เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2568 ดร.พอล เวสลีย์ แชมเบอร์ส (Dr. Paul Wesley Chambers) นักวิชาการสัญชาติอเมริกัน ซึ่งประจำอยู่ที่สถานประชาคมอาเซียนศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14(1) หลังจากรับทราบว่ามีหมายจับ และถูกนำตัวไปฝากขังต่อศาลจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งศาลอนุญาตให้ฝากขัง และยกคำร้องขอประกันตัว ดร.พอล 2 ครั้ง ทำให้ ดร.พอล ต้องเข้าเรือนจำจังหวัดพิษณุโลกทันที
ต่อมาวันที่ 9 เม.ย. 2568 ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมกับให้ติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) นอกจากนี้ยังกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล ยึดหนังสือเดินทาง และตั้งผู้กำกับดูแลในระหว่างปล่อยชั่วคราว
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผู้บัญชาการตรวจคนเข้าเมืองได้มีคำสั่งเพิกถอนวีซ่าของ ดร.พอล แล้ว ดร.พอล จึงถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองควบคุมตัวไว้ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดพิษณุโลก กระทั่งราว 0.40 น. ของวันที่ 10 เม.ย. ตรวจคนเข้าเมืองฯ มีคำสั่งอนุญาตให้ประกัน ดร.พอล โดยให้วางเงินประกัน 300,000 บาท และให้มารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ทุก 30 วัน ทำให้ ดร.พอล ได้รับการปล่อยตัวในช่วงกลางดึก หลังถูกคุมขังรวม 2 วัน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นองค์กรให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับ ดร.พอล และประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก มีความห่วงกังวลต่อคดีมาตรา 112 ต่อ ดร.พอล ดังต่อไปนี้
1) คดีนี้ ดร.พอล ถูกกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2567 ผู้ต้องหาได้โพสต์ข้อความลงบทความภาษาอังกฤษในเว็บไซต์ของ ISEAS สถาบัน Yusof Ishak เชิญชวนให้ผู้ที่สนใจเข้าฟังสัมมนาออนไลน์ หัวข้อเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนตำแหน่งผู้นำในกองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติในวันที่ 1 ต.ค. 2567 ดร.พอล ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และยืนยันว่าตนเองไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว และไม่ได้เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์นี้ และไม่ใช่แอดมินที่จะมีอำนาจโพสต์ข้อความได้
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีความเห็นว่า การดำเนินคดีกับ ดร.พอล ในลักษณะดังกล่าว เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งได้รับการคุ้มครองภายใต้มาตรา 34 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 และข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ที่ประเทศไทยได้เข้าไปเป็นภาคี และมีพันธกรณีต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพภายใต้ ICCPR ปัจจุบันประเทศไทยเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญของคณะมนตรีฯ เคยส่งหนังสือถึงรัฐไทยและออกแถลงการณ์ยืนยันว่าการดำเนินคดีภายใต้มาตรา 112 ขัดและแย้งกับหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
ดร.พอล เป็นนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนและทหาร (civil-military relations) มีผลงานวิจัยและบทความทางวิชาการมากมายเกี่ยวกับกองทัพไทย จึงเป็นที่น่าห่วงกังวลว่าคดีนี้มีกองทัพภาคที่ 3 เป็นผู้แจ้งความกล่าวโทษกับ สภ.เมืองพิษณุโลก อีกทั้งในวันที่ 25 ต.ค. 2567 หรือ 2 สัปดาห์หลังจากงานสัมมนาออนไลน์ได้เสร็จสิ้นลง อธิการบดีมหาวิทยาลันเรศวรได้รับหนังสือจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 เพื่อขอตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับ ดร.พอล อย่างละเอียด การดำเนินคดีกับ ดร.พอล อาจสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว ทำให้ประชาชนและนักวิชาการกังวลที่จะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับทหารหรือกองทัพอย่างตรงไปตรงมา
2) การไม่อนุญาตให้ประกันตัว ดร.พอล โดยศาลจังหวัดพิษณุโลกในวันที่ 8 เม.ย. 2568 ซึ่งส่งผลให้ ดร.พอล ต้องเข้าเรือนจำจังหวัดพิษณุโลก ขัดกับหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาในคดีอาญาเป็นผู้บริสุทธิ์ (presumption of innocence) จนกว่าจะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลได้กระทำความผิด (มาตรา 29 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560) ดร.พอล ไม่เคยกระทำความผิดทางอาญามาก่อน และไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ในทางตรงกันข้าม ดร.พอล มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง อาศัยอยู่ในประเทศไทยมายาวนานกว่า 30 ปี มีอาชีพการงานมั่นคง
ความเห็นทั่วไปที่ 35 เกี่ยวกับเสรีภาพของบุคคล ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) ได้อธิบายสิทธิในการประกันตัวไว้ว่า การคุมขังบุคคลก่อนหรือระหว่างการพิจารณาคดีควรเป็นข้อยกเว้น ไม่ใช่กฎทั่วไป (exception rather than the rule) การคุมขังดังกล่าวจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็น (necessary) เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ไม่ให้ผู้ต้องหาหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือเพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำความผิดซ้ำ ไม่เพียงเท่านี้ คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการขององค์การสหประชาชาติ (UN Working Group on Arbitrary Detention) ได้มีความเห็นส่งถึงรัฐไทยแล้วมากกว่า 10 ครั้ง ว่าการคุมขังภายใต้มาตรา 112 ขัดและแย้งกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งให้ประกันตัว ดร.พอล วันที่ 9 เม.ย. 2568 เป็นการยืนยันหลักกฎหมายที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขการประกันตัวที่ศาลกำหนดเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของ ดร.พอล เกินสมควรแก่เหตุ ดร.พอล เป็นเพียงผู้ต้องหาคดีอาญาที่ยืนยันว่าไม่ได้โพสต์ข้อความตามที่ถูกกล่าวหา ไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนีหรือเป็นอันตราย เงื่อนไขประกันดังกล่าวจึงเป็นการสร้างภาระต่อ ดร.พอล ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและการงานอย่างเกินความจำเป็น
3) นอกจากนี้ วันที่ 9 เม.ย. 2568 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการตรวจยึดคอมพิวเตอร์ของ ดร.พอล จากห้องทำงานคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีหมายค้น อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 11 เม.ย. 2568 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามเข้าตรวจค้นที่ห้องทำงาน ดร.พอล คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรอีกครั้ง โดยปราศจากหมายค้น และอ้างความยินยอมของรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งคดีดังกล่าวเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ การยึดและอายัดระบบคอมพิวเตอร์ จะทำได้โดยมีหมายจากศาลและดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งเท่านั้น
4) วันที่ 9 เม.ย. 2568 หรือเพียงหนึ่งวันหลังจากถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 ผู้บัญชาการตรวจคนเข้าเมืองมีคำสั่งเพิกถอนวีซ่าของ ดร.พอล โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 36 ของพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 เนื่องจาก ดร.พอล เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามมาตรา 12(8) ซึ่งบัญญัติไม่ให้บุคคลมี “มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเข้ามาเพื่อการค้าประเวณี การค้าหญิงหรือเด็ก การค้ายาเสพติดให้โทษ การลักลอบหนีภาษีศุลกากร หรือเพื่อประกอบกิจการอื่นที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” เข้ามาในประเทศไทย
ดร.พอล ถูกเพิกถอนวีซ่าเพียงเพราะเป็น “ผู้ต้องหา” คดีมาตรา 112 ยังไม่มีคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ ดร.พอล เป็นนักวิชาการและอาจารย์ที่สถานประชาคมอาเซียนศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในแวดวงวิชาการ ไม่มีการ “ประกอบกิจการอื่นที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” แต่อย่างใด เพราะเหตุนี้ การเพิกถอนวีซ่าของ ดร.พอล จึงขัดกับหลัก presumption of innocence และหลักความได้สัดส่วน (proportionality) เนื่องจากการเพิกถอนวีซ่าทำให้ ดร.พอล ไม่สามารถทำงานในประเทศได้ ไม่สามารถเป็นที่ปรึกษาให้กับนักศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับ ดร.พอล เพียงเพราะถูก “กล่าวหา” ว่ากระทำความผิดมาตรา 112
การดำเนินคดีมาตรา 112 กับ ดร.พอล นับเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงในการบังคับกฎหมายกับประชาชนผู้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก นับตั้งแต่กรกฎาคม 2563 มีประชาชนถูกดำเนินคดีมาตรา 112 กว่า 279 คน จาก 312 คดี โดย ดร.พอล เป็นชาวต่างชาติรายแรกจากจำนวนดังกล่าว
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขอเรียกร้องให้รัฐไทยประกันสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม บุคคลพึงได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งหมายความรวมถึงการได้รับสิทธิในการประกันตัว และไม่พึงกำหนดเงื่อนไขในการประกันตัวเกินกว่าความจำเป็น รวมถึงเคารพเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพทางวิชาการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ประชาชนทั่วไปและนักวิชาการต้องสามารถทำการศึกษาและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะได้อย่างไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะถูกดำเนินคดี สังคมประชาธิปไตยมิอาจเกิดขึ้นจริงได้ หากกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายยังถูกใช้เป็นเครื่องมือจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน
ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
