ยกฟ้อง 47 ประชาชน – นักกิจกรรม คดี “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ชุมนุมโดยสงบ ไม่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ปรับพินัยคนละ 500 บาท ฐานกีดขวางการจราจร

วันที่ 4 ธ.ค. 2567 เวลา 13.30 น. ศาลแขวงดุสิตนัดอ่านคำพิพากษาในคดีของประชาชนและนักกิจกรรมรวม 61 ราย ที่ถูกจับกุมในคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้อนุญาต หลังชุดควบคุมฝูงชนนำกำลังเข้าสลาย “หมู่บ้านทะลุฟ้า” บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 28 มี.ค. 2564

โดยศาลพิพากษายกฟ้องข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้อนุญาต แต่ลงโทษปรับคนละ 500 บาท ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ

.

สำหรับ หมู่บ้านทะลุฟ้า เป็นค่ายพักแรมใกล้ทำเนียบรัฐบาลก่อตั้งโดยกลุ่มเดินทะลุฟ้า เพื่อทำกิจกรรมและปักหลักยืนยัน 4 ข้อเรียกร้อง ได้แก่ 1. ให้ปล่อยตัวแกนนำและแนวร่วม “ราษฎร” ที่ถูกจับกุมคุมขัง 2. จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 3. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 4. ให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก 

หมู่บ้านถูกจัดตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2564 กระทั่งเช้าตรู่วันที่ 28 มี.ค. 2564 เวลาประมาณ 05.50 น. ขณะที่ผู้ชุมนุมกำลังพักผ่อนหลับนอน ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนประมาณ 4 กองร้อย ได้นำกำลังเตรียมเข้าสลายหมู่บ้านทะลุฟ้า อ้างเหตุผลว่าเป็นการชุมนุมที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเจ้าหน้าที่ประกาศให้เวลาเก็บของออกจากพื้นที่เพียง 3 นาที 

แต่ไม่ถึง 3 นาที เจ้าหน้าที่ก็เดินแถวเข้าจับกุมผู้รวมตัวอยู่ภายในหมู่บ้านทะลุฟ้า โดยต่อมาทราบว่ามีผู้ถูกจับกุม 67 ราย บางรายระบุว่าถูกเจ้าหน้าที่เตะระหว่างการจับกุมด้วย ในจำนวนนี้ยังเป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 6 ราย และมีพระสงฆ์ 2 รูป ซึ่งในตอนแรกถูกนำตัวไปยังวัดเบญจบพิตร โดยมีการบังคับถอดผ้าไตรจีวร ทั้งที่ทั้งสองไม่ยินยอม ก่อนนำตัวไปยังกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 จังหวัดปทุมธานีทั้งหมด โดยที่ในตอนแรกเจ้าหน้าที่อ้างว่าจะพาตัวไปที่ สน.นางเลิ้ง 

ตำรวจได้แยกดำเนินคดีเยาวชน 6 รายเป็นอีกคดี ในส่วนของผู้ชุมนุมที่ไม่ใช่เยาวชน 61 ราย ซึ่งเป็นพระสงฆ์ 2 รูป และคนไร้บ้านอีก 4 ราย พนักงานสอบสวนได้แจ้ง 5 ข้อหาโดยมีข้อหาหลักคือ ฝ่าฝืนข้อกำหนด ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และปฏิเสธลงลายมือชื่อ โดยยืนยันว่าเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และกิจกรรมมีการดำเนินมาตรการคัดกรองโรคเช่นเดียวกับหน่วยงานรัฐต่าง ๆ แล้ว นอกจากนั้น ยังได้โต้แย้งเรื่องสถานที่ควบคุมตัว ซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจท้องที่ตามกฎหมาย 

หลังถูกจับกุมเพียง 1 เดือน พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ก็ยื่นฟ้องนักกิจกรรมและประชาชนทั้ง 61 ราย ต่อศาลแขวงดุสิต ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ 

ต่อมาวันที่ 28 ต.ค. 2564 ในนัดสอบคำให้การ จำเลย 1 ราย ได้ให้การรับสารภาพ ศาลจึงมีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนญาต

จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับ 2,600 บาท โทษปรับให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี 

การสืบพยานในคดีนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. 2565 จนเสร็จสิ้นในวันที่ 6 ก.ย. 2567 รวมเวลากว่า 2 ปี จำเลยขอพิจารณาคดีลับหลัง ระหว่างนั้นมีจำเลยรับสารภาพเพิ่มอีก 2 ราย,  ไม่มาศาล ถูกออกหมายจับและริบเงินประกัน 8 ราย, เสียชีวิต 2 ราย และจำเลย 1 ราย ยืนยันว่า รูปถ่ายที่ยืนยันตัวบุคคลไม่ใช่จำเลย และจำเลยคนอื่นแถลงว่า ไม่เคยเห็นหน้า ไม่ทราบว่าเคยร่วมชุมนุมหรือไม่ ศาลจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดี และให้อัยการแยกฟ้องเป็นคดีใหม่ ทำให้เหลือจำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาในคดีนี้รวม 47 ราย

ในนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 31 ต.ค. 2567 เนื่องจากจำเลยที่ 12, 14, 17, 32, 37 และ 46 ไม่ได้เดินทางมาศาล ศาลจึงออกหมายจับจำเลยเพื่อมาฟังคำพิพากษา และให้เลื่อนวันฟังคำพิพากษาเป็นวันที่ 4 ธ.ค. 2567

.

วันที่ 4 ธ.ค. 2567 เวลา 13.30 น. ห้องพิจารณาที่ 409 ศาลแขวงดุสิต เวลา 13.30 น. จำเลยส่วนใหญ่เดินทางมาถึงที่ศาลแล้ว ใช้เวลาประมาณ 50 นาที รอจำเลยคนอื่นเดินทางมา จนถึงเวลา 14.10 น. จำเลย 47 ราย จึงเดินทางมาครบ โดยวีรภาพ วงษ์สมาน ถูกนำตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เนื่องจากไม่ได้รับสิทธิประกันระหว่างอุทธรณ์ในคดีมาตรา 112 กรณีพ่นสีสเปรย์ข้อความ เรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2564

เวลา 14.13 น. ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดี แต่เมื่อเห็นว่า ในห้องยังมีความวุ่นวาย จำเลยยังคงหาที่นั่งฟังคำพิพากษาเนื่องจากห้องมีขนาดเล็ก มีเก้าอี้เพียง 4 แถว ทำให้จำเลยหลายรายต้องนั่งลงกับพื้น ผู้พิพากษาจึงกลับเข้าไป

เวลา 14.36 น.  ผู้พิพากษาออกนั่งอ่านคำพิพากษา สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

คดีนี้จะต้องพิเคราะห์ว่า การกระทำใดของจำเลยเป็นการกระทำความผิดตามฟ้อง โดยโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งหมดมีส่วนร่วมเป็นผู้จัดตั้งการชุมนุม “หมู่บ้านทะลุฟ้า” และจัดกิจกรรมวันที่ 13 ถึง 28 มี.ค. 2564 จะรับฟังเพียงแค่ว่ามีผู้ชุมนุมจำนวนมากและถือว่าผู้ชุมนุมทุกคนเป็นผู้จัด เป็นผู้วางแผงกั้นการจราจร เป็นผู้ตั้งเวทีปราศรัยเพียงอย่างเดียวหาได้ไม่

ทางนำสืบของโจทก์ไม่มีพยานยืนยันการกระทำของจำเลยแต่ละคน พิเคราะห์ว่า จำเลยทั้งหมดเป็นเพียงผู้เข้าร่วมไม่ใช่ผู้จัด ไม่มีความผิดและไม่มีหน้าที่ที่จะต้องแจ้งจัดการชุมนุม

ตามภาพถ่ายจากพนักงานสอบสวน บริเวณที่เกิดเหตุเป็นที่โล่ง ไม่แออัด ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ใส่หน้ากากอนามัย เวทีปราศรัยมีขนาดเล็กเพื่อปราศรัยเรียกร้องเรื่องเศรษฐกิจ ทั้งตลอดการชุมนุมไม่ปรากฏเหตุร้ายแรงและไม่ปรากฏในสำนวนว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธ จึงถือว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธที่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฯ ไม่ใช่การชุมนุมที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ในส่วนข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ ทางนำสืบของโจทก์ได้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า ในการจัดกิจกรรมมีการเดินขบวน ปักหลักตั้งเต็นท์ ตั้งแผงเหล็กกั้น ตั้งเวที มีการนำผ้ามาผูกบนต้นไม้ วางของใช้ต่าง ๆ และใช้เครื่องขยาย โดยที่ผู้ชุมนุมไม่ได้รับอนุญาต แต่พยานของโจทก์ไม่สามารถระบุได้ว่า ใครเป็นผู้กระทำการดังกล่าว จึงมีข้อสงสัยตามสมควรว่า จำเลยทั้งหมดเป็นผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ หรือไม่ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

ในส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเบิกความว่า ขณะเข้าจับกุมผู้ชุมนุมบางคนกลับบ้าน บ้างอยู่ในเต็นท์ บ้างขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ เชื่อได้ว่า จำเลยทั้งหมดกำลังพักผ่อนอยู่ในเต็นท์ที่มีการตั้งวางกีดขวางการจราจร การกระทำของจำเลยทำให้ประชาชนไม่สามารถสัญจรบริเวณถนนพระราม 5 ได้ และการตั้งวางของวัสดุไม่ได้รับอนุญาตจากตำรวจจราจร จำเลยทั้งหมดจึงมีความผิดฐานกีดขวางทางจราจร ให้ปรับเป็นพินัยคนละ 500 บาท

พิพากษายกฟ้องข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ แต่ลงโทษปรับคนละ 500 บาทตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ในส่วนที่อัยการโจทก์ขอให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่น และให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 37 เนื่องจากศาลพิพากษาลงโทษปรับ จึงไม่สามารถนับและเพิ่มโทษได้

ลงนามผู้พิพากษาผู้อ่านคำพิพากษา ณภัทร โภคัย

.

หลังจากศาลอ่านคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ได้บอกให้จำเลยเตรียมเงินสำหรับจ่ายค่าปรับ แต่ศาลได้แจ้งว่า ศาลเข้าใจว่าจำเลยถูกคุมขังมาก่อนซึ่งสามารถหักวันที่ถูกคุมขังแทนค่าปรับได้ วันละ 500 บาท เจ้าหน้าที่จึงนำตัวจำเลยทั้งหมดไปห้องเวรชี้ในระหว่างการตรวจสอบว่าใครถูกคุมขังในระหว่างสอบสวนหรือพิจารณามาแล้วบ้าง 

หลังการตรวจสอบพบว่า จำเลย 46 ราย ถูกควบคุมตัวในระหว่างสอบสวน 2 วัน  มีเพียงจำเลยที่ 17 รายเดียว ที่ได้รับการปล่อยตัวโดยใช้หลักทรัพย์ประกันตัว 20,000 บาท เนื่องจากมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ญาติป่วยหนัก จึงทำให้เขาเป็นเพียงจำเลยรายเดียวที่เสียค่าปรับ 500 บาท 

.

นอกจากคดีนี้แล้ว ในช่วงเย็นวันที่ 28 มี.ค. 2564 วันเดียวกันกับเหตุในคดีนี้ มีการชุมนุมเพื่อประณามการสลาย “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ผู้ที่ออกมาชุมนุมถูกดำเนินคดีรวม 32 ราย และศาลแขวงดุสิตพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.จราจรฯ ลงโทษปรับคนละ 10,000 บาท

X