เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีคดีเพิ่มทั้งสิ้น 3 คดี โดยแบ่งออกเป็นคดีมาตรา 112 ที่ภาคใต้ 1 คดี ส่วน “เนติวิทย์” ถูกดำเนินคดีกรณีอารยะขัดขืนไม่เข้าเกณฑ์ทหาร และมีนักกิจกรรมเชียงใหม่อีกสามคน ได้รับหมายเรียกในคดีดูหมิ่นศาลรัฐธรรมนูญ จากกิจกรรมเมื่อปี 2565
เดือนที่ผ่านมามีผู้ต้องขังการเมืองเพิ่มอีก 1 คน ได้แก่ ‘ธีรภัทร’ ถูกคุมขังในคดีถูกกล่าวหาว่าปาระเบิดใส่รถตำรวจ ในการชุมนุมดินแดงใน #ม็อบ31ตุลา64 หลังศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ส่วน ‘น้ำ วารุณี’ ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ได้รับการปล่อยตัว หลังศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์คดี ทำให้รวมยอดผู้ต้องขังทางการเมืองปัจจุบันอย่างน้อย 33 คน
ในการพิจารณาคดีมาตรา 112 เมื่อเดือนที่ผ่านมา ศาลอาญามีคำสั่งให้พิจารณาลับในคดี #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์1 อานนท์ นำภา ได้ถอดเสื้อประท้วง และตั้งข้อรังเกียจศาล หลังศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญในการถามค้านพยานโจทก์ จึงทำให้ฝ่ายจำเลยไม่สามารถถามค้านพยานได้ จึงทำให้ในวันต่อมาอานนท์จึงแถลงต่อศาลว่ากระบวนพิจารณาในคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก่อนจะเกิดการโต้แย้งต่อศาลและถูกนำตัวออกไปจากห้องพิจารณาคดีไปขังที่ใต้ถุนศาลก่อนที่จะเสร็จการพิจารณาคดี
เดือนที่ผ่านมา ศาลมีคำพิพากษาคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 2 คดี ซึ่งลงโทษว่ามีความผิดทั้งสองคดี และมีคำพิพากษาในคดีชุมนุมข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก 4 คดี ซึ่งพิพากษาว่ามีความผิดทั้งหมด และนอกจากนั้นยังมีคำพิพากษาในคดี พ.ร.บ.ชุมนุมฯ 1 คดี ซึ่งศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง
นอกจากนี้ พนักงานอัยการ มีคำสั่งฟ้องคดีนักกิจกรรมและประชาชนรวม 18 คน จากการชุมนุม #15ตุลาไปราชประสงค์ เมื่อปี 2563 ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง ซึ่งแนวโน้มคดีข้อหานี้ ก่อนหน้านี้ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องแทบทั้งหมด โดยจากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีคดีที่ศาลพิพากษายกฟ้องแล้ว 17 คดี และอัยการสั่งไม่ฟ้องอีก 1 คดี
.
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,960 คน ในจำนวน 1,310 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงเดือนตุลาคม มีคดีเพิ่มขึ้น 3 คดี
หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 4,022 ครั้ง
สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่
1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 276 คน ในจำนวน 308 คดี (จำนวนนี้อย่างน้อย 162 คดี ถูกดำเนินคดีเนื่องจากประชาชนร้องทุกข์กล่าวโทษ)
2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 154 คน ในจำนวน 53 คดี
3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,466 คน ในจำนวน 673 คดี
4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 182 คน ในจำนวน 100 คดี
5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 208 คน ในจำนวน 230 คดี
6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 43 คน ใน 25 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 37 คน ใน 11 คดี
จากจำนวนคดี 1,310 คดีดังกล่าว มีจำนวน 648 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว (คดีบางส่วนไม่ได้สิ้นสุดลงทั้งคดี เช่น มีการอุทธรณ์คดีเฉพาะจำเลยบางคน แต่จำเลยบางคนคดีสิ้นสุดแล้ว)
.
แนวโน้มการดำเนินคดีในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา มีสถานการณ์สำคัญ ดังต่อไปนี้
คดีเพิ่ม 3 คดี: ทราบข้อมูลคดี ม.112 ในภาคใต้เพิ่ม 1 คดี ส่วน “เนติวิทย์” ถูกดำเนินคดีกรณีอารยะขัดขืนไม่เกณฑ์ทหาร และมีนักกิจกรรม 3 คนได้หมายเรียกคดีดูหมิ่นศาลรัฐธรรมนูญ
เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีรายงานคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้น 1 คดี ซึ่งเกิดขึ้นในภาคใต้ โดยทราบว่ามีประชาชน 1 คน ถูกฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดพัทลุง โดยมี ทรงชัย เนียมหอม เป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ โดยคดีนี้ประชาชนรายดังกล่าวได้มีทนายความส่วนตัวให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย
คดีถัดมา ‘แฟรงค์’ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ได้ถูกดำเนินคดีจากกรณีไม่เข้าร่วมกับการบังคับเกณฑ์ทหาร เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2567 ต่อมาถูกตำรวจ สภ.บางปู จ.สมุทรปราการ ออกหมายเรียกไปแจ้งข้อหาในข้อหา “หลีกเลี่ยงหรือขัดขืนไม่มาให้คณะกรรมการตรวจเลือกทำการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารกองประจำการตามหมายเรียกฯ” ตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 45
นอกจากนั้น นักกิจกรรมในจังหวัดเชียงใหม่ 3 คน ได้ถูกตำรวจ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ออกหมายเรียกดำเนินคดีในข้อหา “ดูหมิ่นศาล” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 กรณีทำกิจกรรมวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญหลังวินิจฉัย “คดี 8 ปี ประยุทธ์” เมื่อเดือน ก.ย. 2565 ซึ่งทั้งสามมีกำหนดนัดเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 9 ธ.ค. 2567 นี้
.
ผู้ต้องขังการเมืองเพิ่ม 1 คน ส่วน ‘น้ำ วารุณี’ ผู้ต้องขังคดี 112 ได้ปล่อยตัว รวมยอดผู้ต้องขังปัจจุบันอย่างน้อย 33 คน
ในเดือนที่ผ่านมา มีผู้ต้องขังทางการเมืองเพิ่มอีก 1 คน ได้แก่ ธีรภัทร (สงวนนามสกุล) ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางสมุทรปราการ ระหว่างอุทธรณ์ในคดีถูกกล่าวหาว่าปาระเบิดใส่รถตำรวจ ในการชุมนุมดินแดง ในช่วง #ม็อบ31ตุลา64 หลังเมื่อวันที่ 25 พ.ย. ที่ผ่านมา ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ธีรภัทรเคยถูกคุมขังและไม่ได้ประกันตัวหลังอัยการมีคำสั่งฟ้องมาแล้วเป็นเวลา 68 วัน ต่อมาเขาถูกคุมขังในคดีส่วนตัวในภายหลัง
ในขณะเดียวกัน “น้ำ” วารุณี (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 ได้รับการปล่อยตัวจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ หลังถูกคุมขังจนเกือบครบกำหนดโทษ
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2567 วารุณีตัดสินใจยุติการต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ โดยยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ หลังเวลาผ่านไป 7 เดือน ศาลเพิ่งมีหมายนัดให้มาฟังคำสั่งเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2567 ระบุว่าอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์ของจำเลย และจ่ายคดีออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ ทำให้ต่อมาเธอได้รับการปล่อยตัวหลังถูกคุมขังไปรวม 1 ปี 5 เดือน (คิดเป็นรวม 518 วัน) เกือบครบกำหนดโทษตามคำพิพากษาของศาล
.
ศาลอาญาสั่งให้พิจารณาลับคดี 112 #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์1 ‘อานนท์’ ถอดเสื้อประท้วง – ตั้งข้อรังเกียจศาล หลังศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญ
เมื่อวันที่ 27-28 พ.ย. 2567 ศาลอาญานัดสืบพยานโจทก์ในคดีมาตรา 112, มาตรา 116 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของอานนท์ นำภา กรณีปราศรัยในการชุมนุม #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563
ในวันแรก (27 พ.ย.) อานนท์ได้ถอดเสื้อประท้วงศาล เนื่องจากศาลยืนยันคำสั่งไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญที่จะใช้ถามค้านพยานโจทก์ อีกทั้งศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีโดยลับ และให้ทุกคนที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากห้องพิจารณาคดี อานนท์จึงได้ยื่นคำร้องตั้งข้อรังเกียจศาลและเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา ซึ่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้อง โดยระบุว่า กรณีตามคำร้องไม่เป็นเหตุให้ตั้งข้อรังเกียจผู้พิพากษา
ทนายจำเลยยืนยันไม่ถามค้าน เนื่องจากศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญเข้ามาในคดี ศาลจึงถือว่าจำเลยไม่ติดใจถามค้าน ทำให้การสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้น และศาลได้สั่งให้ทนายจำเลยนำพยานจำเลยเข้าสืบต่อในวันต่อมา (28 พ.ย.)
วันต่อมา (28 พ.ย.) อานนท์แถลงต่อศาลว่ากระบวนพิจารณาในคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีเหตุผลสามประการ คือ ศาลไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญเข้ามาในคดี, ศาลสั่งพิจารณาคดีลับโดยไม่มีเหตุตามกฏหมาย และ ฝ่ายจำเลยได้ตั้งข้อรังเกียจและขอเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา เนื่องจากศาลแสดงอคติ ซึ่งอาจส่งผลให้จำเลยไม่ได้รับความยุติธรรม
ศาลเห็นว่าเมื่อฝ่ายจำเลยไม่นำพยานเข้าสืบ ถือว่าไม่ติดใจสืบพยาน และให้งดสืบพยาน ต่อมาศาลได้ระบุว่าห้ามแถลงข่าวเนื่องจากเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง อานนท์จึงได้โต้แย้งเกี่ยวกับการสั่งพิจารณาคดีลับและห้ามเผยแพร่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ศาลได้พยายามสั่งให้อานนท์หยุดแถลง ก่อนสั่งให้ตำรวจศาลและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวอานนท์ออกไปจากห้องพิจารณาคดีไปขังที่ห้องขังใต้ถุนศาลในทันที แม้คดีจะยังไม่เสร็จการพิจารณา ทั้งนี้ ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 19 ธ.ค. 2567 เวลา 09.00 น.
.
ตลอดเดือน พ.ย. 2567 มีคำพิพากษาคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 2 คดี ซึ่งลงโทษว่ามีความผิดทั้งสองคดี
ตลอดเดือนที่ผ่านมา มีคดีมาตรา 112 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาออกอีกอย่างน้อย 2 คดี โดยเป็นคดีที่ศาลจังหวัดนนทบุรีทั้งคู่ ได้แก่ คดีของ “ภูเขา” (นามสมมติ) และคดีของ “สิงโต” (นามสมมติ) ซึ่งศาลพิพากษาว่ามีความผิดทั้งสองคดี คดีหนึ่งให้รอการลงโทษไว้ ส่วนอีกคดีหนึ่งไม่รอการลงโทษ
ในคดีของ “ภูเขา” ประชาชนวัย 45 ปี ถูกดำเนินคดีจากการโพสต์เฟซบุ๊ก 6 ข้อความเมื่อปี 2562 ในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มสหพันธรัฐไท ศาลจังหวัดนนทบุรีพิพากษาว่ามีความผิดตามฟ้อง ให้จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 6 กระทง จำคุก 18 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 ปี 36 เดือน และให้รอการลงโทษจำคุกไว้ เป็นเวลา 5 ปี
อีกคดีหนึ่ง คือคดีของ “สิงโต” ประชาชนวัย 27 ปี ถูกดำเนินคดีจากการแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กอีกรายหนึ่งซึ่งโพสต์ภาพรัชกาลที่ 10 และเจ้าฟ้าทีปังกรฯ ศาลจังหวัดนนทบุรีพิพากษาจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ จึงมีเหตุลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ แต่ได้ประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์
ปัญหาการใช้ดุลยพินิจในการรอหรือไม่รอการลงโทษจำคุก ที่แตกต่างกันไปของศาล ยังก่อให้เกิดคำถามเรื่องมาตรฐานการพิพากษาตามมา
.
เดือนที่ผ่านมา ศาลยังมีคำพิพากษาในคดีชุมนุม ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก 4 คดี ซึ่งพิพากษาว่ามีความผิดทั้งหมด และนอกจากนั้นยังมีคำพิพากษาในคดี พ.ร.บ.ชุมนุมฯ 1 คดี ซึ่งศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง
คดีของ “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ กรณีชุมนุมแต่งชุดไทยให้กำลังใจผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 หน้า สน.ยานนาวา ต่อมาถูกดำเนินคดีในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืนลงโทษปรับ 2,000 บาท เนื่องจากเห็นว่า เมื่อจำเลยโพสต์ข้อความเชิญชวนผู้อื่น ก็แสดงออกให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดการชุมนุม และย่อมมีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุมต่อเจ้าพนักงาน
และคดีของ “จ่านิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และพวกรวม 3 คน ถูกดำเนินคดี ในข้อหาหลักตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีการชุมนุม #ม็อบ1พฤศจิกา บริเวณแยกอุดมสุข เมื่อปี 2563 โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนว่ามีความผิด เช่นเดียวกับคดีของชูเกียรติ และ สิรวิชญ์ จากกรณีชุมนุม #ม็อบ29ตุลา ที่หน้าสำนักงานสำนักข่าวเนชั่น เมื่อปี 2563 โดยศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนลงโทษปรับในลักษณะเดียวกัน
ส่วนคดีของกลุ่มผู้ชุมนุม #ม็อบ20มีนา64 จำนวน 4 คน ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ต่อสู้ขัดขวางและทำร้ายเจ้าพนักงาน จากเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่ม REDEM บริเวณสนามหลวง ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ให้จำคุก ‘อำไพ’, สมเกียรติ และเกศศิรินทร์ คนละ 2 ปี ในฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน และจำคุกบุญล้อม 4 ปี ฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่ ก่อนให้ประกันทั้งสี่คนระหว่างอุทธรณ์
อย่างไรก็ตาม ในคดีของ “ใบปอ” และ “เก็ท” โสภณ สุรสุรฤทธิ์ธำรง ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องทั้งสองคนในข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต กรณีร่วมกิจกรรม “WHAT HAPPENED IN THAILAND” เดินขบวนจากแยกอโศกไปยังศูนย์ประชุมสิริกิติ์ ซึ่งขณะนั้นมีการประชุม APEC2022 เมื่อปี 2565 เนื่องจากเห็นว่าไม่ใช่ผู้จัดชุมนุม
.
อัยการยังเดินหน้าสั่งฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง อีก 2 คดี กรณีชุมนุม #15ตุลาไปราชประสงค์ แม้ศาลยกฟ้องเป็นส่วนใหญ่
หลังจากเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา พนักงานอัยการศาลแขวงปทุมวันสั่งฟ้องคดีของ 8 นักกิจกรรม จากเหตุชุมนุม #16ตุลาไปแยกปทุมวัน ปี 2563 ไปแล้ว เดือนที่ผ่านมา (พ.ย. 2567) อัยการยังมีคำสั่งฟ้องคดี 18 นักกิจกรรมและประชาชน จากการชุมนุม #15ตุลาไปราชประสงค์ เมื่อปี 2563 ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง โดยแยกสั่งฟ้องเป็น 2 คดี ได้แก่ คดีของนักกิจกรรมที่ขึ้นปราศรัย และทีมขับรถเครื่องขยายเสียง
ก่อนหน้านี้ในการชุมนุมดังกล่าว มีกรณีของเยาวชน 3 ราย ที่ถูกฟ้องคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และหลังการต่อสู้คดีเกือบ 3 ปี ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้ว
แนวโน้มคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง ก่อนหน้านี้ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องแทบทั้งหมด โดยจากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีคดีที่ศาลพิพากษายกฟ้องข้อหานี้ไปแล้ว 17 คดี และอัยการสั่งไม่ฟ้องอีก 1 คดี โดยมีเพียงคดีเดียวที่ศาลพิพากษาว่ามีความผิด ได้แก่ คดี #ม็อบ19ตุลา2563 ชุมนุมที่แยกเกษตรศาสตร์
ขณะเดียวกันหากพิจารณาสถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมในช่วงปี 2563-65 โดยภาพรวม จากจำนวนอย่างน้อย 673 คดี พบว่าคดีที่ต่อสู้ส่วนใหญ่ ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องและอัยการสั่งไม่ฟ้อง คือมีไม่น้อยกว่า 102 คดีที่ศาลยกฟ้อง และอัยการสั่งไม่ฟ้องอย่างน้อย 70 คดี
ก่อนหน้านี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการแขวงปทุมวัน ขอให้พิจารณามีคำสั่งชะลอการสั่งฟ้องคดี หรือให้ใช้ดุลพินิจในการสั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากปัจจุบันยังอยู่ในช่วงที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาประเด็นการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ซึ่งข้อเสนอหนึ่งของกรรมาธิการที่สภาตั้งขึ้นนั้น คือขอให้อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีหากเห็นว่าจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน ในระหว่างที่ยังไม่มีการตรากฎหมายนิรโทษกรรม
เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2567 ยังได้ยื่นหนังสือดังกล่าวต่ออัยการสูงสุดเพื่อให้ทบทวนคดีจากการชุมนุมทั้งหมดด้วย แต่อัยการยังคงยืนยันการสั่งฟ้องคดี