กล่าวหา ‘พอล แชมเบอร์ส’ คดี ม.112 เผยแพร่เนื้อหาในเว็บไซต์ ‘ISEAS’ – สถาบันวิชาการของสิงค์โปร์ เจ้าตัวยืนยันไม่ใช่ผู้เขียน ก่อนศาลไม่ให้ประกันตัว

วันที่ 8 เม.ย. 2568 เวลา 09.00 น. ที่ สภ.เมืองพิษณุโลก “ดร.พอล แชมเบอร์ส” (Dr. Paul Chambers) นักวิชาการสัญชาติอเมริกัน ซึ่งประจำอยู่ที่สถานประชาคมอาเซียนศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย, อาจารย์จากมหาวิทยาลัยนเรศวร, ล่าม และทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางเข้ามอบตัวในคดีตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตามหมายจับ

เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมทำบันทึกรับมอบตัวเสร็จสิ้น พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาและนำตัว ดร.พอล ไปขอฝากขังต่อศาลจังหวัดพิษณุโลก ศาลอนุญาตให้ฝากขัง ทนายความจึงยื่นคำร้องขอประกันตัว แต่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างสอบสวน ระบุเหตุผลว่า “คดีมีอัตราโทษสูง ผู้ต้องหาเป็นชาวต่างชาติ ประกอบกับผู้ร้องคัดค้านการประกันตัว จึงไม่อนุญาต ยกคำร้อง”

ทนายความจึงยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวอีกเป็นครั้งที่ 2 แต่ศาลยกคำร้องอีกครั้ง โดยระบุว่า “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” ทำให้ในวันนี้ ดร.พอล ต้องเข้าเรือนจำจังหวัดพิษณุโลกทันที

.

คดีนี้ มีกองทัพภาคที่ 3 เป็นผู้แจ้งความกล่าวโทษ โดย ดร.พอล ถูกออกหมายจับในคดีนี้ ตามหมายจับของศาลจังหวัดพิษณุโลก ที่ จ.245/2568  ทั้งที่ยังไม่เคยได้รับหมายเรียกใด ๆ มาก่อน ดร.พอล พร้อมทนายความ จึงได้ประสานนัดหมายกับทางตำรวจเพื่อเข้าพบพนักงานสอบสวน 

วันนี้ (8 เม.ย. 2568) ที่ สภ.เมืองพิษณุโลก เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่า ดร.พอล มีหมายจับของศาลจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งจะมีกระบวนการรับมอบตัว สอบสวน รวมทั้งพิมพ์ลายนิ้วมือ และจะนำตัวส่งฝากขังที่ศาลจังหวัดพิษณุโลก

ภายในห้องสอบสวนมี พ.ต.อ.วัชรพงษ์ สิทธิรุ่งโรจน์ ผู้กำกับการ สภ.เมืองพิษณุโลก, ร.ต.อ.พรชัย ปลั่งกลาง พนักงานสอบสวน สภ.เมืองพิษณุโลก และคณะทำงาน รวมทั้งผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 ร่วมในการสอบสวนด้วย โดยในช่วงแรก อาจารย์จากมหาวิทยาลัยนเรศวร จำนวน 6 คน สามารถเข้าฟังการสอบสวนได้ แต่หลังจากที่ผู้การภาค 6 เข้ามาในห้องได้เชิญให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องให้ออกไป ซึ่งเกิดขึ้นหลังขั้นตอนการอ่านบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว

บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาระบุพฤติการณ์โดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2568 กองทัพภาคที่ 3 โดย พลโท กิตติพงษ์ แจ่มสุวรรณ แม่ทัพภาคที่ 3 มอบอำนาจให้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับ ดร.พอล ในคดีนี้

โดยกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2567 ผู้ต้องหาได้โพสต์ข้อความลงบทความภาษาอังกฤษในเว็บไซต์ของ ISEAS สถาบัน Yusof Ishak โดยมีข้อความเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรไทย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ในการสอบสวน ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยตอบคำถามพนักงานสอบสวนว่า ตนเองไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว และไม่ได้เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์นี้ และไม่ใช่แอดมินที่จะมีอำนาจโพสต์ข้อความได้

นอกจากนี้ ผู้ต้องหาไม่รู้จักกับบุคคลผู้จัดทำเว็บไซต์นี้เป็นการส่วนตัว  แต่ทราบว่าเว็บไซต์นี้เป็นที่รู้จักในแวดวงวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา

ต่อมาหลังการสอบปากคำ ร.ต.อ.พรชัย ปลั่งกลาง พนักงานสอบสวนได้นำตัว ดร.พอล ไปขอฝากขังในระหว่างสอบสวนต่อศาลจังหวัดพิษณุโลก พร้อมยังคัดค้านการประกันตัว โดยอ้างว่าคดีมีอัตราโทษสูง หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาอาจจะหลบหนีได้

ต่อมาหลังศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง ทนายความจึงยื่นคำร้องขออนุญาตปล่อยชั่วคราวโดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินจำนวน 150,000 บาท 

ในเวลาประมาณ 14.00 น. ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างสอบสวน ระบุเหตุผลว่า “คดีมีอัตราโทษสูง ผู้ต้องหาเป็นชาวต่างชาติ ประกอบกับผู้ร้องคัดค้านการประกันตัว จึงไม่อนุญาต ยกคำร้อง” 

ทั้งนี้หนังสือแจ้งคำสั่งศาลลงนามโดยนางสาวสระเกตุ ปานเถื่อน นิติกรชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดพิษณุโลก แต่ไม่ได้ระบุชื่อของศาลที่เป็นผู้จัดทำคำสั่งแต่อย่างใด

ทนายความจึงยื่นคำร้องขออนุญาตปล่อยชั่วคราวเป็นครั้งที่ 2 โดยเพิ่มหลักทรัพย์เป็นเงินจำนวน 300,000 บาท และมีคณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้วางหลักประกัน ทั้งขอให้ศาลตั้งผู้กำกับดูแลผู้ต้องหา แต่ศาลยกคำร้องอีกครั้ง โดยระบุว่า “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” 

ผลประกันตัวดังกล่าว ทำให้ ดร.พอล ต้องเข้าเรือนจำจังหวัดพิษณุโลกทันทีในวันนี้ ทำให้ปัจจุบันจำนวนผู้ต้องขังทางการเมืองเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 48 คน (เป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 31 คน) 

ในวันพรุ่งนี้ (9 เม.ย. 2568) ทีมทนายความเตรียมจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลในการไม่ให้ประกันตัวต่อไป

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเนื้อหาที่ ดร.พอล ถูกกล่าวหาดังกล่าว พบว่าเป็นข้อความแนะนำงานเสวนาทางวิชาการด้านไทยศึกษาบนเว็บไซต์ของสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ซึ่งมี ดร.พอล นำเสนอในหัวข้อเกี่ยวกับกองทัพไทย เมื่อเดือนตุลาคม 2567 ส่วนข้อความที่ถูกกล่าวหามีลักษณะเป็นการเขียนแนะนำเนื้อหาในงานเสวนาและแนะนำนักวิชาการที่จะนำเสนองาน ไม่ใช่ลักษณะบทความหรือเนื้อหาที่ผู้นำเสนอเป็นผู้เขียนแต่อย่างใด

สำหรับสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา ยูซุฟ อิสฮัค (ISEAS-Yusof Ishak Institute) ที่ถูกระบุเป็นเว็บไซต์ที่เผยแพร่เนื้อหาในคดีนี้นั้น เป็นสถาบันวิชาการที่มีชื่อเสียงของประเทศสิงคโปร์ ตั้งชื่อตามอดีตประธานาธิบดีคนแรกของสิงคโปร์ สถาบันแห่งนี้บทบาทในด้านการศึกษาวิจัยทางวิชาการทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งเผยแพร่งานวิชาการและองค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิภาคนี้

X