11 เม.ย. 2568 ในช่วงเช้า ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดพิษณุโลก ดร.พอล แชมเบอร์ส (Dr. Paul Chambers) นักวิชาการสัญชาติอเมริกัน ประจำสถานประชาคมอาเซียนศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความแนะนำงานเสวนาทางวิชาการในเว็บไซต์ของสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ซึ่งเป็นสถาบันวิชาการของสิงคโปร์ พร้อมด้วยทนายความ ได้เดินทางไปยื่นอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร หรือวีซ่า (VISA) แล้ว หลังจากได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งเพิกถอนเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2568
และในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ชุดสืบสวน สภ.เมืองพิษณุโลก ได้ขอเข้าตรวจค้นห้องทำงานของ ดร.พอล ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นครั้งที่ 2 โดยไม่ได้มีหมายค้นจากศาลมาด้วย ก่อนเดินทางกลับโดยไม่ได้ค้น หลังทนายความยืนยันให้มีหมายค้น
.
ยื่นอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนวีซ่า: ยืนยันว่าไม่มีพฤติการณ์เป็นเหตุที่ทำให้เพิกถอนวีซ่าได้ เนื่องจากคดีมาตรา 112 ยังอยู่ในชั้นสอบสวน ทั้งกระบวนการเพิกถอนวีซ่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย – รอติดตามคำสั่ง
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2568 ที่ ดร.พอล ได้รับหนังสือแจ้งการเพิกถอนวีซ่า ระบุว่า ผู้บัญชาการตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งเพิกถอนวีซ่า โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 36 ของ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 เนื่องจาก ดร.พอล เป็นผู้มีพฤติการณ์ต้องหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งเข้าลักษณะต้องห้ามมิให้เข้ามาในราชอาณาจักร ตามมาตรา 12 (8) ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว พร้อมทั้งระบุว่า หากประสงค์จะยื่นอุทธรณ์คำสั่ง ต้องยื่นอุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่ภายใน 48 ชั่วโมง ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 11 เม.ย. 2568 เวลา 16.00 น.
ช่วงเช้าของวันที่ 11 เม.ย. 2568 ทนายความ พร้อมด้วย ดร.พอล จึงได้เดินทางไปยื่นหนังสืออุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนวีซ่า ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดพิษณุโลก โดยเนื้อหาอุทธรณ์มีใจความสำคัญสรุปได้เป็น 4 ประเด็นดังนี้
1. ผู้บัญชาการตรวจคนเข้าเมือง ไม่มีอำนาจออกคำสั่งเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร
ตามคำสั่งของ สตม.ที่ 284/2552 เรื่อง มอบอำนาจการเพิกถอนการอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ได้มอบอำนาจตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ ให้แก่ผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 – 6 และผู้บังคับการกองกำกับการสืบสวนสอบสวน ภายในอำนาจหน้าที่
และตามแนวทางปฏิบัติการเพิกถอนวีซ่า ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ ข้อ 1. กำหนดให้เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบหลักฐานได้ความแน่ชัดว่าคนต่างด้าวมีพฤติการณ์สมควรเพิกถอนวีซ่า ให้ประมวลเรื่องและมีความเห็นเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึง ผบก.ตม. 1-6 หรือ ผบก.สส.สตม. แล้วแต่กรณี เพื่อสั่งเพิกถอนวีซ่า
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจึงไม่มีอำนาจตามคำสั่ง สตม.ที่ 284/2552 ที่จะมอบหมายให้แก่ผู้บัญชาการตรวจคนเข้าเมืองในการใช้อำนาจเพิกถอนวีซ่าของ ดร.พอล ได้ ดังนั้นผู้บัญชาการตรวจคนเข้าเมืองจึงไม่มีอำนาจในการสั่งเพิกถอนวีซ่า ของ ดร.พอล ได้เช่นกัน การมอบอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และการออกคำสั่งเพิกถอนของผู้บัญชาการตรวจคนเข้าเมือง จึงเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย
.
2. กระบวนการเพิกถอนวีซ่าไม่ชอบด้วยมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ
ในการตรวจและพิจารณาเกี่ยวกับคุณสมบัติต้องห้ามของบุคคลต่างด้าวที่จะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ นั้น ในมาตรา 19 วรรคสอง ได้ระบุไว้ว่า “เพื่อประโยชน์แห่งบทบัญญัติในวรรคหนึ่ง พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกบุคคลซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าถ้อยคำของบุคคลนั้นอาจเป็นประโยชน์แก่กรณีที่สงสัยให้มาสาบานหรือปฏิญาณตนและให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่”
แต่เจ้าหน้าที่กลับไม่เปิดโอกาสให้ ดร.พอล ซึ่งเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับเหตุที่สงสัยต้องห้ามไม่ให้เข้ามาในราชอาณาจักรไปให้ถ้อยคำ ทั้งที่ถ้อยคำดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่กรณีนี้ การดำเนินการของเจ้าหน้าที่จึงไม่เป็นไปตามคำสั่ง สตม.ที่ 284/2552 เรื่องต้องปฏิบัติไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ แนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง คำสั่งเพิกถอนวีซ่าของ ดร.พอล จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
.
3. การเพิกถอนวีซ่าตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง กำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบหลักฐานให้ได้ความแน่ชัด
แนวทางปฏิบัติในการเพิกถอนวีซ่าตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ ข้อ 1. กำหนดให้เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบหลักฐานได้ความแน่ชัดว่าคนต่างด้าวมีพฤติการณ์สมควรเพิกถอนวีซ่า ให้ประมวลเรื่องและมีความเห็นเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึง ผบก.ตม. 1-6 หรือ ผบก.สส.สตม. แล้วแต่กรณี เพื่อสั่งเพิกถอนวีซ่า
ดังนั้น การที่จะสั่งเพิกถอนวีซ่าของ ดร.พอล ได้ ต้องปรากฏว่าได้มีการ “ตรวจสอบหลักฐานให้มีความแน่ชัด” ว่ามีพฤติการณ์สมควรที่จะต้องเพิกถอนวีซ่า อย่างไรบ้าง
แต่ตามหนังสือแจ้งการเพิกถอนวีซ่าไม่ปรากฏว่ามีการ “ตรวจสอบหลักฐานให้ได้ความแน่ชัด” ว่า ดร.พอล มีพฤติการณ์ “เป็นที่น่าเชื่อว่า” จะเป็นบุคคลที่เข้าข่ายมาตรา 12 (8) อย่างไรบ้าง ที่จะเป็นเหตุในการเพิกถอนวีซ่า เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวระบุเพียงว่า เป็นผู้มีพฤติการณ์ ‘ต้องหา’ ว่ากระทำความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งคดียังอยู่ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน สภ.เมืองพิษณุโลก ประกอบกับ ดร.พอล ได้ให้การยืนยันว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโพสต์ข้อความและไม่ใช่แอดมินที่จะโพสต์ข้อความได้ตามที่ถูกกล่าวหา
ดังนั้น จึงยังไม่สามารถถือว่า เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบหลักฐานจนได้ “ความแน่ชัด” ว่า ดร.พอล มีพฤติการณ์สมควรเพิกถอนวีซ่า การเพิกถอนวีซ่าดังกล่าวจึงไม่สามารถกระทำได้
.
4. ดร.พอล ไม่มีพฤติการณ์อันเป็นเหตุให้เพิกถอนวีซ่า ตามมาตรา 12 (8) แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ
ตามมาตรา 12 (8) แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ กำหนดพฤติการณ์อันเป็นเหตุเพิกถอนวีซ่าไว้เป็นการเฉพาะว่า “ห้ามมิให้คนต่างด้าวซึ่งมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้เข้ามาในราชอาณาจักร … (8) มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเข้ามาเพื่อการค้าประเวณี การค้าหญิงหรือเด็ก หรือการค้ายาเสพติดให้โทษ การลักลอบหนีภาษีศุลกากร หรือเพื่อประกอบกิจการอันขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน…”
เมื่อพิจารณาพฤติการณ์ของ ดร.พอล ที่เดินทางเข้ามาและอาศัยอยู่ในประเทศไทยกว่า 30 ปี และปัจจุบันทำงานในตำแหน่งอาจารย์และที่ปรึกษาพิเศษด้านกิจการต่างประเทศของสถานประชาคมอาเซียนศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีงานหลักคือ การสอน การวิจัย และการบริการด้านการศึกษา ได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 10 นักวิจัยดีเด่นของมหาวิทยาลัยนเรศวรติดต่อกัน 5 ปี
ประการสำคัญ คดีที่ ดร.พอลถูกกล่าวหาว่าทำความผิดตามมาตรา 112 นั้น ดร.พอลยังเป็นเพียงผู้ต้องหา อีกทั้งยังให้การปฏิเสธ เนื่องจากไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา และมีความประสงค์จะสู้คดีต่อไป โดยคดียังอยู่ระหว่างการสอบสวน จึงได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง, ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และได้รับการคุ้มครองสิทธิที่จะไม่ถูกสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหรือองค์กรรัฐปฏิบัติเสมือนเป็นผู้กระทำความผิด อีกทั้ง ดร.พอล ไม่เคยมีพฤติการณ์ตามที่ระบุในมาตรา 12 (8) และไม่เคยกระทำความผิดอาญาใดมาก่อนทั้งในและนอกราชอาณาจักรไทย
ทั้งนี้ หลังได้รับอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองจะต้องดำเนินการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าว ซึ่งไม่มีกรอบเวลาแน่ชัด จึงยังคงต้องจับตาผลการอุทธรณ์ต่อไป อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ ดร.พอล ยังคงอยู่ในประเทศไทยได้ เนื่องจากตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดพิษณุโลกมีคำสั่งอนุญาตให้ประกัน ดร.พอล โดยให้วางเงินประกัน 300,000 บาท และให้มารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ทุก 30 วัน
.
ชุดสืบขอเข้าตรวจค้นห้องทำงาน ดร.พอล เป็นครั้งที่ 2 โดยไม่มีหมายค้น ทนายปฏิเสธกระบวนการ ก่อนตำรวจกลับโดยไม่ได้ค้น
ย้อนไปเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2568 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองพิษณุโลก พร้อมหมายค้นศาลจังหวัดพิษณุโลก ได้เดินทางเข้าขอตรวจค้นห้องทำงานของ ดร.พอล ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และตรวจยึดสิ่งของไปแล้วรวม 4 รายการ ได้แก่ คอมพิวเตอร์, อแดปเตอร์, เมาส์ และคีย์บอร์ด
ต่อมา วันที่ 11 เม.ย. 2568 เวลา 15.00 น. มีรายงานว่า ชุดสืบสวน สภ.เมืองพิษณุโลก แจ้งทางโทรศัพท์ว่า จะเข้าไปขอตรวจค้นห้องทำงานของ ดร.พอล เป็นครั้งที่ 2 ทนายความจึงเดินทางไปเข้าร่วมกระบวนการดังกล่าว
เวลา 15.14 น. ตำรวจเดินทางไปถึงคณะสังคมศาสตร์โดยไม่มีหมายค้นมาด้วย โดยอ้างว่า ในการตรวจค้นครั้งก่อนได้รับความยินยอมจากมหาวิทยาลัย จึงเป็นอำนาจตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และเดินทางมาอีกครั้งในวันนี้ แต่ทนายความยืนยันกับตำรวจว่า ต้องมีหมายค้นจากศาลมาด้วย ทำให้ตำรวจเดินทางกลับไป
ตำรวจชุดเดิมกลับมาอีกครั้งในเวลา 16.30 น. โดยอ้างว่า ได้ประสานรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร ขอความยินยอมให้มาเปิดคอมพิวเตอร์เครื่องเก่าของ ดร.พอล ซึ่งเป็นทรัพย์สินของทางมหาวิทยาลัยแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ไม่พบว่ามีหนังสือแสดงความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร
จากนั้นในเวลา 17.35 น. หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเจรจากับทางมหาวิทยาลัยนเรศวรอีกครั้ง ก็เดินทางกลับไปโดยไม่ได้มีการเข้าค้นแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ การเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทําความผิด พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะต้องได้รับคำสั่งอนุญาตจากศาลก่อน แต่ตำรวจที่เข้าตรวจค้นวันนี้ไม่มีคำสั่งศาลมาแสดง นอกจากนี้ ชุดสืบสวน สภ.เมืองพิษณุโลก ก็ไม่ใช่เจ้าพนักงาน ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วย
.
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง