เปิดคำฟ้อง 5 คดี 112 ในกลุ่มคดี “ล้อเลียนเสียดสี” ฉบับเต็ม: เมื่อการล้อเลียนถูกทำให้เป็นอาชญากรรม

“คดี 112” คือ คดีที่เนื่องมาจากการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า 

“ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” 

ในบริบทที่ประเด็นสถาบันกษัตริย์ถูกทำให้เป็นเรื่อง “ความมั่นคงของรัฐ” และถูกทำให้เป็นเรื่องอ่อนไหวในสังคมไทย ข้อหามาตรานี้จึงมีปัญหาทั้งในเชิงตัวบท การบังคับใช้ และอุดมการณ์ที่ผลักดันการบังคับใช้

ขณะเดียวกันการถูกตีความและนำมาใช้อย่างกว้างขวาง ประกอบกับการที่ผู้ใดก็สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้ของมาตรา 112 ท่ามกลางการพยายามควบคุมการแสดงออกเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ยังมีผลทำให้ปัจจุบันมีผู้ถูกดำเนินคดี 112 เป็นจำนวนมากทั่วประเทศ อย่างไม่เคยมีมาก่อน  

จากข้อมูลสถิติของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุม “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 ถึงปัจจุบัน (6 ต.ค. 2565) พบว่ามีนักกิจกรรมและประชาชนทั่วไปถูกกล่าวหาในคดี 112 อย่างน้อย 215 คน ในจำนวน 234 คดี โดยมีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นจำเลยในคดีดังกล่าวนี้กว่า 17 คน ในจำนวน 20 คดี

และจากจำนวนคดีทั้งหมดข้างต้นนี้สามารถอาจแบ่งคดีเป็นกลุ่มๆ โดยทางหนึ่งอาจจำแนกได้ตามพฤติการณ์ที่ถูกฟ้อง และหนึ่งในพฤติการณ์สำคัญที่นำไปสู่การดำเนินคดีคือ การแสดงออกในลักษณะล้อเลียนหรือเสียดสี 

.

อะไรคือล้อเลียนเสียดสี และการล้อเลียนเสียดสีทางการเมืองมีลักษณะอย่างไร?

ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี 2554 คำว่า “ล้อเลียน” หมายถึงการเอาอย่างเพื่อยั่วเย้าเล่น ขณะที่คำว่า “เสียดสี” หมายถึง อาการกระทบกระเทียบเหน็บแนม ดังนั้นแล้วอาจกล่าวได้ว่า ล้อเลียนเสียดสี เป็นคำกิริยาที่หมายถึง การกระทำต่างๆ เพื่อการกระทบกระเทียบหรือความบันเทิง  

สำหรับในบริบททางการเมือง ล้อเลียนเสียดสี และ/หรือ การล้อเลียนเสียดสี มีความหมายเทียบเคียงได้กับคำว่า parody และ euphemism ในภาษาอังกฤษ ที่หมายความอย่างคร่าวๆ ได้ว่าเป็นการกระทำหรือสร้างผลงานเพื่อเลียนแบบ ทำให้ขำขัน ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ต่องานต้นฉบับ โดยไม่ได้กล่าวถึงตัวต้นฉบับอย่างตรงไปตรงมา

จากบทสัมภาษณ์ของ ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ นักวิจัยประจำสถาบัน German Institute of Global and Area Studies (GIGA) และสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นว่าสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นขึ้นมาในการประท้วงของไทยนับตั้งแต่ช่วงหลังปี 2553 เป็นต้นมา คือ การใช้ความคิดสร้างสรรค์และอารมณ์ขันหลากหลายรูปแบบ ทั้ง parody และ euphemism โดยเฉพาะในช่วง คสช. ซึ่งระยะเวลาของพื้นที่การเมืองแบบปิด คนจึงหาช่องทางในการพูดถึงประเด็นทางการเมือง โดยการเสียดสี พูดแบบอ้อมๆ ใช้คำแทน ใช้สัญลักษณ์ 

ดร.จันจิรา กล่าวว่า “สิ่งที่น่าสนใจในการประท้วงที่เกิดขึ้น (หลังการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก) คือการใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างโดดเด่น เช่น ป้ายประท้วงที่เต็มไปด้วยการเสียดสี เล่นมุกตลก หรือรูปแบบการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ อาทิ การนัดไปชม ‘สวน’ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่มีการจัดต้นไม้เต็มพื้นที่อนุสาวรีย์จนทำให้ประชาชนเข้าไปใช้พื้นที่แสดงออกทางการเมืองไม่ได้ การนัดรวมตัวกันร้องเพลงการ์ตูนแฮมทาโร่ หลังโดนกล่าวหาว่าเป็นม็อบมุ้งมิ้ง หรือที่กลุ่มผู้สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศนัดต่อบทภาพยนตร์หอแต๋วแตก เพื่อผลักดันเรื่องสมรสเท่าเทียมเพิ่มเติมจากข้อเรียกร้องสามข้อ ซึ่งความคิดสร้างสรรค์และการเรียกเสียงหัวเราะเป็นอีกหนึ่งวิธีในการต่อสู้กับอำนาจรัฐ”

.

การล้อเลียนเสียดสีไม่ (ควรจะ) เข้าข่ายกระทำความผิดตาม ม.112

ทันทีที่คำพิพากษาของศาลอาญากรุงเทพใต้ในคดี 112 ของ “นิว” จตุพร แซ่อึง จากเหตุแต่งชุดไทยเดินแฟชั่นโชว์ในการชุมนุมที่หน้าวัดแขก ถนนสีลม ปรากฏสู่สังคม ก็ได้นำมาซึ่งกระแสวิพากษ์วิจารณ์และการตั้งคำถามด้วยความสงสัยว่า การแต่งกายด้วยชุดไทยกลายเป็นการกระทำความผิดที่เข้าข่ายมาตรา 112 ไปได้อย่างไร? 

หนึ่งในผู้ที่ทั้งตั้งคำถามและให้ความเห็นทางกฎหมายในเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจคือ ทนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ซึ่งให้ได้ข้อคิดเห็นต่อหลักการนิติศาสตร์ไว้ในบทสัมภาษณ์หนึ่งว่า

“ตามหลักการทางนิติปรัชญา หลักกฎหมายอาญา และหลักการแปลความตามมาตรา 112 ทั้งในคดีของ นิว จตุพร และคดีอื่นๆ อีกจำนวนมาก ซึ่งนอกจากจะต้องทำตามถ้อยคำในประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ศาลต้องตีความให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิประชาชนด้วยความเคร่งครัด มาตรา 112 นั้น มีองค์ประกอบความผิดทางกฎหมายอาญาอยู่ 3 ประเด็น คือ ‘ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย’ ต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการ 

ดังนั้น การตีความตามตัวบทกฎหมายอาญาซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหาหรือประชาชนนั้น จะต้องตีความโดยเคร่งครัด การแปลความมาตรา 112 ก็เช่นกัน นอกจากจะต้องทำตามถ้อยคำในประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ศาลต้องตีความให้มาตราดังกล่าวไปในทางที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิในการแสดงออกโดยสุจริตของประชาชน”

ในส่วนคดี 112 จากการแต่งชุดไทยของนิว จตุพร ทนายกฤษฎางค์เห็นว่า “ผมมองว่ากรณีที่วินิจฉัยว่าการล้อเลียนพระราชินีคือการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย เป็นเรื่องที่ผมรับไม่ได้ผมรู้สึกว่าเป็นการตีความตัวบทกฎหมายเกินเลยกว่าความเป็นจริง” 

จากบทสัมภาษณ์ดังกล่าวระบุว่า ในทัศนะของกฤษฎางค์มองว่าหากมาตรา 112 มีความประสงค์ที่จะคุ้มครองบุคคลทั้ง 4 ฐานะ คือ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการ ไม่ให้ถูกล้อเลียน เช่นนั้นแล้วก็ต้องบัญญัติเพิ่มเติมคำว่า ‘ล้อเลียน’ ไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มิฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นการ ‘ตีความเกินกว่าที่กฎหมายมีอยู่’ 

“เพราะฉะนั้น กรณีของนิว จตุพร ก็เหมือนกัน การที่ศาลอาญากรุงเทพใต้บอกว่าเป็นการล้อเลียน เข้ามาตรา 112 ผมเห็นว่า ยังไงมันก็ไปไม่ถึง” 

.

สืบเนื่องจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์และการตั้งคำถามในประเด็นดังกล่าวข้างต้น ศูนย์ทนายฯ จึงขอใช้ปรากฎการณ์นี้เป็นหมุดหมายสำคัญในการเผยแพร่ 5 ตัวอย่างคำฟ้องคดี 112 ในกลุ่มคดีที่มีลักษณะเป็นการล้อเลียนเสียดสี ฉบับเต็ม โดยได้รับอนุญาตแล้วจากจำเลยในคดี  ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นถึงขอบเขตอันกว้างขวางของการตีความพฤติการณ์ที่เป็นเหตุแห่งคดี ดังต่อไปนี้

1. คดีแต่งชุดไทยเดินแฟชั่นโชว์

เหตุแห่งคดี

สืบเนื่องจาก “นิว” จตุพร แซ่อึง แต่งกายด้วยชุดไทยจิตรลดาเข้าร่วมการเดินแฟชั่นโชว์ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563 หรือ #ม็อบ29ตุลา #ภาษีกู จากนั้น วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตต์ แอดมินเพจ #เชียร์ลุง ก็ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดี และในวันที่ 15 ก.ค. 2564 สุธรรม ศรีพิทักษ์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 2) ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยศาลรับฟ้องเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1265/2564 และให้ประกันตัว โดยวางหลักทรัพย์ประกันจำนวน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

อ่านฐานข้อมูล คดี 112 จตุพร-สายน้ำ (เยาวชน) ม็อบแฟชั่นโชว์ 29 ตุลา 

คำพิพากษา/ความคืบหน้าของคดี

การสืบพยานของคดีแต่งชุดไทยมีขึ้นเมื่อวันที่ 14, 17, 21-22 และ 24 มิ.ย. 2565 ณ ห้องพิจารณา 404 ศาลอาญากรุงเทพใต้ และนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 12 ก.ย. 2565 โดยศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี และมีความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ลงโทษปรับ 1,500 บาท ส่วนข้อหาอื่นๆ ให้ยกทั้งหมด โดยศาลระบุว่าจำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงเหลือจำคุก 2 ปี และปรับ 1,000 บาท โดยโทษจำคุกไม่รอลงอาญา 

ภายหลังฟังคำพิพากษา ทนายจำเลยได้ยื่นขอประกันตัว ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้ได้มีคำสั่งส่งคำร้องต่อไปยังศาลอุทธรณ์พิจารณา ทำให้นิว จตุพร ถูกส่งตัวไปคุมขังไว้ที่ทัณฑสถานหญิงกลางเพื่อรอฟังคำสั่ง เป็นเวลา 3 วัน 

ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2565 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวนิว จตุพร โดยระบุเงื่อนไขเช่นเดียวกันศาลชั้นต้น และตีราคาประกันเป็นวงเงินจำนวน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

ประเด็นสำคัญในบรรยายฟ้อง

สำหรับคดีแต่งชุดไทย ฝ่ายโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นจำนวน 4 ข้อหา ได้แก่ กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ข้อกำหนดและประกาศที่ออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6), พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ
ข้อกล่าวว่าในเรื่อง  ม.112 บรรยายว่าเนื่องมาจากพฤติการณ์ของจำเลยในวันเกิดเหตุ ซึ่งจำเลยได้ “แต่งกายด้วยชุดผ้าไหมไทยสีชมพู ถือกระเป๋าสีชมพู เดินก้าวช้าๆ บนพรมแดง” ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวถูกตีความว่า เป็นการแสดงออกหรือสื่อความหมายให้แก่ผู้ชุมนุม หรือประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นบุคคลที่สามเข้าใจว่า จำเลยนี้คือราชินีใน ร.10 ถือเป็นการล้อเลียน จาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์และราชินี ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้

.

.

2. คดี #กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ

เหตุแห่งคดี

สมบัติ ทองย้อย อดีตการ์ดเสื้อแดงที่เข้าร่วมเป็นการ์ดของผู้ชุมนุมคณะราษฎร ได้รับหมายเรียกให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาจาก สน.ทุ่งมหาเมฆ จำนวน 2 ข้อหา ได้แก่ มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560 กรณีโพสต์ข้อความ 3 ข้อความในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับพระราชดำรัสและการเสด็จเยี่ยมประชาชนของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 คดีนี้มี ศรายุทธ สังวาลย์ทอง เป็นผู้แจ้งความ 

อ่านฐานข้อมูล คดี 112 สมบัติ ทองย้อย ถูกกล่าวหาโพสต์ 3 ข้อความ ล้อเลียน-ใส่ความ ร.10

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2564 พนักงานอัยการ สำนักอัยการคดีพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 ได้ยื่นฟ้องสมบัติต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ใน 2 ข้อหาข้างต้น และศาลรับฟ้องเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 940/2564 โดยทนายความได้ยื่นประกันโดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท

คำพิพากษา/ความคืบหน้าของคดี

คดีนี้มีการสืบพยานขึ้นเมื่อวันที่ 8 – 11 และ 16 มี.ค. 2565 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ และมีนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 28 เม.ย. 2565 โดยศาลพิเคราะห์ว่าสมบัติมีความผิดตาม มาตรา 112 รวม 2 กรรม จากกรณีโพสต์ข้อความ “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ” ประกอบกับแปะคอมเมนต์ภาพบันทึกหน้าจอจากข่าวมติชนเกี่ยวกับบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่เข้ารับปริญญาทั้งคณะ เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2563 พร้อมกับอีก 2 ข้อความ ที่กล่าวถึงการทำตัวใกล้ชิดประชาชนและการแจกลายเซ็นของรัชกาลที่ 10 ซึ่งโพสต์เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563 รวม 2 กรรม ซึ่งศาลพิพากษาจำคุกกรรมละ 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี 

หลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น ศาลอาญากรุงเทพใต้ส่งคำร้องขอประกันตัวไปยังศาลอุทธรณ์ ทำให้สมบัติถูกส่งตัวต่อไปคุมขังไว้ยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อรอฟังคำสั่งของศาลอุทธรณ์ 

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2565 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา และแม้จะมีการยื่นขอประกันตัวอีกหลายครั้ง ศาลก็ยังไม่อนุญาต ทำให้ ณ ปัจจุบัน สมบัติถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาเป็นเวลาร่วม 5 เดือนแล้ว แม้จะได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาไปแล้วก็ตาม

ประเด็นสำคัญในบรรยายฟ้อง

ในคดี #กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ โจทก์ได้ฟ้องว่าสมบัติ ในฐานะจำเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยการโพสต์ข้อความทั้งหมด 2 ข้อความ คือ

  1. ข้อความว่า “ฝ่ายความมั่นคงเข้าคุยกับนักศึกษา มธ. เผยมีบัณฑิต 1 คณะ ไม่ขอรับปริญญาทั้งคณะ” และ “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ” โพสต์เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2563
  1. ข้อความว่า “เขาให้ลดงบประมาณที่เอาไปใช้จ่าย ไม่ใช่ลดตัวลงมาใกล้ชิดประชาชน เข้าใจอะไรผิดไหม เรื่องการลดตัวลงมาแนบสนิทชิดใกล้ประชาชนแบบที่เห็น แสดงให้เห็นว่ารู้ตัวสินะว่าคนเขาไม่เอาเลยต้องลงมาทําขนาดนี้ ถ้าจริงใจต้องทํามานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาทําเพื่อเรียกคะแนนนิยมกลับคืนมา แต่น่าจะช้าไปแล้วจริง ๆ ละครหลังข่าวชัด ๆ” และ “มีแจกลายเซ็นต์ด้วยเซเลปชัด ๆ” โพสต์เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563

โดยโพสต์ผ่านทางเฟซบุ๊ก ชื่อบัญชี “สมบัติ ทองย้อย” ซึ่งมีการตั้งค่าการเข้าถึงเป็นสาธารณะ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ มีเจตนาพาดพิงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นการจงใจเสียดสีพระมหากษัตริย์ จาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือกระทําให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท

.

.

3. คดีขายปฏิทินเป็ด

เหตุแห่งคดี

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน. หนองแชม ได้จับกุม “นายต้นไม้” (นามสมมติ) หนึ่งในแอดมินเพจ “คณะราษฎร” หลังจากติดตามสอดแนมเฟซบุ๊กเพจ “คณะราษฎร” แล้วพบว่ามีประกาศขายปฏิทินตั้งโต๊ะประจำปี 2564 ระบุข้อความ “ปฏิทินพระราชทาน รุ่นพิเศษ รวมทุกคำสอนของเรา” จึงทำการสืบสวนติดตามโดยสั่งซื้อสินค้าจำนวน 3 ครั้ง

จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ขอหมายศาลตรวจค้นบ้านพัก พร้อมยึดโทรศัพท์มือถือ ปฏิทินตั้งโต๊ะ และเหรียญที่ระลึก ก่อนจะควบคุมตัวนายต้นไม้ไปยัง สน.หนองแขม และแจ้งข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

และต่อมาเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2564 “พิชญ” อีกหนึ่งแอดมินเพจ ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ในคดีเดียวกัน 

อ่านฐานข้อมูล คดี 112 “นายต้นไม้ – พิชญ” ขายปฏิทินเป็ดเหลือง ถูกกล่าวหาล้อเลียน ร.10

คำพิพากษา/ความคืบหน้าของคดี

วันที่ 2 ก.ย. 2564 พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาตลิ่งชัน 1 ได้ยื่นฟ้องนายต้นไม้และพิชญในฐานความ ผิดร่วมกันหมิ่นประมาทกษัตริย์ จากกรณีจัดจำหน่ายปฏิทินตั้งโต๊ะรูปเป็ดสีเหลืองในเพจเฟซบุ๊ก “ราษฎร” ซึ่งเจ้าหน้าที่อ้างว่ามีภาพและข้อความที่เข้าข่ายล้อเลียน และหมิ่นประมาทกษัตริย์ และศาลอาญาตลิ่งชันรับฟ้องเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1132/2564

หลังศาลรับฟ้อง ได้อนุญาตให้ประกันตัวทั้งสองคนระหว่างพิจารณาคดี ให้วางหลักประกันเป็นเงินสดคนละ 210,000 บาท รวมเป็นจำนวน 420,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

ประเด็นสำคัญในบรรยายฟ้อง

ในเอกสารคำฟ้องบรรยายว่า นัทและพิชญ ได้ร่วมกันหมิ่นประมาทกษัตริย์ โดยการร่วมกันจำหน่ายปฏิทินที่มีข้อความและภาพที่หมิ่นประมาทกษัตริย์ ซึ่งปฏิทินนั้นมีข้อความว่า “ปฏิทินพระราชทาน รุ่นพิเศษ รวมทุกคำสอนของเรา” และรูปการ์ตูนเป็ดสีเหลือง และมีข้อความดังต่อไปนี้

  1. ในเดือนมกราคม 2564 มีข้อความว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” และ OK1 ห้อยที่คอรูปการ์ตูนเป็ดสีเหลือง และมีภาพการ์ตูนบนรูปสุนัขว่า “ทรงพระเจริญ”
  2. ในเดือนมีนาคม 2564 มีภาพการ์ตูนเป็ดสีเหลืองสวมถุงยางอนามัยที่หัว
  3. ในเดือนเมษายน 2564 มีข้อความว่า “รักคุณเท่าฟ้า” และรูปการ์ตูนเป็ดสีเหลืองขับเครื่องบิน โดยบนปีกเครื่องบินทั้งสองข้างมีข้อความว่า “SUPER VIP” 
  4. ในเดือนพฤษภาคม 2564 มีรูปการ์ตูนเป็ดสีเหลืองและตัวเลข 10 บนตัว พร้อมข้อความ “ไอโอนะ ยูโอไหม?”
  5. ในเดือนตุลาคม 2564 มีรูปการ์ตูนเป็ดสีเหลืองบนคอปรากฎข้อความ NO10 และ Fordad และ “พ่อบอกให้ทุกคนพอเพียง”​”ทรงนำเศรษฐกิจพอเพียงหล่อเลี้ยงชีวา”

นอกจากนี้ในตอนท้ายของคำฟ้อง ฝ่ายโจทก์ได้ขอคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวหรือประกันตัวไว้ด้วย โดยระบุว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูงและเกี่ยวเนื่องกับความมั่นคง

.

.

4. คดีแต่งครอปท็อปเดินห้างสยามพารากอน

เหตุแห่งคดี

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2563 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้จัดกิจกรรม #ใครๆก็ใส่ครอปท็อป หรือ #แต่งครอปท็อปเดินห้างสยามพารากอน เพื่อรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112  ในกิจกรรมนี้ นักกิจกรรมได้ร่วมกันใส่เสื้อครอปท็อปเดินบริเวณห้างสยามพารากอน เพื่อยืนยันว่าการสวมชุดครอปท็อปไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย หลังเกิดกรณีของ “สายน้ำ” (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 16 ปี ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เนื่องจากใส่ชุดครอปท็อปเดินแฟชั่นโชว์ที่ถนนสีลม พร้อมเขียนข้อความบนตัวเอง 

จากกิจกรรมดังกล่าว ได้มี ว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล สมาชิกกลุ่มไทยภักดี เข้าแจ้งความ และพนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดีในข้อหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กับนักกิจกรรมทั้งหมด 7 คน ได้แก่  “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก เบนจา อะปัญ และ “ป๊อกกี้” ภวัต หิรัณย์ภณ ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2564 ศาลอาญากรุงเทพใต้รับฟ้องคดีนี้ไว้เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1180/2564 

อ่านฐานข้อมูล คดี  112 กิจกรรม #ใครๆก็ใส่ครอปท็อป เดินพารากอน 20 ธันวา

นอกจากนี้ ยังมีนักกิจกรรมเยาวชนอีก 2 ราย คือ “ธนกร” (สงวนนามสกุล) และ “ณัฐ” (นามสมมติ) ซึ่งถูกดำเนินคดีจากกิจกรรมเดียวกัน หากแต่เป็นเยาวชนจึงจะถูกพิจารณาคดีแยกกัน โดยในวันที่ 26 พ.ย. 2564 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้รับฟ้องคดีของธนกรและณัฐ และกำหนดวันนัดสืบพยานในเดือน มิ.ย. 2566 

คำพิพากษา/ความคืบหน้าของคดี

สำหรับคดีแต่งครอปท็อปเดินห้างสยามพารากอนของศาลอาญากรุงเทพใต้ได้มีการตรวจพยานหลักฐานไปแล้วเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2565 และศาลได้นัดสืบพยานโจกท์-จำเลยในช่วงระหว่างเดือน เม.ย., พ.ค. และ มิ.ย. 2566

ประเด็นสำคัญในบรรยายฟ้อง

จากเอกสารคำฟ้องคดีนี้ระบุจําเลยทั้งห้า กับพวกอีก 2 คน ซึ่งเป็นเยาวชน ได้เป็นตัวการร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี ตามที่ได้สมคบเตรียมการและนัดหมายกันไว้ล่วงหน้า เพื่อแสดงกิจกรรมล้อเลียนดูหมิ่นและต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ และต่อต้านพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 โดยการแสดงบทบาทล้อเลียนดูหมิ่นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 และสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยวิธีการร่วมกันและแบ่งหน้าที่กันทํา ได้แก่ 

  1. ร่วมกันแต่งกายใส่ชุด Crop Top (ครอปท็อป หรือชุดเสื้อกล้ามเอวลอย) 
  2. ร่วมกันเขียนถ้อยคําหรือข้อความตามเนื้อตัวร่างกาย 
  3. ร่วมกันกล่าวคําพูดหรือถ้อยคํา แสดงบทบาท แสดงกิริยาอาการทางร่างกาย ใบหน้า และวิธีอื่นใดในทํานองเดียวกัน 

แล้วจำเลยกับพวกอีก 2 คนที่เป็นเยาวชนได้เดินวนเวียนไปมาที่บริเวณห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ซึ่งเป็นสถานที่ชุมนุมขนาดใหญ่ โดยอัยการอ้างว่าการกระทำดังกล่าว มีเจตนาแสดงออกและสื่อความหมายให้ประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นบุคคลที่สามเข้าใจว่า กลุ่มจําเลยทั้งห้ากับพวกได้ร่วมกันแสดงตนหรือบทบาทล้อเลียนดูหมิ่นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 พระราชินี และสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อให้ประชาชนเสื่อมความเคารพ ความศรัทธาต่อองค์พระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์

.

.

5. คดีใส่ครอปท็อปเดินแฟชั่นโชว์ (จำเลยเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี)

เหตุแห่งคดี

“สายน้ำ” เยาวชนนักกิจกรรมถูกแจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันกับนิว จตุพร จากเหตุเข้าร่วมเดินแฟชั่นโชว์ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563 หรือ #ม็อบ29ตุลา #ภาษีกู 

ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวระบุว่าสายน้ำแต่งกายด้วยชุดเสื้อกล้ามแบบครึ่งตัวสีดำ สวมกางเกงยีนส์ขายาว บริเวณผิวหนังด้านหลังปรากฏข้อความ “พ่อกูชื่อมานะ” “ไม่ใช่ วชิราลงกรณ์” ซึ่งปรากฏพระนามของรัชกาลที่ 10 เป็นการแสดงเจตนาให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกดูหมิ่น หรือเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์ ประกอบกับแสดงกิริยาท่าทางประกอบโดยการเดินบนพรมสีแดง โดยมีผู้ชุมนุมรอบข้างที่ชมการแสดงอยู่ตะโกนว่า “ทรงพระเจริญ” พร้อมทั้งแสดงท่าทางคล้ายการหมอบกราบ โดยมีเจตนาแสดงให้ประชาชนทั่วไปทราบว่าตนแสดงกิริยาท่าทางล้อเลียนกษัตริย์

อ่านฐานข้อมูล คดี 112 จตุพร-สายน้ำ (เยาวชน) ม็อบแฟชั่นโชว์ 29 ตุลา 

คำพิพากษา/ความคืบหน้าของคดี

ในวันที่ 29 ต.ค. 2564 พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 4 นัดสั่งฟ้องคดีของสายน้ำ ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง โดยศาลให้วางหลักทรัพย์ประกันตัวจำนวน 12,000 บาท ซึ่งครอบครัวได้ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ 

ต่อมาในวันที่ 20 ธ.ค. 2564 ซึ่งเป็นนัดสอบคำให้การ สายน้ำได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และต่อมามีการนัดหมายสืบพยานในช่วงเดือนธันวาคม 2565 – มกราคม 2566

ประเด็นสำคัญในบรรยายฟ้อง

ในคดีของสายน้ำ โจทก์บรรยายฟ้องว่า ตามวันและเวลาที่เกิดเหตุ จําเลยกับพวกได้ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ และพระราชินี โดยพวกของจําเลยได้แต่งกายด้วยชุดผ้าไหมไทยสีชมพู ถือกระเป๋าสีชมพู เดินก้าวช้าๆ บนพรมแดง ฝั่งถนนสีลมขาเข้า และขณะกําลังเดินไปมีพวกซึ่งเป็นชายแต่งกายชุดไทยนุ่งโจงกระเบน ถือร่มกางให้ ส่วนพวกของจําเลยอีกคนซึ่งเป็นหญิงที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ถือพานสีทองเดินตามหลังในระหว่างเดินบนพรมแดงดังกล่าว และพวกของจําเลยอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นหญิง ก็ได้ก้มลงมาหมอบกราบที่เท้าของจําเลย จําเลยจึงหยุดเดิน และหญิงที่สวมชุดผ้าไหมไทยสีชมพูได้ยื่นมือมาให้ผู้ชุมนุมได้จับ

ขณะที่ในส่วนของสายน้ำซึ่งเป็นจำเลยนั้น ได้ร่วมเดินบนพรมแดงฝั่งถนนสีลมขาออกโดยแต่งกายด้วยชุดครอปท็อปสีดํา (เสื้อกล้ามเอวลอย) สวมกางเกงยีนส์ขายาวใส่รองเท้าแตะ และเขียนข้อความที่ร่างกายบริเวณแผ่นหลังลงมาถึงเอวว่า “พ่อกูชื่อมานะ ไม่ใช่ (ชื่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน)” โดยก่อนที่สายน้ำจะเดินออกมา บุคคลซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใครที่ทําหน้าที่พิธีกรได้ประกาศว่า “เตรียมตัวหมอบกราบ” แล้วเมื่อสายน้ำเดินผ่านกลุ่มผู้ชุมนุม มีผู้ชุมนุมได้ตะโกนคําว่า “ทรงพระเจริญ” และ “ในหลวงสู้ ๆ” ซึ่งเป็นการแสดงออกหรือสื่อความหมายว่าสายน้ำเป็นพระมหากษัตริย์ มีกริยาและการแต่งกายดังกล่าว การแสดงกริยาและการเขียนข้อความพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในบริเวณร่างกายเป็นการกระทําที่ไม่เหมาะสม และมิบังควร

.

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-65

สถิติคดีมาตรา 112 ที่ศาลมีคำพิพากษา

.

X