บันทึกการเดินทางของศิลปะในโลก 112 : เปิดคำพิพากษาชั้นต้น-อุทธรณ์ ยกฟ้องคดี “รามิล” แสดง Performance Art

หลังจากเมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2567 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษายืนยกฟ้องในคดีของ ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ หรือ “รามิล” อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาชิกกลุ่ม artn’t ที่ถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีแสดง Performance art หรือ ศิลปะการแสดงสด ที่หน้าป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2564 ชวนอ่านคำพิพากษาของศาลทั้งสองชั้นที่วินิจฉัยยกฟ้องในคดีนี้

ขณะเกิดเหตุในคดีนี้รามิลมีอายุ 23 ปี (ปัจจุบันอายุ 26 ปี) คดีมี พ.ต.ท.อานนท์ เชิดชูตระกูลทอง เป็นผู้กล่าวหาว่า รามิลทำการเคลื่อนไหวท่าทางต่าง ๆ เช่น ท่าครุฑ และนอนหงายพร้อมใช้เท้าชี้ไปทางพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ต่อมาณัฐเมธส์ สิริไตรรัตนกุล พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2565  

รามิลให้การปฏิเสธมาตั้งแต่ชั้นสอบสวน ชั้นพนักงานอัยการ รวมทั้งในชั้นศาล ซึ่งมีการสืบพยานโจทก์และจำเลยไปทั้งหมด 5 นัด เมื่อวันที่ 18 – 20, 25 – 26 ม.ค. 2566

อ่านประมวลการสืบพยานในคดีนี้ : เมื่อ Performance Art ขึ้นสู่ศาล: ประมวลการต่อสู้คดี ม.112 “รามิล” เหตุราดสี-แสดงศิลปะเคลื่อนไหวร่างกายบนป้าย มช.

.

ภาพกิจกรรมแสดง Performance art เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2564

.

วันที่ 8 พ.ค. 2566 ศาลจังหวัดเชียงใหม่มี คำพิพากษายกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 โดยสรุปเหตุการณ์ได้ว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยปีนขึ้นมาบนฐานป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใช้น้ำสีแดงในถังที่เตรียมมาเทราดบนตัวและทำการแสดงศิลปะแสดงสดท่าทางต่าง ๆ อยู่ประมาณ 30-40 นาที และมีประเด็นเหตุผลโดยสรุปคำวินิจฉัยยกฟ้อง ดังนี้

การกระทำของจำเลยจะเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์หรือไม่นั้น หมิ่นประมาท หมายถึงการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ซึ่งการใส่ความนั้นจะต้องเป็นการแสดงข้อเท็จจริงเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย และจะต้องระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ 

หมิ่น หมายถึงการด่า ดูถูก เหยียดหยาม หรือสบประมาทให้อับอาย การดูหมิ่นก็ย่อมจะต้องระบุถึงตัวบุคคลที่ถูกดูหมิ่นเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกดูหมิ่นโดยตรง การดูหมิ่นนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ 

งานกิจกรรมหน้า มช. ไม่ได้สื่อถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยพยานโจทก์เบิกความตรงกันว่าสถานที่เกิดเหตุซึ่งเป็นบริเวณประตูทางเข้าออกมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้นเป็นสถานที่ที่นักศึกษาจะมาจัดกิจกรรมการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อยู่ตลอด และในวันเกิดเหตุก็มีการจัดกิจกรรมเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวผู้ต้องหา ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

.

ภาพงานกิจกรรมคืนสิทธิประกันตัว หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2564

การที่โจทก์อ้างว่าทำท่าทางคล้ายครุฑสื่อถึงพระมหากษัตริย์ฟังไม่ขึ้น เนื่องด้วยการรับรู้และเข้าใจการกระทำของจำเลยย่อมขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล มิใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง นอกจากนี้ตามที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทำท่าทางคล้ายครุฑ สื่อถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ พยานโจทก์ปาก พรพิมล ยี่ตันสี เบิกความตอบทนายความจำเลยว่าการแสดงครุฑนั้นเป็นการแสดงนาฏศิลป์ไทยโดยทั่วไป และตัวละครครุฑในวรรณคดีไทยบางเรื่องก็ไม่ได้สื่อถึงพระมหากษัตริย์ จึงฟังไม่ได้ว่าการแสดงท่าทางดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง

ภาพที่พรพิมล ยี่ตันสี  อาจารย์วิทยาลัยนาฏศิลป์เบิกความว่าจำเลยทำท่าเลียนแบบครุฑ สื่อถึงพระมหากษัตริย์

ไม่มีพยานโจกท์ยืนยันว่าการกระทำของจำเลย เพื่อให้พระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์เปรอะเปื้อน มีเพียงแต่พยานปากพันตำรวจโทอานนท์ซึ่งไม่ใช่ประจักษ์พยานเบิกความเพียงว่าการที่จำเลยใช้สีแดงเทราดตัว ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าจะกระเด็นไปถูกพระบรมฉายาลักษณ์และป้ายทรงพระเจริญ

การแสดงออกทางการเมืองของจำเลยครั้งอื่นไม่สามารถพิสูจน์เจตนาจำเลยในครั้งนี้ได้ โดยพยานหลักฐานโจทก์เกี่ยวกับพฤติกรรมของจำเลยในการเข้าร่วมกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองและที่จำเลยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้เขียนข้อความในลักษณะต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ลงบนผืนผ้าที่มีลักษณะคล้ายธงชาติ ตามรายงานสืบสวนก็ไม่ใช่ข้อพิสูจน์ให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยในคดีนี้

พยานโจทก์ไม่มีพยานปากใดเบิกความยืนยันว่าการกระทำของจำเลยเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ทั้งการแสดงกิริยาของจำเลยก็ไม่ปรากฏจะมีลักษณะเช่นนั้น 

พยานโจทก์ปาก พ.ต.ท.อานนท์ เชิดชูตระกูลทอง, ส.ต.ท.พงศ์ฤทธิ์ จินะธรรม เบิกความสอดคล้องกันว่ามีการถ่ายภาพและบันทึกภาพวิดีโอในวันเกิดเหตุไว้ แต่พนักงานสอบสวนกลับเบิกความตอบทนายความถามค้านว่าเจ้าพนักงานตำรวจชุดสืบสวนไม่ได้นำบันทึกภาพวิดีโอมามอบให้ พยานหลักฐานมีเพียงภาพถ่ายเท่านั้น 

การไม่นำบันทึกภาพวิดีโอมาเป็นพยานหลักฐานในสำนวนคดีทำให้พยานหลักฐานโจทก์มีข้อพิรุธสงสัย การกระทำของจำเลยไม่ใช่การหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังลงโทษจำเลยได้

.

ต่อมาวันที่ 18 ต.ค. 2566 นาตยา สาลักษณ์ พนักงานอัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ช่วยราชการสำนักงานคดีศาลสูงภาค 5 ปฏิบัติราชการในหน้าที่อัยการสูงจังหวัดเชียงใหม่ ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาให้พิพากษากลับมาลงโทษจำเลย 

แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้มีคำพิพากษายืนยกฟ้อง โดยการวินิจฉัยดำเนินไปตามประเด็นที่พนักงานอัยการอุทธรณ์ โดยรวมพยานโจทก์ไม่น่าเชื่อถือ ให้การขัดแย้งกันเอง สรุปประเด็นต่อไปนี้

 ภาพการแสดง Performance Art ของจำเลยเมื่อวันที่  1 พ.ค. 2564 

โจทก์มีประจักษ์ ส.ต.ท.พงศ์ฤทธิ์ ได้รับมอบหมายให้จัดกิจกรรมหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้ถ่ายภาพและบันทึกวิดีโอไว้ โดย ส.ต.ท.พงศ์ฤทธิ์ ตอบทนายว่า “ไม่เห็นจำเลยสาดน้ำสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 แต่ที่พระบรมฉายาลักษณ์มีน้ำสีแดงเปื้อนอยู่” 

และ ร.ต.อ.โสภณ พยานโจทก์เบิกความว่า หลังจากได้รับแจ้งจากพนักงานรักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่ามีการจัดกิจกรรมที่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัย จึงนำกำลังไปที่จุดเกิดเหตุ “เห็นจำเลยเปรอะเปื้อนด้วยน้ำสีแดง และเห็นป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และป้ายทรงพระเจริญมีน้ำสีแดงเปรอะเปื้อน แต่ไม่เห็นน้ำสีแดงเปรอะเปื้อนที่พระบรมฉายาลักษณ์”

เมื่อดูภาพแสดงกิจกรรมของจำเลยและยังไม่ได้ทำความสะอาดบริเวณเกิดเหตุ เทียบกับภาพหลังจากทำความสะอาดแล้ว เห็นว่าน้ำสีแดงไม่ได้กระเด็นไปถูกพระบรมฉายาลักษณ์ ทั้งหากกระเด็นไปโดนพระบรมฉายาลักษณ์จริง เจ้าพนักงานตำรวจคงถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐานแล้ว 

ทั้งพยานโจทก์ ส.ต.ท.พงศ์ฤทธิ์ เบิกความว่าเห็นเหตุการณ์ทั้งหมดและถ่ายวิดีโอไว้ แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีการอ้างส่งวิดีโอเป็นพยานหลักฐาน ทั้งยังอ้างว่า จำไม่ได้ว่าส่งวิดีโอขณะจำเลยแสดงให้พนักงานสอบสวนหรือไม่ ทั้งที่ย่อมตระหนักดีว่าวิดีโอเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่จะทำให้จำเลยจำนนต่อพยานหลักฐาน ทำให้คำเบิกความของ ส.ต.ท.พงศ์ฤทธิ์ ไม่น่าเชื่อถือ คำเบิกความของ ร.ต.อ.โสภณ ตรงตามฟ้อง ซึ่งมิได้บรรยายว่ามีสีแดงเปรอะเปื้อนที่พระบรมฉายาลักษณ์ฯ 

ภาพที่ว่าท่าจำเลยแสดงดังกล่าวนั้นแตกต่างจากครุฑที่ปรากฏตามรูปภาพรำบวงสรวงองค์ครุฑเมือง และตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 “ครุฑ” เป็นคำนาม หมายถึง ใช้เป็นตราแผ่นดินและเครื่องหมายราชการ 

ส่วนที่โจทก์กล่าวหาว่า จำเลยใช้เท้าชี้ไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น เป็นภาพที่จำเลยแสดงท่านอน แล้วยกเท้าขวาขึ้น ปลายเท้าชี้ขึ้นด้านบน แต่เมื่อดูจากท่าทางจำเลยที่แสดงทั้งหมดตามภาพประกอบรายงานสืบสวนแล้ว จำเลยมิได้ใช้เท้าชี้ตรงไปที่พระบรมฉายาลักษณ์

ตามที่ ร.ต.ท.โสภณ เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า “การแสดงของจำเลยในที่เกิดเหตุโดยการยกมือและเท้าต่าง ๆ นั้น จำเลยกระทำโดยต่อเนื่องไม่ได้ลงจากป้ายชื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เห็นจำเลยยกเท้าไปด้านบนเพียงครั้งเดียว” จำเลยแสดงท่าทางตลอด 45 นาที การยกเท้าชี้ขึ้นด้านบนของจำเลยเป็นเพียงท่าทางการแสดง ซึ่งจำเลยทำเพียงครั้งเดียว 

การกระทำดังกล่าวยังมีความหมายที่ไม่ชัดเจนว่าจะเป็นการกระทำที่เข้าลักษณะการดูหมิ่น แต่เป็นเพียงการแสดงความไม่เหมาะสม ซึ่งไม่ใช่การเหยียดหยาม หรือการใส่ความ ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าอาจมีประชาชนจำนวนหนึ่งจะไม่สบายใจต่อการกระทำหรือข้อความดังกล่าว แต่ท่าทางดังกล่าวยังไม่ถึงระดับของการดูหมิ่นตาม ป.อ. มาตรา 112 

แม้การกระทำของจำเลยอาจเป็นความไม่เหมาะสมในการกระทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์ แต่การกระทำในลักษณะดังกล่าวก็ไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย จึงย่อมถือเป็นเสรีภาพในการแสดงออกที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ 

ส่วนที่โจทก์นำสืบถึงพฤติกรรมจำเลยในคดีอื่นเพื่อโน้มน้าวให้ศาลเห็นว่า จำเลยมีพฤติกรรมในทำนองไม่เคารพสถาบันชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่กระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นระบบกล่าวหา โจทก์ต้องนำพยานหลักฐานมาแสดงให้ศาลเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง พยานหลักฐานนั้นต้องเป็นพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในคดีที่โจทก์ฟ้อง ไม่อาจรับฟังเป็นยุติได้เสมอไปว่า ถ้าบุคคลเคยกระทำความผิดใดหรือมีพฤติกรรมอย่างไรมาแล้ว บุคคลนั้นต้องกระทำความผิดนั้นหรือพฤติกรรมเช่นนั้นอีก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.226/2 วรรค 1 

.

อ่านเรื่องราวของ “รามิล” 

รู้จัก ‘วิธญา คลังนิล’: จากเยาวชนชายแดนใต้ สู่โลกปรัชญา-บทกวี-ศิลปะ และคดีทางการเมือง

.

X