นโชว์ ซึ่งล้วนเป็นมูลเหตุแห่งคดีมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า มีคดีที่เกิดจากการแสดงออกในรูปแบบผลงานศิลปะรวมอย่างน้อย 15 คดี โดยมีผู้ถูกดำเนินคดีจำนวน 22 คน
งานชิ้นนี้จะคลี่ขยายรายละเอียดว่า คดีเหล่านั้นถูกตัดสินอย่างไร นักวิชาการด้านศิลปะมองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร รวมทั้งขยายมุมมองว่าศิลปะการล้อเลียนสถาบันกษัตริย์มีที่ทางอย่างไรในต่างประเทศ
ดูการตีความงานศิลปะ ผ่าน ‘คำฟ้อง’ คดี 112
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี
การกระทำที่เป็นความผิดตามมาตรา 112 หมิ่นประมาท หมายถึง การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งการใส่ความนั้นจะต้องเป็นการแสดงข้อเท็จจริงเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย และจะต้องระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ ดูหมิ่น หมายถึง การด่า ดูถูก เหยียดหยาม หรือสบประมาทให้อับอาย การดูหมิ่นก็ย่อมจะต้องระบุถึงตัวบุคคลที่ถูกดูหมิ่นเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกดูหมิ่นโดยตรง การดูหมิ่นนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ (คำพิพากษาศาลจังหวัดนครพนม คดี “อิศเรศ” โพสต์ไม่แต่งตั้งกษัตริย์องค์ใหม่) อาฆาตมาดร้าย หมายถึง การขู่เข็ญโดยแสดงออกด้วยวาจาหรือกิริยาท่าทางที่แสดงถึงความมุ่งร้ายว่าจะทำให้เสียหาย ว่าจะทำอันตรายแก่ชีวิต เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินในขณะนั้นหรือในอนาคต ไม่ว่าจะมีเจตนากระทำตามที่ขู่หรือไม่ เช่น ขู่ว่าจะปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ (หยุด แสงอุทัย, กฎหมายอาญา ภาค 2-3, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2546, หน้า 22) |
ใน 15 คดีอันเกิดจากงานศิลปะ เราพบว่า สองในสามหรือ 10 คดี มีประชาชนด้วยกันเองเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ได้แก่ ศรีสุวรรณ จรรยา (กล่าวหา 3 คดี) นพดล พรหมภาษิต (กล่าวหา 2 คดี), วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ (กล่าวหา 2 คดี), ว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล (กล่าวหา 2 คดี) และระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ (กล่าวหา 1 คดี) สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของการถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่นที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน
หากดูคำกล่าวหาที่ปรากฏในคำฟ้องหรือบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา มักพบถ้อยคำที่ไม่มีอยู่ในบทบัญญัติกฎหมาย เช่น จาบจ้วง ล่วงเกิน รวมถึงบรรยายล่วงเลยไปถึงเจตนาของผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้สร้างงานศิลปะ
“จำเลยได้แสดงกิริยาท่าทางเคลื่อนไหวร่างกายต่าง ๆ ด้วยการนั่งห้อยขา นั่งยอง ๆ แสดงท่าครุฑ ยืนเอาถังสีสวมครอบศีรษะ และนอนหงายโดยใช้เท้าขวา ซึ่งเป็นอวัยวะเบื้องต่ำชี้ขึ้นไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ อันเป็นการแสดงพฤติกรรมที่มีลักษณะเป็นการแสดงออกทางกิริยาท่าทางจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยการไม่ถวายพระเกียรติพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของศรัทธาและเคารพบูชาของประชาชนชาวไทย โดยประการที่น่าจะทำให้พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง” (คำฟ้องคดีแสดง Performance Art หน้าป้าย มช.)
“จําเลยได้ใช้บัญชีอินสตาแกรมโพสต์ภาพวาดรัชกาลที่ 10 และมีข้อความประกอบภาพ อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทําให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง โดยจําเลยมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้” (คำฟ้องคดีโพสต์รูปวาดภาพ ร.10 ในอินสตาแกรม)
“จำเลยได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กโพสต์ภาพวาดและข้อความว่า “ออกแบบคาแรคเตอร์มือปืนที่เก่งที่สุดในโลก….จอห์นวิคยังต้องกราบ” เมื่อตีความและอ่านออกเสียงประกอบภาพย่อมต้องนึกถึงรัชกาลที่ 9 อันเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ใส่ร้าย ใส่ความ ดูหมิ่นรัชกาลที่ 9 ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ อีกทั้งจำเลยได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กโพสต์ภาพวาดคล้ายชายกำลังกัดกินแผนที่ประเทศไทย และข้อความ “ทางออก ประเทศไทย?” โดยจำเลยมีเจตนาให้ประชาชนที่ได้เห็นภาพและอ่านข้อความมีความรู้สึกว่า รัชกาลที่ 10 กัดกินประเทศไทย อันเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ใส่ร้าย ใส่ความ ดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ” (คำฟ้องคดีโพสต์รูปกราฟิกบนเฟซบุ๊ก 2 โพสต์)
“การแสดงออกของทั้งสองเป็นการแสดงเนื้อหาความหมายให้ปรากฏแก่ผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไปให้เข้าใจว่าจําเลยนี้เป็นพระราชินีและพวกของจําเลยเป็นรัชกาลที่ 10 และจําเลยกับพวกสามารถล้อเลียนกษัตริย์และราชินีได้โดยมิหวั่นเกรงใด ๆ เป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 และพระราชินี ได้รับความเสื่อมเสีย ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพ” (คำฟ้องคดีแต่งชุดไทยเดินแฟชั่นโชว์ #ภาษีกู)
ในชั้นศาล จำเลยบางส่วนต่อสู้คดี บางคนตัดสินใจให้การรับสารภาพ ซึ่งผลทางคดีมีความแตกต่างกันออกไป จนถึงปัจจุบันศาลมีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะออกมาแล้วเป็นส่วนใหญ่ มากกว่าครึ่งพิพากษาว่าผิดมาตรา 112 โดยคำพิพากษาตีความงานศิลปะและเจตนาของจำเลยว่าเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ถึงแม้ว่าจำเลยที่ต่อสู้คดีจะยืนยันว่า ไม่ได้มีเจตนาดังกล่าว บางคดีศาลยังตีความครอบคลุมไปถึงอดีตกษัตริย์ด้วย
อย่างไรก็ตาม มีบางคดีที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ได้แก่ คดี Performance Art และคดีทำคลิปโฆษณา Lazada ซึ่งคำพิพากษาในคดีเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ยังมีบ้างที่ศาลวินิจฉัยโดยยึดตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัด

มาตรฐานการตีความของศาล
- ยกฟ้องคดีจากแสดง Performance Art
คดีจากการแสดง Performance Art หน้าป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ของวิธญา คลังนิล หรือศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาชิกกลุ่มศิลปิน artn’t ซึ่งผู้กล่าวหาอ้างว่า ระหว่างการแสดงซึ่งวิธญาได้แสดงท่านอนหงายใช้เท้าขวาชี้ไปบนฟ้านั้น เป็นการชี้ไปที่รูปรัชกาลที่ 10 ซึ่งอยู่ด้านบนป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อันเป็นการแสดงกริยาสบประมาท ดูถูกเหยียดหยามกษัตริย์
วิธญาให้การปฏิเสธว่าเขาไม่ได้มีเจตนาตามที่ถูกกล่าวหา โดยเบิกความยืนยันว่า ในวันเกิดเหตุเขาไปแสดงศิลปะการแสดงสด Performance Art ซึ่งเป็นกลุ่มการแสดงประเภท Body Movement หากจะเข้าใจความหมายของการแสดงประเภทนี้จะต้องดูการแสดงทั้งหมด เพราะการแสดงมีการเคลื่อนไหวต่อเนื่อง โดยเจตนาของเขาคือต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมต่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะที่ผ่านมาตนมีปัญหาขัดแย้งกับคณะผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์มาก่อนจากเหตุการณ์ปิดกั้นการแสดงออกของนักศึกษา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่า ไม่มีพยานโจทก์ชี้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการอาฆาตมาดร้ายทั้งการแสดงกิริยาท่าทางต่างๆ ของจำเลยก็ไม่ปรากฏว่าจะมีลักษณะดังเช่นนั้น การแสดงท่าทางของจำเลยไม่ได้ระบุถึงตัวบุคคลที่ถูกดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทให้รู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร ประกอบกับประตูทางเข้าออกมหาวิทยาลัยเป็นสถานที่จัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อยู่เป็นประจำ และกิจกรรมในวันเกิดเหตุก็จัดเพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัว ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ การรับรู้และเข้าใจการกระทำของจำเลยจึงขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล มิใช่การยืนยันข้อเท็จจริง ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนยกฟ้องโดยเห็นว่า การกระทำของจำเลยยังมีความหมายที่ไม่ชัดเจนว่าเข้าลักษณะการดูหมิ่นแต่เป็นเพียงการแสดงความไม่เหมาะสม ซึ่งไม่ใช่การเหยียดหยามหรือใส่ความ แม้อาจมีประชาชนจำนวนหนึ่งไม่สบายใจ แต่การกระทำดังกล่าวก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดต่อกฎหมาย จึงย่อมเป็นเสรีภาพในการแสดงออกที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ

- รอการลงโทษคดีจากการจัดแสดงงานศิลปะในพื้นที่สาธารณะ
กรณีแสดงงานศิลปะที่มีลักษณะคล้ายธงชาติที่ไม่มีสีน้ำเงิน ระหว่างการชุมนุม “ยุทธการไล่ประยุทธ์” เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2564 บริเวณสนามรักบี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมี วิธญาและยศสุนทร 2 นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาชิกกลุ่ม artn’t เป็นผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.ธงฯ ทั้งสองคนยืนยันให้การปฏิเสธในชั้นศาล
จำเลยเบิกความว่า งานดังกล่าวเป็น “งานศิลปะในพื้นที่สาธารณะ” ซึ่งจำเป็นต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อให้ชิ้นงานเสร็จสมบูรณ์ จึงได้จัดทำรูปวาดโดยใช้วัสดุที่มีทั้งผ้า พลาสติกและสี นำไปจัดแสดงในที่ชุมนุม พร้อมทั้งเตรียมปากกาเมจิกมากกว่า 1 สีโดยไม่ได้เชิญชวนให้คนต้องเข้ามาเขียน แต่ประชาชนบริเวณนั้นทราบเป็นวิธีปฏิบัติอยู่แล้วว่าหากมีชิ้นงานที่เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นก็สามารถเข้ามาเขียนได้ ข้อความที่เขียนส่วนใหญ่ก็เป็นการตำหนิรัฐบาล จำเลยทั้งสองไม่ใช่ผู้เขียนข้อความตามฟ้อง ไม่ได้มีเจตนาทำให้คล้ายธงชาติแต่อย่างใด อีกทั้งการตีความงาน “แถบสีนามธรรม” ยังขึ้นอยู่กับความคิดและการให้ความหมายของผู้ชมงานศิลปะที่แตกต่างกันไป
ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาให้จำเลยทั้งสองมีความผิดตามฟ้อง โดยเห็นว่า การทำธงที่คล้ายคลึงกับธงชาติ แตกต่างเพียงธงดังกล่าวใช้แผ่นพลาสติกใสแทนแถบสีน้ำเงินของธงชาติ จำเลยทั้งสองชูธงดังกล่าวในเวลาเดียวกับที่พิธีกรในงานแจ้งให้ผู้ชุมนุมเคารพธงชาติ ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองต้องการแสดงต่อผู้ชุมนุมว่าธงชาติไทยไม่จำเป็นต้องมีสีน้ำเงิน ไม่ประสงค์ให้มีพระมหากษัตริย์ในประเทศไทย อันเป็นการดูหมิ่นและลดคุณค่าของพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน จึงให้จำคุก 4 ปี และข้อหาตาม พ.ร.บ.ธงฯ มาตรา 51 จำคุก 8 เดือน ปรับคนละ 2,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสี่คงจำคุก 3 ปี 6 เดือน ปรับคนละ 1,500 บาท จำเลยทั้งสองยังเป็นนักศึกษา ใกล้สำเร็จการศึกษาแล้ว โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี

- ลงโทษการแสดงออกด้วย ‘ภาพ’
การแสดงออกด้วยการโพสต์ภาพในโซเชียลมีเดีย อาทิ ภาพการ์ตูน, ภาพกราฟิก, ภาพถ่าย, ภาพตัดต่อ พบว่าถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 มากที่สุด รวม 7 คดี ได้แก่ คดีของ “วารุณี” กรณีโพสต์ภาพ ร.10 เปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกตเป็นชุดราตรีแบรนด์ Sirivannavari, คดีของ “ทอปัด” กรณีถูกกล่าวหาเผยแพร่ภาพวาดให้ร้าย ร.10 ใน Instagram, คดีของ “ชลสิทธิ์” กรณีโพสต์ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ในเฟซบุ๊ก, คดีของ “อัฐสิษฎ” กรณีเผยแพร่ภาพกราฟฟิก 2 ภาพ ในเพจเฟซบุ๊ก ในคดีของ “ตั้ม” นักวาดการ์ตูน กรณีถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “คนกลมคนเหลี่ยม” วาดภาพเสียดสีใส่ร้ายรัชกาลที่ 10 รวม 2 โพสต์ และใส่ร้ายรัชกาลที่ 9 อีก 2 โพสต์, คดีของ “บังเอิญ” โพสต์รูปภาพครอบครัวของรัชกาลที่ 10 พร้อมข้อความบนเฟซบุ๊ก และคดีของพริษฐ์ โพสต์ภาพพร้อมข้อความ ‘ด้วยรักและฟัคยู #28กรกฎาร่วมใจใส่ชุดดำ’
ในจำนวนนี้มี 2 คดีที่ไม่รับสารภาพ บังเอิญและพริษฐ์ปฏิเสธข้อกล่าวหาขอต่อสู้คดี โดยยืนยันว่า ภาพที่โพสต์เป็นงานศิลปะที่ตีความได้หลายหลาย อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำพิพากษาว่าทั้งสองมีความผิดตามฟ้อง และลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ส่วนตั้มให้การปฏิเสธเช่นเดียวกัน แต่คดียังไม่เริ่มการสืบพยาน
ในคดีของ “บังเอิญ” ศิลปินอิสระชาวขอนแก่น ซึ่งโพสต์รูปภาพครอบครัวของรัชกาลที่ 10 พร้อมข้อความบนเฟซบุ๊ก เขายืนยันว่าเป็นงาน Dark Art โดยนำภาพถ่ายเก่ามาสร้างเป็นผลงานใหม่ในรูปแบบ Digital Art โดยไม่ได้มีเจตนาใส่ร้ายหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันกษัตริย์ เนื่องจากผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์มีอิสระในตนเอง มุมมองของงานศิลปะจะขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตของผู้ชม ซึ่งแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน และอธิบายถึงความหมายของภาพว่าเป็นงานศิลปะที่เป็นอิสระมาก ข้อความที่ใส่ลงไปในภาพก็เป็นหนึ่งเดียวกับภาพ ซึ่งต้องวิเคราะห์ข้อความและภาพร่วมกัน
ศาลชั้นต้นได้พิพากษาว่า บังเอิญมีความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งมีการพิเคราะห์ในส่วนรูปภาพไว้ว่า จำเลยยอมรับว่านำภาพมาตัดต่อ เห็นได้ว่ามีการทำให้เป็นภาพขาวดำ และใช้สีดำในการตกแต่งพระพักตร์ของรัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ให้ดูน่ากลัว แตกต่างจากภาพต้นฉบับที่มีสีสันงดงาม อีกทั้งใส่ชื่อภาพ “วิปลาส อำนาจ มนต์ดำ” พร้อมกับข้อความ “เผด็จการจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ” และ “ยกเลิก 112” เป็นต้น แสดงว่าจำเลยต้องการสื่อให้ประชาชนทั่วไปที่เห็นเข้าใจได้ว่ารัชกาลที่ 10 ใช้อำนาจประมุขคลาดเคลื่อน ใช้อำนาจมนต์ดำ และเป็นเผด็จการ ทั้งที่กษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะของชาวไทย

- ลงโทษ-ยกฟ้อง คดีจากการแสดงออกด้วยศิลปะแขนงอื่นๆ
ในส่วนของการแสดงออกด้วยศิลปะแขนงอื่นๆ เช่น การแต่งกายหรือแฟชั่นโชว์ การแสดง มีอยู่ 6 คดี ได้แก่ คดีของจตุพร แต่งชุดไทยร่วมเดินแฟชั่นโชว์ในกิจกรรม #ภาษีกู, คดีของสายน้ำ แต่งชุดเสื้อยืดเอวลอย และเขียนร่างกายด้วยหมึก ร่วมกิจกรรม #ภาษีกู, คดีแต่งกายชุดครอปท็อป เดินสยามพารากอน เพื่อรณรงค์ “ยกเลิก112”(ถูกแยกเป็น 2 คดี), และคดีทำคลิปวิดีโอโปรโมทแคมเปญลดราคาสินค้าของ Lazada (ถูกแยกเป็น 2 คดี)
ทุกคดีจำเลยให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาและสู้คดีทั้งหมด มีเพียงคดีแต่งชุดครอปท็อปของนักกิจกรรม 5 ราย ที่ยังอยู่ระหว่างการสืบพยานในชั้นศาล ส่วนคดีอื่นศาลมีคำพิพากษาออกมาแล้ว พบว่ามีทั้งคดีที่ศาลพิพากษาว่ามีความผิด (3 คดี) และคดีที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง (2 คดี)
ในคดีของ “นิว” จตุพร กรณีแต่งชุดไทยร่วมเดินแฟชั่นโชว์ในกิจกรรม #ภาษีกู จตุพรยืนยันเรื่องการแต่งกายด้วยชุดไทยเดินแฟชั่นโชว์ในกิจกรรม “แฟชั่นราษฎร” ว่า เป็นสิ่งที่บุคคลทั่วไปสามารถกระทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ที่เลือกใส่ชุดไทยเพราะมองว่าเป็นชุดประจำชาติ ไม่ได้มีเจตนาที่จะล้อเลียนใคร
ศาลชั้นต้นได้พิพากษาว่าจตุพรมีความผิดตามฟ้อง โดยเห็นว่า จำเลยแต่งกายชุดไทย ถือกระเป๋าสีทองขนาดเล็ก มีชายชุดไทยแต่งชุดไทยราชปะแตนเดินตามหลังคอยกางร่มให้ มีหญิงใส่ชุดลายดอกถือพานและถือโทรโข่งเปิดเพลงมาร์ชราชวัลลภเดินตาม โดยในขณะที่จำเลยเดินแบบ มีผู้ชุมนุมตะโกนคำว่า “พระราชินี” และ “ทรงพระเจริญ” มีผู้ชุมนุมยื่นมือไปจับข้อเท้า ซึ่งจำเลยได้หยุดยืนให้ผู้ชุมนุมจับข้อเท้า และจำเลยได้ยื่นมือออกไปให้ผู้ชุมนุมจับมือ การกระทำของจำเลยและสายน้ำเกิดขึ้นต่อเนื่องกัน เชื่อว่ามีการซักซ้อมเตรียมการกันมาก่อนเพื่อสื่อให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่า จำเลยแสดงตนเป็นราชินี และสายน้ำแสดงตนเป็นรัชกาลที่ 10 จำลองการเสด็จเยี่ยมราษฎรของทั้งสองพระองค์ในลักษณะล้อเลียน เสียดสี เชิงตลกขบขัน ไม่ให้ความเคารพต่อสถาบันกษัตริย์ อันเป็นกระทำที่ไม่บังควร จึงเป็นการร่วมกันดูหมิ่นพระมหากษัตริย์และพระราชินี ตามนัยมาตรา 112
แม้จตุพรจะยื่นอุทธรณ์ยืนยันว่า การเดินแฟชั่นโชว์ของจำเลยไม่มีลักษณะล้อเลียน เสียดสี จำเลยเพียงแค่ใส่ชุดไทยเดินแฟชั่นในการชุมนุม ซึ่งการโบกมือทักทายผู้เข้าร่วมชมเป็นเรื่องปกติของการแสดง อีกทั้งการแสดงงานศิลปะหรือการเดินแฟชั่นนั้นเป็นศาสตร์ของการตีความตามความรู้สึกนึกคิดของผู้รับสารแต่ละบุคคล แต่ศาลอุทธรณ์ก็พิพากษายืนว่ามีความผิดตามมาตรา 112 โดยวินิจฉัยว่า ขณะจำเลยเดินอยู่บนพรมแดง ผู้ชมได้ตะโกนเรียกจำเลยว่า ‘พระราชินี’ และจำเลยได้หยุดให้ผู้ชุมนุมจับเท้าและจับมือด้วย แสดงให้เห็นว่า จำเลยยอมรับว่าแสดงตนเป็นพระราชินี โดยไม่ชี้แจงหรือปฏิเสธ และมีเจตนาแสดงการเสียดสีเปรียบเปรย เพื่อให้ประชาชนลดทอนความเคารพสักการะต่อรัชกาลที่ 10 และพระราชินี
ส่วนคดีของ “หนูรัตน์” กรณีทำคลิปวิดีโอโปรโมทแคมเปญลดราคาสินค้าของ Lazada จำเลยเบิกความว่ารับงานโฆษณาโดยได้รับบทเป็นคุณหนูเล็ก บ้านทรายทอง และมีบทให้ทำคอเอียง นั่งรถเข็นคนพิการ และรับรู้ว่าตัวเองถูกดำเนินคดี แต่ไม่รู้ว่าบุคคลในข้อกล่าวหา (เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ) คือใคร
ศาลพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่า ไม่ปรากฏว่าพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งหรือประกาศให้เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ เป็นรัชทายาทในรัชกาลที่ 10 เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ จึงไม่ใช่บุคคลซึ่งเป็นรัชทายาทในความหมายตามมาตรา 112 ส่วนโจทก์อ้างมาในคำฟ้องว่า คำว่าพระมหากษัตริย์มีความหมายรวมถึงสถาบันกษัตริย์ด้วยนั้น เห็นว่า มาตรา 112 ไม่ได้ระบุคำว่า “สถาบันกษัตริย์” ไว้โดยตรง การบังคับใช้กฎหมายอาญาไม่ควรตีความถ้อยคำไปในทางขยายความ
นอกจากนี้คลิปวีดิโอที่สองเป็นลักษณะแนะนำสินค้า จำเลยที่ 2 (หนูรัตน์) นั่งอยู่บนรถเข็นคนพิการ ไม่ได้พูดเพียงแต่พยักหน้า พฤติการณ์แห่งคดีเพียงเท่านี้ยังไม่ปรากฏว่าได้มีการกระทำหรือใช้คำพูดในลักษณะใส่ความหรือดูถูก อันเป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112

ตารางคดีมาตรา 112 ที่เกิดจากการแสดงออกผ่าน ‘งานศิลปะ’ ในช่วงปี 2563 – 2568
ลำดับที่ | วันเกิดเหตุ | สาเหตุ | ผู้ถูกกล่าวหา / จำเลย | คำให้การ | สถานะคดี/คำพิพากษา |
1 | 14 มี.ค. 2564 | แสดงงานศิลปะคล้ายธงชาติไร้สีน้ำเงินที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ | 1. “รามิล” วิธญา คลังนิล (1) และ 2. “เท็น” ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ (2) | ต่อสู้คดีว่าจำเลยไม่ใช่ผู้เขียนข้อความตามฟ้อง ไม่ได้มีเจตนาทำให้คล้ายธงชาติ อีกทั้งการตีความงาน “แถบสีนามธรรม” ขึ้นอยู่กับความคิดและการให้ความหมายของผู้ชมงานศิลปะที่แตกต่างกันไป | 28 ส.ค. 2566ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษาจำคุกคนละ 3 ปี 6 เดือน ปรับคนละ 1,500 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 3 ปี โดยเห็นว่าจำเลยชูธงในเวลาเดียวกับช่วงเคารพธงชาติ ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยต้องการแสดงต่อผู้ชุมนุมว่าธงชาติไทยไม่จำเป็นต้องมีสีน้ำเงิน กล่าวคือ ไม่ประสงค์ให้มีพระมหากษัตริย์ในประเทศไทย |
2 | 1 พ.ค. 2564 | แสดง Performance Art หน้าป้าย มช. ถูกกล่าวหาว่าใช้เท้าชี้รูป – เหยียดหยามกษัตริย์ | “รามิล” วิธญา คลังนิล | ต่อสู้คดีว่า จำเลยแสดงศิลปะการแสดงสด Performance Art หากจะเข้าใจความหมายของการแสดงประเภทนี้จะต้องดูการแสดงทั้งหมด เพราะการแสดงมีการเคลื่อนไหวต่อเนื่อง | 8 พ.ค. 2566 ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าการรับรู้และเข้าใจการกระทำของจำเลยขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล มิใช่การยืนยันข้อเท็จจริง ต่อมา 4 ก.ย. 2567 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนยกฟ้อง โดยเห็นว่า แม้อาจมีประชาชนจำนวนหนึ่งจะไม่สบายใจ แต่การกระทำในลักษณะดังกล่าวก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดต่อกฎหมาย จึงย่อมเป็นเสรีภาพในการแสดงออกที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ |
3 | 23 พ.ย. 2564 | โพสต์ภาพรัชกาลที่ 10 เปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกตเป็นชุดราตรีแบรนด์ Sirivannavari | วารุณี (สงวนนามสกุล)(3) | รับสารภาพ | 28 มิ.ย. 2566 ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน ไม่รอการลงโทษ |
4 | 9 มิ.ย.- 12 ก.ย. 2564 | เผยแพร่ภาพกราฟฟิก 2 ภาพ ในเพจเฟซบุ๊ก | อัฐสิษฎ (สงวนนามสกุล)(4) | รับสารภาพ | 28 ก.พ. 2567 ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 2 ปี 12 เดือน ไม่รอการลงโทษ |
5 | 16 ก.ย. 2564 | เผยแพร่ภาพวาดรัชกาลที่ 10 ใน Instagram | ทอปัด (สงวนนามสกุล)(5) | รับสารภาพ | 3 ต.ค. 2567 ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน ให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี |
6 | 19 ก.ย. 2564 | โพสต์ภาพตัดแต่งพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ในสตอรี่เฟซบุ๊ก | ชลสิทธิ์ (สงวนนามสกุล)(6) | รับสารภาพ | 1 ส.ค. 2565 ศาลจังหวัดกันทรลักษ์พิพากษาว่ามีความผิดตามฟ้อง แต่ให้รอกำหนดโทษไว้ 2 ปี |
7 | 21 มี.ค.- 31 พ.ค. 2565 | ถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “คนกลมคนเหลี่ยม” วาดภาพเสียดสีใส่ร้ายรัชกาลที่ 10 รวม 2 โพสต์ และใส่ร้ายรัชกาลที่ 9 อีก 2 โพสต์ | “ตั้ม” จิรวัฒน์ (สงวนนามสกุล)(7) | อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น | |
8 | 28 ก.ค. 2564 | โพสต์ภาพพร้อมข้อความ ‘ด้วยรักและฟัคยู #28กรกฎาร่วมใจใส่ชุดดำ’ | พริษฐ์ ชิวารักษ์(8) | ต่อสู้คดีว่า เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ สามารถทำได้ตามกฎหมาย และภาพดังกล่าว ต้องการสื่อถึงในเชิงศิลปะว่าให้พลิกมุมมองเพื่อให้คนมาสนใจปัญหา | 31 ก.ค. 2567 ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 2 ปี ไม่รอการลงโทษ โดยเห็นว่าพยานโจทก์ทุกปากเบิกความตรงกันว่าภาพดังกล่าวเข้าลักษณะดูหมิ่นและแสดงความอาฆาดมาดร้ายในหลวงรัชกาลที่ 10 ถือเป็นการลดทอนคุณค่าสถาบันกษัตริย์ |
9 | 29 ต.ค. 2563 | แต่งชุดไทยร่วมเดินแฟชั่นโชว์ในกิจกรรม #ภาษีกู | จตุพร แซ่อึง(9) | ต่อสู้คดี โดยในชั้นอุทธรณ์ยืนยันว่า การเดินแฟชั่นโชว์ไม่มีลักษณะล้อเลียน เสียดสี เป็นเพียงแค่ใส่ชุดไทยเดินแฟชั่น ซึ่งการโบกมือทักทายผู้เข้าร่วมชมเป็นเรื่องปกติของการแสดง อีกทั้งการแสดงงานศิลปะหรือการเดินแฟชั่นนั้นเป็นศาสตร์ของการตีความตามความรู้สึกนึกคิดของแต่ละบุคคล | 12 ก.ย. 2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา 19 ส.ค. 2567 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โดยเห็นว่ามีเจตนาแสดงการเสียดสีเปรียบเปรย เพื่อให้ประชาชนลดทอนความเคารพสักการะต่อรัชกาลที่ 10 และพระราชินี |
10 | 29 ต.ค. 2563 | แต่งชุดเสื้อยืดเอวลอย และเขียนร่างกายด้วยหมึก ร่วมกิจกรรม #ภาษีกู (คดีเยาวชน) | “สายน้ำ”(10) | ต่อสู้คดีว่า การใส่เสื้อครอปท็อปก็เป็นเสื้อผ้าตามสมัยนิยม ไม่ว่าใครก็สามารถสวมใส่ได้ ไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งจำเลยต้องการเลียนแบบ “จัสติน บีเบอร์”และการล้อเลียน ไม่เป็นการดูหมิ่นกษัตริย์ฯ เพราะไม่ครบองค์ประกอบ ม.112 | 20 ก.ค. 2566ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางพิพากษาจำคุก 12 เดือน ให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี โดยเห็นว่าการกระของจำเลยมีเจตนาให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าแสดงจำลองเป็นรัชกาลที่ 10 ทรงเยี่ยมราษฎร ถือเป็นการล้อเลียน เสียดสี และด้อยค่ากษัตริย์ ไม่ใช่การแสดงออกตามมุ่งหมายรัฐธรรมนูญ 16 ก.ย. 2567 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน |
11 | 20 ธ.ค. 2563 | แต่งกายชุดครอปท็อป เดินสยามพารากอน เพื่อรณรงค์ “ยกเลิก112” | 1. พริษฐ์ ชิวารักษ์2. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (11)3. ภวัต หิรัณย์ภณ (12)4. เบนจา อะปัญ (13)5. ภาณุพงศ์ จาดนอก (14) | อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น | |
12 | 20 ธ.ค. 2563 | แต่งกายชุดครอปท็อป เดินสยามพารากอน เพื่อรณรงค์ “ยกเลิก112”(คดีเยาวชน) | 1. ณัฐ (นามสมมติ) (15) และ2. ธนกร (สงวนนามสกุล) (16) | ต่อสู้คดีว่า ไม่มีเจตนาตามฟ้อง การสวมใส่เสื้อครอปท็อปสามารถทำได้ เป็นสิทธิและเสรีภาพที่ถูกรองรับไว้ภายใต้รัฐธรรมนูญ | 5 มิ.ย. 2567ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง พิพากษาจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นเข้ารับการฝึกอบรมระยะเวลาขั้นต่ำ 1 ปี และขั้นสูง 2 ปี โดยเห็นว่า แม้จำเลยจะอ่านดูข้อความบนเนื้อตัวร่างกายรวมถึงการแสดงบทบาทของพริษฐ์, ปนัสยา และเบนจาแล้ว หากจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาดูหมิ่นฯ ก็ควรจะปลีกตัวแยกออกไป แต่จำเลยยังคงอยู่ทำกิจกรรมอยู่ด้วยจนเกือบตลอด จึงถือว่าเห็นด้วยกับการกระทำ และมีความผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ |
15 | 15 มี.ค. 2565 | โพสต์รูปภาพครอบครัวของรัชกาลที่ 10 พร้อมข้อความบนเฟซบุ๊ก | “บังเอิญ” (22) | ต่อสู้คดีว่า ผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์มีอิสระในตนเอง มุมมองของงานศิลปะจะขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตของผู้ชม ซึ่งแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน | 29 ม.ค. 2568 ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 3 ปี 6 เดือน 10 วัน ไม่รอการลงโทษ โดยเห็นว่ามีการทำให้เป็นภาพขาวดำ และใช้สีดำในการตกแต่งพระพักตร์ของรัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ให้ดูน่ากลัว แตกต่างจากภาพต้นฉบับที่มีสีสันงดงาม |
13 | 4 พ.ค. 2565 | ทำคลิปวิดีโอโปรโมทแคมเปญลดราคาสินค้าของ Lazada | “นารา” อนิวัต ประทุมถิ่น (17) | ต่อสู้คดี | 21 ธ.ค. 2566ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องทุกข้อหา โดยเห็นว่า จำเลยได้ทำคลิปโฆษณาแสดงบทบาทสมมติต่าง ๆ ซึ่งยังไม่เป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 |
14 | 4 พ.ค. 2565 | ทำคลิปวิดีโอโปรโมทแคมเปญลดราคาสินค้าของ Lazada | 1. “มัมดิว” กิตติคุณ ธรรมกิติราษฎร์ (18)2. “หนูรัตน์” ธิดาพร ชาวคูเวียง (19)3. บริษัทขายตรง (20)4. บริษัทโฆษณา (21) | จำเลยที่ 2-4 ต่อสู้คดีว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง โดยจำเลยที่สองต่อสู้ในทำนองว่ารับงานโฆษณา และรับรู้ว่าตัวเองถูกดำเนินคดี แต่ไม่รู้ว่าบุคคลในข้อกล่าวหาคือใคร ส่วนจำเลยที่ 1 ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี | 30 ต.ค. 2567ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2-4 โดยเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายอาญาไม่ควรตีความถ้อยคำไปในทางขยายความ และพฤติการณ์แห่งคดีเพียงเท่านี้ยังไม่ปรากฏว่าได้มีการกระทำหรือใช้คำพูดในลักษณะใส่ความหรือดูถูก อันเป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท |
*หมายเหตุ ข้อมูลจนถึงวันที่ 15 มี.ค. 2568