สงกรานต์ 66: สรุปสถิติคดี ม.112-ม.116-พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนติดตามสถานการณ์คดีจากการแสดงออกและชุมนุมทางการเมือง โดยเฉพาะหลังการชุมนุมของเยาวชน นักศึกษา และประชาชน ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ที่การดำเนินคดีเป็นไปอย่างเข้มข้นและกว้างขวาง แม้จนถึงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ และบรรยากาศประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง แต่คดีจากการชุมนุมและแสดงออกในรอบสามปีที่ผ่านมายังคงสืบเนื่องต่อไป และอยู่ระหว่างการต่อสู้อีกจำนวนมาก ชวนสรุปสถานการณ์การดำเนินคดีในข้อหาสำคัญ

.

.

คดี ม.112 สองปีเศษ พุ่ง 258 คดี ไม่พบคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องแม้แต่คดีเดียว

นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐในการนำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กลับมาบังคับใช้จัดการสถานการณ์การชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองในช่วงปลายปี 2563 เป็นต้นมา สถิติผู้ถูกดำเนินคดีข้อหานี้ก็เพิ่มขึ้นเป็นระยะ จนนับได้ว่ามากกว่ายุคก่อนๆ หน้านี้ทั้งหมด โดยตลอดสองปีครึ่งที่ผ่านมา เฉลี่ยแล้วมีคดีเกิดขึ้นใหม่เดือนละราว 9 คดี

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2566 พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 239 คน ใน 258 คดี ในจำนวนนี้เป็นเด็กและเยาวชนจำนวน 18 คน โดยเป็นสถิติเท่าที่ทราบข้อมูลเท่านั้น เป็นไปได้ว่าจะมีผู้ถูกดำเนินคดีจำนวนมากกว่านี้อีกด้วย

หากแยกพิจารณาเป็นรายภูมิภาคที่เกิดเหตุคดี พบว่าเกิดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมากที่สุด คือ 183 คดี รองลงมาเป็นพื้นที่ภาคเหนือ 29 คดี ตามมาด้วยพื้นที่ภาคใต้ 22 คดี ภาคอีสาน 17 คดี และภาคกลาง-ตะวันออกจำนวน 7 คดี

ส่วนพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาโดยส่วนใหญ่เป็นคดีที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ จำนวน 137 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ 53 ของคดีทั้งหมด

จากสถิติดังกล่าว มีคดีที่พนักงานอัยการสั่งฟ้องต่อศาลไปแล้วจำนวน 184 คดี โดยเท่าที่ทราบข้อมูล ยังไม่มีแม้แต่คดีเดียวที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี โดยมีเพียงกรณีของ “ทราย” อินทิรา เจริญปุระ ที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องข้อหามาตรา 112 นี้ ในคดีชุมนุมหน้ากรมทหารราบที่ 11 เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2563 แต่ยังสั่งฟ้องในข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 เช่นเดียวกับนักกิจกรรมคนอื่นๆ ที่ถูกฟ้องทั้งสองข้อหา กล่าวได้ว่า แนวโน้มการดำเนินคดีมาตรา 112 ที่มีการแจ้งข้อกล่าวหา แทบจะถูกสั่งฟ้องคดีทั้งหมด

ท่ามกลาง คดีที่ถูกสั่งฟ้องดังกล่าว มีคดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไปแล้วอย่างน้อย 52 คดี โดยแยกเป็นกรณีที่จำเลยต่อสู้คดี 33 คดี และกรณีที่จำเลยให้การรับสารภาพ 19 คดี โดยผลของคำพิพากษาโดยสรุป

  • ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำนวน 11 คดี
  • ศาลพิพากษายกฟ้องข้อหามาตรา 112 แต่ลงโทษในข้อหาอื่น โดยไม่รอลงอาญา จำนวน 3 คดี
  • คดีที่ศาลลงโทษจำคุก โดยไม่รอลงอาญา จำนวน 25 คดี
  • คดีที่ให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุก 11 คดี 
  • คดีที่ให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาให้รอการกำหนดโทษ 2 คดี

แนวโน้มคำพิพากษาในคดีที่เห็นว่ามีความผิด พบว่าศาลลงโทษกระทงละ 3-5 ปี แต่ส่วนใหญ่แล้ว (จำนวน 25 คดี) ศาลลงโทษกระทงละ 3 ปี ซึ่งเป็นโทษขั้นต่ำสุดที่ตัวบทกำหนด  ในส่วนคดีที่ถูกพิพากษาลงโทษมากที่สุดในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา คือคดีของ “บัสบาส” มงคล ที่จังหวัดเชียงราย ถูกพิพากษาจำคุกรวม 28 ปี จากข้อความจำนวน 14 กระทง ที่ศาลเห็นว่ามีความผิด

ในคดีส่วนใหญ่ ผู้ถูกกล่าวหายังได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณา แต่ก็มีผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาในคดีมาตรา 112 อยู่จำนวน 2 ราย ได้แก่ “วุฒิ” ผู้ถูกฟ้องคดีที่ศาลอาญามีนบุรี จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 12 ข้อความ และศาลไม่ให้ประกันตัวระหว่างพิจารณา และ “หยก” เยาวชนอายุ 15 ปี ผู้ต่อสู้โดยปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม ขณะที่ยังมีผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดแล้ว รับโทษอยู่ในเรือนจำอย่างน้อย 3 รายด้วย

ขณะเดียวกัน ในช่วงปีนี้ นอกจากนัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ของศาลชั้นต้นที่ทยอยติดตามมาในทุกๆ เดือน ในบางคดี คาดว่าจะทยอยมีคำพิพากษาในระดับศาลอุทธรณ์หรือกระทั่งศาลฎีกา และอาจนำไปสู่การคุมขังเพิ่มมากขึ้น หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายใดๆ ในอนาคต

—————–

ดูตารางสถิติคดี 112 หลังปี 2563 https://tlhr2014.com/archives/23983

ดูตารางสถิติคดีที่ศาลมีคำพิพากษา  https://tlhr2014.com/archives/46268

.

.

คดี ม.116 ชะลอตัว แต่ยังมีอีก 39 คดี ดำเนินอยู่ 

ข้อหา “ยุยงปลุกปั่นฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เป็นอีกข้อหาหนึ่งในหมวดความมั่นคงของรัฐ ที่ถูกนำมาใช้และพบปัญหาอย่างต่อเนื่องในรอบเกือบทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา ที่มีนักการเมือง สื่อมวลชน นักกิจกรรม และประชาชนหลายคนถูกกล่าวหาด้วยข้อหานี้ และต้องถูกพิจารณาพิพากษาคดีในศาลทหาร

ขณะที่ผลทางคดีมาตรา 116 ที่เกิดขึ้นในยุค คสช. พบว่าแนวโน้มส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 70 ศาลพิพากษายกฟ้อง หรืออัยการสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งล้วนชี้ให้เห็นการที่ทหาร-ตำรวจ ตีความข้อหานี้อย่างกว้างขวาง พยายามให้คุ้มครองไปถึงการแสดงออกโดยสงบในทางต่อต้านต่อคณะรัฐประหาร-รัฐบาล และนำมาใช้กล่าวหาหว่านแหต่อผู้แสดงออกทางการเมืองฝ่ายตรงข้าม

การบังคับใช้ดังกล่าว ยังดำเนินมาต่อเนื่องในช่วงการชุมนุมเยาวชนปลดแอกเป็นต้นมา โดยเฉพาะในช่วงกลางปี 2563 ที่มีการนำข้อหามาตรา 116 มาใช้ต่อแกนนำและผู้ร่วมปราศรัย ก่อนจะเพิ่ม “ยาแรง” ขึ้น โดยการนำมาตรา 112 กลับมาใช้ในช่วงปลายปี 2563 เป็นต้นมา หลังการชุมนุมเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เข้มข้นขึ้น ทำให้ข้อหามาตรา 116 แม้ยังมีการนำมาใช้กล่าวหาอยู่บ้าง แต่ก็เป็นไปอย่างประปราย 

เท่าที่ทราบข้อมูลตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2566 มีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 116 อย่างน้อย 130 คน ใน 40 คดี  โดยในจำนวนนี้มีถึง 24 คดี ที่เป็นการแจ้งข้อหามาตรา 116 คู่ไปกับมาตรา 112

ในจำนวนนี้ มีเพียงคดีเดียวที่คดีสิ้นสุดไปแล้ว เนื่องจากอัยการสั่งไม่ฟ้องคดี ได้แก่ คดีของผู้ถูกกล่าวหาเป็นแอดมินเพจกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย โพสต์ข้อความชวนให้ประชาชนไปร่วมชุมนุม 

ขณะที่คดีอีกอย่างน้อย 39 คดี ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่างๆ โดยแยกเป็นคดีที่อยู่ในชั้นศาลแล้ว 27 คดี และคดีที่อยู่ในชั้นสอบสวน 12 คดี

คดีจากการชุมนุมทางการเมืองสำคัญที่ถูกกล่าวหาเฉพาะข้อหามาตรา 116 เป็นข้อหาหลัก อาทิ คดีแกนนำ-ผู้ปราศรัย-นักดนตรี ผู้ขึ้นเวทีชุมนุมเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 คดียังอยู่ระหว่างรอฟังคำพิพากษาในวันที่ 12 มิ.ย. 2566 นี้, คดีจากการชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 อยู่ระหว่างรอการสืบพยาน, คดี “ครูใหญ่-จัสติน” ปราศรัยในการชุมนุมที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2563 อยู่ระหว่างรอการสืบพยาน รวมไปถึงคดีจากการชุมนุม 2 คดี ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีผู้กล่าวหา 9 คน และ 38 คน ตามลำดับ ที่คดียังคาอยู่ในชั้นสอบสวน

แม้คดีใหม่ๆ อาจมีไม่มากนัก แต่ปัญหาของตัวบทและการบังคับใช้ข้อหามาตรา 116 ยังดำรงอยู่ต่อไป และเปิดช่องให้รัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่รัฐนำมาใช้กล่าวหาต่อการแสดงออกทางการเมืองได้อีกในอนาคต

.

.

คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แม้พ้นช่วงโควิด แต่คดีอีกกว่า 525 คดี ยังไม่สิ้นสุด

แม้จะมีการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลงไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2565 แต่คดีจากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงสองปีครึ่งนับแต่ปี 2563 ก็ไม่ได้สิ้นสุดลงไปด้วย หากแต่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการยุติธรรมชั้นต่างๆ

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่เริ่มประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2563 จนถึงการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 30 ก.ย. 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมจำนวนอย่างน้อย 1,469 คน ใน 663 คดี ในจำนวนนี้เป็นเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 241 คน

จากสถิติดังกล่าว จนถึงต้นเดือนเมษายน 2566 มีคดีที่สิ้นสุดไปแล้วจำนวน 138 คดี เท่ากับมีคดีอีกกว่า 525 คดี ที่ยังไม่สิ้นสุดลง โดยแยกเป็น

  • คดีที่อยู่ในชั้นสอบสวน 299 คดี
  • คดีที่อยู่ในศาลชั้นต้น 143 คดี
  • คดีที่อยู่ระหว่างชั้นอุทธรณ์ หรือรอว่าจะมีการอุทธรณ์คดีหรือไม่ จำนวน 79 คดี
  • คดีที่อยู่ระหว่างชั้นฎีกา หรือรอว่าจะมีการฎีกาคดีหรือไม่ จำนวน 4 คดี
  • ในส่วนคดีที่สิ้นสุดไปแล้ว แยกเป็นคดีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง 40 คดี

สำหรับแนวโน้มคำพิพากษา ในคดีที่ต่อสู้คดี พบว่ามีคดีที่ศาลพิพากษายกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวน 63 คดี โดยแนวคำพิพากษาในหลายคดี เห็นว่าการชุมนุมยังเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ การชุมนุมเกิดในพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทสะดวก ผู้ชุมนุมมีการเว้นระยะห่าง ไม่ได้ถึงขนาดแออัดเต็มพื้นที่ มีการระวังป้องกันโรค และไม่ได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคจากการชุมนุม

ขณะที่มีคดีที่ต่อสู้คดี และศาลพิพากษาว่ามีความผิดอย่างน้อย 31 คดี (ในจำนวนนี้เป็นคดีที่ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น 2 คดี) สำหรับแนวโน้มการลงโทษ ศาลพิพากษาลงโทษปรับจำนวน 14 คดี รอการกำหนดโทษ 1 คดี พิพากษาให้มีโทษจำคุกจำนวน 16 คดี โดยส่วนใหญ่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ หากก็มีบางคดี ได้แก่ คดีคาร์ม็อบอุตรดิตถ์ หรือคดีของ “ภูมิ” เยาวชนร่วมชุมนุมคณะราษฎรอีสาน ที่ศาลพิพากษาจำคุกโดยไม่ให้รอการลงโทษ แต่ทั้งสองคดียังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คำพิพากษา

แม้แนวโน้มคดี ศาลจะมีคำพิพากษายกฟ้องมากกว่าราว 2 เท่า แต่คดีเหล่านี้ก็ต้องใช้ระยะเวลาในการต่อสู้ และจำเลยมีภาระต้องเดินทางมาต่อสู้ในกระบวนการอย่างต่อเนื่องหลายปี โดยหลายคนยังถูกกล่าวหาในหลายคดี ทำให้ต้องใช้ต้นทุนในการต่อสู้คดีจำนวนมาก

การชุมนุมในช่วงปี 2563-65 เป็นการแสดงออกตอบสนองต่อปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของไทย ทั้งการยุบพรรคอนาคตใหม่ ปัญหาสถานะบทบาทของสถาบันกษัตริย์และที่มาของรัฐธรรมนูญ ปัญหาการบริหารจัดการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลและการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงปัญหาการบริหารประเทศอื่นๆ ทำให้มีการชุมนุมจำนวนมากครั้ง และนำไปสู่การดำเนินคดีจากการชุมนุมมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ด้วย แม้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเลือกตั้งอีกครั้ง แต่หากไม่มีการยุติหรือเปลี่ยนแปลงแนวทางการดำเนินคดีเหล่านี้ หนึ่งในเงื่อนไขของความขัดแย้งทางการเมือง ก็มีแนวโน้มจะดำเนินต่อไป

———————-

ดูสถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลมีคำพิพากษาหรืออัยการสั่งไม่ฟ้อง https://tlhr2014.com/archives/41328

ย้อนอ่าน 9 ข้อสังเกต กับ 2 ปี การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อการชุมนุม https://tlhr2014.com/archives/41912

.

.

คดี พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ยังดำเนินอยู่อีก 44 คดี กลับมาใช้เป็นหลักหลังยุติสถานการณ์ฉุกเฉิน

พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เป็นตัวบทกฎหมายหลักในการดูแลจัดการต่อชุมนุมสาธารณะในประเทศไทย แต่ก็นำไปสู่การควบคุมการจำกัดการชุมนุมตั้งแต่ในช่วงยุค คสช. เป็นต้นมา รวมไปถึงถูกใช้ดำเนินคดีต่อผู้จัดและผู้เข้าร่วมการชุมนุม แม้สถานการณ์นี้จะลดลงในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ในปี 2563 เป็นต้นมา แต่ในปี 2566 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ก็กลับมาเป็นกฎหมายหลักในการดูแลการชุมนุมของรัฐ

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 2563 จนถึงวันที่ 10 เม.ย. 2566 มีผู้ถูกดำเนินคดีข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ อย่างน้อย 136 คน ในจำนวน 77 คดี

ในจำนวนนี้พบว่า คดีส่วนใหญ่เป็นเกิดจากการชุมนุมในช่วงปี 2563 ซึ่งมีความสับสนในการบังคับใช้กฎหมายซ้อนทับกันระหว่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ กับข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้พบว่ามีคดีที่มีการกล่าวหาข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ร่วมกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวน 41 คดี แม้ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ได้บัญญัติไม่ให้บังคับใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ก็ตาม แต่ตำรวจยังคงมีการกล่าวหาด้วยข้อหาจากกฎหมายสองฉบับนี้ซ้อนกัน 

ทั้งแนวคำวินิจฉัยของศาล ก็แตกต่างกันไป มีทั้งคดีที่ศาลพิพากษาเห็นว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไปด้วย หรือคดีที่ศาลยกฟ้อง เพราะเห็นว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่บังคับใช้ระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

โดยนับแต่ปลายปี 2565 ที่ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ไปแล้ว พบว่ามีคดีตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ เกิดขึ้นใหม่อย่างน้อย 2 คดี โดยเป็นกรณีจากการชุมนุมในช่วงสถานการณ์การประชุมเอเปค เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ซึ่งมีผู้ถูกดำเนินคดีรวมแล้วถึง 30 คน 

จากจำนวนสถิติคดีตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ดังกล่าว มีคดีที่สิ้นสุดไปแล้วจำนวน 33 คดี เท่ากับมีคดีอีกจำนวน 44 คดี ที่ยังไม่สิ้นสุด (แยกเป็นคดีในชั้นสอบสวน 8 คดี และคดีในชั้นศาล 36 คดี) โดยส่วนใหญ่เป็นคดีที่ถูกกล่าวหาพ่วงกับข้อหาอื่นๆ 

สถานการณ์การบังคับใช้และตีความ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ จะกลับมามีความสำคัญอีกครั้งในการใช้สิทธิเสรีภาพการชุมนุมของประชาชน โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้ง 2566 นี้ 

—————————-

ย้อนอ่านสภาพปัญหาของการบังคับใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 https://tlhr2014.com/archives/11258

.

X