อัยการสั่งฟ้อง “10 ผู้ชุมนุมทะลุฟ้า” ร่วม #ม็อบ18สิงหา64 ข้อหา พ.ร.บ.จราจรฯ-กีดขวางทาง แต่ไม่ฟ้องข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2565 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ได้ยื่นฟ้องประชาชน-นักกิจกรรมทะลุฟ้า รวม 10 ราย ต่อศาลแขวงดุสิต ในข้อกล่าวหาร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ และกีดขวางการจราจร กรณีชุมนุม #ม็อบ18สิงหา ไล่ล่าทรราช ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2564 วิจารณ์การบริหารประเทศของรัฐบาล ท่ามกลางสถาการณ์ร้ายแรงของโรคโควิด-19

คดีนี้ เดิมมีผู้ถูกกล่าวหาที่ สน.สำราญราษฎร์ ทั้งหมด 15 คน โดยเป็นเยาวชน 2 คน ที่ถูกแยกดำเนินคดี ทั้งหมดถูกกล่าวหาในข้อหาหลักตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยมีข้อกล่าวหาที่มีโทษปรับอื่นๆ ประกอบ ได้แก่ ข้อหากีดขวางทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385, ข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

แต่ในการสั่งฟ้องคดีของผู้ถูกกล่าวหารวม 10 รายนี้ พบว่าอัยการไม่ได้มีการฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ฟ้องเฉพาะ 2 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาต (มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท) และร่วมกันกระทำด้วยประการใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาต (มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท)

ในคำฟ้องคดีระบุโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2564 จำเลยทั้งสิบกับพวก ได้ร่วมกันชุมนุมเพื่อทํากิจกรรมทางการเมืองโดยการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ใช้สีชอล์คเขียนพื้นถนน โปรยกระดาษจํานวน 2,475 แผ่น ลงบนพื้นถนน เข้าร่วมการปราศรัยวิจารณ์รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่บริเวณถนนราชดำเนินกลาง บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นทางสาธารณะ อันเป็นการกระทำในลักษณะกีดขวางการจราจรจนรถไม่สามารถวิ่งผ่านได้ อันอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยไม่จําเป็นและโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่

ต่อมาศาลอนุญาตให้ประกันตัวจำเลย โดยการสาบานตนว่าจะมาตามนัดศาล ไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกันตัว พร้อมกำหนดวันนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐานต่อไปในวันที่ 26 ก.ย. 2565 เวลา 9.00 น.

สำหรับผู้เดินทางมาตามนัดหมายของอัยการรวม 8 คน ได้แก่ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, นวพล ต้นงาม, พีรพงศ์ เพิ่มพูล, พรพรหม คงตระกูล, ภูริภูมิ แสนสุข, โชคดี ร่มพฤกษ์, ณัฐภูมิ สระทองออ และประชาชนอีก 1 ราย  โดยกรณีของทานตะวันยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขการประกันตัวของศาล ที่ห้ามออกนอกเคหสถานตลอด 24 ชั่วโมง ยกเว้นเดินทางมาตามนัดคดีต่างๆ ได้

ด้าน ชาติชาย ไพรลิน และ จิตริน พลาก้านตง อีก 2 สมาชิกทะลุฟ้าผู้ถูกสั่งฟ้องนั้น ยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในคดีสาดสีหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ อยู่ในขณะนี้ จึงไม่ได้ถูกนำตัวมาศาลด้วย

สำหรับกิจกรรม “#ม็อบ18สิงหา ไล่ล่าทรราช” จัดขึ้นโดยกลุ่มทะลุฟ้า ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อวิจารณ์การทำงานของรัฐที่ล้มเหลวในเรื่องการบริหารโควิด-19 โดยในระหว่างกิจกรรมมีการนำหุ่นจำลองโดยห่อด้วยผ้าสีขาวติดภาพหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไปวางไว้บริเวณข้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมเขียนข้อความลงบนผ้าสีขาวระบุว่า “รัฐล้มเหลวประชาชนล้มตาย” ก่อนนำไปขึงไว้กับอนุสาวรีย์ 

X