ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 2 ปี “เพนกวิน” คดี ม.112 กรณีโพสต์รูป ร.10 ปี 64

วันที่ 31 ก.ค. 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักกิจกรรมทางการเมือง ผู้ถูกกล่าวหาในคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กรณีโพสต์รูปในหลวงรัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2564  

ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี ก่อนลดเหลือ 2 ปี เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์

สำหรับคดีนี้มี นพดล พรหมภาสิต จากกลุ่มศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) เป็นผู้แจ้งความกล่าวหาต่อพริษฐ์ โดยทางตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาระหว่างเพนกวินถูกคุมขังในเรือนจำเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2564

พริษฐ์ได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และภายหลังถูกฟ้องคดี ศาลได้นัดหมายสืบพยานไปในช่วงเมื่อวันที่ 14-17 พ.ค. 2567  และศาลอาญาได้นัดอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2567 แต่เพนกวินไม่ได้เดินทางมาศาล ทำให้ศาลสั่งออกหมายจับ และนัดฟังคำพิพากษาใหม่อีกครั้งในวันนี้ โดยให้อ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย

เวลาประมาณ 9.20 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 905 ทนายความและผู้สังเกตการณ์คดีเดินทางมาศาล ต่อมาศาลออกนั่งพิจารณาคดีและอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ สามารถสรุปได้ดังนี้

พิเคราะห์พยานโจทก์และจำเลย รับฟังเป็นที่ยุติว่า จำเลยโพสต์รูปและข้อความตามฟ้องจริง แม้ในการเบิกความจำเลยจะปฏิเสธว่าตนไม่ได้เป็นผู้โพสต์รูปและข้อความดังกล่าว แต่ศาลเห็นว่าจำเลยสามารถลบรูปเองได้ รวมถึงไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่เอาภาพของจำเลยไปโพสต์ นี่จึงแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีส่วนรู้เห็นกับผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว 

นอกจากนี้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดหรือไม่ จากพยานโจทก์ทุกปากได้แก่ ตรีดาว อภัยวงศ์, มหัศจักร โสดี, คมสัน โพธิ์คง, พ.ต.ต.ชัยยุทธ เชียงสอน, พ.ต.ต.หญิงกนกวรรณ สีสะอาด, พ.ต.ท.คมสัน ทุติยานนท์ และ ร.ต.อ.ณัฐวัฒน์ ตาแว่น เบิกความโดยสอดคล้องกันว่า ภาพดังกล่าวเข้าลักษณะดูหมิ่นและแสดงความอาฆาดมาดร้ายในหลวงรัชกาลที่ 10 ถือเป็นการลดทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นการดูหมิ่นพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และการที่จำเลยโพสต์โดยตั้งค่าเป็นสาธารณะ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ จึงถือเป็นความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วยเช่นกัน 

พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เนื่องจากเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุด คือมาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี เห็นว่าจำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 2 ปี

ทั้งนี้ ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากคดีอื่นนั้น ไม่ปรากฏว่าคดีดังกล่าว ศาลมีคำพิพากษาแล้วหรือไม่ จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ คำขอส่วนนี้ให้ยก

.

โจทก์เห็นว่าข้อความเป็นการอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 10 ด้าน“เพนกวิน” ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ยืนยันพฤติการณ์ไม่เข้าองค์ประกอบ ม.112 เพียงเรียกร้องให้แก้ไขปัญหา 3 ประการ 

สำหรับคดีนี้ พริษฐ์ได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และศาลได้นัดหมายสืบพยานที่ห้องพิจารณาคดี 905 ในช่วงวันที่ 14-17 พ.ค. 2567

ฝ่ายโจทก์ได้นำพยานเข้าสืบทั้งหมด 8 ปาก ได้แก่ นพดล พรหมภาสิต ผู้กล่าวหา, ตรีดาว อภัยวงศ์ อาจารย์สอนศิลปะและการแสดง, มหัศจักร โสดี นักกฎหมายกลุ่ม ศชอ., คมสัน โพธิ์คง นักวิชาการด้านนิติศาสตร์, พ.ต.ต.ชัยยุทธ เชียงสอน พนักงานสืบสวน บก.ปอท. และพนักงานสอบสวน บก.ปอท. 3 นาย ได้แก่ พ.ต.ต.หญิงกนกวรรณ สีสะอาด, พ.ต.ท.คมสัน ทุติยานนท์ และ ร.ต.อ.ณัฐวัฒน์ ตาแว่น

พยานโจทก์ทั้งหมดเบิกความไปในทำนองเดียวกันว่า ภาพถ่ายและข้อความของจำเลยเป็นการแสดงออกด้วยท่าทางและข้อความซึ่งมีเจตนาหมิ่นประมาท ด่าหยาบคาย ทำให้ผู้ถูกด่าเสื่อมเสียชื่อเสียง นอกจากนี้ยังมีการเชิญชวนให้ประชาชนใส่เสื้อดำในวันพระราชสมภพ ซึ่งถือเป็นการดูหมิ่น ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ที่จะล่วงละเมิดกษัตริย์ไม่ได้ 

ขณะที่ฝั่งจำเลยนำพยานเข้าสืบทั้งหมด 2 ปาก พริษฐ์คือยืนยันว่า ตนไม่ได้ทำผิดตามฟ้อง เพราะว่าการกระทำไม่เข้าองค์ประกอบ ภาพที่ถูกกล่าวหาไม่ได้มีความหมายหมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อให้ปัญหา 3 ประการถูกแก้ไข 

ประการแรก คือไม่ต้องการให้ทหารแอบอ้างสถาบันกษัตริย์ไปใช้ทางการเมือง เพราะว่าที่ผ่านมาได้มีการนำสถาบันกษัตริย์มาเป็นเหตุผลที่ใช้ในการก่อรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารปี 2534, 2549 และ 2557 การรัฐประหารจะต้องมีการนำสถาบันมาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ อย่างแถลงการณ์รัฐประหารปี 2549 ได้มีการอ้างว่าหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ทหารถึงได้มีการออกมาล้มล้างระบอบประชาธิปไตย 

การนำสถาบันกษัตริย์ไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเป็นเรื่องไม่สมควร เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติเกินกว่าจะประมาณได้ โดยไม่เคยมีผู้นำรัฐประหารคนใดถูกลงโทษย้อนหลัง นอกจากนี้ยังมีชีวิตที่สุขสบาย ตัวอย่างเช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นองคมนตรี 

หลายประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่มีการรัฐประหาร อย่างประเทศอิตาลีและกรีซเคยมีสถาบันกษัตริย์ แต่ปัจจุบันไม่มีแล้วเพราะสองประเทศนี้เคยสนับสนุนเผด็จการทหาร นอกจากนี้ยังมีประเทศสเปนที่มีความพยายามที่จะรัฐประหาร แต่กษัตริย์ได้ยับยั้งเอาไว้ 

ทั้งนี้ จำเลยต้องการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อไม่ให้รัฐประหารมาเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ สถาบันกษัตริย์จะได้อยู่อย่างมั่นคงสถาพร ไม่เป็นที่ครหา

ประการที่สอง คือต้องการให้ยุติการหากำไรในนามของกษัตริย์ ในขณะเกิดเหตุคดีนี้ มีการเกิดโรคระบาดโควิด-19 อย่างรุนแรง เป็นผลให้ประชาชนล้มหายตายจากเป็นจำนวนมาก และประเทศไทยก็ไม่มีวัคซีน ซึ่งต่อมา รัฐบาลได้นำวัคซีนซิโนแวคเข้ามาแจกจ่ายให้กับประชาชน แต่วัคซีนนี้ก็ถูกตั้งคำถามถึงคุณภาพและความปลอดภัย ทำให้ประชาชนไม่อยากใช้ 

นอกจากวัคซีนซิโนแวคแล้วยังมียี่ห้ออื่นที่ดีกว่า แต่รัฐบาลก็ให้แค่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งผลิตโดยสยามไบโอไซน์ เป็นทั้งผู้ผลิตและจัดจำหน่าย โดยปรากฏว่ามีผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือในหลวงรัชกาลที่ 10 ดังนั้นจึงเป็นที่ครหาว่ากษัตริย์เกี่ยวข้องกับการค้าขายวัคซีน เพราะไม่ใช่การแจกฟรี แต่เป็นการค้าขายได้กำไร 

ทั้งนี้ ถ้าเกิดว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีผลอันตรายแก่ชีวิต ย่อมส่งผลกระทบต่อสถาบันกษัตริย์ในภายภาคหน้า เพราะวัคซีนผลิตโดยสยามไบโอไซน์ การค้ากำไรดังกล่าวเสี่ยงที่จะทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสียได้ 

ประการที่สาม คือต้องการสะท้อนให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นเครื่องมือปราบปรามผู้เห็นต่างจากรัฐ โดยเฉพาะหลังรัฐประหารปี 2557 มีการใช้มาตรา 112 สูงมากทั้งฟ้องต่อศาลอาญาและศาลทหาร ซึ่งคนที่ถูกฟ้องคดีเป็นคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร รวมถึงการสืบทอดอำนาจของทหาร  

ทั้งหมดนี้ พริษฐ์ยืนยันว่าเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ สามารถทำได้ตามกฎหมายและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งไทยร่วมลงนามรับรองไว้ ยิ่งไปกว่านั้นรัฐธรรมนูญไทยก็เขียนไว้ว่า ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจประชาธิปไตย กษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจแทน ดังนั้นแล้วประชาชนจึงมีสิทธิที่จะแสดงออกทุกประการ  

นอกจากนี้การที่เอาภาพในหลวงรัชกาลที่ 10 กลับหัว จำเลยไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้าย แต่ต้องการสื่อถึงในเชิงศิลปะว่าให้ผลิกมุมมองเพื่อให้คนมาสนใจทั้งสามประเด็นที่ตนกล่าวไป หากปัญหา 3 ประการนี้ได้รับการแก้ไข สถาบันกษัตริย์ก็จะมั่นคงสถาพรสืบต่อไป

อนึ่ง คดีนี้เป็นคดีมาตรา 112 คดีแรกที่เพนกวินถูกกล่าวหาและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาออกมา โดยเพนกวินถูกกล่าวหาในข้อหานี้รวมทั้งหมด 25 คดี เท่าที่ทราบข้อมูล นับได้ว่าเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 ด้วยจำนวนคดีมากที่สุดในประวัติศาสตร์

X