วันที่ 18 พ.ค. 2566 ศาลแขวงราชบุรีนัดพร้อมสอบคำให้การในคดีของวันทนา โอทอง หญิงวัย 62 ปี ที่ถูกฟ้องใน 3 ข้อหาด้วยกัน ได้แก่ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368, ส่งเสียงหรือกระทำความอื้ออึงในสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญา 370 และต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 สืบเนื่องจากยืนรอขบวนนายกรัฐมนตรีและตะโกนวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงนอกเครื่องแบบเข้าไปสกัดและควบคุมตัวไว้
ในนัดนี้ ฝ่ายทนายจำเลยได้ขอเลื่อนนัดออกไป เนื่องจากติดว่าความในคดีที่ศาลจังหวัดธัญบุรีซึ่งนัดไว้ก่อนแล้ว และศาลได้อนุญาตให้เลื่อนไปนัดถามคำให้การและตรวจพยานหลักฐานเป็นวันที่ 20 มิ.ย. 2566 แทน โดยคดีนี้ ศาลยังให้รายงานคดีให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 ทราบด้วย เนื่องจากเห็นว่าเป็นคดีสำคัญ
เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2566 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางลงพื้นที่และเข้าสักการะเจ้าแม่เบิกไพรที่ อ.บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ในระหว่างนั้นวันทนาได้พยายามที่เข้าจะไปพูดคุย โดยพยายามยืนตะโกนวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานของรัฐบาล
วันทนาเล่าว่าก่อนหน้านั้น เธอยืนอยู่ใกล้บริเวณจุดเกิดเหตุและมีตำรวจได้เข้ามาสอบถาม จึงได้แจ้งไปว่าต้องการจะพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีเรื่องปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ชี้แจงว่าควรไปแจ้งกับศูนย์ดำรงธรรมจะดีกว่า ด้านวันทนาตอบกลับไปว่า เคยไปแจ้งศูนย์ดำรงธรรมมาหลายครั้งแล้ว แต่ไม่ได้ผลเท่าที่ควร หากนายกรัฐมนตรีมาลงพื้นที่แล้วก็ประสงค์ที่จะเข้าคุยโดยตรงมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ได้มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 3-4 นาย เข้ามาแจ้งวันทนาว่าไม่สามารถยอมให้เข้าไปพูดคุยกับนายกรัฐมาตรีได้ เนื่องจากต้องรักษาความปลอดภัย ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงจะได้ใช้กำลังควบคุมตัวโดยใช้มือปิดปากและลากตัวออกไปจากที่เกิดเหตุ จึงทำให้วันทนาได้รับบาดเจ็บ แขนบวมอักเสบ และขาบวมเป็นแผลถลอก จำเป็นต้องหยุดค้าขายเพื่อรักษาตัว ทำให้เสียรายได้ ทั้งเจ้าหน้าที่ยังพยายามกางร่มเพื่อไม่ให้ผู้สื่อข่าวถ่ายภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้
ในชั้นจับกุม วันทนาถูกแจ้งข้อหาที่ สภ.บ้านโป่ง เธอให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา รวมทั้งปฏิเสธจะลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม ก่อนที่ในวันที่ 14 มี.ค. 2566 วันทนาได้ไปที่ศูนย์รับแจ้งความ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อแจ้งความตำรวจชุดจับกุมที่ใช้กำลังเข้าควบคุมตัวจนได้รับบาดเจ็บ ในข้อหาทำร้ายร่างกายและหน่วงเหนี่ยวกักขัง โดยล่าสุดทางตำรวจได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง
.
เปิดคำฟ้องคดี “ป้าวันทนา” อัยการระบุพฤติการณ์จำเลยต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน-ตะโกนถ้อยคำหยาบคาย
สำหรับการสั่งฟ้องคดีของวันทนานั้น เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2566. อรรัมภา รัตนมนี พนักงานอัยการคดีศาลแขวงราชบุรี เป็นผู้เรียงฟ้องคดีนี้ โดยกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 ขณะที่ ร.ต.อ.หญิงไพลิน วัฒนโยธิน เจ้าหน้าที่ตํารวจ สภ.ปากท่อ และ ด.ต.หญิงอนงค์ อินทร์ทอง เจ้าหน้าที่ตํารวจประจํากองกํากับการสืบสวนภูธรจังหวัดราชบุรี มีอํานาจหน้าที่รักษาความปลอดภัย กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาตรวจราชการในพื้นที่อําเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี กําลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในบริเวณศาลาประชาคม จังหวัดราชบุรี คอยดูและสังเกตการณ์ และให้คําแนะนําแก่ประชาชนให้ไปรวมกันอยู่ในบริเวณที่จัดเตรียมไว้ให้เพื่อรักษาความปลอดภัย พบเห็นว่าจําเลยไม่ไปรวมตัวอยู่ในที่บริเวณที่จัดเตรียมไว้ให้ จึงได้แสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตํารวจและสั่งให้จําเลยไปอยู่รวมกับประชาชนคนอื่น
จําเลยซึ่งรับทราบคําสั่งแล้วได้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม โดยไม่ยอมไปอยู่ในที่บริเวณที่จัดเตรียมไว้ให้ โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร และระหว่างนั้นเมื่อขบวนรถของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาถึง จําเลยพยายามวิ่งไปขวางขบวนรถดังกล่าว ร.ต.อ.หญิงไพลิน และ ด.ต.หญิงอนงค์ กับพวก ได้เข้าไปกันและกอดตัวจําเลยไว้ อันเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ แต่จําเลยขัดขืนและต่อสู้ขัดขวางทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ
ยิ่งไปกว่านั้น จําเลยได้ส่งเสียงดังเอะอะโวยวายกระทําความอื้ออึง ตะโกนด่าว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยถ้อยคำหยาบคายหลายครั้ง โดยไม่มีเหตุอันสมควร จนทําให้ประชาชนจํานวนมากที่มารอรับอยู่ในบริเวณนั้นตื่นตระหนกตกใจหรือเดือดร้อน
ในเวลาต่อมา ศาลแขวงราชบุรีได้มีคำสั่งให้ประกันตัววันทนา โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันจำนวน 20,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์
สำหรับ “วันทนา โอทอง” ปัจจุบันประกอบอาชีพค้าขาย ก่อนหน้านี้เคยเข้าร่วมการชุมนุมกับคนเสื้อแดง และติดตามกิจกรรมทางการเมืองเรื่อยมา โดยเคยเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. เขต 4 ราชบุรี ในนามพรรคเพื่อชาติ เมื่อปี 2562 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง