“ป้านา บ้านโป่ง”: เป็นคดีเพราะเป็นคนธรรมดาที่มีเรื่องอยากบอก “ประยุทธ์”

ตั้งแต่เหตุการณ์หยุดรถไฟตัดโบกี้ของกลุ่มประชาธิปไตยศึกษาที่จะเดินทางไปตรวจสอบทุจริตที่อุทยานราชภักดิ์ เมื่อปี 2558 การดำเนินคดีกับประชาชนที่เปิดศูนย์ปราบโกงประชามติเมื่อปี 2559 และการดำเนินคดี พ.ร.บ.ประชามติฯ กับนักข่าวและนักกิจกรรมที่ไปทำข่าวและให้กำลังใจประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากการเปิดศูนย์ปราบโกงในปีเดียวกัน 

อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี อำเภอขนาดใหญ่ริมน้ำแม่กลอง เป็นพื้นที่ที่ไม่ห่างหายจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมสมัยเลย กระทั่งเหตุการณ์เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2566 วันทนา โอทอง หรือ “ป้านา” วัย 62 ปี พลเมืองผู้มีความตื่นรู้ทางการเมืองตกเป็นผู้ต้องหาจากการพยายามเข้าพบและตะโกนวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะไปลงพื้นที่ อ.บ้านโป่ง  

ป้านาถูกอัยการแขวงราชบุรีฟ้องใน 3 ข้อหา ได้แก่ ต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 และส่งเสียงหรือกระทำความอื้ออึงในสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญา 370 

ศาลแขวงราชบุรีสืบพยานไประหว่างวันที่ 12-15 ก.ย. 2566 เป็นพยานโจทก์ 12 ปาก พยานจำเลย 3 ปาก ก่อนจะนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 10 ต.ค. 2566

ที่กล่าวว่าป้านาเป็นพลเมืองตื่นรู้ทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องไกลจากความจริงนัก นั่นเพราะจากเหตุการณ์ทางการเมือง 3 ครั้ง ใน อ.บ้านโป่ง ป้านาต่างมีส่วนร่วม รู้เห็น และต่อสู้กับสิ่งที่เธอมองว่าไม่เป็นธรรมมาตลอด เช่นเดียวกับคดีนี้ ที่ป้านาไม่ยอมรับข้อหาที่รัฐพยายามยัดเยียดให้ เพราะวันนั้นเธอมีธุระกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงคนเดียวเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐคนไหน

เป็นคนใฝ่รู้การเมืองจากหนังสือพิมพ์

ป้านาเล่าชีวิตของตนเองว่า เกิดเมื่อปี 2504 ในครอบครัวคนจีน ที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี จนเรียนถึงชั้น ป.2 พ่อแม่ย้ายเข้ากรุงเทพฯ ชีวิตอันราบเรียบผ่านไป เธอเรียนจบด้านคหกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม ก่อนเริ่มทำงานด้านมัดย้อม เกี่ยวกับสายผ้า ใยผ้า ทำผ้าส่งให้ร้านในรูปของบริษัท 

จนปี 2526 ทำบริษัทโฆษณาใช้ชื่อ Asian Journal ได้ 2 ปี แล้วลาออกมาแต่งงานกับคนรักที่เป็นคน อ.บ้านโป่งเหมือนกัน ก่อนย้ายตัวเองกลับมาบ้านเกิด แล้วยึดอาชีพค้าขายขนม ตอนเย็นขายข้าวแกงถุง เรื่อยมา

ย้อนไปตั้งแต่ยังเล็ก พ่อของป้านาชอบแนวคิดเสรีนิยมแบบ ปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรี แต่ก็มีความเข้มงวดในแบบทหาร  มักบังคับเคี่ยวเข็ญให้ลูก ๆ อ่านหนังสือให้ฟัง แล้วตัวป้าจะโดนบังคับอ่านมากที่สุด มีทั้งหนังสือแนวคิดทางการเมืองของปรีดี หนังสือเกี่ยวกับพรรคกิจสังคม 

“คือพ่อจะชอบฟังเรื่องของพรรคการเมือง จะมีก็จะทางพรรคกิจสังคม พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งตอนนั้นมันมีสองขั้วใหญ่ หลัง ๆ มาจะมีพรรคประชากรไทยของ สมัคร สุนทรเวช แทรกเข้ามาในความรับรู้บ้าง ก็ค่อย ๆ ซึมซับจากการอ่าน”

การตามอ่านเรื่องพรรคการเมือง มีนโยบายที่ป้าชอบ เช่นนโยบายขึ้นรถฟรี เพราะแม่ให้ตังค์ไปน้อย เบียดเท่าไหร่ก็อยากขึ้น ส่วนหนังสือพิมพ์ที่ต้องอ่านให้พ่อตอนนั้นมีไทยรัฐ เดลินิวส์ พ่อจะให้อ่านว่าพรรคการเมืองทำอะไร จนปีที่มีการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ที่ต่อมา พล.ต.จำลอง ศรีเมือง คือนักการเมืองคนแรก ๆ ที่ป้านาลงคะแนนเสียงให้  

“จำลองประวัติเขาดูดีนะ มีลักษณะคล้ายมหาตมะ คานธี ประการสำคัญคือเขาไม่เอาเงิน ตอนนั้นเราคิดว่าเขายอมทิ้งเงินส่วนตัวของตัวเองทำเพื่อประชาชน”

แล้วพอมาเลือก สส. ป้าเห็นชื่อ ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาในเครือข่ายพรรคพลังธรรมของ พล.ต.จำลอง ป้าคิดว่าคนนี้น่าสนใจเพราะตอนนั้นทำโฆษณาเกี่ยวกับผ้าไหมให้ Thai silk ของตระกูลชินวัตร เธอเอาประวัตินักการเมืองหนุ่มคนนี้มาอ่าน  

“เห็นว่าก็เติบโตมาจากสามัญชน แล้วจุดไหนที่ทำให้เขามาเป็นแบบนี้ อ่านไปก็ประทับใจ จึงลงเสียงให้เสียงเขามาตลอด จนมาถึงช่วงรัฐประหารปี 2549 ถูกรัฐประหาร ที่พอจัดการเลือกตั้งครั้งไหน ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปกี่ชื่อ ยังลงคะแนนให้พรรคนี้อยู่ มีนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นคนสุดท้าย แล้วถูกปกครองในเงาทหารตั้งแต่ปี 2557 ยาวนานมาก”

เป็นคนเสื้อแดง ตั้งแต่ยังไม่ใช้คำว่า ‘เสื้อแดง’ 

เมื่อถามป้านาว่า เป็นคนเสื้อแดงตั้งแต่ตอนไหน เธอรีบชิงตอบว่า ตั้งแต่ยังไม่ใช้คำว่าเสื้อแดง มาใส่เสื้อแดงจริง ๆ ปี 2553 ย้อนไปก่อนนั้นปี 2549  “มีรัฐประหารเราเฮิร์ตมาก เพราะตอนนั้นเลือกนายกฯ ทักษิณมาด้วยใจ แล้วมาถูกทหาร ซึ่งบอกว่าไม่ทำ ไม่ปฏิวัติ พอเอาเข้าจริงก็ทำรัฐประหารแล้ว” 

ผิดกับคราวนายกฯ ชาติชาย ตอนปี 2534 เป็นการรัฐประหารแบบซึ่งหน้า ซึ่งชาติชายรู้แล้วว่าจะโดน เขาอาจจะหนีหรืออะไรก็แล้วแต่ ป้านาเทียบว่าแต่นายกฯ ทักษิณเขาไม่รู้ แล้วพวกตนเองก็ไม่รู้  “สำหรับเรามีความรู้สึกไม่ค่อยดีกับพวกทหารอยู่แล้ว พอมาเจอในลักษณะที่ว่า บอกกับประชาชนว่าไม่ปฏิวัติหรอก แต่ก็ทำ เรามองว่ากระจอก หักหลังประชาชน 

ตั้งแต่ปี 2549-2552 เริ่มมีการจับกลุ่มใน อ.บ้านโป่ง อยากออกมาสู้กับความไม่เป็นธรรม ซึ่งความไม่เป็นธรรมสำหรับกลุ่มป้านา แม้เกี่ยวข้องกับทักษิณ แต่ส่วนหนึ่งคือการต่อต้านรัฐประหาร ซึ่งประชาชนเป็นผู้เสียหาย  “นายกฯ ทักษิณเขาไปอยู่เมืองนอกแล้ว แต่พวกเราสิต้องมานั่งเริ่มต้นใหม่ นี่แหละความเสียหายของประชาชน” 

ตอนนั้นที่บ้านโป่ง มีการนัดรวมตัวกัน นั่งกินข้าว คุยเรื่องการเมือง แล้วเริ่มใส่เสื้อแดงตอนปลายปี 2552 ตอนนั้นเริ่มจากสมบัติ บุญงามอนงค์ กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง แล้วก็เริ่มมีเวทีปราศรัยที่กรุงเทพฯ “เราก็ไปฟังกลุ่มแยกย่อย กลุ่มนกพิราบขาว กลุ่มแดงเดือด กลุ่มแดงทั้งแผ่นดิน สุดท้ายก็ไปกลุ่มของ อ.สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ เพราะรู้สึกเป็นคนที่มีแนวทางต่อสู้เรื่องชนชั้นที่ชัดเจน”  

ป้านาเล่าว่า พอได้ฟังมากขึ้น ความรู้มากขึ้น มองเห็นภาพว่าที่เราสู้ เรากำลังสู้กับใคร สู้เพื่ออะไร มีการแยกความคิดแล้วว่าที่จะไปสู้กับคุณทักษิณก็แยกไปกับนปช. พวกที่สู้กับกลุ่มพวกเธอก็กลายเป็นแยกเป็นกลุ่มสุรชัย  “คือเราก้าวข้ามคุณทักษิณไปแล้ว เราสู้เรื่องชนชั้น เราสู้เรื่องศักดินา” 

กลุ่มเสื้อแดงบ้านโป่งเริ่มจัดเวทีปราศรัย ตั้งแต่ต้นปี 2553 แล้วเข้าร่วมกับเวทีใหญ่ที่กรุงเทพฯ ในช่วงเดือนเมษายน ไปถึงช่วงที่ป้านาอยู่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง วันที่ 10 เม.ย. 2553 และการสลายครั้งใหญ่ที่มีผู้เสียชีวิตนับร้อยราย เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553

“วันสุดท้ายเราถอดเสื้อแดงออก เพราะมีคนมาบอกว่าถอดเสื้อแดงออก ให้ใส่สีดำ เวลาออกไปข้างนอกจะได้เดินทางสะดวก อย่าใส่เสื้อสีขาว เพราะมันจะเป็นเป้า จนสัญญาณไม่ดีป้าก็ออกมา จนรถถังเข้ามา เราก็เริ่มรู้หมดแล้วว่าเกิดความรุนแรงแน่ ๆ ก็เริ่มหนีทหารออกมา ไปพักบ้านพี่สาวที่กรุงเทพฯ ก่อน จากนั้นก็กลับมาใช้ชีวิตปกติ” ป้านาย้อนความทรงจำช่วงสลายการชุมนุมเสื้อแดง

เป็นจำเลยเพราะจับโกงประชามติ

ป้านาเล่าถึงคดีทางการเมือง ที่เผชิญครั้งก่อนหน้านี้ว่า ช่วงรัฐบาลทหารจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2559 ก็มีหนังสือร่างรัฐธรรมนูญ แจกจ่ายให้ประชาชน จึงรวมกลุ่มกับเพื่อนมาอ่านแล้วออกความคิดเห็นกัน โดยป้านาไม่เห็นด้วยกับร่างฉบับดังกล่าว และคิดว่าจะส่งผลเสียแน่หากประชาชนรับร่างฉบับนั้น 

“เหมือนแหกตาพวกเราจะให้ยอมรับรัฐธรรมนูญบ้า ๆ บอ ๆ แล้วตอนนั้น นปช. ประกาศตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ เราก็บอกว่า เราก็ควรตั้งนะ เพราะอันนี้เป็นผลประโยชน์ประชาชน”  

ช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2559 จึงเริ่มติดป้าย “ประชามติต้องไม่ล้ม ไม่โกง ไม่อายพม่า ศูนย์ปราบโกงประชามติ” และนัดแสดงพลัง 70 กว่าคน มีการใส่เสื้อ Vote No แล้วก็ถ่ายรูปกัน กระทั่งตำรวจมาล้อมบ้านของแต่ละคน แต่ก็พบแค่สติ๊กเกอร์กับป้ายไวนิล แต่ตำรวจก็หาข้อหาอย่างขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนโดยไม่ได้รับอนุญาต มายัดให้เธอและเพื่อน โดยหมายเรียกก็ค่อย ๆ ทยอยมาแต่ละบ้าน

กระทั่งมีครั้งนั้นมีคนยอมเข้ากระบวนการปรับทัศนคติ 5 ราย เพื่อให้คดีความยกเลิกไป เหลือป้านา กับคนอื่นรวม 18 คน ที่ไม่ยอมเข้ากระบวนการ โดยตำรวจฟ้องคดีนี้ต่ออัยการทหารราชบุรี  

ภายหลังอัยการทหารส่งสำนวนคดีให้อัยการศาลแขวงราชบุรีเป็นผู้พิจารณาคดี โดยให้เหตุผลว่าผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษคดีนี้เป็นบุคคลทั่วไปไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ก่อนมีการนัดไปฟังคำสั่งจะฟ้องหรือไม่ฟ้องราว 11 ครั้ง กระทั่งอัยการมีคำสั่งฟ้องเมื่อกลางปี 2562 อย่างไรก็ตามในนัดพร้อมเมื่อเดือนกันยายนปีเดียวกัน ศาลแขวงราชบุรีมีคำพิพากษายกฟ้องเนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนโดยไม่ได้รับอนุญาต ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว

“ให้เราเดินทางซะเหนื่อย ท้ายสุดก็ยกเลิกซะงั้น ซึ่งก็ไม่ได้บอกว่าใครผิดใครถูก เอาแค่ว่าให้เราเสียเวลาเล่น” ป้านาสะท้อนไว้อีกตอนหนึ่ง 

ป้านาเล่าว่าจากเหตุการณ์ครั้งนั้นผ่านไปหลายปี ก็ยังสนใจการเมือง เข้าร่วมกิจกรรมในบางครั้ง ปี 2563-2564 จากการชุมนุมที่เริ่มจากกลุ่มเยาวชนปลดแอก “โห เด็กมันแรงเว้ย มีความกล้าสู้ เราก็เริ่มแก่ แล้วเขารู้จักวิธีการป้องกันตัวเอง มีการซื้อแว่นซื้อหมวก เริ่มใส่สนับแข้งขา เราเริ่มรู้สึกว่าคงไม่เหมาะกับกิจกรรมนี้แหละ”

จากคนที่เคยเคลื่อนไหวมาหลายปี ป้านาเคยถามว่าทำไมคนรุ่นใหม่ถึงกล้า “เด็กบอกว่าก็อนาคตเขาไม่มี เพราะถูกไอ้พวกนี้มันควบคุมอยู่ เพราะฉะนั้นเราต้องหาอนาคตและตัวตนของเขา”  ป้านามองว่าถ้าไปร่วมชุมนุมแบบเดิมจะไปเป็นภาระให้ขบวนการ จึงเริ่มคิดว่าเป็นเสบียงดีกว่า โดยการทำอาหารส่งไปตามที่ชุมนุมในช่วงนั้น มากกว่าจะเข้าไปร่วมด้วยตนเอง

เป็นคดีเหตุจากมีธุระกับนายกฯ

ป้านาย้อนความว่า ช่วงปลายปี 2565 ก่อนมีการเลือกตั้ง เธอพบเห็นป้าย ‘นโยบายเลิกกฎหมายรังแกประชาชน ให้เสรีภาพเท่าเทียม’ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ “ป้าก็คิดว่าโกหกว่ะ มึงก็รังแกประชาชนถึงทุกวันนี้ ป้าก็คิดว่าถ้ามีโอกาสมา ป้าก็จะไปถามว่าไม่รังแกประชาชนแบบไหน”

กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ มีกำหนดการเดินทางไปที่ อ.บ้านโป่ง ป้านาเล่าต่อว่า ก่อนประยุทธ์จะมา มีการติดป้ายหาเสียงพรรครวมไทยสร้างชาติเพิ่มขึ้น ทั้งติดป้ายเป็นลักษณะแนะนำผู้สมัครกับนโยบาย 

“ตรงนโยบายนี้แหละที่มึงแกล้งกูมาตั้งนานแล้ว ป้าเลยมองว่านโยบายนี้ไม่ตรงประเด็น ป้าเลยคิดแล้วว่าถ้าได้เข้าไปพบจะพูดนโยบายของประยุทธ์ เอากลับไปแก้ไขใหม่เถอะ มันไม่เป็นความจริง”

จนวันที่ 9 มี.ค. 2566  ป้านาเดินทางไปศาลาประชาคมเทศบาลเมืองบ้านโป่ง ที่อยู่ห่างจากบ้านไม่ถึง 1 กิโลเมตร โดยเช้าวันนั้น พล.อ.ประยุทธ์ มีกำหนดลงพื้นที่ดังกล่าว เมื่อไปถึง ป้านาแจ้งกับทางราชการว่าอยากเข้าพบนายกฯ กระทั่งตำรวจที่จำป้านาได้มาพูดคุยด้วยว่ามาทำอะไร ป้าแจ้งกับตำรวจไปว่าเลิกทำกิจกรรมทางการเมืองมานานแล้ว แต่วันนี้มีธุระกับนายกฯ อยากมาร้องเรียนเรื่องความเดือดร้อน ก่อนตำรวจบอกให้ไปร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรม ป้าพูดกับตำรวจว่าไปร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรมมาหลายครั้งแล้ว แล้ววันนี้นายกฯ ก็มาถึงที่นี่แล้ว อยากคุยกับนายกฯ 

ก่อนที่ตำรวจอ้างเรื่องเกรงความปลอดภัยของนายกฯ จึงให้ป้านาไปยืนบริเวณจุดอื่น แต่เธอก็ปฏิเสธ เพราะเป็นคนบ้านโป่ง เสียภาษีให้เทศบาลเมืองบ้านโป่ง จะยืนจุดไหนย่อมทำได้ และตรงที่ยืนเป็นที่จอดรถเป็นจุดที่เป็นประเด็นที่ตำรวจคิดว่าป้านาจะมาขวางรถนายกฯ แต่พอถึงเวลาจริง ๆ รถของนายกฯ ไม่ได้ไปตรงจุดที่ป้านายืนอยู่ 

ก่อนนายกฯ จะเดินทางไปถึงศาลาประชาคม ขณะกำลังเจรจากับตำรวจชาย ก็มีตำรวจนอกเครื่องแบบหญิงมาบอกว่า ให้ป้าใจเย็น ๆ ไม่มีอะไร ไม่มีเหตุการณ์อะไร “เราก็มีความรู้สึกว่าไม่วางใจผู้ชาย แต่วางใจผู้หญิง เราก็ยอมให้ผู้หญิงโอบกอดปลอบใจ  แล้วทีนี้เขาก็อุดปากป้าดึงเข้าซอกรถตู้ พอดีกับจังหวะที่รถนักข่าวมาเห็น นักข่าวก็บอกว่าตำรวจว่า พี่เบา ๆ หน่อย เดี๋ยวภาพออกไปไม่สวย ก่อนป้าโดนรวบตัวขึ้นรถตู้  โดยที่ไม่ได้เจอนายกฯ เลย ไม่มีโอกาสได้เจอกันเลย” 

สิ่งที่ป้านาอยากจะพูดออกไปตอนนั้นคือ “คิดแค่ว่านโยบายนี่มันหลอกลวงประชาชน อยู่มาแปดปีแล้วทนไม่ไหวแล้ว นี่ให้ทนกับไอ้แบบลักษณะนี้เหรอ นี่มันเป็นการรังแกประชาชนเบื้องล่าง ค่าครองชีพที่ขึ้นสูงอยู่ทุกวันนี้เป็นการรังแกประชาชน แต่ว่าทางตำรวจเขามองคนละมุมกับป้า ปกติป้าเป็นคนโวยวายนะ แต่ไม่ใช่แบบโวยวายเลอะเทอะ” 

รถตู้ของตำรวจพาป้านามาไม่ไกลจากจุดเกิดเหตุนัก ที่ สภ.บ้านโป่ง เธอถูกคุมตัวไปที่ห้องสืบสวน เวลาผ่านไปราวชั่วโมง ยังไม่มีความคืบหน้าอะไร เพราะอยู่ในช่วงที่นายกฯ ยังอยู่ในพื้นที่ ขณะนั้นป้านาเริ่มคิดไปว่า สิ่งที่กำลังเผชิญน่าจะมากกว่าการถูกคุมตัวแล้ว ตำรวจพยายามสอบถามว่าจะกินอะไร ป้านาแจ้งว่าไม่อยากกิน แต่อยากได้ยา เพราะแขนเริ่มเจ็บจากการถูกกระชาก แล้วข้อต่อแขนขวาที่เคยหักก็มีอาการเจ็บกำเริบจากการถูกบิดในจังหวะชุลมุน จึงอยากกลับบ้านไปเอายา

จากช่วงถูกจับกุมราว 11.00 น. ป้านารอกระทั่ง 17.00 น ตำรวจบอกป้าว่ายังกลับไม่ได้ จะต้องสอบปากคำก่อน เพราะป้าถูกจับกุม จึงสงสัยว่าถูกจับกุมด้วยเรื่องอะไร ตำรวจบอกว่าทำร้ายเจ้าหน้าที่ เป็นสิ่งที่ป้านาสงสัยอย่างมากว่าคน ๆ เดียว จะไปทำร้ายเจ้าหน้าที่ได้ยังไง  จึงบอกให้ป้านาลงชื่อเป็นผู้ต้องหา เธอพยายามปฏิเสธ และคิดว่ารับสภาพแบบนี้ไม่ไหว 

ตำรวจจึงบอกให้เรียกทนายมาอยู่ในกระบวนการด้วย ก่อนจะติดต่อเพื่อนและกองทุนฯ เพื่อช่วยในการประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์ 10,000 บาท และเสร็จสิ้นกระบวนการราว 19.00 น. จึงได้เดินทางไปหาหมอเพราะเริ่มปวดตัวมากขึ้น

เป็นคนธรรมดาที่มีเรื่องอยากบอกผู้นำประเทศ

ตั้งแต่ถูกดำเนินคดีครั้งนี้ ป้านาเล่าว่ายังไงก็ไม่เปลี่ยนจุดยืนทางการเมือง มีแต่เพิ่มประสบการณ์ต่อสู้ขึ้นอีกต่างหาก แต่เมื่ออายุเริ่มมากขึ้น ก็ถอยมาเป็นตัวเสบียงให้น้อง ๆ ที่จะเปลี่ยนประเทศ กับคดีตัวเองคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งตำรวจปล่อยผ่านได้ แค่ทำโทษ ตักเตือน ไม่ต้องมาถึงอัยการ ไม่ต้องมาถึงศาล

“แต่นั่นเป็นเพราะเขาต้องการแค่เอาชนะประชาชน ไม่ต้องการให้ประชาชนเอาเยี่ยงอย่างนี้ ทั้ง ๆ ที่ป้ายังไม่ได้ทำอะไรเลย ไอ้เยี่ยงอย่างนี้ป้าไปด่าประยุทธ์ไหม ป้ายังไม่ได้ด่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เขากำราบประชาชน ว่าถ้ามีนายกฯ มาจากไหนก็แล้วแต่ จะไม่ให้ประชาชนมาร้องเรียนอย่างนี้ ซึ่งมันไม่ใช่ นายกฯ ต้องฟังเสียงประชาชน”

สิ่งที่ต้องการจริง ๆ วันนั้นอยากให้อธิบาย เรื่องป้ายนโยบายหาเสียงหยุดกฎหมายรังแกประชาชน นั้นครอบคลุมไปถึงมาตราไหน 

ส่วนเรื่องภาคเศรษฐกิจ “นายกฯ รู้ไหมว่าตอนนี้ประชาชนที่อยู่ระดับล่าง เขามีแต่หนี้สินเต็มไปหมดเลย ทุกวันนี้แม่ค้าจะตายหมดแล้ว และอยากไปพูดกับนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน อยากให้ช่วยเหลือประชาชนข้างล่างอย่างทั่วถึง ที่มีนโยบายหยุดพักหนี้การเกษตร โอเคถูกต้องละ แต่ไม่มีหยุดพักหนี้พ่อค้าแม่ค้าเลย ซึ่งป้านาพยายามจะรวบรวมคำพูดหรือเขียนเป็นหนังสือส่งให้ถึงผู้นำประเทศ” 

ป้านาเล่าอีกว่า ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง อยากให้นายกฯ ช่วยเหลือเรื่องสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรา 112 อยากให้รัฐบาลเปิดเสรีการเรียกร้องทางการเมือง อยากให้เขาปลดภาระของนักโทษการเมืองซึ่งเป็นเด็ก ๆ  

“ป้าเห็นว่าเขาควรจะเอาเด็กพวกนั้นออกมาเป็นอนาคตของชาติมากกว่าถูกคุมขัง”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อัยการราชบุรีสั่งฟ้อง “ป้าวันทนา” ผู้ถูกจับกุม-ปิดปาก ขณะรอพบ ‘ประยุทธ์’ ลงพื้นที่ ระบุไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ทําให้ประชาชนที่มารอรับตื่นตระหนกตกใจ-เดือดร้อน

‘ศาลแขวงราชบุรี’ ไม่ออกหมายเรียกพยานจำเลยในคดี ‘ป้าวันทนา’ เหตุตะโกนไล่ประยุทธ์ ชี้ฝั่งจำเลยไม่แสดงเหตุผลในการเรียกพยาน แม้ได้บันทึกความสำคัญของพยานแต่ละปากไว้ในรายงานก่อนแล้ว

X