คำพิพากษายกฟ้องสำคัญปี 2567

ปี 2567 ยังเป็นปีที่คดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองทยอยขึ้นสู่ศาลอย่างไม่สิ้นสุด

ตลอดทั้งปีนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า มีคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาออกมาไม่น้อยกว่า 108 คดี, ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาไม่น้อยกว่า 52 คดี และศาลฎีกาอีกอย่างน้อย 7 คดี รวมทั้งปีมีคำพิพากษาไม่น้อยกว่า 167 คดี เฉลี่ยทุกเกือบสองวันทำการ ศาลจะมีคำพิพากษาออกมา 1 คดี

แม้จำนวนจะไม่ได้มากเท่าปีก่อนหน้า แต่แนวโน้มสำคัญก็คือคดีทยอยขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์และฎีกามากขึ้น ส่งผลถึงแนวคำวินิจฉัยในคดีลักษณะต่าง ๆ จากศาลที่สูงขึ้นไป และคดีจะสิ้นสุดลงมากขึ้น

เช่นเดียวกับทุกปี คำพิพากษาจำนวนมากที่ออกมา มีทั้งส่วนที่น่าชื่นชมและน่าตั้งคำถามคละเคล้าปะปนกันไป ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เลือกสรร 5 คำพิพากษายกฟ้องของศาล และมีความสำคัญในเชิงเนื้อหาที่น่าสนใจในรอบปี 2567 นี้ บันทึกไว้อีกส่วนสำคัญของการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมที่ยังดำเนินต่อไป

.

.

1. คดี ‘หนูรัตน์’ แสดงโฆษณา: ชี้เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ ไม่ใช่รัชทายาท – องค์ประกอบ ม.112 เฉพาะตัวบุคคล ไม่ควรตีความขยายความไปถึง “สถาบันกษัตริย์”

คำพิพากษาคดีมาตรา 112 ที่น่าสนใจคดีหนึ่งในรอบปีที่ผ่านมา คือคดีของ “หนูรัตน์” หรือ สุภัคชญา ชาวคูเวียง คอนเทนต์ครีเอเตอร์ จากกรณีร่วมจัดทำและร่วมแสดงในคลิปโฆษณาแคมเปญ 5.5 ของลาซาด้า เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 โดยเธอถูกกล่าวหาว่าทำการแสดงล้อเลียนเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ

คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวเนื่องกับคดีของ “นารา” ซึ่งศาลอาญาพิพากษายกฟ้องไปก่อนหน้านี้ในช่วงปลายปี 2566 โดยมีการวินิจฉัยที่น่าสนใจในเรื่องการตีความมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ว่าไม่โยงกับมาตรา 112 แต่อย่างใด โดยอัยการยังอุทธรณ์คำพิพากษาต่อมา

ในส่วนคดีของ “หนูรัตน์” หลังการต่อสู้คดี ศาลอาญาได้มีพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2567 โดยประเด็นสำคัญคือศาลเห็นว่าการตีความคำว่า “รัชทายาท” ในมาตรา 112 ต้องยึดถือตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ แต่ไม่ปรากฏว่ามีการแต่งตั้งเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ เป็นรัชทายาทในรัชกาลที่ 10 แต่อย่างใด จึงมิใช่บุคคลตามความหมายของมาตรา 112

ศาลยังวินิจฉัยประเด็นการนำสืบของโจทก์ที่ว่า “พระมหากษัตริย์” ตามมาตรา 112 มีความหมายรวมถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย แต่ศาลเห็นว่ามาตรานี้ไม่ได้ระบุคำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้โดยตรง องค์ประกอบที่คุ้มครองก็สื่อความหมายถึงตัวบุคคล การบังคับใช้กฎหมายอาญาก็ไม่ควรตีความขยายความ ดังนั้นมาตรา 112 จึงหมายถึงตัวบุคคลเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามข้อหานี้

นอกจากนั้นในรายละเอียดของเนื้อหาโฆษณา พฤติการณ์ของจำเลยที่เพียงแต่นั่งอยู่บนรถเข็นและพยักหน้า ยังไม่ปรากฏว่ามีการใช้คำพูดในลักษณะใส่ความหรือดูถูกอันเป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท ไม่ครบองค์ประกอบในข้อหานี้เช่นกัน ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง

แม้การต่อสู้คดีมาตรา 112 ยังมีปัญหาอื่น ๆ อีกมาก ทั้งในทางตัวบท การกล่าวหาบังคับใช้ การตีความขยายความ หรืออุดมการณ์ที่ครอบงำการพิจารณา แต่ความพยายามในบางคดีของศาล ที่จะตีความกฎหมายเท่าที่ตัวบทกำหนดอย่างเคร่งครัด ไม่ขยายความจนขัดต่อหลักกฎหมายอาญา จึงมีความสำคัญอย่างมากในสถานการณ์การใช้กฎหมายในปัจจุบัน

.

.

2. คดี “รามิล” แสดง Performance Art: ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณาหลักฐานโจทก์มีพิรุธ การแสดงไม่เข้าข่าย ม.112 เห็นว่าจำเลยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ

คดีของ ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ หรือ “รามิล” อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาชิกกลุ่ม artn’t นับเป็นตัวอย่างคดีมาตรา 112 อีกคดีที่สะท้อนถึงการใช้ข้อหานี้อย่างเลยเถิดล้นเกินในยุคปัจจุบัน เขาถูกกล่าวหาจากกรณีแสดง Performance art หรือ ศิลปะการแสดงสด ที่หน้าป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2564

รามิลถูกกล่าวหาว่า ระหว่างการแสดง ได้ทำการเคลื่อนไหวท่าทางต่าง ๆ เช่น ท่าคล้ายครุฑ และนอนหงายพร้อมใช้เท้าชี้ไปทางพระบรมฉายาลักษณ์ ฝ่ายผู้กล่าวหาอ้างว่าเป็นท่าทางจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้าย ไม่ถวายพระเกียรติพระมหากษัตริย์ โดยเป็นการพยายามตีความจากภาพนิ่งไม่กี่ภาพ ทั้งที่การแสดงดังกล่าวเป็นไปโดยต่อเนื่องกัน

คดีนี้ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังชี้ไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยสื่อถึงสิ่งใด การตีความภาพถ่ายกิริยาท่าทางเพียงไม่กี่ภาพ ไม่อาจแสดงหรือนำมายืนยันถึงการกระทำของจำเลยทั้งหมดที่เกิดขึ้นในวันเกิดเหตุ การจัดกิจกรรมในวันเกิดเหตุมีเนื้อหาเรียกร้องสิทธิประกันตัวผู้ต้องหา ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ทั้งพยานโจทก์ต่างเบิกความว่ามีการบันทึกภาพวิดีโอในวันเกิดเหตุ แต่กลับไม่มีการนำส่งบันทึกดังกล่าวเป็นพยานหลักฐาน ทำให้มีข้อพิรุธสงสัย

แต่อัยการโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อมา จนเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2567 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนให้ยกฟ้อง โดยวินิจฉัยทั้งในส่วนความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานโจทก์ ซึ่งอ้างว่าจำเลยจงใจเลือกสถานที่และทำสีแดงเลอะเปรอะเปื้อนพระบรมฉายาลักษณ์ แต่กลับให้การขัดแย้งกัน ทั้งในเอกสารโจทก์ก็ไม่เห็นว่าสีเลอะเปรอะเปื้อน และพยานโจทก์อ้างว่าถ่ายคลิปวิดีโอเหตุการณ์ไว้ แต่กลับไม่ส่งต่อศาล ทำให้มีพิรุธสงสัย

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยังวินิจฉัยว่าท่าทางของจำเลยแตกต่างจากท่าครุฑตามที่โจทก์อ้าง และหากดูท่าทางที่แสดง ก็มิได้ใช้เท้าชี้ตรงไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ จำเลยแสดงท่าทางตลอด 45 นาที การยกเท้าชี้ขึ้นด้านบนเป็นเพียงท่าทางการแสดง ซึ่งจำเลยทำเพียงครั้งเดียว ไม่ชัดเจนว่าจะเป็นการกระทำที่เข้าลักษณะการดูหมิ่น แม้การกระทำของจำเลยอาจเป็นความไม่เหมาะสม แต่การกระทำในลักษณะดังกล่าวก็ไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย ย่อมถือเป็นเสรีภาพในการแสดงออกที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ

ทั้งศาลยังวินิจฉัยในประเด็นที่โจทก์พยายามอ้างถึงพฤติการณ์ของจำเลยในคดีอื่น ๆ ว่า ไม่อาจรับฟังเป็นยุติได้เสมอไป ถ้าบุคคลเคยกระทำความผิดใดหรือมีพฤติกรรมอย่างไรมาแล้ว บุคคลนั้นต้องกระทำความผิดนั้นหรือพฤติกรรมเช่นนั้นอีก

การสืบพยานและคำพิพากษาในคดีนี้ สะท้อนถึงปัญหาข้อกล่าวหาในคดีมาตรา 112 ที่ฝ่ายผู้กล่าวหา อย่างตำรวจหรือกลุ่มปกป้องสถาบันฯ พยายามจับผิดการแสดงออกของนักกิจกรรมหรือประชาชนที่เป็น “ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง” จนเกินกว่าเหตุ แล้วนำไปกล่าวหาดำเนินคดี ทั้งมีการนำพยานกลุ่มที่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันไปให้การซ้ำ ๆ  ถึงที่สุดแล้วยังเป็นการพยายามใช้อำนาจทางกฎหมายเข้ามาปิดกั้นการแสดงออกศิลปะ ซึ่งควรเป็นไปอย่างหลากหลาย และเปิดกว้าง ให้เหลือการตีความเพียงรูปแบบเดียว และตัดสินความถูกผิดของการตีความดังกล่าว

.

.

3. คดี “ป้าวันทนา” ตะโกนไล่ประยุทธ์: ศาลอุทธรณ์ภาค 7 อ้างอิงกติการะหว่างประเทศ ชี้นายกฯ ต้องอดทนต่อการตั้งคำถาม เจ้าพนักงานกระทำเกินจำเป็น การขัดขืนไม่ถือเป็นความผิด

ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการใช้เสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมจำนวนมากนั้น แม้ฝ่ายจำเลยจะพยายามอ้างอิงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี เพื่อใช้ในการต่อสู้คดีในลักษณะต่าง ๆ แต่ศาลไทยมักไม่มีการกล่าวถึงหลักการระหว่างประเทศเหล่านี้มากนัก ทั้งในคำสั่งและคำพิพากษา โดยมักเห็นว่าเป็นกฎหมายภายนอกประเทศ ไม่มีสภาพบังคับ

ในปี 2567 พบว่ามีคดีที่ศาลมีคำพิพากษาอ้างอิงถึงกติการะหว่างประเทศอย่างสำคัญ ได้แก่ คดีของ “วันทนา โอทอง” ประชาชนจากราชบุรีวัย 63 ปี ที่ถูกฟ้องจากเหตุพยายามตะโกนแสดงออกวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะเป็นนายกรัฐมนตรี และลงพื้นที่ในอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2566

คดีนี้เดิม ศาลแขวงราชบุรีพิพากษาว่าวันทนามีความผิดในทั้ง 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน, ส่งเสียงอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันสมควร และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน โดยลงโทษจำคุกเต็มอัตรา 6 เดือน 10 วัน ปรับ 1,000 บาท โดยไม่รอลงอาญา แต่วันทนาได้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

จนเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2567 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นทั้งหมด โดยยกฟ้องวันทนาทุกข้อกล่าวหา คำพิพากษาได้ปูพื้นถึงเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุม ตามรัฐธรรมนูญของไทย พร้อมระบุถึงพันธกรณีระหว่างประเทศตามกติกาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยเคยให้สัตยาบันไว้ เมื่อปี 2539 ในข้อ 19 รับรองเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชน

ศาลระบุว่า “การรองรับและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก เป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าประเทศไทยให้ความเคารพต่อคุณค่าในหลักการประชาธิปไตยที่ยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเห็นต่อการบริหารรัฐกิจ และการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะ ซึ่งผู้ที่ได้รับอาณัติจากประชาชนจะต้องอดทนต่อการตั้งคำถามและการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ดังนั้น การฟ้องร้องดำเนินคดีประชาชนที่แสดงความเห็นต่างหรือสื่อมวลชนเพื่อปิดกั้นการแสดงออกโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมประชาธิปไตยที่เคารพหลักนิติรัฐและนิติธรรม” 

คำพิพากษายังระบุว่า กฎหมายจะต้องไม่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจในการจํากัดเสรีภาพและดําเนินคดีต่อผู้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกได้อย่างไม่มีข้อจํากัด รัฐมีหน้าที่ในการแสดงให้เห็นว่า การจํากัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกมีฐานทางกฎหมายอย่างไร และสอดคล้องอย่างไรต่อหลักความจําเป็นและหลักความได้สัดส่วน

ต่อมาศาลได้พิเคราะห์ข้อเท็จจริงในคดีของวันทนา โดยเห็นว่าจากพยานหลักฐานของโจทก์ ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้วางแผนกระทำการสิ่งผิดกฎหมาย จำเลยมาชุมนุมด้วยความสงบและปราศจากอาวุธ อันเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน แม้จำเลยจะแสดงออกว่าไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เจ้าหน้าที่ตํารวจก็มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยหรืออํานวยความสะดวกในการชุมนุม หากจําเลยร้องด่านายกฯ เจ้าหน้าที่ตํารวจก็ต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจําเลยตามกฎหมายเป็นอีกส่วนหนึ่ง

การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กระทำต่อจำเลย โดยใช้มือปิดปาก และนำตัวจำเลยออกมาจากพื้นที่ดังกล่าว ย่อมเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของจำเลยตามรัฐธรรมนูญ  เมื่อเปรียบเทียบการกระทํากับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของจำเลยไม่ให้แสดงความคิดเห็นดังกล่าว ซึ่งมีผลทําให้หลักการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญต้องเสียไป และไม่ได้สัดส่วนกัน ประกอบกับการปฏิบัติต่อจําเลยซึ่งเป็นหญิงผู้สูงอายุ จะต้องเพิ่มความระมัดระวังและปฏิบัติให้มีความเหมาะสมแก่สถานภาพ โดยคํานึงถึงสิทธิมนุษยชนที่ไม่ทําให้เสียภาพพจน์ในการปฏิบัติการ ตามคู่มือการปฏิบัติการดูแลการชุมนุมสาธารณะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

ดังนั้น แม้จำเลยจะดิ้นขัดขืน ก็เพื่อปกป้องการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของตนและเพื่อให้หลุดพ้นจากการปฏิบัติที่เกินขอบเขตอํานาจตามกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าจําเลยมีเจตนาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กําลังประทุษร้าย และการที่เจ้าพนักงานตํารวจมีคําสั่งห้ามจําเลยยืนบริเวณจุดเกิดเหตุ ยังเกินความจําเป็นและไม่ได้สัดส่วน รวมทั้งไม่ปรากฏว่าจําเลยใช้เครื่องขยายเสียงจนทําให้ประชาชนตกใจหรือเดือดร้อน คงมีเพียงเสียงร้องจากปากของจำเลยที่มีอยู่เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของจําเลยตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น การกระทําของจําเลยจึงไม่เป็นความผิดในทุกข้อกล่าวหา

คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 นี้ นอกจากจากอ้างอิงถึงกติการะหว่างประเทศ ยังวางหลักการในเรื่องการตีความเสรีภาพในการแสดงออกต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่เข้าไปใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน แม้เป็นไปในทางคัดค้านวิพากษ์วิจารณ์ผู้ใช้อำนาจ ขณะเดียวกันก็ชี้ถึงบทบาทหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกในการแสดงออกหรือการชุมนุม การออกคำสั่งใด ๆ ให้สมควรแก่เหตุ รวมถึงการใช้กำลังขัดขวางการแสดงออก ที่ต้องไม่เป็นไปเกินกว่าเหตุและเกินขอบเขตของกฎหมาย การขัดขืนของประชาชนต่อการกระทำเกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่นั้น ก็ไม่ควรถูกเรียกว่าเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานแต่อย่างใด

.

.

4. คดีหมู่บ้านทะลุฟ้า: แม้มีผู้ถูกจับกุมจำนวนมาก แต่ศาลชี้การชุมนุมไม่แออัด เป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธ ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ไม่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

คดีจากการชุมนุมที่ถูกกล่าวหาในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากช่วงสถานการณ์โควิด-2019 เมื่อช่วงปี 2563-65 แม้ผ่านไปเกือบ 3 ปีแล้ว แต่สถานการณ์คดีเหล่านี้ ก็ยังค้างคาอยู่ในกระบวนการยุติธรรมชั้นต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก

หนึ่งในคดีที่มีผู้ถูกกล่าวหามากที่สุดในช่วงปีดังกล่าว คือกรณีปักหลักตั้ง “หมู่บ้านทะลุฟ้า” บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่เข้าสลายกิจกรรมและจับกุมประชาชนและนักกิจกรรมไปกว่า 67 คน ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 28 มี.ค. 2564 ผู้ถูกจับกุมดังกล่าวมีทั้งเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 6 คน กับส่วนของผู้ชุมนุม 61 คน ซึ่งมีทั้งนักกิจกรรม ประชาชนทั่วไป นักบวช หรือแม้แต่คนไร้บ้านหลายคน ที่ไปพักอาศัยบริเวณนั้น ก็ถูกเจ้าหน้าที่กวาดจับกุมไปด้วย และต่อมาถูกฟ้องคดีที่ศาลแขวงดุสิตในข้อหาหลัก คือฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

หลังการต่อสู้คดีอย่างยืดเยื้อ วันที่ 4 ธ.ค. 2567 ศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษายกฟ้องข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเห็นว่าอัยการฟ้องว่าจำเลยทั้งหมดมีส่วนร่วมเป็นผู้จัดการชุมนุม “หมู่บ้านทะลุฟ้า” แต่จากพยานหลักฐาน โจทก์ไม่สามารถยืนยันการกระทำของจำเลยแต่ละคน จึงต้องพิเคราะห์ว่าทั้งหมดเป็นเพียงผู้เข้าร่วม ไม่ใช่ผู้จัด และไม่มีหน้าที่จะต้องแจ้งจัดการชุมนุม

ศาลพิจารณาว่าพื้นที่เกิดเหตุเป็นที่โล่ง ไม่แออัด ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ใส่หน้ากากอนามัย เวทีปราศรัยมีขนาดเล็กเพื่อปราศรัยเรียกร้องเรื่องเศรษฐกิจ ทั้งตลอดการชุมนุมไม่ปรากฏเหตุร้ายแรงและไม่ปรากฏว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธ จึงถือว่าการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธที่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การชุมนุมที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ศาลเห็นว่ากิจกรรมมีการตั้งเตนท์กีดขวางการจราจร ส่งผลกระทบต่อผู้สัญจร จึงพิพากษาให้ปรับเป็นพินัยในข้อหากีดขวางการจราจร คนละ 500 บาท

ในคดีจากการชุมนุมที่ถูกฟ้องในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลในหลายคดีได้วินิจฉัยชั่งน้ำหนักประเด็นเสรีภาพในการชุมนุม กับสถานการณ์ที่เกิดโรคระบาด โดยเห็นว่าการชุมนุมหลายครั้งยังไม่ถึงขนาดเสี่ยงต่อการแพร่โรคหรือก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย จึงรับรองเสรีภาพการชุมนุมเป็นหลัก แม้แต่คดีหมู่บ้านทะลุฟ้าที่มีผู้ถูกดำเนินคดีจำนวนมากที่สุดนี้ก็ตาม กระนั้นในช่วงปีที่ผ่านมา อัยการก็ยังทยอยสั่งฟ้องคดีชุมนุมเป็นระยะ สร้างภาระในการต่อสู้คดีให้นักกิจกรรมและประชาชนอยู่ต่อไป

ขณะเดียวกัน ควรกล่าวด้วยว่าในคดีของเยาวชน 2 รายร่วมกิจกรรมหมู่บ้านทะลุฟ้า ที่ถูกฟ้องที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางนั้น ทั้งศาลเยาวชนฯ และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ กลับวินิจฉัยไปในแนวที่ว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเห็นว่าเป็นการร่วมการชุมนุมมั่วสุมในสถานที่แออัด แม้จะลงโทษปรับก็ตาม ก็ก่อให้เกิดคำถามต่อการใช้ดุลยพินิจของศาลต่อเหตุการณ์เดียวกัน ซึ่งพบในหลายกรณี ในคดีชุมนุมของเยาวชนและผู้ใหญ่

.

.

5. ชุดคดี พ.ร.บ.ชุมนุมฯ #APEC2022: การพยายามตีความการชุมนุมสาธารณะผู้จัดการชุมนุมให้เคร่งครัดตามกฎหมายมากขึ้น

ปี 2567 ยังมีคำพิพากษาของศาลในคดีที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 จำนวนหนึ่งที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยพิจารณาถึงองค์ประกอบของการชุมนุมสาธารณะที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายฉบับนี้ และเห็นว่ากิจกรรมสาธารณะที่ถูกกล่าวหาในหลายคดี ไม่ได้เข้าข่ายการชุมนุมสาธารณะแต่อย่างใด

ชุดคดีสำคัญที่ถูกกล่าวหาด้วยข้อหานี้ ได้แก่ กิจกรรมในช่วงการประชุม APEC2022 เมื่อปี 2565 ซึ่งมีกิจกรรมของภาคประชาชนหลายกลุ่มพยายามแสดงออกคัดค้านประเด็นการประชุมในเรื่องต่าง ๆ ทำให้มีการถูกดำเนินคดีตามมาหลายคดี

ในปีนี้ ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ใน 4 คดี ได้แก่ กรณีกิจกรรม “ไซอิ๋วตะลุยเอเปค” เดินประท้วงนโยบายจีนเดียว, กรณีกิจกรรมเดินเรียกร้องดวงตาให้ “พายุ ดาวดิน” (ทั้งสองคดีที่ศาลแขวงปทุมวัน) และกรณี “WHAT HAPPENED IN THAILAND” เดินขบวนจากแยกอโศกไปที่ประชุม 2 คดี (คดีของไหม-อาคิน และคดีของเก็ท-ใบปอ ที่ศาลแขวงพระนครใต้)

ในสองคดีแรก คำพิพากษาได้พิจารณาในประเด็นใกล้เคียงกัน คือเห็นว่ากิจกรรมทั้งสองนี้ไม่ได้มีการเผยแพร่ข่าวสาร นัดหมาย หรือเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมชุมนุมแต่อย่างใด โดยกลุ่มนักกิจกรรมเพียงแต่ออกไปแสดงออกด้วยตนเอง จึงไม่เข้าข่ายเป็นการชุมนุมสาธารณะตามกฎหมาย ที่จะต้องแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถร่วมการชุมนุมนั้นได้ด้วย

ในสองคดีหลัง ศาลพิพากษายกฟ้อง ในประเด็นที่พยานหลักฐานล้วนยังไม่ชัดเจนว่าจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุม ซึ่งมีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุมสาธารณะ โดยที่กิจกรรมดังกล่าว มีผู้จัดการชุมนุมที่ได้ไปแจ้งการชุมนุมเป็นอีกคนหนึ่ง แม้จำเลยในทั้งสองคดีจะมีพฤติการณ์ร่วมการปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียง หรือร่วมอ่านแถลงการณ์ของกิจกรรม แต่ก็ไม่มีการกระทำที่มีลักษณะเชิญชวนให้คนมาชุมนุม ยังไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการชุมนุม

นอกจากนั้นในปี 2567 ยังมีรายงานการยกฟ้องในคดีผู้จัดเดินขบวนวันแรงงานสากล เมื่อปี 2566 โดยศาลแขวงดุสิตเห็นว่ากิจกรรมวันดังกล่าวเป็นกิจกรรมตามประเพณี ไม่เข้าข่ายใช้บังคับ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ตามมาตรา 3 (2)

ภาพรวมสถานการณ์ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ดังกล่าว พบว่าหลายศาลมีการพยายามตีความอย่างเคร่งครัดมากขึ้น ไม่ทำให้ใครก็ได้กลายเป็นผู้จัดการชุมนุม ที่ต้องรับผิดชอบต่อการแจ้งการชุมนุม หรือการแสดงออกสาธารณะในลักษณะต่าง ๆ กลายเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ต้องใช้กฎหมายบังคับทั้งหมด แม้จะยังมีการลงโทษปรับในข้อหาลหุโทษอื่น ๆ อยู่ก็ตาม รวมทั้งยังมีการใช้กฎหมายจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหา ให้ประชาชนที่ออกมาชุมนุมต้องไปต่อสู้คดีอยู่ก็ตาม

.

X