เมื่อวันที่ 4 ต.ค.60 ศาลจังหวัดราชบุรีนัดสืบพยานจำเลยในคดีครอบครองและ “น่าเชื่อว่าจะแจก” สติกเกอร์ Vote No ในช่วงก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่สภ.บ้านโป่ง พยานฝ่ายจำเลยที่ขึ้นเบิกความคือ นายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เบิกความถึงปัญหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ให้มีการออกเสียงประชามติ พร้อมให้ความเห็นว่าการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นความผิด อีกทั้งไม่ควรมีการดำเนินคดีในลักษณะนี้กับผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็น
ในคดีนี้ อัยการจังหวัดราชบุรีเป็นโจทก์ฟ้องนายปกรณ์ อารีกุล, นายทวีศักดิ์ เกิดโภคา, นายอนันต์ โลเกตุ, นายอนุชา รุ่งมรกต และนายภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย รวม 5 คน ในข้อหาร่วมกันเผยแพร่ข้อความ ภาพ ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง ตามมาตรา 61 ของพ.ร.บ.ประชามติฯ และขัดคำสั่งของพนักงานสอบสวนที่ให้พิมพ์ลายนิ้วมือ ตาม ประกาศ คปค. ฉบับที่ 25/2549 เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา
(ภาพจาก Chamnan Chanruang)
ประชามติที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ควรปิดกั้นการรณรงค์-การแสดงความคิดเห็น
นายชำนาญ จันทร์เรือง อาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอดีตประธานกรรมการองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มีภูมิหลังเคยเป็นปลัดอำเภอ และเคยได้รับผิดชอบให้ดูแลการจัดการเลือกตั้งมาก่อน ทั้งเมื่อปี 2558 เคยได้รับเชิญให้ไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดีและการทำประชามติที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
ชำนาญเบิกความต่อศาลว่าในทางรัฐศาสตร์ การทำประชามติคือรูปแบบของประชาธิปไตยทางตรงที่ไม่ต้องผ่านตัวแทน การทำประชามติที่เป็นประชาธิปไตยจะต้องให้ผู้ที่ออกเสียงได้รับความรู้ ความเข้าใจ และข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจ และต้องเผยแพร่อย่างทั่วถึง จนทำให้ประชาชนสามารถตัดสินใจเองได้ว่าจะออกเสียงอย่างไร ซึ่งการให้ความรู้นั้นไม่จำเป็นต้องมาจากฝ่ายรัฐเท่านั้น แต่ประชาชนยังสามารถช่วยกันรณรงค์เผยแพร่ความรู้ได้ หากมีการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นก็จะทำให้การทำประชามติขาดความสมบูรณ์และความชอบธรรม
นายชำนาญเบิกความถึงการทำประชามติเมื่อปี พ.ศ.2550 ว่ามีความเปิดกว้างมากกว่า และไม่มีการปิดกั้นการแสดงออกและบรรยากาศสนุกสนานกว่านี้ ในส่วนที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 และ 2559 นี้ ก็มีที่มาคล้ายกัน คือถูกร่างขึ้นมาจากคณะรัฐประหาร โดยทั่วไปแล้วเมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้น ก็จะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา และการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็ไม่ได้มีประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่าง
ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ตั้งกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมาธิการร่าง แต่ร่างนี้ก็ถูกสภาปฏิรูปแห่งชาติตีตกไป จากนั้นก็มีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาอีก โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน และในฉบับหลังนี้ ก็ได้ให้ประชาชนออกเสียงประชามติ แต่เมื่อมีการออกพ.ร.บ.ประชามติฯ ออกมากลับนำไปสู่การปิดกั้นการแสดงออกอย่างมาก
ในช่วงที่เกิดเหตุคดีนี้ นายชำนาญเห็นว่าในฐานะที่ตนเองเป็นนักวิชาการ และได้ไปแสดงความเห็นตามเวทีต่างๆ แต่รัฐบาลก็ได้ให้ข้อมูลเพียงด้านดีของรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว ไม่ได้เป็นการให้ข้อมูลของร่างรัฐธรรมนูญที่ครอบคลุมครบถ้วน ซึ่งอาจจะทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดต่อร่างรัฐธรรมนูญได้
ร่างรัฐธรรมนูญที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย
ชำนาญมีความเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้ลดทอนอำนาจของประชาชนลงเป็นอย่างมาก ทั้งในประเด็นเรื่องที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวคือรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เปลี่ยนระบบการเลือกตั้งทั่วไปจากระบบเดิมของไทยที่ให้เลือกแยกพรรคกับคนออกจากกัน เพราะประชาชนอาจจะอยากลงคะแนนให้พรรคหนึ่งแต่ไม่อยากเลือก ส.ส. ของพรรคนั้นก็ได้ เป็นให้เหลือการเลือกเพียงพรรคหรือคนเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ทำให้ตัดสินใจในการเลือกได้ยาก และยังเป็นการลดแรงจูงใจของคนที่มีสิทธิเลือกตั้ง
ชำนาญยังเสริมอีกว่าในฐานะที่เขาเป็นคนผลักดันร่างพ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร แต่ก็เกิดรัฐประหารขึ้นเสียก่อน ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ทำให้การเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชนทำได้ยาก และยังจำกัดการกระจายอำนาจและการปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างมาก
ชำนาญเบิกความต่อในประเด็นเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ สำหรับประเทศอื่นก็มีการทำแผนยุทธศาสตร์ แต่ก็เป็นการวางกรอบอย่างกว้างเอาไว้ และไม่ได้มีการบีบบังคับให้รัฐบาลต้องทำ แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้มีการลงรายละเอียดสิ่งที่รัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งมา จะต้องทำเอาไว้ และถ้าหากรัฐบาลไม่ทำก็ยังมีโทษ อีกทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าวก็ยังมาจากรัฐบาลที่มีที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย
รัฐธรรมนูญใหม่นี้ ยังให้ คสช. มีอำนาจอยู่ต่อ จนกว่าจะมีการตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งคสช.สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ได้ผ่านการใช้มาตรา 265 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มาตราดังกล่าวได้ให้อำนาจทั้งบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการแก่ คสช. ในช่วงที่ผ่านมา คสช. ก็มีการใช้มาตรา 44 ในการอนุญาตให้ใช้ที่ดิน สปก. ในการลงทุนได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยให้ใช้ที่ดิน สปก. เพื่อการเกษตรได้เท่านั้น ทำให้การใช้อำนาจลักษณะนี้เป็นการแทรกแซงอำนาจของตุลาการ ทั้งยังมีการใช้มาตรา 44 ในการปลดผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร การสั่งยุบคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายซึ่งเป็นองค์กรอิสระอีกด้วย เป็นต้น
นอกจากนั้นในทางพฤตินัย คสช.ก็ยังมีอำนาจอยู่จากการที่เป็นผู้เลือกบุคคลเข้ามาเป็น ส.ว. ซึ่ง ส.ว. ยังเป็นผู้ที่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ถึง 2 สมัย ทั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ และประกาศคำสั่งของคสช.ต่างๆ ก็ยังคงอยู่จนกว่าจะมีการออกกฎหมายมายกเลิกการใช้ประกาศคำสั่งเหล่านั้น
ชำนาญสรุปว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย เนื่องจากอำนาจถูกผูกขาดอยู่กับ คสช. ความเสียหายที่ตามมา ก็คือทำให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือต่อการบังคับใช้กฎหมาย
อีกทั้ง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังแก้ไขได้ยากมาก เนื่องจากต้องให้พรรคการเมืองทุกพรรครวมกันออกเสียงอย่างน้อยร้อยละ 10 และเสียงยังต้องเป็นเอกฉันท์ ซึ่งเกิดขึ้นได้ยากมาก เมื่อผ่านสภาแล้วก็ยังต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าการแก้ไขดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ชำนาญเห็นว่าเป็นเรื่องประหลาดเนื่องจากการแก้ไขเนื้อหาในรัฐธรรมนูญย่อมต้องขัดกับเนื้อหาเดิมอยู่แล้ว การให้ศาลรัฐธรรมนูญมาพิจารณาว่าเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ย่อมทำให้เป็นไปได้ยากที่ศาลจะพิจารณาว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และสุดท้ายหากผ่านศาลรัฐธรรมนูญได้ ก็ยังต้องกลับมาทำประชามติอีกครั้งด้วย
ข้อความสติกเกอร์ “Vote No ไม่รับ อนาคตที่ไม่ได้เลือก” ไม่เข้าข่ายความผิด
นายชำนาญระบุว่าเมื่อตอนที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ก็มีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้น ให้มีการรวบรวมความคิดเห็นเพื่อนำมาใช้ในการร่าง และเปิดให้มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง แต่ในครั้งนี้ กลับมีการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น มีการจับกุมดำเนินคดีด้วยข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป มีการนำ พ.ร.บ.ประชามติฯ มาใช้ในการปิดกั้นการแสดงออก และกระบวนการยุติธรรมถูกนำมาใช้ในการสร้างภาระให้แก่ผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็น การแจ้งความดำเนินคดีเกิดขึ้นโดยไม่ได้มีการหวังผลทางคดี เพียงแต่ต้องการสร้างภาระให้คนต้องมาขึ้นโรงขึ้นศาล ซึ่งการกระทำแบบนี้จะกลายเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อไปในอนาคต
นายชำนาญกล่าวถึงเหตุการณ์ที่ทำให้จำเลยทั้ง 5 คน ถูกดำเนินคดี โดยเห็นว่าการรณรงค์ให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ และข้อความ “Vote No ไม่รับ อนาคตที่ไม่ได้เลือก” บนสติกเกอร์ ก็ไม่ได้เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 61 วรรค 2 ของพ.ร.บ.ประชามติฯ อีกทั้งคนที่มีสิทธิออกเสียงก็ต้องมีอายุ 18 ปี ขึ้นไป ก็สามารถใช้วิจารณญาณที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อได้ด้วยตัวเอง
นายชำนาญยังเบิกความต่ออีกว่าจากการที่ได้ไปสังเกตการณ์ในคดีติดป้าย “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ และศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าข้อความไม่ได้ขัดต่อ พ.ร.บ.ประชามติฯ เขาเห็นว่าคดีดังกล่าวข้อความยังรุนแรงกว่าในคดีของจำเลยทั้ง 5 คนนี้
ผู้ได้รับสติกเกอร์ ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
อัยการโจทก์ถามค้านว่าหลังการรัฐประหารพยานได้มีการแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารหรือไม่ ชำนาญตอบว่ามีการไปแสดงความเห็นตามเวทีวิชาการต่างๆ จากการที่เขาไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ และเขาก็ไม่เคยถูกดำเนินคดีจากการไปแสดงความคิดเห็น
นายชำนาญตอบคำถามอัยการถึงการแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้แก่ประชาชนของรัฐว่า ฝ่ายรัฐมีการแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก่อนวันออกเสียงประชามติน้อยมาก กกต.ก็อ้างว่ามีการเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ทอยู่แล้ว แต่ปรากฏว่าก็มีประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงได้อยู่ แล้วภายหลังก็ยังมีการทำสำรวจกับผู้ที่มีสิทธิออกเสียงว่าได้อ่านร่างแล้วมากน้อยแค่ไหน ผลสำรวจพบว่ามีประชาชนเพียง 3% เท่านั้น แสดงให้เห็นว่ามีการจำกัดการเข้าถึงข้อมูลเป็นอย่างมาก
อัยการถามว่าถ้ามีการชักชวนให้ไปรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญยังเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือไม่ หรือเป็นการชักชวน-ชี้นำ ชำนาญเห็นว่าถือว่าเป็นการรณรงค์ และทำให้คนที่ได้พบเห็นข้อความบนสติกเกอร์ได้กลับไปศึกษาว่าทำไมคนที่ติดสติกเกอร์ถึงจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ด้วยเหตุผลอะไร แต่ไม่ได้มีผลทำให้คนที่พบเห็นด้วยทันทีว่าไม่รับร่าง
อัยการจึงถามต่อว่าหากมีคนมาออกเสียงไม่รับเยอะกว่ารับร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร นายชำนาญตอบว่าเขาก็ไม่ทราบ เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็ไม่ได้มีการระบุเอาไว้ว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะต้องทำอย่างไร แต่ในทางปฏิบัติก็ต้องร่างใหม่ แต่ใครจะเป็นผู้ร่าง อาจจะเป็นกลุ่มคนเพียง 4-5 คน ร่างขึ้นมาใหม่
อัยการถามถึงประเด็นเกี่ยวกับคดีติดป้ายที่จังหวัดเชียงใหม่ว่าสิ้นสุดแล้วหรือยัง ชำนาญตอบว่าไม่ทราบ แต่เข้าใจว่าน่าจะสิ้นสุดแล้ว เพราะตอนนี้ก็สิ้นสุดระยะเวลาที่จะอุทธรณ์คดีแล้ว โดยที่ป้ายดังกล่าวข้อความไม่เหมือนกันกับคดีนี้ แต่บนป้ายมีข้อความว่า “7 ส.ค. Vote No” ซึ่งก็เป็นการแสดงความคิดเห็นของคนที่ติดป้าย แต่เจตนาของผู้ที่ติดป้ายในคดีนั้นกับของจำเลยในคดีนี้ ก็เป็นเจตนาเดียวกันคือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับออกเสียงประชามตินี้
อัยการถามคำถามสุดท้ายว่าในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่มีการประกาศใช้ในปี 2550 การทำประชามติครั้งนั้นมีกฎหมายเกี่ยวกับการทำประชามติเหมือนครั้งนี้หรือไม่ นายชำนาญตอบว่ามี แต่จำได้ว่าในกฎหมายฉบับนั้น ไม่ได้มีการกำหนดบทลงโทษแบบใน พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ. 2559
การรณรงค์แตกต่างจากการปลุกระดม
ช่วงทนายความถามติง ในส่วนที่ชำนาญตอบคำถามอัยการเรื่องข้อความบนสติกเกอร์เป็นการชักจูงหรือไม่ เขาตอบเพิ่มว่าสำหรับการรณรงค์นั้นคือการโน้มน้าวด้วยเหตุผลให้เห็นด้วยเป็นสิ่งเดียวกัน ซึ่งต่างกับการปลุกระดมที่จะให้คนออกไปทำใช้ความรุนแรง
นายชำนาญตอบเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดีติดป้ายที่จังหวัดเชียงใหม่ว่าจำเลยในคดีก็ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ เช่นเดียวกับจำเลยในคดีนี้ พฤติการณ์ในคดีคือไปติดป้าย A4 ซึ่งมีข้อความตามที่ได้กล่าวไป โดยมีการนำป้ายดังกล่าวไปติดไว้ตามที่ปัดน้ำฝนของรถเป็นจำนวน 10 คันด้วย
ภายหลังการสืบพยานปากนี้เสร็จสิ้น ศาลนัดสืบพยานจำเลยสองปากสุดท้ายในวันที่ 5 ต.ค.60
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
นักกิจกรรมยันข้อความสติกเกอร์ “Vote No ไม่รับ อนาคตที่ไม่ได้เลือก” ไม่ได้ก้าวร้าว-รุนแรง
ตำรวจบ้านโป่งขึ้นเบิกความ คดีแจกสติกเกอร์ Vote No นัดหน้าเริ่มสืบจำเลยทั้ง 5 คน