‘พอล แชมเบอร์ส’ ยื่นอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนวีซ่าใหม่ หลัง ตม. ไปติดหนังสือขอแก้ไขคำสั่งเดิม เห็นว่าการแก้ไขไม่ชอบด้วยกฎหมาย

วันที่ 21 เม.ย. 2568 ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดพิษณุโลก ดร.พอล แชมเบอร์ส (Dr. Paul Chambers) นักวิชาการสัญชาติอเมริกัน ผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความแนะนำงานเสวนาทางวิชาการในเว็บไซต์ของสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak พร้อมทนายความ ได้เดินทางไปยื่นอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร หรือวีซ่า (VISA)​ อีกครั้ง หลังจากเมื่อเย็นวันศุกร์ที่ผ่านมา พบว่ามีหนังสือของเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง แจ้งแก้ไขคำสั่งเดิมไปติดไว้หน้าบ้าน

.

ตม. พิษณุโลก ติดหนังสือขอแก้ไขคำสั่งเดิมไว้หน้าบ้าน แก้ทั้งพฤติการณ์ที่อ้างว่าต้องห้าม-คำสั่งที่อ้างอิงเป็นฐานอำนาจ

ภายหลังจากถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2568 ดร.พอล ได้รับหนังสือแจ้งการเพิกถอนวีซ่า ระบุว่า ผู้บัญชาการตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มีคำสั่งเพิกถอนวีซ่า โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 36 ของ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 อ้างว่า ดร.พอล เป็นผู้มีพฤติการณ์ต้องหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งเข้าลักษณะต้องห้ามมิให้เข้ามาในราชอาณาจักร ตามมาตรา 12 (8) ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว ก่อนที่เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2568 ดร.พอล จะได้เดินทางไปยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวแล้ว

ต่อมา เมื่อช่วงเย็นวันที่ 18 เม.ย. 2568 ดร.พอล พบว่ามีหนังสือจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดพิษณุโลก มาติดไว้อยู่ที่หน้าบ้าน โดยเขาไม่ได้พบเจ้าหน้าที่ที่มาติดหนังสือไว้ และไม่ได้ลงนามรับใด ๆ และไม่ทราบวันเวลาที่นำมาติดไว้

หนังสือดังกล่าวลงวันที่ 17 เม.ย. 2568 ลงนามโดย พ.ต.ท.รัฐกิตติ์ ศรีนิธิธีรโชติ สารวัตรตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดพิษณุโลก มีเนื้อหาแจ้งขอแก้ไขหนังสือแจ้งการเพิกถอนวีซ่าลงวันที่ 9 เม.ย. 2568 เนื่องจากพบว่า “มีข้อผิดพลาดที่ผิดหลง” ในสองเรื่อง ได้แก่

1. เรื่องพฤติการณ์ต้องห้ามมิให้เข้ามาในราชอาณาจักร ที่เดิมอ้างอิงถึงมาตรา 12 (8) ของ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 (มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเข้ามาเพื่อการค้าประเวณี การค้าหญิงหรือเด็ก หรือการค้ายาเสพติดให้โทษ การลักลอบหนีภาษีศุลกากร หรือเพื่อประกอบกิจการอันขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

เจ้าหน้าที่ได้ขอแก้ไขเป็นมาตรา 12 (7) แทน (มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชน หรือความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือบุคคลซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศได้ออกหมายจับ)

2. เรื่องการอ้างอิงฐานอำนาจในการออกคำสั่งเพิกถอนวีซ่า ที่เดิมมีการอ้างอิงประกอบคำสั่ง สตม.ที่ 284/2552 ลงวันที่ 30 พ.ย. 2552 เรื่อง การมอบอำนาจการเพิกถอนการอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เจ้าหน้าที่ได้ขอแก้ไขเป็นตาม คำสั่ง สตม. ที่ 92/2566 ลงวันที่ 3 เม.ย. 2566 

โดยก่อนหน้านี้ในการยื่นอุทธรณ์คำสั่งครั้งแรกของ ดร.พอล ก็ได้โต้แย้งการออกคำสั่งในสองประเด็นดังกล่าวไว้ ทั้งในประเด็นว่าไม่มีพฤติการณ์อันเป็นเหตุให้เพิกถอนวีซ่า ตามมาตรา 12 (8) แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ  และในประเด็นว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่มีอำนาจตามคำสั่ง สตม.ที่ 284/2552 ที่จะมอบหมายให้แก่ผู้บัญชาการตรวจคนเข้าเมืองในการใช้อำนาจเพิกถอนวีซ่าได้ 

.

โต้แย้ง การแก้ไขคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการแก้ไขในสาระสำคัญ-ไม่แจ้งวันเวลาที่ปิดคำสั่ง-ลงชื่อ จนท.คนละคนกัน

หลังจากได้รับหนังสือขอแก้ไขดังกล่าว ดร.พอล พร้อมทนายความ ได้จัดทำอุทธรณ์คำสั่งฉบับใหม่ ไปยื่นต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดพิษณุโลกอีกครั้ง โดยเห็นว่าการแจ้งแก้ไขคำสั่งเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย การอุทธรณ์คำสั่งครั้งนี้ มีทั้งหมด 6 ประเด็น โดยสรุปดังนี้

1. การแก้ไขคำสั่งเพิกถอนวีซ่า ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในสาระสำคัญ มิใช่เพียงการแก้ไขเล็กน้อย ทำมิได้ตามกฎหมายปกครอง

เนื่องจากคำสั่งการเพิกถอนวีซ่าดังกล่าวต่อ ดร.พอล เป็นคำสั่งทางปกครอง โดยการแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งทางปกครอง แม้กฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขเพิ่มเติมได้ แต่การแก้ไขเพิ่มเติมต้องเป็นการแก้ไขคำสั่งทางปกครองที่มี “ข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือผิดหลงเล็กน้อย” เท่านั้น ตามนัยมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 การแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งทางปกครองที่มีลักษณะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งทางปกครองในส่วนที่เป็นสาระสำคัญของคำสั่งจึงกระทำมิได้ 

การที่เจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมในสองประเด็นดังกล่าว มิใช่การแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งทางปกครองที่มีลักษณะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนที่เป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือผิดหลงเล็กน้อย แต่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนที่เป็น “สาระสำคัญแห่งคำสั่งทางปกครอง” เนื่องจากการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวเป็นการแก้ไขลักษณะต้องห้ามที่จะเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักร และคำสั่งที่ใช้เป็นฐานในการมอบอำนาจออกคำสั่งเพิกถอนวีซ่า

ทำให้เห็นว่าคำสั่งเพิกถอนวีซ่า ฉบับลงวันที่ 9 เม.ย. 2568 เป็นการออกคำสั่งโดยอ้างข้อกฎหมายและอำนาจที่ผิดไป และตนในฐานะผู้ถูกเพิกถอนสิทธิได้หลงอุทธรณ์ต่อสู้ไปตามข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายเดิมแล้ว หากต้องการเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมให้ชอบด้วยกฎหมายต้องดำเนินการเพิกถอนคำสั่งที่ผิดพลาดนั้นแล้วมีคำสั่งใหม่ การแก้ไขคำสั่งเพิกถอนวีซ่า ฉบับลงวันที่ 17 เม.ย. 2568 จึงเป็นการแก้ไขที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

.

2. หนังสือแจ้งแก้ไขคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีการระบุวันเวลาที่ปิดคำสั่ง-จนท.ที่แจ้งเป็นคนละคนกัน

การแจ้งเพิกถอนวีซ่าเป็นการชั่วคราว ตามแบบ ตม.83 กำหนดให้ต้องระบุวันและเวลาที่แจ้งให้ทราบไว้ในแบบด้วย โดยการแจ้งเพิกถอนวีซ่า สามารถทำได้สองวิธีคือ การแจ้งคำสั่งต่อคนต่างด้าวโดยตรง และคนต่างด้าวเซ็นรับทราบคำสั่งเอง สิทธิในการอุทธรณ์ภายใน 48 ชั่วโมง เริ่มนับทันทีจากวันและเวลาที่ทราบ 

ในกรณีที่ไม่อาจแจ้งโดยวิธีปกติได้ คำสั่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ที่ 92/2566 กำหนดให้ปิดหนังสือแจ้งไว้ ณ ที่พักของคนต่างด้าว เมื่อปิดหนังสือไว้ ณ ที่พักคนต่างด้าวครบกำหนด 48 ชั่วโมงแล้วให้ถือว่าคนต่างด้าวนั้นได้รับทราบคำสั่งแล้ว  

ดังนั้นการแจ้งเพิกถอนวีซ่าเป็นการชั่วคราว จึงต้องทำตามแบบและวิธีที่กำหนดไว้ในคำสั่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองให้ครบถ้วน จึงจะเป็นการแจ้งที่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีที่แจ้งโดยการปิดหนังสือแจ้งไว้ ณ ที่พักของคนต่างด้าว จึงต้องทำตามแบบ ตม.83 โดยต้องระบุวันและเวลาที่ปิดคำสั่งไว้บนหนังสือแจ้งด้วย 

เมื่อพิจารณาหนังสือของ ตม.พิษณุโลก ลงวันที่ 17 เม.ย. 2568 ซึ่งนำมาปิดไว้ พบว่าเป็นการแจ้งแก้ไขข้อมูลในแบบ ตม.83 ฉบับลงวันที่ 9 เม.ย. 2568 เมื่อไม่สามารถแจ้งโดยวิธีปกติได้ การปิดคำสั่งแจ้งไว้ ณ ที่อยู่ จึงต้องระบุวันเวลาที่ปิดคำสั่งเช่นกัน ซึ่งคำสั่งดังกล่าวกลับไม่ปรากฎว่าได้มีการดำเนินการตามแบบ ตม. 83 แต่อย่างใด ทั้งยังไม่มีการระบุวันเวลาที่ปิดหนังสือไว้ให้ชัดเจนบนหนังสือที่แจ้ง ไม่ได้แจ้งสิทธิในการอุทธรณ์และระยะเวลาที่ต้องอุทธรณ์คำสั่งไว้ อันเป็นการขัดหรือไม่เป็นไปตามคำสั่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ที่ 92/2566 ลงวันที่ 3 เม.ย. 2566 และไม่ได้ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติการเพิกถอนวีซ่า ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 อย่างชัดเจน 

นอกจากนี้ การแจ้งเพิกถอนวีซ่าฉบับลงวันที่ 9 เม.ย. 2568 ผู้แจ้งคือ ร.ต.อ.ชยพล ธรรมรังษี รอง สร.สว.ตม.จว.พิษณุโลก แต่หนังสือฉบับลงวันที่ 17 เม.ย. 2568 กลับปรากฏผู้แจ้งเป็น พ.ต.ท.รัฐกิตติ์ ศรีนิธิธีรโชติ สารวัตรตำรวจตรวจคนเข้าเมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นบุคคลคนละคน และไม่ปรากฎหลักฐานว่าได้มีการมอบอำนาจให้ดำเนินการอย่างถูกต้องมาแสดง

.

3. ผู้บัญชาการตรวจคนเข้าเมือง ไม่มีอำนาจออกคำสั่งเพิกถอนวีซ่า

ตามแนวทางปฏิบัติการเพิกถอนวีซ่า ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 แนบท้ายคำสั่ง สตม. ที่ 92/2566  ลงวันที่ 3 เม.ย. 2566 กำหนดให้  “1. เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบหลักฐานได้ความแน่ชัด ว่าคนต่างด้าวมีพฤติการณ์สมควรเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร ให้ประมวลเรื่องและมีความเห็น เสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึง ผบก.ตม. 1-6 หรือ ผบก.สส. สตม. แล้วแต่กรณี เพื่อสั่งเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร ตามคำสั่ง สตม. ที่ 92/2566  ลงวันที่ 3 เมษายน 2566”  

อำนาจดังกล่าวจึงถูกมอบให้แก่ผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1-6 และผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน ภายในเขตอำนาจรับผิดชอบหรือเขตพื้นที่การปกครองแล้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจึงไม่อาจมอบอำนาจให้แก่ผู้บัญชาการตรวจคนเข้าเมืองในการใช้อำนาจเพิกถอนวีซ่าของ ดร.พอล ได้ และเมื่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่มีอำนาจดังกล่าว ผู้บัญชาการตรวจคนเข้าเมืองจึงไม่มีอำนาจในการสั่งเพิกถอนวีซ่าได้เช่นกัน 

.

4-5. ออกคำสั่งโดยไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจง และไม่ได้ตรวจสอบหลักฐานได้แน่ชัด

ในประเด็นที่ 4 และ 5 เป็นไปตามอุทธรณ์ของ ดร.พอล เดิมที่ยื่นไปก่อนหน้านี้ ได้แก่ ประเด็นว่ากระบวนการเพิกถอนวีซ่าไม่ชอบด้วยมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่เปิดโอกาสให้ ดร.พอล ไปให้ปากคำ ไม่เปิดโอกาสให้ได้แสดงพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง หรือให้ถ้อยคำเกี่ยวกับพฤติการณ์ที่เชื่อว่าจะเข้าลักษณะต้องถูกเพิกถอนวีซ่า 

และประเด็นว่าการเพิกถอนวีซ่า ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 กำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบหลักฐานให้ได้ความแน่ชัด แต่ตามหนังสือแจ้งเพิกถอน ไม่ปรากฎว่าได้มีการ “ตรวจสอบหลักฐานให้ได้ความแน่ชัด” ว่า ดร.พอล มีพฤติการณ์ “เป็นที่น่าเชื่อว่า” จะเป็นบุคคลที่เข้าข่ายมาตรา 12 (7) อย่างไรบ้าง โดยในคดีมาตรา 112 ก็ยังเป็นเพียงข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวน ที่ ดร.พอล ให้การปฏิเสธ ยืนยันว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโพสต์ข้อความและไม่ใช่แอดมินที่จะโพสต์ข้อความได้ตามที่ถูกกล่าวหา

.

6. ดร.พอล ไม่มีพฤติการณ์อันเป็นเหตุเพิกถอนวีซ่า คดี ม.112 ยังเป็นเพียงข้อกล่าวหา

ในการเพิกถอนวีซ่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งข้อเท็จจริงให้ทราบว่า พฤติการณ์ใดของ ดร.พอล ที่มีลักษณะตามที่ระบุใน มาตรา 12 (7) อันเป็นเหตุให้ถูกเพิกถอนวีซ่า โดยในคดีที่ต้องหาตามมาตรา 112 นั้น เขาก็ยังเป็นเพียงผู้ต้องหา ที่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เนื่องจากยืนยันว่าไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา เป็นกรณีที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลว่าได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา จึงต้องได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ 

หลักการดังกล่าวได้บัญญัติรับรองไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี องค์กรของรัฐจะปฏิบัติกับบุคคลนั้นเสมือนผู้กระทำความผิดไม่ได้ 

.

ย้อนอ่าน พันธนาการ EM ที่ข้อเท้า ‘พอล แชมเบอร์ส’ มีอิสระตามที่ได้ประกันตัว หรือเป็นโซ่ที่ล่ามไว้อีกครั้ง

.

X