เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2565 พนักงานอัยการจังหวัดชลบุรียื่นฟ้อง วัชระ (สงวนนามสกุล) และ วิรชัช (สงวนนามสกุล) อายุ 19 ปี นิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา ต่อศาลจังหวัดชลบุรี ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการแขวนป้าย “ผู้นำส้นตีน … ก็ส้นตีน” วิจารณ์รัฐบาลและกษัตริย์ที่หอระเบียงหอพัก เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2564 และศาลรับฟ้องไว้เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.36/2565
ต่อมา วันที่ 17 ม.ค. 2564 เมื่อทั้งสองเข้ารายงานตัวต่อศาลเป็นครั้งที่ 4 ตามสัญญาประกันในชั้นสอบสวน และรับทราบคำฟ้อง ทนายความได้ยื่นประกันตัว และศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยใช้หลักทรัพย์ประกันเดิมที่เคยใช้ในชั้นสอบสวน เป็นจำนวนเงินสดรายละ 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมทั้งกำหนดนัดวันคุ้มครองสิทธิในวันที่ 9 มี.ค. 2565 และนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 16 มี.ค. 2565
.
เปิดคำฟ้องอัยการระบุ “ข้อความที่จำเลยเขียนเป็นคําหยาบคาย ดูถูกเหยียดหยาม ร.10 ทำให้เสื่อมพระเกียรติและดูถูกเกลียดชัง”
ในคำฟ้อง พนักงานอัยการได้กล่าวเกริ่นว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกันจะแบ่งแยกไม่ได้ และมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบันทรงเป็นประมุข ดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้
คำฟ้องบรรยายโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2564 จําเลยได้เขียนข้อความลงบนป้ายผ้าสีชมพู ด้วยหมึกสีแดงข้อความว่า “ผู้นําส้นตีน…ก็ส้นตีน” แล้วนําป้ายผ้าดังกล่าวไปแขวนไว้ที่บริเวณระเบียงห้องพัก ชั้น 3 ในพื้นที่ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี อันเป็นแหล่งชุมชน ซึ่งเป็นบริเวณที่ประชาชนโดยทั่วไปพบเห็นได้ง่าย
โดยข้อความที่จําเลยทั้งสองร่วมกันปิดประกาศนั้น เป็นการใช้ถ้อยคําหยาบคาย ดูหมิ่น ดูถูกเหยียดหยาม สบประมาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 อันเป็นการแสดงถึงความไม่เคารพสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่จงรักภักดี และจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และเป็นการกล่าวโดยไม่ให้การถวายพระเกียรติแด่องค์พระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง
ในท้ายคำฟ้องยังระบุว่า สำหรับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี พนักงานอัยการไม่ได้คัดค้าน โดยขอให้อยู่ในดุลพินิจของศาล พร้อมระบุขอให้ศาลได้สั่งริบป้ายผ้าดังกล่าวไว้เป็นของกลาง
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังการกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 อีกระลอกในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไปแล้วอย่างน้อย 167 คน ใน 172 คดี เป็นกรณีการแขวนป้าย หรือชูป้าย รวมทั้งติดสติกเกอร์อย่างน้อย 14 คดี
.
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
คดี 112 นิสิต ม.บูรพา 2 ราย เหตุแขวนป้ายวิจารณ์รัฐบาล-กษัตริย์ ติดระเบียงหอพัก
สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64