ในรอบเดือนที่ผ่านมา (6 ก.พ. – 7 มี.ค. 2568) ยังมีผู้ต้องขังคดีทางการเมืองทั่วประเทศ อย่างน้อย 45 คน (เป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 29 คน) โดยไม่มีประชาชนถูกคุมขังตามมาตรา 112 เพิ่มในเดือนที่ผ่านมา
ในจำนวนนี้ แยกเป็นผู้ต้องขังที่ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี อย่างน้อย 27 คน ผู้ต้องขังที่คดีสิ้นสุดแล้ว 17 คน และยังมี เยาวชน 1 คน ถูกคุมขังในสถานพินิจฯ ตามคำพิพากษาของศาลเยาวชน
.
นับสถิติผู้ต้องขังเพิ่มเติม 3 ราย
ในเดือนกุมภาพันธ์ มีสถิติจำนวนผู้ต้องขังใหม่เพิ่มเติม 3 ราย ได้แก่ “พีรพงศ์” ประชาชนวัย 28 ปี ที่ถูกคุมขังระหว่างฎีกาคดีถูกกล่าวหาว่าร่วมขว้างปาวัตถุระเบิดใส่ป้อมตำรวจ บริเวณแยกอโศกมนตรี ใน #ม็อบ11ตุลา64 หลังถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 2 ปี 4 เดือน 15 วัน โดยเขาถูกจับกุมหลังไม่มาศาลในนัดฟังคำพิพากษาครั้งแรก และศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวเหมือนกับจำเลยที่ร่วมคดีอีกสองคน
อีกราย ได้แก่ “วีรวัฒน์” ประชาชนวัย 22 ปี ถูกคุมขังกรณีเกี่ยวกับการครอบครองวัตถุระเบิดในการชุมนุม #ม็อบ19กันยา64 คดีนี้เขาไม่ได้เดินทางมาตามนัดศาล ทำให้ถูกจับกุมในภายหลัง โดยทราบว่าเขาถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มานานกว่า 1 ปี แล้ว และศูนย์ทนายฯ เพิ่งทราบข้อมูลการถูกคุมขังในเดือนนี้ ตรวจสอบทราบว่าคดีของเขาถูกศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก 2 ปี 12 เดือน ไม่รอลงอาญา ไปเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2567
นอกจากนั้นยังมีกรณีของ “แบงค์ ณัฐพล” ที่ถูกคุมขังในคดีส่วนตัว และได้ยื่นถอนประกันตัวในคดีมาตรา 112 ของเขา กรณีโพสต์ภาพถือกระดาษข้อความหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งยังอยู่ระหว่างพิจารณาในศาลชั้นต้น ทำให้นับสถิติผู้ถูกคุมขังเพิ่มเติม
สถานการณ์การยื่นประกันตัวผู้ต้องขังในเดือนที่ผ่านมา ทนายความได้ยื่นประกันตัวไปอย่างน้อย 31 ครั้ง โดยมีการยื่นประกันตัวผู้ต้องขังชุดใหญ่ 16 คน ในช่วงวันวาเลนไทน์ แต่ก็ปรากฏว่าศาลมีคำสั่งยกคำร้องในทุกคดี ระบุคำสั่งไปในทิศทางเดียวกันว่า “เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี และไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม”
.
ศาลฎีกาพิพากษายืนคดี ม.112 ของ “กัลยา” 6 ปี ส่งผลให้เป็นผู้ต้องขังสิ้นสุด ส่วน “ธนพร” พบอาการชาครึ่งซีก เล็บม่วง การรักษาในเรือนจำล่าช้า
13 ก.พ. 2568 ศาลจังหวัดนราธิวาสเบิกตัว “กัลยา” (นามสมมติ) อดีตพนักงานบริษัทเอกชนจากจังหวัดนนทบุรี อายุ 30 ปี ไปฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา ในคดีตามมาตรา 112 โดยที่จำเลยไม่ทราบนัดล่วงหน้าและไม่ได้ส่งหมายนัดมายังทนายจำเลยเพื่อมาฟังคำพิพากษา ก่อนทราบว่าศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ลงโทษจำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา
ในกรณีของกัลยา ถือว่าเป็นผู้ต้องขังทางการเมืองที่ยืนยันต่อสู้คดีถึงที่สุด แม้เธอไม่เคยได้รับการประกันตัวเลยตั้งแต่ในชั้นอุทธรณ์ โดยเธอได้ยื่นประกันในระหว่างฎีการวม 4 ครั้ง และเคยเสนอหลักทรัพย์ประกันตัวสูงถึง 1,000,000 บาท และยินยอมให้มีการติดกำไล EM พร้อมทั้งยืนยอมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขศาลทุกประการ แต่ทุกครั้งศาลฎีกาก็ยังคงมีคำสั่งระบุเช่นเดิมว่า “พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบเหตุผลตามคำร้องแล้ว กรณียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง”
คำพิพากษาดังกล่าว ส่งผลให้กัลยากลายเป็นผู้ต้องขังคดีสิ้นสุด หากนับรวมวันที่ถูกคุมขังในเรือนจำจังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่ 20 ต.ค. 2566 จนถึงวันนี้ เป็นระยะเวลากว่า 1 ปี 3 เดือน แล้ว หากเธอต้องรับโทษจนครบตามคำพิพากษา จะต้องถูกคุมขังต่อไปอีก 4 ปี 8 เดือนเศษ หรือจะพ้นโทษในเดือนตุลาคมปี 2572
ในกรณีของ “ธนพร” เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2568 เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เข้าเยี่ยม “พลอย” ธนพร แม่ลูกอ่อนชาวอุทัยธานีวัย 24 ปี ซึ่งถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 อยู่ที่ทัณฑสถานหญิงธนบุรี มาตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค. 2567 หลังถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 2 ปี
แม้แต่เดิมเธอจะไม่มีโรคประจำตัว แต่ในช่วงเดือนมกราคม 2568 ธนพรพบว่าเธอมีอาการชาตั้งแต่ต้นคอลามไปถึงปลายนิ้วที่ซีกขวามาเป็นระยะเวลากว่า 1 เดือนแล้ว และเมื่อได้พบแพทย์ เธอกลับได้รับคำตอบจากหมอว่า “เธอเป็นไฮเปอร์รึเปล่า หรือเธออาจจะคิดไปเองว่าป่วย” ในวันนั้นธนพรไม่ได้รับการส่งตรวจเลือดหรือเขียนใบสั่งยาใด ๆ นั่นทำให้เธอยิ่งรู้สึกกังวลมาก และบอกว่าเธอจะพยายามลงชื่อเข้าคิวเพื่อให้ได้พบหมออีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่ทนายความทำหนังสือยื่นไปกับทางเรือนจำ เพื่อให้ตรวจสอบอาการธนพรอย่างละเอียด ปรากฏว่าธนพรได้ถูกส่งตัวไปรับการตรวจกับแพทย์อีกครั้งในเช้าวันที่ 20 ก.พ. ทันที และถูกส่งตัวไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา
ปัจจุบัน ธนพรถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานธนบุรี เป็นระยะเวลากว่า 9 เดือนแล้ว
.
“ขนุน สิรภพ” ประกาศประท้วงอดอาหารประท้วง ศาลยังไม่ให้ประกัน
ตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2568 “ขนุน” สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ ผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 ตัดสินใจประกาศประท้วงอดอาหาร โดยงดรับประทานอาหารและนม เริ่มต้นรับประทานเพียงน้ำเปล่าอย่างเดียว ปัจจุบันเขาถูกส่งตัวไปรับการดูแลที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ. 2568
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 21 ก.พ. ขนุนแจ้งกับทนายความว่าเขาจะเริ่มอดอาหารประท้วงการไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว โดยจะไม่ทานข้าว ไม่ทานนมและน้ำหวาน แต่ยังรับประทานน้ำเปล่าอยู่
ขนุนเห็นว่า เขาถูกคุมขังมาจะครบ 1 ปีแล้ว โดยแม้จะพยายามยื่นประกันตัวมาแล้วรวม 14 ครั้ง แต่ศาลยังคงไม่อนุญาตให้ประกันตัว ศาลฎีกายังคงมีคำสั่งไม่ให้ประกัน โดยระบุว่าศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเคยไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้ง เหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้เขารู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมเสมอมา ก่อนหน้านี้เขาต่อสู้คดีมาตลอด ไปตามนัดคดีทุกครั้ง และได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาไปแล้ว โดยในคดีมาตรา 112 หลายคดี แม้ศาลชั้นต้นลงโทษ แต่จำเลยก็ยังได้รับการประกันตัว จึงไม่ทราบว่าศาลใช้มาตรฐานเช่นใดในการวินิจฉัย
จากนั้น ขนุนยังอดอาหารต่อเนื่องเรื่อยมา จนวานนี้ (6 มี.ค.) อาการของเขาอยู่ในระดับทรงตัว แต่ค่าโพสแทสเซียมอยู่ในระดับต่ำที่ 3.5 ปัจจุบันเขาตัดสินใจขอรับน้ำตาลเข้าร่างกายแล้ว เพื่อให้สามารถใช้ชีวิต และพูดคุยกับครอบครัว รวมถึงเพื่อน ๆ ที่มาเยี่ยมเขาได้ หากเขาไม่ได้รับน้ำตาลจะไม่สามารถประคองสติ หรือพูดคุยกับใครได้รู้เรื่อง รวมถึงรับวิตามินหนึ่งและธาตุเหล็กเพิ่ม เพื่อป้องกันภาวะ Refeeding Syndrome ด้วย
ทนายความยังได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวขนุนไปเมื่อวันที่ 4 มี.ค. เป็นครั้งที่ 15 ต่อมา ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเช่นเดิม ระบุ พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหา พฤติการณ์แห่งคดี และโทษที่ศาลชั้นต้นลงแก่จำเลยที่ 1 ประกอบกับศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1 ในระหว่างอุทธรณ์อันเนื่องจากเกรงว่าจำเลยที่ 1 จะหลบหนีมาแล้วหลายครั้ง ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเจ็บป่วยนั้น กรมราชทัณฑ์สามารถดูแลจัดการให้ได้ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 55 และตามพฤติการณ์ยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
ระหว่างอดอาหาร เขายังพยายามเขียนแถลงการณ์ และจดหมายหลายฉบับ โดยเฉพาะต่อแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม เพื่อเรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัวของผู้ต้องขังทางการเมือง แต่ก็ไม่ยังคงไร้สัญญาณตอบกลับ
.
.
อัปเดตสถานการณ์ของ “ก้อง” อุกฤษฏ์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.ราม ที่รอสอบจบในเรือนจำ
เป็นเวลาเกือบ 1 ปี ที่ “ก้อง” อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล อายุ 24 ปี นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในคดีมาตรา 112 เขายังคงรอคอยโอกาสที่จะได้สอบให้จบการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิต
ตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ. 2567 ก้องถูกคุมขังเรื่อยมาโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว โดยเฉพาะการขอประกันครั้งที่ 6 แม้ขอวางหลักประกัน 4 แสนบาท ทั้งระบุความจำเป็นด้านการศึกษาและการสอบซ่อม เพื่อทำเรื่องขอจบการศึกษาต่อไป แต่ศาลยังคงไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยระบุคำสั่งแบบเดิมว่า “ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม”
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2567 สภานักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ทำหนังสือถึงคณบดีคณะนิติศาสตร์เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้ก้องสอบภายนอกมหาวิทยาลัย ใน 3 วิชาสุดท้าย และวันที่ 24 ธ.ค. 2567 ก้องต้องยื่นคำร้องด้วยตนเองขอสอบซ่อมภายในเรือนจำ แต่คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ก.บ.ม.ร.) ปฏิเสธคำขอดังกล่าว โดยไม่มีการให้เหตุผลประกอบ
สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดการรณรงค์ติดแฮชแท็ก #ก้องต้องได้สอบ ในสื่อโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะ X (ทวิตเตอร์) เพื่อเรียกร้องให้กรมราชทัณฑ์และมหาวิทยาลัยรามคำแหงจัดสอบให้กับก้อง
เมื่อวันที่ 24 ก.พ. รศ.จักรี ไชยพินิจ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา พร้อมด้วยนิติกร จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตรวจสอบกรณีของก้อง โดยให้เหตุผลการปฏิเสธการจัดสอบให้ก้องโดยสรุปว่า
1. ระเบียบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับสอบในเรือนจำ
2.หากอนุญาตให้ก้องสอบ จะต้องอนุญาตให้นักศึกษาทุกคนที่ขาดสอบด้วย โดยปีการศึกษาหนึ่งมีผู้ขาดสอบกว่า 20,000 คน จึงไม่สามารถทำตามความต้องการของคนใดคนหนึ่งได้ ไม่อย่างนั้นอาจเกิดความไม่เท่าเทียมได้
3. ราชทัณฑ์ไม่ใช่หน่วยงานภายใต้มหาวิทยาลัย ดังนั้นการสอบในเรือนจำต้องเกิดขึ้นจากข้อตกลงร่วมกับกรมราชทัณฑ์ หรือการจัดทำระเบียบใหม่เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ทางกรรมาธิการกฎหมายฯ ยังได้พยายามหาทางออกต่อกรณีดังกล่าว โดยเสนอให้ทางมหาวิทยาลัยเร่งจัดทำข้อตกลง (MOU) ในการจัดสอบร่วมกับกรมราชทัณฑ์ พร้อมทั้งสภานักศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหงยังพยายามติดตามกรณีนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ยังต้องจับตาสถานการณ์ต่อไป
.
กรมราชทัณฑ์ออกนโยบายย้ายนักโทษในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ พบนักโทษการเมืองถูกย้ายแล้ว 9 ราย
ตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. 2568 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับแจ้งว่ามีการเริ่มย้ายผู้ตัวผู้ต้องขังในคดีทางการเมืองจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปยังเรือนจำอื่น ๆ ทั่วประเทศ พร้อมการย้ายผู้ต้องขังทั่วไปด้วย โดยการโยกย้ายครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงการย้ายผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดแล้ว ซึ่งทางราชทัณฑ์เคยระบุว่าเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ แต่ผู้ต้องขังที่คดียังไม่สิ้นสุดก็ถูกย้ายไปด้วยเช่นกัน
ในวันที่ 4 มี.ค. 2568 เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ออกประกาศชี้แจง เรื่องการย้ายผู้ต้องขัง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายกรมราชทัณฑ์ ได้กำหนดให้เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเรือนจำสำหรับรองรับควบคุมผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี (Hub) ทุกประเภท
นโยบายดังกล่าว ส่งผลให้เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต้องย้ายผู้ต้องขังที่คดีเด็ดขาดแล้ว ไปควบคุมตัวที่เรือนจำอื่น ๆ แทน แต่ในความเป็นจริง กลุ่มผู้ต้องขังที่คดียังไม่สิ้นสุดเองก็ต้องถูกย้ายเช่นเดียวกัน ซึ่งส่งผลกระทบกับผู้ต้องขังทางการเมืองที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นจำนวน 9 คน โดยในทุกกรณีไม่มีการแจ้งญาติล่วงหน้า โดยสรุปได้แก่
- ผู้ที่ถูกย้ายไปเรือนจำกลางพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ ทีปกร ผู้ต้องขังในคดีตามมาตรา 112 ที่คดีสิ้นสุดแล้ว
- ผู้ที่ถูกย้ายไปเรือนจำกลางบางขวาง ได้แก่ คเชนทร์ , จักรี และ พีรพงศ์ ผู้ต้องขังคดีเกี่ยวกับวัตถุระเบิดช่วงการชุมนุมดินแดง, “ขุนแผน”เชน ชีวอบัญชา, วีรภาพ วงษ์สมาน และ อัฐสิษฎ ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112
- ผู้ที่ถูกย้ายไปเรือนจำกลางคลองเปรม ได้แก่ ขจรศักดิ์ ผู้ต้องขังคดีเกี่ยวกับวัตถุระเบิดช่วงการชุมนุมดินแดง และ ประวิตร ผู้ต้องขังคดีวางเพลิงช่วงการชุมนุมดินแดง
นโยบายล่าสุดของกรมราชทัณฑ์ ก็ส่งผลกระทบต่อครอบครัวผู้ต้องขังทางการเมืองโดยตรง โดยเฉพาะการเดินทางไปเยี่ยมผู้ต้องขังที่ถูกย้ายออกไปคุมขังในเรือนจำต่างจังหวัด ทำให้ญาติหลายคนไม่สามารถเดินทางไปเยี่ยมได้ รวมถึงมาตรฐานการให้ความช่วยเหลือ อันได้แก่ การสั่งอาหาร เครื่องอุปโภค บริโภคที่ไม่แน่นอนของแต่ละเรือนจำ ส่งผลให้ผู้ต้องขังทางการเมืองขอรับความช่วยเหลือได้ลำบากยิ่งขึ้นด้วย
.