ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แก้คำพิพากษาคดี “สมพล” ปาสีใส่รูป เห็นว่าผิด ม.112-พ.ร.บ.คอมฯ ด้วย ลงจำคุก 4 ปี 

วันที่ 23 พ.ค. 2568 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดนนทบุรีนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในคดีของ “สมพล” (นามสมมติ) อดีตพนักงานบริษัทวัย 32 ปี ข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ทำให้เสียทรัพย์, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ รวมทั้ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีถูกกล่าวหาว่า ปาสีใส่ป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 บริเวณทางขึ้นทางด่วนศรีสมาน อ.ปากเกร็ด เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2565 และส่งภาพพระบรมฉายาลักษณ์ที่เปื้อนสีไปในกลุ่มไลน์ 

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น เห็นว่าจำเลยปาสีใส่รูป ร.10 หลายท้องที่ เป็นการกระทำที่มิบังควรและหมิ่นพระเกียรติ มีความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วย ให้ลงโทษจำคุก 4 ปี

.

คดีนี้มีการสืบพยานไปในระหว่างวันที่ 23 – 24 ม.ค. 2567 โดยจำเลยยอมรับว่าเป็นผู้ปาสีใส่ป้ายพระบรมฉายาลักษณ์จริง แต่การกระทำดังกล่าวไม่เข้าองค์ประกอบตามมาตรา 112 ดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย แต่อย่างใด

ต่อมา วันที่ 27 มี.ค. 2567 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษา เห็นว่า ไม่ปรากฏว่าจำเลยเขียนข้อความ เครื่องหมาย หรือแสดงพฤติกรรมอันเป็นการพูด เขียน หรือแสดงกิริยาดูถูกเหยียดหยามพระมหากษัตริย์ อันจะทำให้พระมหากษัตริย์เสี่อมเสีย พฤติการณ์เห็นได้ชัดว่า การกระทำของจำเลยมุ่งให้ทรัพย์สินเสียหายเท่านั้น จึงเห็นว่าการกระทำไม่ได้เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 และจึงไม่ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เรื่องการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรด้วย

เห็นว่าจำเลยกระทำความผิดในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ และ “ทำให้โคมไฟ ป้าย หรือสิ่งใดๆ ที่ราชการได้จัดทำไว้เพื่อสาธารณชนเกิดความเสียหายหรือใช้ประโยชน์ไม่ได้” ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ เนื่องจากเป็นความผิดกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ 

ศาลพิพากษาลงโทษในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ จำคุก 1 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษลง 1 ใน 3 คงเหลือจำคุก 8 เดือน โดยไม่มีรอการลงโทษ ก่อนอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

ในชั้นอุทธรณ์ ทั้งฝ่ายอัยการโจทก์และจำเลยก็ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อมา จากนั้นเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2568 ศาลจังหวัดนนทบุรีได้นัดฟังคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ แต่จำเลยไม่ได้เดินทางมาศาล ทำให้ถูกศาลออกหมายจับ และกำหนดนัดฟังคำพิพากษาใหม่เป็นวันนี้

เวลา 09.00 น. ผู้รับมอบฉันทะทนายความได้เดินทางมารอที่ห้องพิจารณา ก่อนจะได้รับแจ้งจากตำรวจศาลว่ามีการเปลี่ยนพิจารณาจากห้อง 12 เป็น 11 เนื่องจากมีจำเลยในคดีอื่นเป็นจำนวนมากจึงต้องย้ายห้อง

เวลา 09.31 น. ศาลออกนั่งพิจารณาและอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยสรุปว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่

ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าจำเลยขี่จักรยานยนต์ขว้างปาของเหลวสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์หลายพื้นที่และมีเจตนากระทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์ โดยไม่สนใจว่าพระบรมฉายาลักษณ์จะอยู่พื้นที่ใด นอกจากการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ด้อยค่าความสง่างาม เป็นการกระทำที่ไม่สมควรแล้ว ยังเป็นการหมิ่นพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10 หาใช่เพียงทำให้เกิดความเสียหายต่อพระบรมฉายาลักษณ์ ดังคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยได้ถ่ายภาพพระบรมฉายาลักษณ์ที่เปื้อนสีและได้โพสต์ส่งข้อความว่า “ส่งการบ้านครับ” ไปให้บุคคลอื่นผ่านแอปพลิเคชั่น Line  การกระทำของจำเลยทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ซึ่งพระองค์อยู่ในฐานะที่ถูกละเมิดไม่ได้ 

จำเลยจึงมีเจตนาที่จะด้อยค่าพระเกียรติ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วย ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น

นอกจากนี้ในการสืบพยาน ผู้รับมอบฉันทะผู้เสียหายได้เบิกความว่าพระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เทิดทูน แต่การที่จำเลยใช้สีแดงสาดเป็นการทำลายทำให้เสียหายและต้องซ่อมแซม แม้ปัจจุบันยังคงใช้พระบรมฉายาลักษณ์อยู่โดยได้นำไปทำความสะอาดและวางไว้ที่เดิม ก็ไม่ถือว่าการกระทำของจำเลยนั้นไม่มีความผิด เนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลยได้สำเร็จแล้ว

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าจำเลยทำผิดต่อพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ในหลายท้องที่ เป็นการเสียดสีสถาบันกษัตริย์และได้มีการเผยแพร่การกระทำที่ผิด เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง ไม่เห็นสมควรให้รอการลงโทษ

ในส่วนคำขอของโจทก์ที่ให้นับโทษต่อจากคดีของศาลจังหวัดธัญบุรี เห็นว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกคำขอดังกล่าว เพราะศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำพิพากษารอการลงโทษ แต่โจทก์ก็ไม่ได้แถลงว่าคดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างอุทธรณ์หรือไม่ เป็นประเด็นที่ศาลไม่สามารถทราบเองได้ จึงยกคำขอดังกล่าว

ทั้งนี้ ระหว่างการณ์พิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มี พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 บังคับใช้ ให้เปลี่ยนโทษอาญาที่มีการปรับสถานเดียวเป็นความผิดตามพินัย ดังนั้นความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ จึงเป็นความผิดทางพินัย และเป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดฐานอื่น เมื่อศาลพิพากษาลงโทษความผิดอาญาแล้ว ความผิดทางพินัยจึงเป็นอันยุติ

พิพากษาแก้ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ลงโทษทุกกรรม โดยความผิดในมาตรา 112 และมาตรา 358 เป็นการกระทำเดียว ผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 112 บทที่หนักที่สุด จำคุก 3 ปี และลงโทษตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จำคุก 3 ปี รวมโทษจำคุก 6 ปี

คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุให้ลดโทษ 1 ใน 3 ในแต่ละกระทง คงเหลือโทษจำคุก กระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 4 ปี และให้จำหน่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ออกจากสารบบ นอกจากนี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

.

สำหรับสมพลถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และข้อหาอื่น ๆ รวมทั้งหมดถึง 6 คดี จากพฤติการณ์การขับรถจักรยานยนต์ไปปาถุงบรรจุของเหลวสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์หลายจุด เมื่อคืนวันที่ 13 ก.พ. 2565 เขาถูกกล่าวหาแยกไปตามท้องที่ที่เกิดเหตุ โดยเป็นคดีที่ศาลจังหวัดปทุมธานี 2 คดี, ศาลจังหวัดธัญบุรี 2 คดี, ศาลจังหวัดนนทบุรี 1 คดี และคดีที่ศาลอาญา 1 คดี

ก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหมดทุกคดีแล้ว โดยยกฟ้องข้อหาตามมาตรา 112 รวม 4 คดี แต่ลงโทษจำคุกในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ โดยมีทั้งคดีที่รอและไม่รอลงอาญา อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์อุทธรณ์คดี ขณะนี้มีจำนวน 4 คดี ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้แนวคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น เป็นเห็นว่ามีความผิดตามมาตรา 112 และไม่ให้รอลงอาญาทั้งหมด

หากนับรวมโทษถึงปัจจุบัน สมพลมีโทษจำคุกในทั้ง 6 คดี รวม 15 ปี 18 เดือน

.

ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ของสมพล

“เราต้องชนะในสักวัน เพราะผู้มีอำนาจไม่สามารถควบคุมเวลาได้”: คุยกับ “สมพล” ผู้ถูกกล่าวหาคดี 112 จากการแสดงออกทางความคิดบนพระบรมฉายาลักษณ์

X