3 ต.ค.2560 ศาลจังหวัดราชบุรีนัดสืบพยานจำเลยในคดีครอบครองและ “น่าเชื่อว่าจะแจก” สติกเกอร์ Vote No ในช่วงก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่สภ.บ้านโป่ง โดยจำเลยขึ้นเบิกความในฐานะพยานได้จำนวน 2 ปาก คือนายปกรณ์ อารีกุล จำเลยที่ 1 และนายทวีศักดิ์ เกิดโภคา จำเลยที่ 2
ในคดีนี้ อัยการจังหวัดราชบุรีเป็นโจทก์ฟ้องทั้งสองคน รวมถึงนายอนันต์ โลเกตุ จำเลยที่ 3 นายอนุชา รุ่งมรกต จำเลยที่ 4 นายภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย จำเลยที่ 5 รวมเป็น 5 คน ในข้อหาร่วมกันเผยแพร่ข้อความ ภาพ ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง ตามมาตรา 61 ของพ.ร.บ.ประชามติฯ และขัดคำสั่งของพนักงานสอบสวนที่ให้พิมพ์ลายนิ้วมือ ตาม ประกาศ คปค. ฉบับที่ 25 เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา
ก่อนเริ่มการสืบพยานวันนี้ทนายความแถลงต่อศาลว่าจำเลยทั้ง 1-4 ขอเปลี่ยนคำให้การเฉพาะในส่วนของข้อหาขัดคำสั่งพิมพ์ลายนิ้วมือจากเดิมที่ให้การปฏิเสธ เป็นให้การรับสารภาพ
ปกรณ์เบิกความสติกเกอร์ “Vote No ไม่รับ อนาคตที่ไม่ได้เลือก” ไม่ได้มีข้อความก้าวร้าว-รุนแรง และยังไม่ได้มีการแจกจ่ายใดๆ ในวันเกิดเหตุ
ในการสืบพยาน นายปกรณ์ อารีกุล นักกิจกรรมขบวนประชาธิปไตยใหม่ ได้ขึ้นเบิกความว่าในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ตนเห็นว่าทางฝ่ายรัฐได้มีรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับข้อดีในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ก็ไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์แพร่หลายในสื่อมากนัก ซึ่งตนเห็นว่าประชาชนได้รับรู้เท่าที่มีการประชาสัมพันธ์ในส่วนของสาระสำคัญเท่านั้น แต่ก็ไม่ครอบคลุม นอกจากนั้นก็ยังมีคนที่ไม่รู้แม้กระทั่งวันที่จะมีการออกเสียงประชามติ
ปกรณ์ยังได้อธิบายถึงประเด็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญว่ามีข้อน่าห่วงกังวล ได้แก่ เรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง และที่มาของนายกรัฐมนตรีที่มีการเปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนได้ ซึ่งเป็นการขัดกับหลักการประชาธิปไตย ประการต่อมา ร่างรัฐธรรมนูญยังเปิดช่องให้ คสช. ยังคงมีอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แม้ว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่เปิดให้มีการลงประชามติแล้วก็ตาม อีกทั้งยังอาจจะส่งผลให้มีการตัดสิทธิอื่นๆ ของประชาชนอีกด้วย อาทิเช่น สิทธิในด้านการศึกษา ที่ทำการเรียนฟรีเหลือเพียง 9 ปี
ทั้งหมดนี้ จึงเป็นเหตุให้ตนออกมารณรงค์และแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ ในฐานะอีกแง่มุมหนึ่งของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เท่านั้น ปกรณ์เห็นว่าการแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ทำได้ เพราะในขณะนั้นมาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่รับรองสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน ก็มีผลบังคับใช้อยู่ อีกทั้งในมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ ก็ยังรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเอาไว้ด้วย
ปกรณ์เห็นว่าข้อความในสติกเกอร์ “Vote No ไม่รับ อนาคตที่ไม่ได้เลือก” ไม่ได้เป็นข้อความที่มีความก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ อีกทั้งในส่วนของคำถามพ่วงในการลงประชามติ ที่มีประเด็นว่าใน 5 ปีแรกจะให้ ส.ส. และส.ว. เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ปกรณ์เห็นว่าเมื่อประกอบกับประเด็นที่มาของ สว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแล้ว จึงกลายเป็นที่มาของข้อความ “อนาคตที่ไม่ได้เลือก” บนสติกเกอร์
นายปกรณ์เบิกความด้วยว่านายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้เคยให้สัมภาษณ์ว่าการแจกสติกเกอร์ไม่น่าจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าเอกสารความเห็นแย้งของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ก็สามารถเผยแพร่ และแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อร่างรัฐธรรมนูญได้
ในส่วนวันเกิดเหตุ วันที่ 10 ก.ค.59 ปกรณ์ระบุว่าได้เดินทางไปที่สภ.บ้านโป่ง เนื่องจากทราบข่าวว่าชาวบ้านที่เปิดศูนย์ปราบโกงประชามติราชบุรี ถูกพนักงานสอบสวนเรียกรายงานตัวเข้ารับทราบข้อกล่าวหา โดยตนเห็นว่าการออกเสียงประชามติประชาชนต้องช่วยกันตรวจสอบกระบวนการที่เกิดขึ้น ในฐานะที่ตัวเองก็ร่วมทำการรณรงค์เรื่องออกเสียงประชามติเช่นกัน จึงเดินทางไปให้กำลังใจ
ทั้งนี้ เหตุที่นายปกรณ์ถูกดำเนินคดีในข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงานไม่พิมพ์ลายนิ้วนั้น เนื่องจากในวันเกิดเหตุ ปกรณ์เห็นว่าการจับกุมและการแจ้งข้อกล่าวหาไม่เป็นไปตามขั้นตอน และพ.ต.ท.สรายุทธ บุรีวชิร รองผกก.สส.สภ.บ้านโป่ง เพียงแค่เชิญตัวพวกเขาไปคุยที่ห้องบนสถานี และจะมีการทำบันทึกประจำวันเอาไว้เท่านั้น แต่สุดท้ายพวกเขาก็ไม่ได้รับการปล่อยตัวกลับ และมีการแจ้งข้อกล่าวหาตามมาในภายหลัง
ปกรณ์ยังตอบคำถามค้านของอัยการด้วยว่าเอกสารของกลางในคดีนี้ ตนไม่ได้นำมาเพื่อแจกที่สภ.บ้านโป่ง และไม่ได้มีการแจกจ่ายในวันนั้น แต่เป็นเอกสารที่ติดรถตนมาตั้งแต่วันที่มีการแถลงข่าวเรื่องร่างรัฐธรรมนูญที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันก่อนเกิดเหตุคดีนี้ เนื่องจากในวันแถลงข่าวมีเพียงตัวเขาเองเท่านั้นที่มีรถกระบะที่สามารถบรรทุกเอกสารได้
อัยการยังถามถึงความหมายบนสติกเกอร์ว่าหมายถึงอะไร และหวังว่าให้คนที่ได้รับสติกเกอร์ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ นายปกรณ์ตอบว่าหวังให้คนที่ได้รับ ได้ใช้ดุลยพินิจของตน ซึ่งบางคนเมื่อได้รับไปแล้ว ก็บอกกับตนว่าจะไปออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญ บางคนก็บอกว่าจะไปออกเสียงไม่รับ นอกจากนั้นในการแจกสติกเกอร์ก็ได้มีการแจกเอกสารให้ความรู้ประกอบไปด้วย
ผู้สื่อข่าวประชาไทยันติดตามไปทำข่าวที่บ้านโป่ง ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับเอกสารของกลาง
ในช่วงบ่าย นายทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาไท ได้ขึ้นเบิกความในฐานะพยาน ระบุว่าตนรับผิดชอบโต๊ะข่าวการเมือง จึงติดตามประเด็นทางการเมืองมาโดยตลอด ซึ่งเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นส่วนหนึ่งของข่าวการเมือง นอกจากนั้นในเรื่องออกเสียงประชามติ ตนเห็นว่ามีการรายงานข่าวค่อนข้างน้อย และเน้นไปที่ข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากฝ่ายรัฐ และสื่อหลักก็ไม่ได้ให้พื้นที่ในการนำเสนอแก่กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญมากนัก
นายทวีศักดิ์เบิกความถึงวันเกิดเหตุ ว่าตนได้ติดตามไปที่สภ.บ้านโป่ง เพื่อทำหน้าที่นักข่าวเนื่องจากทราบได้มีการเรียกผู้ต้องหาในคดีศูนย์ปราบโกงประชามติเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งก่อนหน้านั้นตนก็ติดตามทำข่าวนายปกรณ์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปกรณ์ได้แจ้งว่าจะเดินทางมาให้กำลังใจชาวบ้านที่สภ.บ้านโป่ง ตนจึงขอติดรถมาด้วย เมื่อเดินทางถึงสภ.บ้านโป่ง ก็ได้เข้าถ่ายภาพที่หน้าสถานีและเข้าไปสัมภาษณ์ผู้ต้องหา จากนั้นตนก็ไปสัมภาษณ์จำเลยที่ 5 กับจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ต่อ เพื่อทำสกู๊ปข่าว
หลังจากสัมภาษณ์เสร็จ ก็ได้เดินทางมาที่รถของนายปกรณ์ เพื่อเตรียมเดินทางกลับ แต่ทาง พ.ต.ท.สรายุทธ บุรีวชิร พร้อมกับตำรวจอีกหลายนาย ได้เข้ามาตรวจค้นรถ ระหว่างนั้น พ.ต.ท.สรายุทธ ได้มีการสอบถามว่าเป็นพวกสนับสนุน Vote No ใช่หรือไม่ และยังพูดกับนายปกรณ์ในลักษณะว่า Vote No ไม่ได้ ผิดกฎหมาย ต้อง Vote Yes เท่านั้น ซึ่งตนเห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถพูดแบบนี้ได้ เพราะเท่ากับเป็นการบังคับให้ต้องออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
ทวีศักดิ์เบิกความต่อว่าหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็เชิญตัวพวกตนขึ้นไปบนสถานีตำรวจ โดยตนได้แสดงตัวว่าเป็นนักข่าวตั้งแต่แรกและได้แสดงบัตรผู้สื่อข่าวด้วย อีกทั้งในตอนที่ถูกเชิญตัว เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้บอกว่าเป็นการจับกุม แต่เมื่อขึ้นไปที่สถานีแล้ว กลับมีการแจ้งข้อกล่าวหาและจับกุมตัว
นายทวีศักดิ์เบิกความด้วยว่าตอนแรกที่ถูกเรียกไป ยังสามารถใช้โทรศัพท์ได้ ตนจึงได้โทรศัพท์ไปสอบถามนายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อสัมภาษณ์เรื่องสติกเกอร์ นายสมชัยระบุว่าการมีสติกเกอร์ไม่น่าเป็นความผิดตามกฎหมาย และถ้าไม่ใช่การขึ้นเวทีปราศรัย ไม่ได้เป็นการให้ข้อมูลเท็จ ไม่ได้เป็นการยุยงปลุกปั่นก็สามารถทำได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของตำรวจด้วย จากนั้นเขาจึงส่งสายของนายสมชัยให้ รอวผู้กำกับสอบสวน สภ.บ้านโป่ง พูดคุยด้วย
นายทวีศักดิ์เสริมว่าในตอนที่เขาแสดงตัวว่าเป็นนักข่าวของประชาไท ตำรวจอาจจะไม่เชื่อว่าเป็นสำนักข่าวจริงๆ เนื่องจากประชาไทเป็นสำนักข่าวออนไลน์ ไม่ได้มีโรงพิมพ์ของตัวเอง แต่เจ้าหน้าที่ก็อาจจะเข้าใจว่าเอกสารของกลางเป็นของประชาไท เพราะหลังจากเขาถูกเชิญตัว พ.ต.ท.สรายุทธก็ได้ประสานกับตำรวจสน.สุทธิสารที่กรุงเทพฯ เพื่อให้เข้าตรวจค้นที่สำนักข่าว แต่เนื่องจากในวันนั้นไม่มีใครอยู่ที่สำนักข่าว ตำรวจจึงไม่ได้เข้าไป ที่ทราบว่ามีตำรวจไปเพราะว่าสำนักงานอื่นที่ใช้อาคารเดียวกันแจ้งมา
ทวีศักดิ์เห็นว่าหากต้องการตรวจสอบสถานะของเขาว่าเป็นนักข่าวจริงหรือไม่ ก็ควรโทรศัพท์ถึงหัวหน้างานของเขามากกว่า ซึ่งการกระทำของตำรวจเช่นนี้เป็นการคุกคามการทำงานของสื่อมวลชน อีกทั้งประชาไทเองก็มีจุดยืนไม่ยอมรับการรัฐประหารอยู่แล้ว ทั้งในครั้งปีพ.ศ. 2549 และครั้งนี้ เพราะเห็นว่าการทำรัฐประหารเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในการเป็นสื่อมวลชนย่อมไม่สามารถเห็นด้วยกับรัฐประหารได้ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นสิทธิเดียวกันกับสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน
ทวีศักดิ์ยังเบิกความถึงสาเหตุที่ตนไม่พิมพ์ลายนิ้วมือว่าเป็นเพราะเห็นว่าการจับกุมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่ต้น โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาตั้งแต่ในตอนที่มีการเชิญตัว อีกทั้งเห็นได้อย่างชัดเจนว่าพ.ต.ท.สรายุทธ มีอคติทางการเมืองตั้งแต่ต้น และเมื่อได้อ่านบันทึกจับกุมแล้ว ก็เห็นว่าข้อเท็จจริงตามบันทึกก็ไม่ตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอีกด้วย คือมีการบรรยายพฤติการณ์ว่าน่าเชื่อว่ามีการแจกจ่ายเอกสารบนสถานีตำรวจ แต่ข้อเท็จจริงคือไม่ได้มีการแจกเอกสารใด
นอกจากนั้น นายทวีศักดิ์ทราบว่าตนมีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ แต่ตลอดเวลาที่อยู่ในห้อง ตนกลับถูกตำรวจคอยซักถามตลอดเวลา และในตอนนั้นผู้กำกับคนเก่าของสภ.บ้านโป่ง ยังได้เข้ามาพูดอีกด้วยว่า “จะไม่เซ็นไม่พูดก็ได้ แต่คอยดูว่ากูจะเอาพวกมึงเข้าคุกได้หรือเปล่า” ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นการคุกคาม เขาจึงไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ
นายทวีศักดิ์ยังกล่าวถึงการที่ตนร่วมเดินทางโดยติดรถนายปกรณ์ไปทำข่าว ว่าการเดินทางไปด้วยกัน ไม่ได้หมายความว่าตนเห็นด้วยกับนายปกรณ์ทั้งหมด หรือต้องไปรายงานข่าวในลักษณะเป็นประโยชน์ต่อใคร ตนยังคงมีความเป็นอิสระในการรายงานข่าวตามจรรยาบรรณของผู้สื่อข่าว
หลังการสืบพยานจำเลยทั้ง 2 ปากนี้แล้ว คดีนี้ยังมีนัดสืบพยานจำเลยต่อเนื่องในวันที่ 4-5 ต.ค. อีกเป็นเวลา 2 วัน
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ตำรวจบ้านโป่งขึ้นเบิกความ คดีแจกสติกเกอร์ Vote No นัดหน้าเริ่มสืบจำเลยทั้ง 5 คน