ศาลอุทธรณ์ยืน ลงโทษปรับคนละ 2,600 บาท คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของ “จ่านิว-ชูเกียรติ-นันทพงศ์” เหตุร่วมปราศรัย #ม็อบ1พฤศจิกา63

วันที่ 25 พ.ย. 2567 เวลา 09.00 น.ศาลอาญาพระโขนงนัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ในคดีของ “จ่านิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์ และ นันทพงศ์ ปานมาศ สามนักกิจกรรม จากกรณีการชุมนุม #ม็อบ1พฤศจิกา บริเวณแยกอุดมสุข เดินขบวนไปยังสี่แยกบางนา เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2563 โดยพิพากษายืนเห็นว่ามีความผิด โดยให้แก้เป็นลงโทษปรับทางพินัย

พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องทั้งสามคน รวม 4 ข้อหา ประกอบด้วย ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, เดินขบวนกีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และกีดขวางทางสาธารณะฯ

ย้อนไปเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2565 ศาลอาญาพระโขนงมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสาม ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปรับคนละ 5,000 บาท ข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับคนละ 200 บาท รวมปรับคนละ 5,200 บาท แต่เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์ จึงลดให้กึ่งหนึ่ง เหลือปรับคนละ 2,600 บาท 

จำเลยทั้งสามจึงอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ต่อมาศาลได้นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 22 ต.ค. 2567 แต่เนื่องจากชูเกียรติไม่ได้เดินทางมาศาล ศาลจึงให้ออกหมายจับมาฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ ก่อนเลื่อนไปฟังคำพิพากษาในวันนี้ (25 พ.ย. 2567)

ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 9 ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดีและอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์โดยย่อ สามารถสรุปได้ดังนี้

ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศ และข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เห็นว่า จำเลยทั้งสามผลัดกันขึ้นปราศรัย มีพฤติการณ์เป็นแกนนำ คำว่า “แกนนำ” คือ ผู้ที่เป็นหลักหรือหัวหน้า ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นผู้จัดกิจกรรม จำเลยทั้งสามจึงถือว่าเป็นผู้จัดการชุมนุม อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่าตนสวมหน้ากากอนามัยและใช้เจลแอลกอฮอล์ จึงไม่เป็นการชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าฟังไม่ขึ้น

ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น ต้องตีความเคร่งครัด กรณีมีความจำเป็นในการยุติสถานการณ์ฉุกเฉินและไม่ให้สถานการณ์ร้ายแรง หากมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งขัดต่อข้อกำหนดดังกล่าว ก็ถือว่าเป็นความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ส่วนที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่า ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกยกเลิกแล้ว จึงไม่สามารถนำมาลงโทษจำเลยได้ กรณีไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ในข้อหากีดขวางทางสาธารณะฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 และ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ เห็นว่า จำเลยทั้งสามเป็นแกนนำ แม้ไม่มีพยานหลักฐานว่าได้เดินขบวนมากับผู้ชุมนุมแต่แรก แต่ได้ร่วมผลัดกันขึ้นปราศรัย โดยไม่ได้ขออนุญาตจัดกิจกรรม การชุมนุมมีลักษณะกีดขวางทางสาธารณะ จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดในฐานนี้ ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ

ในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ เห็นว่า ศาลชั้นต้นลงโทษปรับคนละ 200 บาท ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าไม่เป็นผู้จัด จึงไม่มีหน้าที่ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงนั้น กรณีเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามอุทธรณ์ และไม่เป็นสาระสำคัญแห่งคดี จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ในประเด็นเรื่องการปรับเป็นพินัย เห็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดทางพินัย จำเลยมีความผิดตามฐานกีดขวางทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385, เดินเป็นขบวนใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 108 และมาตรา 148, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 และมาตรา 9 และฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดคือฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปรับคนละ 5,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาจึงมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงปรับคนละ 2,500 บาท ส่วน พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ลงโทษปรับเป็นพินัยคนละ 100 บาท รวมปรับคนละ 2,600 บาท

ทั้งนี้จำเลยได้ชำระค่าปรับไปหลังฟังคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว จึงไม่ต้องชำระเพิ่ม

นอกจากคดีนี้แล้ว เมื่อช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา (12 พ.ย. 2567) ศาลอาญาพระโขนงก็ได้อ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ในคดีของชูเกียรติ และ สิรวิชญ์ จากกรณีการชุมนุม #ม็อบ29ตุลา ที่หน้าสำนักงานสำนักข่าวเนชั่น เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563 โดยมีคำพิพากษายืนลงโทษปรับในลักษณะเดียวกัน

X