ม.นเรศวร สั่งเลิกจ้าง “พอล แชมเบอร์ส” – ตม.พิษณุโลกยึดพาสปอร์ตที่เพิ่งได้คืน แม้ยังรอคอยผลอุทธรณ์คำสั่งกรณีเพิกถอนวีซ่า

2 พ.ค. 2568 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งจากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ว่า ผศ.ดร.ภาณุ พุทธวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ปฏิบัติราชการแทนอธิการบดี ได้ออกคำสั่งยกเลิกการจ้างงาน ดร.พอล แชมเบอร์ส (Dr.Paul Chambers) อาจารย์ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษของคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. 2568 ซึ่งเป็นวันที่ถูกแจ้งคำสั่งเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร 

นอกจากนั้น ล่าสุดเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองพิษณุโลก ยังมีการยึดหนังสือเดินทางที่ ดร.พอล เพิ่งได้คืนจากศาล หลังจากอธิบดีอัยการภาค 6 มีคำสั่งไม่ฟ้องในคดีมาตรา 112 ทำให้ยังต้องติดตามปัญหาการถูกเพิกถอนวีซ่าต่อไป

.

ยังรอผลอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนวีซ่า 

หลังจาก ดร.พอล ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 และศาลจังหวัดพิษณุโลกไม่อนุญาตให้ประกันตัว เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2568 

เพียงหนึ่งวันถัดมา (9 เม.ย. 2568) ในขณะที่ ดร.พอล ยังถูกคุมขัง ร.ต.อ.ชยพล ธรรพรังษี รองสารวัตรตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดพิษณุโลก ได้เข้าแจ้งคำสั่งเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร (วีซ่า) โดยอ้างเหตุผลว่ามี “พฤติการณ์ต้องหาว่ากระทำความผิด” ตามมาตรา 112 ซึ่งเข้าลักษณะต้องห้ามมิให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักร ตามมาตรา 12 (8) แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522

11 เม.ย. 2568 หลังได้รับการประกันตัว ดร.พอล เดินทางไปที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดพิษณุโลก เพื่อยื่นอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร ต่อคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมือง โดยยืนยันว่าพฤติการณ์ไม่เข้าข่ายตามที่ ตม. อ้าง และกระบวนการไม่ชอบด้วยกฎหมาย

วันที่ 18 เม.ย. 2568 ดร.พอล พบหนังสือคำสั่งของ ตม.พิษณุโลก อีกฉบับหนึ่งติดไว้ที่หน้าที่พัก โดยแจ้งขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงเรื่อง “พฤติการณ์ต้องห้าม” โดยอ้างว่า “มีข้อผิดพลาดที่ผิดหลง” ของเจ้าหน้าที่ จากเดิมที่อ้างมาตรา 12 (8) (เช่น การค้าประเวณี ยาเสพติด หรือกิจการที่ขัดต่อศีลธรรม) ไปเป็น มาตรา 12 (7) คือ “น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชน หรือความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร”

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ ตม. ยังขอแก้ไขเนื้อหาเรื่องคำสั่งที่ใช้เป็นฐานอ้างอิงอำนาจในการเพิกถอนวีซ่า แก้ไขเป็นคำสั่งที่ใหม่กว่า 

วันที่ 21 เม.ย. 2568 ดร.พอล ได้เข้ายื่นอุทธรณ์คำสั่งอีกครั้งที่ ตม.พิษณุโลก โดยระบุว่าการแก้ไขคำสั่งและกระบวนการแจ้งการเพิกถอนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญ ทำมิได้ตามกฎหมายปกครอง ทั้งตนไม่มีพฤติการณ์ต้องห้ามตามที่แจ้ง คดีมาตรา 112 ยังเป็นเพียงข้อกล่าวหาเท่านั้น

ปัจจุบันเรื่องดังกล่าวยังอยู่ระหว่างรอผลคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมือง

.

มน.สั่งเลิกจ้าง ดร.พอล – ตม.ยึดพาสปอร์ต ที่เพิ่งได้คืนจากศาล

กรณีการถูกเพิกถอนวีซ่าดังกล่าว ยังทำให้ ดร.พอล ต้องประกันตัวต่อเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองโดยวางหลักประกันไว้ 300,000 บาท และต้องเข้ารายงานตัวต่อเจ้าพนักงานเดือนละ 1 ครั้ง 

แม้ยังรอผลการอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว แต่ล่าสุดมหาวิทยาลัยนเรศวรได้มีคำสั่งที่ 1586/2568 ลงวันที่ 21 เม.ย. 2568 แจ้งยกเลิกการจ้างผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย โดยยกเลิกการจ้างงาน ดร.พอล แชมเบอร์ส 

เนื่องจากมหาวิทยาลัยได้รับแจ้งจากกองบังคับการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง 5 ว่า ดร.พอล ถูกเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร ทำให้เป็นบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติในการทำงานในประเทศไทย จึงให้ยกเลิกการจ้างโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย. 2568 และต่อมาแก้ไขเป็นให้มีผลตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. 2568 ส่งผลให้สถานะอาจารย์ของ ดร.พอล สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. 2568 เป็นต้นมา

นอกจากนี้ แม้ล่าสุด อธิบดีอัยการภาค 6 จะมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีมาตรา 112 ของ ดร.พอล แล้ว พร้อมได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวต่อศาลจังหวัดพิษณุโลก ทำให้ ดร.พอล ออกจากการควบคุมตัวของศาลแล้ว รวมทั้งได้รับคืนหนังสือเดินทาง

แต่วันที่ 2 พ.ค. 2568 เมื่อเข้าแสดงตัวต่อเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดพิษณุโลก เจ้าพนักงานได้ขอยึดหนังสือเดินทางไว้ โดยชี้แจงว่าเป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาประกันห้ามออกนอกราชอาณาจักร และให้วางหนังสือเดินทางไว้ที่เจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมือง มิฉะนั้นอาจขัดต่อเงื่อนไขประกันตัวในกรณีการถูกถอนวีซ่า

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้จนกว่าจะมีคำสั่งของกรรมการพิจารณาคนเข้าเมือง ดร.พอล ยังอยู่ในสถานะที่ “ไม่มีวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน” ซึ่งหากคณะกรรมการมีความเห็นว่าควรให้เพิกถอนวีซ่าเช่นเดิม จะทำให้ ดร.พอล ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกผลักดันออกนอกราชอาณาจักรด้วย

สถานการณ์ดังกล่าว ยังสะท้อนปัญหาการถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นอกจากจะสร้างผลกระทบในภาระทางคดีแล้ว ในกรณีของชาวต่างชาติกลับมีความซับซ้อน ด้วยกระบวนการสั่งเพิกถอนวีซ่า ทั้งกระทบต่อชีวิตประจำวัน และการประกอบอาชีพภายในประเทศไทย แม้ในท้ายที่สุดจะไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหาเลยก็ตาม

.

X