เปิด ‘19 ของกลาง’-รายชื่อจนท.ชุดจับกุม 5 นักกิจกรรม-นศ.-นักข่าว ที่บ้านโป่ง

จากกรณีการจับกุม 3 นักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 1 นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ 1 ผู้สื่อข่าวประชาไท ที่สภ.บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา ด้วยเหตุที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นรถกระบะของนายปกรณ์ อารีกุล และพบเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 61 วรรค 2 ของพ.ร.บ. ประชามติต่อผู้ต้องหาทั้ง 5 ราย มีรายละเอียดของชุดเจ้าหน้าที่ที่ตรวจค้นจับกุม และของกลางที่ถูกยึดดังต่อไปนี้

รายชื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหาร-ฝ่ายปกครองชุดตรวจค้น-จับกุม

ตามบันทึกการจับกุม ระบุว่าการตรวจยึดจับกุมเกิดขึ้นในเวลาประมาณ 11.30 น. ภายใต้การอำนวยการสั่งการของ พ.ต.อ.อำนวย พงษ์สวัสดิ์ ผู้กำกับสภ.บ้านโป่ง และนายสมยศ พุ่มน้อย นายอำเภอบ้านโป่ง สั่งการให้พ.ต.ท.สรายุทธ บุรีวชิระ รองผู้กำกับสืบสวน สภ.บ้านโป่ง, พ.ต.ท.สุภาชัย สูงทรัพย์ไพศาล สารวัตรสืบสวน, พ.ต.ท.เนรมิต งามขำ สว.บก.4 บก.ส.1, ร.ต.ท.สุวรรณภูมิ มาตสรรค์, ร.ต.ท.จักรกฤษ พุชพงษ์, ด.ต.คมกฤษ  ทรัพย์เย็น, ส.ต.ต.วีรยุทธ ฤกษ์เจริญ, ส.ต.ต.อภิมุข คนยงค์, ส.ต.ต.ชวลิต  มลิชัย

นอกจากนั้นยังมีฝ่ายปกครอง ประกอบด้วย นายมณฑป เอกสังหชัย ปลัดอำเภอหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง และนายหมวดโท พรเทพ พิทักษ์ธรรม จ่ากองร้อยอาสา อ.บ้านโป่ง ที่ 8 ร่วมกับฝ่ายทหาร ประกอบด้วย ร.ท.คเณศ เจี้ยมดี หัวหน้าชุดมว.รส.ช.พัน 52 ซ.1รอ., จ.ส.ท.พิเชษฐ์ มัชฌิมา, จ.ส.ท.โอภาส ช่วยสระน้อย, ส.อ.นวพล ผลาหาญ, ส.ต.วิศณุย์  ยกย่อง

ขณะเดียวกันนอกจากรายชื่อเจ้าหน้าที่ดังกล่าวแล้ว ยังมีชุดเจ้าหน้าที่ที่ร่วมเข้าจับกุมนายภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ จากที่บ้านบริเวณจังหวัดนครปฐม ในเวลา 20.30 น.ของคืนดังกล่าว เพื่อนำตัวมาแจ้งข้อกล่าวหาเดียวกันกับนักกิจกรรมและผู้สื่อข่าวด้วย ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ประกอบด้วย ร.ต.ท.จตุรงค์ อินทร์พรหม, ด.ต.กฤษฏา  พักตร์ผ่อง, ด.ต.วัชรพงษ์  แก้วอินทร์, จ.ส.ต.วัลลภ  ใหม่นุ่น, ส.ต.ต.สกานต์ สุขอุดม และฝ่ายทหาร ประกอบด้วย พ.อ.อำนาจ จังพานิช, พ.ท.อรรณณพ ชอบประดิษฐ์, พ.ท.พรนันท์ หนองแสง, พ.ท.เทิดพงษ์ กลันทะกะสุวรรณ์, พ.ต.รณชัย ประสพเนตร

photo_2016-07-12_10-56-29

19 เอกสาร-อุปกรณ์ และรถกระบะที่กลายไปเป็น “ของกลาง”

ส่วนพฤติการณ์ในการจับกุมตามบันทึกจับกุมระบุว่า “เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมได้รับแจ้งจากประชาชนอ้างว่าเป็นพลเมืองดีและศูนย์วิทยุ สภ.บ้านโป่ง ว่ามีบุคคลใช้รถยนต์กระบะ ยี่ห้อ เชฟโรเลท หมายเลขทะเบียน 1 ฒฎ 4968 กทม. บรรทุกอุปกรณ์สิ่งของมาท้ายรถ มีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าจะมาทำการแจกเอกสาร แผ่นพับ ใบปลิว ในเรื่องรณรงค์ต่อต้านการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญในเขต อ.บ้านโป่ง” เจ้าหน้าที่จึงเข้าตรวจค้นท้ายรถกระบะ ซึ่งเป็นของมารดานายปกรณ์ อารีกุล โดยไม่ได้มีการแสดงหมายค้นใดๆ ก่อนเจ้าหน้าที่จะตรวจยึดเอกสาร และอุปกรณ์ แม้แต่รถกระบะคันดังกล่าวไว้เป็นของกลางในคดี จำนวน 14 รายการ ดังต่อไปนี้

1. รถยนต์กระบะ ยี่ห้อเชฟโรเลต สีเทา (บรอน์-เงิน) หมายเลขทะเบียน 1 ฒฎ 4968 กทม.

photo_2016-07-12_11-54-38

2. แผ่นป้ายไวนิล ข้อความ “นายกไทย ใครๆ ก็โดนล้อ” จำนวน 1 แผ่น

man4

3. ตู้ลำโพงจำนวน 1 ตัว

4. ไมโครโฟนจำนวน 2 ตัว

5. เสาไม้พร้อมธง ข้อความ “7 สิงหา ร่วมกันโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ”

6. แผ่นที่คั่นหนังสือ “โหวตโน”สีม่วง จำนวน 272 แผ่น, สีแดง จำนวน 263 แผ่น, สีเขียว จำนวน 388 แผ่น และสีส้ม จำนวน 450 แผ่น รวมทั้งหมด 1,373 แผ่น

photo_2016-07-12_11-58-06

7. จุลสารการออกเสียงประชามติ จำนวน 66 ฉบับ

8. แผ่นเอกสาร ปล่อย 7 นักโทษประชามติ โดยไม่มีเงื่อนไข จำนวน 21 แผ่น

9. แผ่นเอกสารความเห็นแย้ง จำนวน 2 ฉบับ

Screen-Shot-2016-05-15-at-17.22.49

10. แผ่นเอกสาร แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ฉบับลงประชามติ 9 ฉบับ

แถลงการณ์นิติราษฏร์

11. แผ่นเอกสาร ถ้าจะใช้สิทธิลงประชามตินอกเขตจังหวัดต้องทำอย่างไร จำนวน 70 ฉบับ

12. แผ่นสติ๊กเกอร์สีชมพู โหวตโน จำนวน 3,900 แผ่น

13. แผ่นสติ๊กเกอร์สีน้ำเงิน โหวตโน จำนวน 4,200 แผ่น

14. แผ่นเอกสาร 7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 127 ฉบับ

7 เหตุผล

นอกจากนั้นในช่วงเวลาประมาณ 16.00 น. ภายหลังแจ้งข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.ประชามติแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ขอตรวจค้นบริเวณด้านในรถกระบะ ทางผู้ต้องหาจึงได้รอทนายความมาถึง เพื่อให้อยู่ร่วมในระหว่างตรวจค้นด้วย และได้มีการตรวจยึดของกลางเพิ่มเติมอีก 5 รายการ ได้แก่

15. เอกสาร ถ้าจะใช้สิทธิลงประชามตินอกเขตจังหวัดต้องทำอย่างไร จำนวน 123 ฉบับ

16. เอกสารปล่อย 7 นักโทษประชามติ โดยไม่มีเงื่อนไข จำนวน 12 ฉบับ

17. จุลสารการออกเสียงประชามติ จำนวน 252 ฉบับ

18. กล่องกระดาษ ติดสติ๊กเกอร์ โหวตโน ข้อความข้างกล่อง “สมทบทุนกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่” จำนวน 1 ใบ (ภายในกล่องมีเงินสด จำนวน 2,571 บาท)

photo_2016-07-12_10-56-54

19. หนังสือ ในนามของความ (อ) ยุติธรรมภายใต้คสช. 30 เล่ม

หนังสือศูนย์

ตรวจยึดแล้ว เมื่อไรจะได้ “ของกลาง” คืน?

สำหรับของกลางในการจับกุมดำเนินคดีนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา มาตรา 85 ระบุไว้ว่า “สิ่งของใดที่ยึดไว้เจ้าพนักงานมีอำนาจยึดไว้จนกว่าคดีถึงที่สุด เมื่อเสร็จคดีแล้วก็ให้คืนแก่ผู้ต้องหา เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น” กล่าวคือของกลางในบัญชีทั้งหมด 19 รายการดังกล่าว  จะต้องถูกยึดไว้จนกว่าคดีที่ถูกกล่าวหาตามพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรค 2 จะสิ้นสุดลง รวมไปถึงรถยนต์ที่อยู่ในรายการแรกของบัญชีการตรวจยึดด้วย เมื่อคดีสิ้นสุดลงไม่ว่าในชั้นสอบสวน (ในกรณีพนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้องคดี) หรือชั้นศาล ผู้ต้องหาจึงจะสามารถได้กลับคืนมา และนำมาใช้งานได้ดังเดิม

หากแต่ทรัพย์สินบางอย่าง เช่น รถยนต์ เป็นทรัพย์สินที่จำเป็นต้องใช้งานอยู่เป็นประจำ หากถูกยึดไว้อาจจะทำให้อาชีพการงานของผู้ต้องหาเกิดความเดือดร้อนได้ กฎหมายจึงได้กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85/1 ระบุว่า “ในระหว่างสอบสวน สิ่งของที่เจ้าพนักงานได้ยึดไว้ ซึ่งไม่ใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด ถ้ายังไม่ได้นำสืบหรือแสดงเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดี เจ้าของหรือผู้ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องขอคืนสิ่งของที่เจ้าพนักงานยึดไว้ อาจยื่นคำร้องต่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี เพื่อขอรับสิ่งของนั้นไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์โดยไม่มีประกัน หรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันก็ได้

กล่าวคือ ผู้ต้องหาสามารถเรียกคืนสิ่งของที่เจ้าพนักงานได้ยึด เมื่อยังไม่ได้นำสืบหรือแสดงเป็นพยานหลักฐานในคดี  หากว่าสิ่งของเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งของที่มีไว้ในครอบครองแล้วผิดกฎหมายตามที่กฎหมายบัญญัติไว้  โดยการยื่นขอต่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการขึ้นอยู่กับว่าสำนวนคดีอยู่ในขั้นตอนของเจ้าพนักงานส่วนใด

 

เอกสารที่ยังไม่ได้แจก แต่ถูกตั้งข้อหา “เผยแพร่เอกสาร”

จะเห็นได้ว่าพฤติการณ์ทั้งหมดเป็นเพียงการตรวจพบเอกสาร หนังสือ สติ๊กเกอร์ และอุปกรณ์ อยู่ในรถยนต์ของนายปกรณ์ อารีกุล หนึ่งในผู้ต้องหาเท่านั้น ยังไม่มีการนำออกมาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือโฆษณาแต่อย่างใด กล่าวได้ว่ายังไม่ครบองค์ประกอบตามมาตรา 61 วรรค 2 ของพ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งระบุว่าต้องมี “การเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใด”  ทั้งในบันทึกการจับกุมก็ไม่ได้บรรยายว่า “พฤติการณ์” ที่ “น่าเชื่อว่าจะมาทำการแจกเอกสาร แผ่นพับ ใบปลิว” นั้นคืออะไรบ้าง

รวมทั้ง องค์ประกอบความผิดของมาตรา 61 วรรค 2 ดังกล่าว ยังรวมไปถึงข้อความ ภาพ เสียงดังกล่าว ต้องมีลักษณะ “ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง” แต่บันทึกการจับกุมก็ไม่ได้ระบุถึงพฤติกรรมในลักษณะดังกล่าวจากเอกสารที่ตรวจพบแต่อย่างใด การมีเอกสารหรือสติ๊กเกอร์ต่าง ๆ ที่มีข้อความไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญอยู่ภายในรถ ไม่สามารถถือเป็นความผิดตามมาตรานี้ เป็นแต่เพียงการแสดงความคิดเห็นของพลเมืองต่อร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ประชามติเอง ในมาตรา 7 ก็ระบุว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย” ทั้งเอกสารในของกลางดังกล่าวบางส่วนยังเป็นเอกสารของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) เองอีกด้วย

อีกทั้ง ในทางกฎหมาย คำว่า “ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด ” หมายถึงทรัพย์สินที่โดยตัวของมันเอง กฎหมายได้กำหนดไว้ว่า หากทำขึ้นหรือมีไว้จะเป็นความผิด ตัวอย่างเช่น ยาเสพติดให้โทษประเภทต่างๆ  อาวุธปืนที่ไม่มีใบอนุญาต  เครื่องระเบิด หรืออาวุธสงครามต่างๆ เป็นต้น ซึ่งการทำขึ้นหรือมีไว้อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นได้ จึงต้องกำหนดไว้ว่าหากทำขึ้นหรือมีไว้ในครอบครองย่อมเป็นความผิดตามกฎหมาย  แต่ในกรณีนี้ เอกสารความเห็นแย้ง สติ๊กเกอร์ หรือหนังสือต่างๆ นั้น ไม่ได้มีลักษณะเป็นวัตถุสิ่งของที่มีไว้ในครอบครองแล้วเป็นความผิด ดังเช่นอาวุธปืน ระเบิด หรือยาเสพติด ทั้งยังไม่มีกฎหมายห้ามการมีหรือครอบครองเอกสารดังกล่าวแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นแล้วการมีไว้ของทรัพย์สินเหล่านี้ ย่อมไม่ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย 

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมดตามบันทึกการจับกุม จึงไม่มีส่วนใดเลยที่เข้ากับองค์ประกอบความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรค 2 จนอาจกล่าวได้ว่าการแจ้งข้อหาของเจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อสร้างความเสียหายต่อผู้ต้องหาทั้งห้าคน (อ่านความเห็นทางกฎหมายเพิ่มเติมในบทความของสงกรานต์ ป้องบุญจันทร์: ความเห็นทางกฎหมาย การจับกุมนักกิจกรรมที่บ้านโป่ง กับ ความผิดอาญา ม.157)

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับ 3 นักกิจกรรม NDM พร้อมนักข่าว แจ้งผิด พ.ร.บ.ประชามติ หลังค้นรถเจอเอกสาร Vote No

จับกลางดึกอีก 1 นักศึกษา แจ้งผิด พ.ร.บ.ประชามติ ร่วมกับ NDM

ศาลราชบุรีอนุญาตฝากขัง 5 ผู้ต้องหา พ.ร.บ.ประชามติ ก่อนให้ประกันตัวหลักทรัพย์คนละ 1.4 แสนบาท

Not Free and Fair การรณรงค์ที่ต้องจ่ายด้วยเสรีภาพ: ประมวลสถานการณ์การละเมิดสิทธิก่อนออกเสียงประชามติ

 

X