พรุ่งนี้ (วันที่ 5 ก.ย. 2567) เวลา 09.00 น. ศาลแขวงราชบุรีนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในคดีของ วันทนา โอทอง ประชาชนวัย 63 ปี ในจังหวัดราชบุรี จากเหตุยืนรอขบวน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ในอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี และตะโกนวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2566
ก่อนหน้านี้ ศาลแขวงราชบุรีพิพากษาลงโทษจำคุกวันทนา เต็มอัตรา 6 เดือน 10 วัน ปรับ 1,000 บาท ทั้งยังไม่รอลงอาญา ใน 3 ข้อหาตามคำฟ้อง ได้แก่ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน, ส่งเสียงหรือกระทำความอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันสมควร และต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน ก่อนศาลให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์
ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2566 วันทนาได้ยืนรอขบวน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงพื้นที่และเข้าสักการะเจ้าแม่เบิกไพรที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เธอได้พยายามที่เข้าจะไปพูดคุยโดยตรงกับนายกรัฐมนตรีเรื่องปัญหาทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 3-4 นาย เข้ามาแจ้งวันทนาว่าไม่สามารถให้เข้าไปพูดคุยได้ เนื่องจากต้องรักษาความปลอดภัย ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงจะได้ใช้กำลังควบคุมตัวโดยใช้มือปิดปากและลากตัวออกไปจากที่เกิดเหตุ
วันทนาได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งแขนบวมอักเสบ และขาบวมเป็นแผลถลอก จำเป็นต้องหยุดค้าขายเพื่อรักษาตัว ทำให้เสียรายได้ ทั้งเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมตัวยังพยายามกางร่มเพื่อไม่ให้ผู้สื่อข่าวถ่ายภาพเหตุการณ์การใช้กำลังกับวันทนา ต่อมาตำรวจ สภ.บ้านโป่ง ยังแจ้งข้อหาต่อวันทนาถึง 3 ข้อกล่าวหา
ภายหลังอัยการสั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลแขวงราชบุรี ใน 3 ข้อหา ได้แก่ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368, ส่งเสียงหรือกระทำความอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 370 และต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138
ในการสืบพยานในศาล ช่วงเดือนกันยายน 2566 คดีนี้ฝ่ายจำเลยประสบปัญหาในการต่อสู้คดีโดยศาลไม่ให้ออกหมายเรียกพยานจำเลย โดยอ้างว่าฝ่ายจำเลยไม่ได้แสดงเหตุผลและความจำเป็นของพยานแต่ละปาก แม้ตอนนัดตรวจพยานหลักฐาน ศาลได้บันทึกประเด็นของพยานแต่ละปากไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาแล้วก็ตาม
จนเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2566 เกรียงไกร นาคสิงห์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลแขวงราชบุรี มีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง โดยสรุปศาลเห็นว่าจำเลยเข้าไปในเขตที่จัดไว้ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยและหวงห้ามเพื่อรักษาความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรีในการลงพื้นที่ ตำรวจผู้มีอำนาจได้แจ้งต่อจำเลยให้ออกจากเขตหวงห้าม ถือว่าจำเลยได้ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานไม่ปฎิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานโดยไม่มีเหตุสมควร
ประเด็นต่อมา จำเลยไม่ยอมย้ายไปรวมตัวกับประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันอยู่ เมื่อรถของนายกรัฐมนตรีกำลังผ่านมาทางที่จำเลยยืนอยู่ จำเลยวิ่งเข้าหารถและตะโกน “ไอ้เหี้ยตู่” จนเจ้าหน้าที่เข้าห้ามปราม ประชิดตัวจำเลยแล้วปิดปาก ปิดจมูกและตา แล้วนำตัวจำเลยเข้าซอกรถตู้ของตำรวจที่จอดอยู่ใกล้กันนั้น จำเลยได้ต่อสู้ขัดขืนให้พ้นการควบคุมตัวนั้น และยังส่งเสียงอื้ออึงในสาธารณะ
ศาลลงโทษฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน จำคุก 10 วัน, ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน จำคุก 6 เดือน และฐานส่งเสียงหรือกระทำความอื้ออึงปรับ 1,000 บาท รวมจำคุก 6 เดือน 10 วัน ปรับ 1,000 บาท
ศาลยังเห็นว่าแม้จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน แต่หลังจากถูกดำเนินคดีจำเลยให้การปฎิเสธและต่อสู้คดีมาตลอด จำเลยไม่เคยบรรเทาผลร้ายให้แก่เจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่เดือดร้อนและสูญเสียกำลังใจในการทำงาน จำเลยไม่เคยสำนึกในการกระทำความผิด ไม่เคารพยำเกรงกฎหมาย พฤติการณ์จึงเป็นเรื่องร้ายแรง หากบังคับใช้กฎหมายไม่จริงจัง อาจมีบุคคลอื่นทำแบบเดียวกัน จึงไม่มีเหตุอันสมควรให้รอการลงโทษ
ในวันพิพากษาดังกล่าว หลังได้รับการประกันตัวออกจากห้องควบคุมตัวใต้ถุนศาล วันทนายังได้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์โดยการโกนผมที่บริเวณหน้าศาล โดยเปิดเผยถึงเจตนาในการโกนผมว่า “เพื่อแสดงสัญลักษณ์ว่าเรายังต้องหาความเป็นธรรมให้กับคนทุกหมู่เหล่าจริง ๆ”
วันทนาได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา มีใจความสำคัญระบุว่า จำเลยไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จึงขออุทธรณ์โต้แย้ง โดยมีประเด็น อุทธรณ์ว่า การวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลชั้นต้นต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานขณะเกิดเหตุ ไม่ใช่พยานหลักฐานก่อนเกิดเหตุซึ่งเป็นพยานแวดล้อม โดยเฉพาะพยานหลักฐานก่อนเกิดเหตุที่ศาลชั้นต้นรับฟังลงโทษจำเลยนั้น ไม่ใช่การกระทำหรือคำพูดของจำเลยแต่เป็นการกระทำของบุคคลอื่น
แต่ศาลชั้นต้นกลับนำคลิปวีดิโอ ซึ่งไม่ใช่หลักฐานขณะเกิดเหตุมารับฟังลงโทษจำเลย ถึงขนาดที่วินิจฉัยว่าการที่จำเลยไม่ได้ห้ามปรามหรือโต้แย้ง ย่อมเชื่อได้ว่าจำเลยอาจกระทำการดังกล่าวจริง ถือเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยหลักการรับฟังพยานหลักฐานตามกฎหมาย โจทก์ซึ่งมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานขณะเกิดเหตุมาเสนอศาลประกอบการพิจารณา แต่โจทก์ไม่นำพยานหลักฐานมาแสดงต่อศาลตามที่ตนมีภาระการพิสูจน์ แต่ศาลกลับนำพยานหลักฐานที่ไม่มีคุณค่าเชิงพิสูจน์มารับฟังลงโทษจำเลย จำเลยขอศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาให้เป็นไปตามหลักการแห่งกฎหมายเพื่ออำนวยความเป็นธรรมแก่จำเลยด้วย
ต่อมา และศาลนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 หากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืน อาจทำให้วันทนาต้องเสี่ยงต่อการไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างฎีกาจากโทษจำคุก 6 เดือน 10 วัน ที่ไม่ได้รับการรอลงอาญาในชั้นต้น
ส่วนการดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้กำลังเข้าควบคุมตัววันทนาจนได้รับบาดเจ็บ ในข้อหาทำร้ายร่างกายและหน่วงเหนี่ยวกักขังนั้น ซึ่งวันทนาได้ไปแจ้งความเอาไว้นั้น ยังอยู่ในขั้นตอนที่ทางตำรวจส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. แจ้งว่าจะรอผลของคำพิพากษาคดีอาญาของศาลแขวงราชบุรีก่อน จึงจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
.
อ่านเรื่องราวของวันทนา
“ป้านา บ้านโป่ง”: เป็นคดีเพราะเป็นคนธรรมดาที่มีเรื่องอยากบอก “ประยุทธ์”