วันที่ 27 พ.ย. 2567 ศาลจังหวัดนนทบุรีนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “สิงโต” (นามสมมุติ) ชาวมุกดาหารวัย 27 ปี ที่ถูกดำเนินคดีไกลถึง จ.นนทบุรี ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) จากเหตุแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กอีกรายหนึ่งซึ่งโพสต์ภาพรัชกาลที่ 10 และเจ้าฟ้าทีปังกรฯ
ศาลพิพากษา จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) ลงโทษฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 3 ปี จำเลยรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ
.
ย้อนไปเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2565 สิงโตถูกตำรวจจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ กองกำกับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 1, สภ.รัตนาธิเบศร์, สน.บางโพงพาง และ สภ.ดอนตาล จับกุมที่บ้านใน อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร ตามหมายจับของศาลจังหวัดนนทบุรี ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) หลังจากนั้น เขาถูกนำตัวไปทำบันทึกการจับกุมที่ สภ.ดอนตาล ก่อนจะถูกส่งตัวไปยัง สภ.รัตนาธิเบศร์ เนื่องจากผู้กำกับการ สภ.รัตนาธิเบศร์ เป็นผู้ร้องขอหมายจับ
ต่อมาวันที่ 9 ธ.ค. 2565 พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา 2 ข้อหา ตามหมายจับดังกล่าว โดยสิงโตให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้นำตัวสิงโตไปที่ศาลจังหวัดนนทบุรี เพื่อยื่นคำร้องขออำนาจศาลในการฝากขัง
คำร้องฝากขังระบุว่าคดีนี้มี ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ เป็นผู้กล่าวหา ซึ่งอ้างว่าได้พบเห็นและเปิดอ่านข้อความที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งแสดงความเห็นใต้โพสต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กอีกรายซึ่งโพสต์ภาพรัชกาลที่ 10 และเจ้าฟ้าทีปังกรฯ เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2565 จึงได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีตามมาตรา 112
หลังศาลอนุญาตให้ฝากขังสิงโต ได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างสอบสวน วงเงินประกัน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์
ต่อมา ในวันที่ 2 มี.ค. 2566 จารณต์ บูรณชัย พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรีได้ยื่นฟ้องสิงโตต่อศาลจังหวัดนนทบุรี ในคำฟ้องบรรยายโดยสรุปว่า จำเลยได้พิมพ์และโพสต์ข้อความตอบโต้ใต้โพสต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายอื่น ซึ่งโพสต์ข้อความและพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 และเจ้าฟ้าทีปังกรฯ ซึ่งข้อความที่จำเลยได้พิมพ์ตอบโต้เป็นความเท็จและเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์
ในนัดสืบพยานนัดแรก วันที่ 3 ก.ย. 2567 สิงโตเดินทางจาก จ.มุกดาหาร มาศาลจังหวัดนนทบุรี และได้ขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธ และขอให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจึงมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลยรายงานต่อศาล ก่อนนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 29 ต.ค. 2567 ต่อมา ศาลได้ส่งหมายแจ้งเลื่อนวันนัดฟังคำพิพากษาเป็นวันที่ 27 พ.ย. 2567 เนื่องจากคำพิพากษายังไม่เสร็จสมบูรณ์
วันนี้ (27 พ.ย. 2567) จำเลยพร้อมทนายความเดินทางมายังห้องพิจารณาที่ 3 นอกจากนี้ยังมีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมฟังคำพิพากษาด้วย
.
แม้จำเลยอายุยังน้อย มีอาการป่วย ไม่มีประวัติการกระทำความผิดแต่การกระทำต่อสถาบันกษัตริย์นั้นร้ายแรงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ
เวลา 09.45 น. ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาและอ่านคำพิพากษา สรุปสาระสำคัญได้ว่า พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 และ พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14(3) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน
พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจ จำเลยมีอายุน้อย มีอาการป่วยตามประวัติการรักษา และไม่เคยมีประวัติต้องโทษจำคุกมาก่อน แต่การกระทำต่อสถาบันกษัตริย์อันเป็นที่เคารพรักนั้นร้ายแรง ไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ
ลงชื่อผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ศุกร์พิชัย รัตนนันท์
.
หลังศาลอ่านคำพิพากษา สิงโตถูกตำรวจศาลนำตัวไปยังห้องขังของศาลจังหวัดนนทบุรี ทนายความจำเลยจึงได้ยื่นขอประกันในชั้นอุทธรณ์ ต่อมา ผู้พิพากษามีคำสั่งอนุญาตประกันในวงเงินประกัน 150,000 บาท โดยใช้หลักทรัพย์เดิมที่วางไว้ในชั้นพิจารณา ทำให้สิงโตยังไม่ถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำจังหวัดนนทบุรี
สำหรับสิงโต ปัจจุบันอายุ 27 ปี เรียนจบปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์ ทำงานที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ปกติสิงโตติดตามการเมืองผ่านโซเชียลมีเดีย และไม่เคยเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองมาก่อน
กรณีของสิงโตซึ่งถูกจับจากบ้านที่ อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร แต่ถูกนำตัวไปดำเนินคดีถึง สภ.รัตนาธิเบศร์ ในระยะทางร่วม 630 กิโลเมตร และเขาได้เดินทางมาต่อสู้คดีในหลายนัด ทั้งนัดรายงานตัว นัดฟ้อง นัดสืบพยานและนัดฟังคำพิพากษาทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายและเสียเวลาในการทำงาน เป็นผลที่สะท้อนถึงปัญหาและช่องโหว่ของมาตรา ‘112’ ที่การเริ่มคดีไม่ต้องอาศัยผู้เสียหายเป็นคนร้องทุกข์ โดยกฎหมายเปิดช่องให้ผู้ที่พบเห็นการกระทำความผิดสามารถนำเรื่องและหลักฐานเท่าที่ทราบไปกล่าวโทษต่อตำรวจที่มีอำนาจหน้าที่ได้ ซึ่งมีคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จำนวนไม่น้อยที่ผู้พบเห็นการโพสต์ภาพและข้อความบนโซเชียลมีเดีย แล้วนำไปแจ้งความร้องทุกข์กับสถานีตำรวจที่อยู่ไกลห่างจากภูมิลำเนาของผู้ถูกกล่าวหา ส่วนใหญ่เป็นไปลักษณะการกล่าวหาเพื่อจะกลั่นแกล้งให้บุคคลที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างกันต้องใช้ชีวิตอย่างไม่ปกติสุข
ด้านฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ ผู้กล่าวหาในคดีนี้ เป็นบุคคลที่ชูพระบรมฉายาลักษณ์ในการชุมนุม และรัชกาลที่ 10 ทรงกล่าวข้อความชมว่า “เก่งมาก กล้ามาก ขอบใจ” ระหว่างการรับเสด็จเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2563 นอกจากคดีนี้แล้ว มีคดี 112 ที่ฐิติวัฒน์เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษอีกอย่างน้อย 3 คดี
จากคำพิพากษาในวันนี้ทำให้สถิติคดีมาตรา 112 ที่ศาลมีคำพิพากษาในคดีที่จำเลยรับสารภาพ และศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก โดยไม่รอลงอาญาเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 35 คดี
.
.
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
สถิติคดีมาตรา 112 ที่ศาลมีคำพิพากษา
อ่านฐานข้อมูลคดีนี้
คดี 112 “สิงโต” ชาวมุกดาหาร ถูกกล่าวหาคอมเมนท์ใต้รูปจาก MV เพลงสรรเสริญฯ