10 เม.ย. 2568 ที่ศาลจังหวัดพิษณุโลก “ดร.พอล แชมเบอร์ส” (Dr. Paul Chambers) นักวิชาการสัญชาติอเมริกัน ประจำสถานประชาคมอาเซียนศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้ต้องหาคดีตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความแนะนำงานเสวนาทางวิชาการในเว็บไซต์ของสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ซึ่งเป็นสถาบันวิชาการของสิงคโปร์ ได้เดินทางไปติด EM ตามเงื่อนไขของศาลหลังมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2568
.
ย้อนไปเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2568 ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งอนุญาตให้ประกัน ดร.พอล ในชั้นสอบสวน โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมกับกำหนดเงื่อนไขอีก 3 ประการ ดังนี้
- ให้ติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM)
- ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล ยึดหนังสือเดินทาง
- แต่งตั้งผู้กำกับดูแลในระหว่างปล่อยชั่วคราว
สำหรับการติด EM และแต่งตั้งผู้กำกับดูแล ให้นายประกันนำตัวผู้ต้องหามาดำเนินการในวันที่ 10 เม.ย. 2568 ก่อนเวลา 13.30 น. หากนายประกันไม่นำตัวผู้ต้องหามาดำเนินการดังกล่าวก็ให้ถือว่าผิดสัญญาประกัน
วันที่ 10 เม.ย. 2568 ดร.พอล พร้อมด้วยนายประกันจึงเดินทางไปที่ศาลจังหวัดพิษณุโลกเพื่อติด EM และแต่งตั้งผู้กำกับดูแล ซึ่งในการติด EM นั้น เจ้าหน้าที่ได้นำเอกสารแจ้งสิทธิผู้ต้องหาหรือจำเลยในการติด EM มาให้ ดร.พอล ลงชื่อ ซึ่งระบุให้ทราบถึงสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับการติด EM สำหรับตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางผู้ที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวดังนี้
- ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลโดยเคร่งครัด มิฉะนั้นอาจถูกออกหมายจับ
- การติด EM จะทำให้ศาลทราบถึงตำแหน่งที่อยู่ตลอดเวลา
- ต้องดูแลรักษา EM ไม่ตัด ทุบ ถอด ทำลาย เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล หากกระทำดังกล่าวจะต้องชดใช้ค่าเสียหาย
- หากมีปัญหาเกี่ยวกับ EM หรืออุปกรณ์เสริม หรือจะยกเลิกการติด จะต้องมาศาลเท่านั้น
- หากไม่มีสัญญาณจะต้องดำเนินการติดอุปกรณ์เสริมที่ภูมิลำเนาของตน
- ไม่สามารถเดินทางโดยเครื่องบินทั้งในและต่างประเทศได้
ในส่วนการแต่งตั้งผู้กำกับดูแลนั้น ศาลได้แต่งตั้งให้ผู้ใหญ่บ้านคนละตำบลกับที่พักปัจจุบันของ อ.พอล เป็นผู้กำกับดูแล มีหน้าที่สอดส่องดูแลพฤติกรรมและรับรายงานตัวแทนศาล โดยมีใบนัดให้ ดร.พอล รายงานตัวทุก 12 วัน รวม 7 ครั้ง ตามระยะเวลาที่พนักงานสอบสวนและอัยการมีอำนาจขอฝากขังในระหว่างการสอบสวน โดยเป็นการไปรายงานตัวกับผู้กำกับดูแล 5 ครั้ง อีก 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 4 และ 7 ต้องไปรายงานตัวที่ศาล
ซึ่งหากผิดเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น ดร.พอล อาจถูกศาลพิจารณาเพิกถอนสัญญาประกัน และถูกริบเงินประกันในทันที จึงมิได้เป็นการยืนยันว่า ดร.พอล จะไม่ถูกจับกุมกลับเข้าไปขังในเรือนจำแต่อย่างใด
.
พันธนาการ EM ที่ข้อเท้า เป็นอิสระแล้ว หรือเป็นเพียงคุกจำลอง ?
ก่อนหน้านี้ผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีการเมืองหลายคนได้รับการประกันตัวโดยมีเงื่อนไขให้ติด EM ซึ่งพบว่า การติด EM ก่อให้เกิดผลกระทบที่แตกต่างกันออกไป โดยส่วนใหญ่สิ่งที่พ่วงมาด้วยคือการก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวันในทุกมิติ แม้จะแลกมากับการที่ได้รับการประกันตัวก็ตาม จนอาจตั้งคำถามได้ว่ ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้รับการประกันตัวมาแล้ว ได้รับความเป็นอิสระจริงหรือไม่ และการกระทำดังกล่าวเป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบหรือไม่
จุดประสงค์ดั้งเดิมของการติด EM จะมุ่งเน้นไปที่นักโทษเด็ดขาดที่ได้รับการพักโทษและต้องควบคุมนอกเรือนจำเพื่อลดความแออัด จนกว่าจะพ้นโทษ ซึ่งการสั่งให้ติด EM กับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ยื่นคำร้องขอประกันตัว ขณะที่ยังอยู่ระหว่างการสอบสวน ยังไม่มีการสั่งฟ้อง หรือมีคำพิพากษาจากศาลแต่อย่างใด ดังเช่น กรณีของ ดร.พอล จึงต้องใช้ดุลยพินิจอย่างระมัดระวัง
แม้บางกรณีการยินยอมติด EM จะปรากฎในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของจำเลยคดีการเมือง เพื่อเป็นการยืนยันความบริสุทธิ์ใจว่าจะไม่หลบหนี แต่ศาลสามารถที่จะพิจารณาถึงสัดส่วนของความผิดและความสมเหตุสมผลของคำสั่งติด EM ได้ เพื่อลดผลกระทบและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้ที่ควรถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด นอกจากนี้ กรณีของ ดร.พอล เงื่อนไขประกันตัวที่ศาลกำหนดห้ามเดินทางออกนอกประเทศ และยึดพาสปอร์ตก็เพียงพอต่อการป้องกันการหลบหนีได้แล้ว
ทั้งนี้ จากการติดตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า ข้อจำกัดและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการติด EM ที่ข้อเท้า พอจะจำแนกได้เป็น 7 รูปแบบ ดังนี้
1. สายตาที่หวาดระแวง: ความเชื่อของคนในสังคมเกี่ยวกับ EM
เป็นที่เข้าใจโดยทั่วไปของคนในสังคมว่าผู้ที่มี EM ติดอยู่ที่ข้อเท้า จะต้องเป็นผู้ที่ถูกลงโทษหรือมีคดีความติดตัว อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปไม่อาจทราบได้ว่าบุคคลที่ติด EM นั้นต้องโทษหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในคดีประเภทใด แม้ว่าผู้ต้องหาในคดีการเมืองจะถูกแจ้งข้อกล่าวหาหรือสั่งฟ้องจากการแสดงออกทางการเมือง การมี EM ติดที่ขา อาจทำให้ผู้พบเห็นเข้าใจไปได้ว่าบุคคลดังกล่าวกระทำความผิดในคดีอุกฉกรรจ์ เช่น การฆ่าคนตาย หรือเป็นผู้ที่ได้กระทำความผิดไปแล้ว ทั้งที่ทั้งหมดยังเป็นผู้บริสุทธิ์ และยังอยู่ระหว่างต่อสู้คดี
EM จึงเป็นสิ่งที่สร้างความหวาดระแวงให้กับผู้ที่จะต้องเข้ามาปฏิสัมพันธ์ด้วย และสร้างความลำบากใจให้จำเลยหรือผู้ต้องหาที่จะต้องดำรงชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่น ทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยรู้สึกว่าตนถูกตีตราไปก่อนล่วงหน้าว่าเป็นผู้กระทำผิดไปแล้ว
นอกจากนั้น การติด EM ยังส่งผลไปยังการเปลี่ยนรูปแบบการแต่งตัวของผู้ต้องหาหรือจำเลย ในกรณีที่พวกเขารู้สึกกังวลเกี่ยวกับการที่ผู้อื่นจะมองเห็น EM ที่ข้อเท้า จึงจำต้องเลือกใส่กางเกงขายาวที่คลุมลงมาถึงข้อเท้าตลอดเวลา
.
2. หลากปัญหาทางเทคนิคที่เกิดขึ้นกับอุปกรณ์
ผู้ต้องหาและจำเลยจำนวนหนึ่งประสบปัญหาเชิงเทคนิคเกี่ยวกับการใช้ EM กล่าวคืออุปกรณ์ยังมีระบบที่ไม่สมบูรณ์มากนัก เนื่องจากเมื่อได้รับการติด EM แล้ว จำเป็นจะต้องมีการชาร์จแบตเตอรี่ทุก 4-5 ชั่วโมง หากปล่อยให้แบตหมดอาจจะถูกถือว่ามีเจตนาหลบหนี
อีกทั้ง ผู้ที่ถูกติด EM หลายคนยังประสบปัญหาไม่สามารถชาร์จแบตได้ เนื่องจากเกิดปัญหาขึ้นกับสายชาร์จที่ได้รับมา ซึ่งเป็นสายชาร์จแบบเฉพาะหรือเกิดปัญหาขึ้นกับตัวแบตเตอรี่ของ EM เอง ทำให้แบตหมดเร็วกว่าปกติ ทำให้ต้องมีภาระในการประสานงานนำเครื่องเข้าไปเปลี่ยนกับเจ้าหน้าที่ที่ศาล สร้างความไม่สะดวกในการต้องเดินทางไปศาลหลายต่อหลายครั้ง
ผู้ต้องหาบางส่วนยังประสบปัญหาในเรื่องการชาร์จแบตเตอรี่ขณะนอนหลับ เพราะอาจนำมาซึ่งความเสี่ยงเกี่ยวกับไฟฟ้าลัดวงจรได้ ผู้ที่ติด EM จึงเลือกที่จะใช้พาวเวอร์แบงค์ในการชาร์จไฟ และหากแบตเตอรี่ใกล้หมดขณะที่ยังอยู่นอกที่พักอาศัย บางคนอาจจำเป็นต้องเดินชาร์จแบตเตอรี่ด้วยสายที่ระโยงระยางไปมา ทำให้ตกเป็นเป้าสายตาของประชาชนทั่วไปโดยง่าย
.
3. ต้องดูแลสุขอนามัย: ปัญหาและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับผิวหนัง
EM เป็นอุปกรณ์ที่ถูกติดตั้งรอบข้อเท้าของจำเลยหรือผู้ต้องหาตลอด 24 ชั่วโมง โดยผู้ต้องหาส่วนหนึ่งประสบปัญหาเกี่ยวกับยางที่รัดอยู่รอบข้อเท้า เช่น เกิดอาการคันหรือแพ้ยางดังกล่าว ต้องหาผ้ามารองไว้ หรือต้องทาโลชั่นเพื่อทำให้ข้อเท้าถูกเสียดสีน้อยลง เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายที่อาจไม่เคยมีมาก่อนเกี่ยวกับการต้องดูแลผิวหนังที่เสียดสีอยู่กับอุปกรณ์ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังต้องคอยทำความสะอาดและรักษาความสะอาดอุปกรณ์ที่ติดอยู่ที่ข้อเท้าอย่างเสม่ำเสมอ
และเนื่องจาก EM มีแบตเตอรี่อยู่ด้านใน การชาร์จแต่ละครั้งจึงมีความร้อนเกิดขึ้นที่ข้อเท้า คล้ายกับการต้องพกโทรศัพท์แนบอยู่กับตัวตลอดเวลา
.
4. เวลาและค่าใช้จ่ายหากต้องเดินทางพุ่งสูงโดยไม่จำเป็น เพราะเดินทางโดยเครื่องบินไม่ได้
ผู้ติด EM ยังไม่สามารถขึ้นเครื่องบินได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลให้เหตุผลว่า การเดินทางโดยเครื่องบินทำให้สัญญาณของกำไลขาดหายไป อีกทั้ง EM เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งสัญญาณอยู่ตลอดเวลาไม่สามารถปิดได้ จึงอาจไปรบกวนสัญญาณของเครื่องบิน
เนื่องจากผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่สามารถเดินทางโดยเครื่องบินได้ ทำให้ต้องคิดเผื่อเวลาในการเดินทางโดยรถยนต์หรือรถสาธารณะ ซึ่งการเดินทางโดยรถสาธารณะเพิ่มความเสี่ยงทางด้านสุขภาพให้กับผู้ที่ต้องเดินทาง เนื่องจากใช้เวลาเดินทางนานกว่าการขึ้นเครื่องบิน และอยู่ในพื้นที่ที่แออัดมากกว่า
ขณะเดียวกันหากเลือกเดินทางโดยรถส่วนตัวเพื่อความสะดวกและความปลอดภัยทางด้านสุขภาพ ก็จะมีค่าใช้จ่าย เช่น ค่าน้ำมันและต้องใช้เวลาการเดินทางมากกว่าเครื่องบินหลายเท่า
5. ผลกระทบต่ออาชีพ: “ไม่มีงาน ก็หางานยาก มีงานทำ ก็ทำงานลำบาก”
ผู้ติด EM จำนวนหนึ่งประสบปัญหาในการหางานทำ เนื่องจากต้องทำงานที่สอดคล้องกับระยะเวลาที่ถูกกำหนดให้อยู่นอกบ้านได้อย่างจำกัด ผู้ว่าจ้างส่วนใหญ่อาจะมีแนวคิดที่ไม่ไว้วางใจผู้ที่มีคดีความหรือกำลังอยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดี โอกาสในการเข้าถึงอาชีพของผู้ที่ติด EM ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมืองจึงยากมากขึ้น
ผลกระทบเกี่ยวกับการประกอบอาชีพไม่ได้หรือประกอบอาชีพได้ไม่สะดวกเท่าเดิม นำมาซึ่งปัญหาใหญ่อย่างเรื่องเศรษฐกิจและปากท้องของครอบครัว เนื่องจากผู้ที่ถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่เป็นหัวหน้าหรือเสาหลักของครอบครัว การขาดผู้ที่ทำงานหาเงินจึงก่อให้เกิดปัญหาอีกหลายประการตามมา เช่น การที่บุตรไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือเนื่องจากไม่มีค่าเทอม อาหารการกิน สุขอนามัยของครอบครัวแย่ลง หรือกระทั่งมีเงินไม่พอในการจ่ายค่าเช่าบ้าน สุ่มเสี่ยงต่อการไม่มีที่อยู่อาศัย
.
6. ความกดดันทางจิตใจที่ถูกมองข้าม
แม้ EM เป็นอุปกรณ์ซึ่งมีน้ำหนักไม่มากนักราว 300 กรัม แต่ได้สร้างปัญหาหลากมิติให้เกิดแก่ผู้สวมใส่ อย่างที่ใครหลายคนคาดไม่ถึง โดยเฉพาะหากปัญหาข้างต้นทั้งหมดเกิดขึ้นกับคน ๆ เดียว ก็มักนำมาซึ่งความเครียดและความหดหู่อย่างมหาศาลให้แก่ผู้สวมใส่
ผู้ที่ต้องติด EM หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขารู้สึกว่าถูกจำกัดอิสรภาพทั้งที่ไม่ได้ถูกขังอยู่ในเรือนจำ การไม่สามารถเดินทางได้ตามที่ปรารถนา หรือไปในที่ที่อยากไปได้ตามปกติ ทำให้บางคนรู้สึกหดหู่ไม่น้อย ซึ่งความหดหู่และอึดอัดที่สะสมในชีวิตประจำวันซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน มีแนวโน้มจะนำไปสู่ความไม่มั่นคงทางอารมณ์
.
7. ติด EM 1 คน = ติด EM ทั้งครอบครัว
ปัญหาภายในใจของแต่ละคนที่ต้องแบกรับความรู้สึกกดดันจากการทำงานได้ยากขึ้น หรือหางานทำไม่ได้ อาจนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่แย่ลงกับคนรอบข้างหรือครอบครัว เนื่องจากครอบครัวเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับผู้ต้องหามากที่สุด จึงอาจมีการปะทะอารมณ์ระหว่างกันได้เสมอ ขณะเดียวกันก็อาจเป็นผู้แบกรับปัญหาทางจิตใจร่วมไปกับผู้ที่ถูกติด EM
อาจไม่ใช่ทุกครอบครัวที่จะให้การสนับสนุนและยินดีต้อนรับผู้ที่ถูกกล่าวหาดำเนินคดี แม้เป็นคดีจากการแสดงออกทางการเมืองก็ตาม การมี EM ติดที่ขาอาจตอกย้ำรอยร้าวระหว่างคนในครอบครัวให้ฝังลึกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในครอบครัวที่ไม่ได้มีความคิดเห็นทางการเมืองไปในทางเดียวกัน หรือแม้แต่ในกรณีที่ต้องพบปะญาติพี่น้องที่ไม่ได้มีความเข้าใจกันมากนัก
.
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
1 ปี ประกันตัวคดีการเมือง ถูกสั่งติด EM ไม่น้อยกว่า 54 คน พร้อมผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน