พฤษภาคม 2568: อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องคดี ‘พอล แชมเบอร์ส’ ขณะที่คดีอารยะขัดขืนเกณฑ์ทหารของ ‘เนติวิทย์’ ถูกสั่งฟ้องแล้ว

เดือนพฤษภาคม 2568 มีคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกทางการเมืองเพิ่มขึ้นใหม่ 3 คดี โดยมีคดีหนึ่งเป็นคดีข้อหามาตรา 112 ของประชาชนหนึ่งคนที่ถูกดำเนินคดีกรณีกล่าวข้อความเกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 เมื่อช่วงเดือน มี.ค. 2566 ส่วนอีกคดีหนึ่งคือคดีข้อหา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ของอดีตแรงงานบริษัทยานภัณฑ์จากกรณีการชุมนุมเรียกร้องค่าชดเชยตามกฎหมาย หลังถูกบริษัทยานภัณฑ์เลิกจ้างพนักงาน

นอกจากนั้นแล้ว สำหรับคดีมาตรา 112 ศาลชั้นต้นและศาลสูงมีคำพิพากษาในเดือนที่ผ่านมาออกมาอีกอย่างน้อย 5 คดี ซึ่งทุกคดีศาลลงโทษว่ามีความผิด แต่สำหรับคดีที่มีคำพิพากษาจากศาลฎีกา อย่างกรณีของ “ปณิธาน” (นามสมมติ) ซึ่งศาลฎีกายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา ทำให้คดีถึงที่สุด และปณิธานต้องถูกส่งตัวเข้าไปคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที

ส่วนคดีของ ดร.พอล แชมเบอร์ส ได้สิ้นสุดลงแล้ว หลังอัยการสูงสุดมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี เนื่องจากไม่ปรากฏว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความตามข้อกล่าวหา แต่อย่างไรก็ตาม การที่พอลถูกดำเนินคดีนี้ ทำให้เขายังคงสูญเสียงานที่มหาวิทยาลัยนเรศวร และถูกเพิกถอนวีซ่าการอยู่ในประเทศไทย ซึ่งยังต้องรอผลการอุทธรณ์คำสั่งต่อ

ส่วนในคดีข้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง มีคำพิพากษาอีกอย่างน้อย 3 คดี ในจำนวนนี้ มีคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของสองประชาชน กรณีทำกิจกรรมคาร์ม็อบอุตรดิตถ์ ศาลฎีกาพิพากษาแก้ให้จำเลยรายหนึ่งมีความผิด ลงโทษปรับ ส่วนอีกคนหนึ่งพิพากษายืนยกฟ้อง คดีนี้นับเป็นคดีชุมนุมทางการเมืองคดีแรกในช่วงโควิด-19 ที่ถูกกล่าวหาในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีคำพิพากษาในชั้นฎีกาออกมาเป็นคดีแรก

สำหรับการสั่งฟ้องคดี ในเดือนที่ผ่านมายังมีการสั่งฟ้องคดีทางการเมืองอีกอย่างน้อย 2 คดี ได้แก่ คดีอารยะขัดขืนการเกณฑ์ทหารของ “เนติวิทย์” ถูกสั่งฟ้องต่อศาลแขวงสมุทรปราการ ส่วนอีกคดีหนึ่งเป็นคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุม #ม็อบ16สิงหาไล่ล่าทรราช เมื่อปี 2564 ของ 4 นักกิจกรรม โดยศาลอนุญาตให้ประกันตัวหลังรับฟ้อง แต่หนึ่งในเงื่อนไขสำหรับการประกันตัว คือให้ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) แก่จำเลยทั้งสี่คน

.

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 จนถึงวันที่ 31 พ.ค. 2568 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,974 คน ในจำนวน 1,328 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงเดือนเมษายน 2568 แล้ว มีจำนวนคดีเพิ่มขึ้น 3 คดี 

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 4,051 ครั้ง

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 280 คน ในจำนวน 313 คดี (จำนวนนี้อย่างน้อย 166 คดี ถูกดำเนินคดีเนื่องจากประชาชนร้องทุกข์กล่าวโทษ)

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 156 คน ในจำนวน 55 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,466 คน ในจำนวน 675 คดี

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 194 คน ในจำนวน 107 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 211 คน ในจำนวน 235 คดี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 45 คน ใน 27 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 37 คน ใน 11 คดี

จากจำนวนคดี 1,328 คดีดังกล่าวมีจำนวน 715 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว (คดีบางส่วนไม่ได้สิ้นสุดลงทั้งคดี เช่น มีการอุทธรณ์คดีเฉพาะจำเลยบางคน แต่จำเลยบางคนคดีสิ้นสุดแล้ว) 

.

แนวโน้มการดำเนินคดีในช่วงเดือนพฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา มีสถานการณ์สำคัญดังต่อไปนี้

คดี ม.112 และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เพิ่มขึ้นอย่างละ 1 คดี 

ในเดือนที่ผ่านมามีคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นหนึ่งคดี โดยศูนย์ทนายฯ ได้รับรายงานว่ามีประชาชน 1 คน ถูกดำเนินคดีในข้อหา ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ’ จากกรณีกล่าวข้อความเกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 เมื่อช่วงเดือน มี.ค. 2566 ซึ่งในคดีนี้เป็นคดีที่มีประชาชนเป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีคดีจากการชุมนุมของอดีตแรงงานบริษัทยานภัณฑ์ เรียกร้องค่าชดเชยตามกฎหมาย ซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหา พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ซึ่งเข้ารับทราบข้อหาที่ สน.ดุสิต พร้อมกับกลุ่มพีมูฟ เดิมเข้าใจว่ามีคดีจากการชุมนุมของแรงงานยานภัณฑ์จำนวน 1 คดี (ผู้ต้องหาจำนวน 4 คน) แต่พบว่าพนักงานสอบสวนมีการแจ้งข้อหาต่อแกนนำ 1 คน เพิ่มอีก 1 คดี  ในข้อหาชุมนุมสาธารณะฝ่าฝืนคำสั่งห้ามชุมนุมในรัศมีไม่เกิน 50 เมตร รอบทำเนียบรัฐบาล จากการชุมนุมต่อเนื่องในช่วงเดือนมีนาคม 2568

นอกจากนั้น ศูนย์ทนายฯ ยังนับสถิติคดีตามมาตรา 116 เพิ่มเติมอีก 1 คดี เนื่องจากในคดีเดิม กรณีชุมนุม “เด็กพูดผู้ใหญ่ฟัง” ที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2563 ศาลจังหวัดอุบลราชธานีได้ให้แยกการสืบพยานของฉัตรชัย แก้วคำปอด และ วิศรุต สวัสดิ์วร ซึ่งถูกกล่าวหาข้อหาหลักมาตรา 116 ออกจากการสืบพยานของ “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ ซึ่งถูกกล่าวหาในข้อหาหลักทั้งมาตรา 112 และมาตรา 116 จากเดิมที่เคยพิจารณาร่วมกัน ทำให้นับสถิติเพิ่มอีก 1 คดี

.

.

ศาลพิพากษาคดี ม.112 ว่ามีความผิดทั้ง 5 คดี กรณีคดีของ ‘ปณิธาน’ สิ้นสุดแล้ว ต้องเข้าเรือนจำทันที

ตลอดเดือนพฤษภาคม 2568 ศาลมีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ออกมาอย่างน้อย 5 คดี เป็นคำพิพากษาชั้นฎีกา 1 คดี ชั้นอุทธรณ์ 3 คดี และศาลชั้นต้น 1 คดี ทุกคดีศาลลงโทษว่ามีความผิด ดังต่อไปนี้

คดีของ “แอมมี่” ไชยอมร และ “ฟ้า” พรหมศร นักกิจกรรมทางการเมือง ถูกดำเนินคดีจากการปราศรัยและร้องเพลงหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี เมื่อปี 2564 ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนยกฟ้องแอมมี่ ส่วนด้านฟ้าศาลพิพากษายืนจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา เนื่องจากเห็นว่ามีทัศนคติเป็นปรปักษ์ต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของประเทศไทย แต่ได้ประกันตัวในระหว่างชั้นฎีกา

ในคดีของ “ปณิธาน” (นามสมมติ) พ่อลูกอ่อนจากจังหวัดสระแก้ววัย 28 ปี ถูกดำเนินคดีจากการคอมเมนต์ข้อความในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” เมื่อปี 2564 โดยศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา เนื่องจากเห็นว่าพฤติการณ์ของคดีมีความร้ายแรง ทำให้คดีถึงที่สุด และปณิธานต้องถูกส่งตัวเข้าไปคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที

ส่วนในคดีของ “สมพล” (นามสมมติ) อดีตพนักงานบริษัทวัย 32 ปี กรณีปาสีใส่พระบรมฉายาลักษณ์ ร.10 ที่จังหวัดนนทบุรี เมื่อปี 2565 ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้จากเดิมที่ศาลชั้นต้นยกฟ้อง ม.112 เป็นลงโทษจำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา เนื่องจากเห็นว่าจำเลยปาสีใส่รูปในหลายท้องที่ มีเจตนาด้อยค่าพระเกียรติ

กรณีของพัชรพล (สงวนนามสกุล) ประชาชนวัย 28 ปี กรณีถูกดำเนินคดีจากการคอมเมนต์แสดงความคิดเห็นใต้โพสต์เกี่ยวกับการลงนามถวายพระพร ในเฟซบุ๊กของ ‘กรมประชาสัมพันธ์’ ซึ่งเดิมศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 3 ปี แต่อัยการได้อุทธรณ์เพิ่มเติมให้ศาลสั่งริบของกลางคือโทรศัพท์มือถือ และศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาให้ริบ

และในคดีของ “อานนท์ นำภา” ทนายความสิทธิมนุษยชนวัย 40 ปี ถูกดำเนินคดีจากการปราศรัยหน้า สน.บางเขน เมื่อปี 2563 ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา เนื่องจากเห็นว่าเห็นว่าใช้สิทธิเสรีภาพจะเป็นปฏิปักษ์ในทางใดกับสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ เชื่อว่าจำเลยกล่าวโดยมุ่งหมายให้เสื่อมเสีย และทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา

สำหรับคดีดังกล่าวนั้นเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 8 ของอานนท์ที่มีคำพิพากษา โดยปัจจุบันอานนท์มีโทษจำคุกรวมในทุกคดีสูงถึง 22 ปี 25 เดือน 20 วัน (หรือกว่า 24 ปี) ทุกคดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา ยังไม่สิ้นสุดลง

.

อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ม.112 ‘พอล แชมเบอร์ส’ เห็นว่าไม่ปรากฏว่าเป็นผู้โพสต์ ขณะที่เขายังสูญเสียงานที่มหาวิทยาลัยนเรศวร

ในเดือนที่ผ่านมา คดีมาตรา 112 ของ ดร.พอล แชมเบอร์ส (Dr.Paul Chambers) ได้สิ้นสุดลงแล้ว หลังจากสำนักงานอัยการสูงสุดมีหนังสือแจ้งคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี จากกรณีที่มีข้อความประชาสัมพันธ์งานเสวนาทางวิชาการปรากฏในเว็บไซต์ของ ISEAS–Yusof Ishak Institute ประเทศสิงคโปร์ โดยระบุว่าไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่ยืนยันว่า ดร.พอล เป็นผู้จัดทำข้อความตามเอกสารดังกล่าว หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ที่โพสต์ข้อความ จึงเห็นว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอในการฟ้องคดี

อย่างไรก็ตามสำหรับระยะเวลานับตั้งแต่วันที่ทราบว่าถูกศาลออกหมายจับจนถึงอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีรวมทั้งหมดเป็น 54 วัน ขณะที่ ดร.พอล ได้รับผลกระทบจากคดีทั้งการถูกคุมขังในเรือนจำ 1 คืน การถูกให้ใส่กำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) เป็นระยะเวลา 21 วัน การถูกเพิกถอนวีซ่า และการต้องสูญเสียงานที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งยังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คำสั่งต่อทั้งตำรวจตรวจคนเข้าเมืองและมหาวิทยาลัยนเรศวร

.

นอกจากนั้นในเดือนที่ผ่านมา ยังมีคำพิพากษาในคดีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองอีกอย่างน้อย 3 คดี ดังนี้

คดีของ “ฐาปนา” (นามสมมติ) เยาวชนวัย 20 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหาว่าร่วมกันขว้างปาระเบิด พลุ หนังสติ๊ก และสิ่งของต่าง ๆ ใส่อาคารที่ทำการสถานีตำรวจนครบาลพญาไท และวางเพลิงตู้จราจรแยกพญาไท หลังเวลาเคอร์ฟิว เมื่อคืนวันที่ 1 ต.ค. 2564 ในช่วงที่มีการชุมนุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง 

ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุก 5 ปี 6 เดือน แต่เปลี่ยนโทษจำคุกให้เป็นฝึกอบรมขั้นต่ำ 2 ปี และขั้นสูง 3 ปี ที่ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกรุณา ลดลงจากเดิมที่กำหนดไว้ 4 ปี และจ่ายค่าเสียหายทางแพ่งจำนวน 2,500 บาท ซึ่งปัจจุบัน (นับจนถึงวันที่ 6 พ.ค. 2568) เขาถูกคุมขังอยู่ที่บ้านกรุณาฯ มาแล้ว 404 วัน

.

ส่วนในคดีของ อนุรักษ์ แก้ไข และทองแสง ไชยแก้ว ถูกดำเนินคดีในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีการทำกิจกรรมคาร์ม็อบอุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 เมื่อเดือนที่ผ่านมา ศาลฎีกามีคำพิพากษาแก้ว่าเฉพาะอนุรักษ์มีความผิดตามฟ้อง ลงโทษปรับ 5,000 บาท และพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้ยกฟ้องทองแสง

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีดังกล่าวเป็นคดีชุมนุมทางการเมืองคดีแรกในช่วงโควิด-19 (ปี 2563-65) ที่ถูกกล่าวหาในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีคำพิพากษาในชั้นฎีกาออกมา

.

ส่วนคดีของ ดนตรี มีเท่า และ ปรณัท น้อยนงค์เยาว์ ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ทำให้เสียทรัพย์, ทำร้ายเจ้าพนักงาน, ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน และ ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปฯ จากกรณีชุมนุม #StandWithMyanmar หน้าสถานเอกอัครทูตเมียนมา เพื่อต่อต้านการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ในคดีนี้จำเลยทั้งสองคนให้การรับสารภาพ ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกคนละ 2 ปี 3 เดือน 15 วัน และปรับคนละ 45,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี

.

สำหรับสถานการณ์ด้านผู้ต้องขังทางการเมือง จนถึงปัจจุบัน (6 มิ.ย. 2568) มีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างน้อย 48 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ที่ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดีอย่างน้อย 27 คน โดยแนวโน้มมีผู้ถูกคุมขังซึ่งคดีสิ้นสุดแล้วเพิ่มมากขึ้น

ในเดือนที่ผ่านมา ทนายความได้ยื่นประกันตัวผู้ต้องขังชุดใหญ่ไปเมื่อวันที่ 14 พ.ค. และยื่นประกันตัวผู้ต้องขังบางส่วนไปเมื่อวันที่ 8 พ.ค. ซึ่งศาลมีคำสั่งยกคำร้องทั้งหมดทุกคดี  ไปในทิศทางเดียวกันและเหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมาคือ เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี และไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ทำให้ในเดือนที่ผ่านมายังไม่มีผู้ต้องขังรายใดที่ได้รับสิทธิประกันตัว

.

สั่งฟ้องคดี ‘เนติวิทย์’ เหตุอารยะขัดขืนเกณฑ์ทหาร – สั่งฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากชุมนุม #ม็อบ16สิงหาไล่ล่าทรราช ได้ประกันตัว แต่ให้ติดกำไล EM 

ส่วนคดีที่สั่งฟ้องใหม่ในเดือนที่ผ่านมา ยังมีอีกอย่างน้อย 2 คดี ในคดีแรกเป็นคดีของ ‘แฟรงค์’ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล พนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลแขวงสมุทรปราการ ในข้อหาหลีกเลี่ยงไม่เกณฑ์ทหาร ตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 45 จากเหตุเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2567 ที่เนติวิทย์ได้เดินทางไปสถานที่ตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ากองประจำการที่เทศบาลบางปู ก่อนอ่านแถลงการณ์อารยะขัดขืน ไม่เข้าร่วมกับการบังคับเกณฑ์ทหาร 

คดีนี้ต้องจับตาประเด็นการต่อสู้เรื่องการปฏิเสธการเกณฑ์ทหารโดยมโนธรรมสำนึกของจำเลย ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทยต่อไป โดยศาลนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐานต่อไปในวันที่ 9 มิ.ย. 2568

ส่วนอีกคดีหนึ่งเป็นคดีของ 4 นักกิจกรรม ได้แก่ “ยาใจ” ทรงพล สนธิรักษ์, นวพล ต้นงาม, พิมชนก จิระไทยานนท์ และ เจษฏาภรณ์ โพธิ์เพชร ถูกอัยการสั่งฟ้องคดีต่อศาลอาญาในข้อหาหลักตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และ 216 จากกรณีชุมนุม #ม็อบ16สิงหาไล่ล่าทรราช ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2564 หลังเหตุการณ์ผ่านมาเกือบ 4 ปีแล้ว 

หลังศาลอาญารับฟ้อง ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์คนละ 50,000 บาท และกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ สำหรับการประกันตัว ซึ่งในเงื่อนไขดังกล่าวคือให้ทั้งสี่คนต้องติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) อีกด้วย

ทั้งนี้ เป็นน่าสังเกตว่าในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 กลุ่มทะลุฟ้ามีการจัดการชุมนุมแทบจะรายวัน และเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหาในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นจำนวนมาก แต่แนวทางการพิจารณาของอัยการแตกต่างกันไป มีทั้งคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี โดยเห็นว่าการชุมนุมไม่มีสภาพแออัด เป็นเพียงขึ้นเวทีปราศรัยแสดงความคิดเห็นถึงข้อเรียกร้องที่ประชาชนสามารถกระทำได้ เช่น คดีชุมนุม #ศุกร์13ไล่ล่าทรราช บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หรือ คดีชุมนุม #ม็อบ18สิงหาไล่ล่าทรราช ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่ในบางคดีก็ยังคงสั่งฟ้องคดีอยู่

X