กิ๊ฟ – ทีปกร ประชาชนอายุ 38 ปี ผู้ต้องขังระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษาในคดี ม.112 จากกรณีถูกฟ้องว่าโพสต์ข้อความและแชร์คลิปจากยูทูบ ตั้งคำถามถึงคุณค่าของสถาบันกษัตริย์ เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2563 และถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. 2566 ภายหลังศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) พิพากษาจำคุก 3 ปี โดยไม่รอการลงโทษและไม่มีเหตุให้ลดโทษ
“กิ๊ฟ” ทีปกร จบการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อนหน้าถูกคุมขังประกอบอาชีพหมอนวดอิสระ มีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นประชาชนธรรมดา ไม่ได้สังกัดกลุ่มการเคลื่อนไหวใด
ด้านทัศนคติและความคิดเห็นทางการเมือง ในอดีตทีปกรไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารปี 2549 และเมื่อปี 2553 เขาตัดสินใจเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงในช่วงเมษา-พฤษภา ในวันที่เกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมและสังหารหมู่เขาก็อยู่ด้วย ทีปกรเห็นคนถูกยิง เห็นคนตายต่อหน้าต่อตา จนกลายเป็นบาดแผลทางจิตใจของเขาด้วย
ในการเคลื่อนไหวระลอกใหม่ตั้งแต่ปี 2563 แม้ทีปกรจะไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมอย่างจริงจัง แต่ยังคงเห็นด้วยและสนับสนุนคนรุ่นใหม่อยู่เสมอ และบอกว่า หากประชาชนยังคงนิ่งเฉยอยู่ และไม่แสดงอะไรออกมาเลย ผู้มีอำนาจก็จะยิ่งนิ่งเฉยไปเรื่อยๆ การรัฐประหารจะเกิดขึ้นไม่จบไม่สิ้น ต่อให้อีกเป็นหนึ่งร้อยปีก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
ลูกชายต้องการพ่อ พ่อแม่ยังรอลูก
ทีปกรมีคนรักอีกหลายคนรออยู่ข้างหลัง เขาต้องทำหน้าที่เป็นทั้งพ่อและลูกในขณะเดียวกัน ทีปกรมีลูกชาย 1 คน อายุ 8 ขวบ มีบัตรประจำตัวผู้พิการประเภทที่ 7 เป็นความพิการทางออทิสติก ซึ่งเป็นมาตั้งแต่กำเนิด มีความบกพร่องในการควบคุมสภาวะอารมณ์และการจดจ่อ ทว่าด้านการเรียนรู้กลับก้าวกระโดดกว่าเพื่อนวัยเดียวกัน
ลูกชายของทีปกรต้องรับประทานยาและรับการบำบัดกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจิตแพทย์ได้ฝากความเห็นผ่านครอบครัวมาบอกทีปกรว่า กระบวนการรักษาจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากพ่อของเด็ก (ทีปกร) อยากให้พ่อมาเจอลูกเป็นประจำ จะช่วยให้อาการของเด็กดีขึ้นได้มาก เพราะเด็กต้องการพ่อ
ปัจจุบันลูกชายอาศัยอยู่กับอดีตภรรยาของทีปกร ซึ่งเธอก็เป็นผู้พิการเช่นเดียวกัน มีบัตรประจำตัวผู้พิการประเภทที่ 7 เป็นความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม ต้องรับประทานยาและเข้าการรักษาจากแพทย์เป็นประจำเช่นเดียวกัน แม้เธอจะสามารถทำงานได้ แต่ลำพังรายได้ก็ไม่เพียงพอต่อการยังชีพและรักษาตัวของทั้งสองแม่ลูก หากไม่มีรายได้ของทีปกรช่วยจุนเจือแล้วทั้งลูกชายและอดีตภรรยาก็จะมีความเป็นอยู่ที่ลำบากมากขึ้นด้วย
อีกด้านหนึ่งพ่อกับแม่ของทีปกรเองก็อายุมากแล้ว ไม่มีรายได้เป็นของตัวเอง โดยทั้งคู่อายุประมาณ 50 กว่าปีแล้ว เมื่อปี 2556 คุณพ่อต้องเข้ารับการผ่าตัดทำบอลลูนหัวใจ เพื่อรักษาภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ ในปีเดียวกันคุณแม่ต้องเข้ารับการผ่าตัดนำต่อมไทรอยด์ออก
ปัจจุบันทั้งสองยังคงต้องรับประทานยารักษาและเข้ารับการตรวจติดตามอาการจากแพทย์เป็นประจำ ร่างกายยังไม่แข็งแรงมากจึงไม่สามารถทำงานได้ ทีปกรเองมีหน้าที่ดูแลทั้งพ่อและแม่ รวมถึงพาทั้งสองไปพบแพทย์ตามนัดหมายด้วย
‘ร้านตัดผม’ ธุรกิจในฝันที่อาจไม่มีวันได้เปิด
ก่อนหน้านี้ ทีปกรประกอบอาชีพเป็นหมอนวดอิสระ เคยเปิดร้านนวดเป็นของตัวเอง แต่ต้องปิดตัวลงเพราะวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโควิด ไม่นานนี้ทีปกรตัดสินใจไปเรียนหลักสูตรเสริมสวยเกี่ยวกับทักษะ ‘การตัดผมชาย’ ระดับที่ 1 และกำลังจะสมัครเรียนต่อระดับที่ 2 เพื่อเตรียมตัวเป็น ‘ช่างตัดผม’ ประจำร้านของตัวเองที่มีครอบครัวช่วยลงขันสนับสนุนด้วย
ร้านตัดผมของทีปกรดำเนินไปถึงขั้นตอนการวางเงินมัดจำและทำสัญญาเช่าสถานที่แล้ว เขาและครอบครัวเช่าพื้นที่ไว้จำนวน 2 ล็อกในปั้มน้ำมันแห่งหนึ่ง ในสัญญาระบุว่าจะต้องเริ่มต้นดำเนินกิจการและจ่ายค่าเช่ารายเดือนในช่วงเดือนสิงหาคมนี้เป็นต้นไป เป็นเงินเดือนละ 8,000 บาท แต่เมื่อทีปกรยังถูกคุมขังอยู่ทำให้พื้นที่เช่าไม่สามารถประกอบธุรกิจใดได้ และอาจจะต้องจ่ายค่าเช่าไปโดยเปล่าประโยชน์
ชีวิตในเรือนจำของทีปกร
ทีปกรถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้ต้องขังคดีการเมืองอยู่จำนวนหนึ่ง แต่กระนั้นทีปกรก็ยังมีความเครียดพอสมควร กดดันเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมใหม่และเป็นกังวลเรื่องความเป็นอยู่ของครอบครัว ส่งผลต่อร่างกาย ทำให้มีอาการหน้ามืดบ่อย นอนไม่หลับ หายใจไม่ค่อยออก เจ็บหน้าอกเป็นระยะๆ
ทบทวนคดีความของทีปกร
คดีของทีปกรมี ‘กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม’ มอบอำนาจให้แจ้งความดำเนินคดีนี้ โดยกล่าวหาว่าทีปกรโพสต์ข้อความและแชร์คลิปจากยูทูบ ตั้งคำถามถึงคุณค่าของสถาบันกษัตริย์ เมื่อช่วงเดือน ต.ค. 2563
13 ส.ค. 2564 ช่วงประมาณ 6 โมงเช้า ทีปกรถูกตำรวจนอกและในเครื่องแบบจาก สน.นิมิตรใหม่ พร้อมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ราว 10 นาย เข้าค้นบ้านพักย่านคลองสามวา พร้อมหมายค้น โดยไม่มีทนายความร่วมกระบวนการด้วย
15 ก.พ. 2565 ชญาพร นาคะผดุงรัตน์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 ยื่นฟ้องคดีของทีปกรต่อศาลอาญา ในข้อหา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (3) ก่อนศาลอนุญาตให้ประกันตัวด้วยเงินสด 90,000 บาท
เม.ย. 2566 ศาลนัดสืบพยานรวมทั้งหมด 3 นัด เป็นการสืบพยานโจทก์จำนวน 7 ปาก ระหว่างวันที่ 18 – 19 เม.ย. และสืบพยานจำเลยจำนวน 1 ปาก ในวันที่ 20 เม.ย.
19 มิ.ย. 2566 ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี โดยไม่ลดโทษและไม่รอลงอาญา และต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คดี ทำให้ทีปกรถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมาตั้งแต่วันนั้น แม้จะยื่นประกันตัวหลายครั้งแล้ว แต่ศาลก็ยังคงยืนยันไม่ให้ประกันตัว
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
บทสัมภาษณ์ทีปกรก่อนศาลพิพากษา – “อุดมการณ์ผมไม่เปลี่ยนแปลง เหมือนเดิม และอาจจะเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ” — ชวนอ่านความคิดของ “ทีปกร” ผู้ถูกกล่าวหาในคดี 112 จากการตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์
บันทึกสืบพยาน – บันทึกสืบพยาน: “ทีปกร” โพสต์ตั้งคำถาม #กษัตริย์มีไว้ทำไม พร้อมแชร์คลิปวีดิโอประวัติศาสตร์ภาษีประชาชนสร้างชาติ สู้ว่าไม่เข้าข่าย ม.112