จำคุก 3 ผู้ชุมนุม #ม็อบ20มีนา64 คนละ 2 ปี ฐานต่อสู้ขัดขวาง ส่วนอีกรายจำคุก 4 ปี ฐานทำร้าย คฝ. โดยใช้ไม้ตี ก่อนได้ประกันตัว

21 พ.ย. 2567 ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาในคดีของกลุ่มผู้ชุมนุม #ม็อบ20มีนา64 จำนวน 4 ราย ได้แก่ อำไพ (นามสมมุติ), สมเกียรติ รัตนาวิบูลย์, บุญล้อม จันทร์เพ็ง และเกศศิรินทร์ วุฒิวงศ์ ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ต่อสู้ขัดขวางและทำร้ายเจ้าพนักงาน จากเหตุการณ์ชุมนุมที่หน้าสนามราษฎร์ (สนามหลวง) และบริเวณใกล้เคียง จัดขึ้นโดยกลุ่ม REDEM เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2564

ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง จำคุก อำไพ (นามสมมุติ), สมเกียรติ และเกศศิรินทร์ คนละ 2 ปี ฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด และจำคุกบุญล้อม 4 ปี ฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานที่กระทำการตามหน้าที่ ก่อนให้ประกันจำเลยทั้งสี่ระหว่างอุทธรณ์

.

ชุมนุมใหญ่ #ม็อบ20มีนา64 เรียกร้องให้กษัตริย์อยู่ใต้ รธน. เกิดการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจ ก่อนถูกสลายการชุมนุมด้วยกระสุนยางและฉีดน้ำใส่

ย้อนไปคืนวันที่ 19 มี.ค. 2564 เจ้าหน้าที่ได้วางตู้คอนเทนเนอร์กั้นทั้งในและนอกบริเวณสนามหลวง มีการวางลวดหนามหีบเพลง และขึงผ้าสแลนสีเขียวต่อจากความสูงของตู้คอนเทนเนอร์ หลังกลุ่ม REDEM ประกาศนัดชุมนุมในวันที่ 20 มี.ค. 2564 เวลา 18.00-21.00 น. ที่สนามหลวง ทำกิจกรรมพับจดหมาย “จำกัดอำนาจกษัตริย์” ส่งข้ามรั้ววัง

ต่อมาในวันที่ 20 มี.ค. 2564 ช่วงเวลา 11.00 น. พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. แถลงข่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่มีความจำเป็นต้องวางสิ่งกีดขวางโดยรอบสนามหลวงก่อนการชุมนุม ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าใกล้พื้นที่ราชการ พระบรมมหาราชวัง วัดวาอาราม 

เวลาประมาณ 17.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 200 คน ได้มีการรวมตัวกันบริเวณหน้าพระแม่ธรณีบีบมวยผม ข้างศาลฎีกาและมีผู้ชุมนุมทยอยมาเพิ่มถึงประมาณ 500 คน ในกลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียงพูดปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้เครื่องขยายเสียงประกาศให้ทราบว่า การชุมนุมผิดกฎหมาย และให้ผู้ชุมนุมได้แยกย้ายเลิกชุมนุม แต่ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมโห่ร้องด่าทอ และไปรวมตัวกันที่หน้าตู้คอนเทนเนอร์ที่ตั้งกันไว้ 

ต่อมาเวลาประมาณ 18.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้ฉีดสเปรย์สีที่ตู้คอนเทนเนอร์ และเริ่มใช้เชือกผูกตู้คอนเทนเนอร์และช่วยกันดึงลงเพื่อเปิดทาง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประกาศห้าม กลุ่มผู้ชุมนุมมีการขว้างปาสิ่งของเข้าใส่เจ้าหน้าที่ 

เวลา 18.55 น. ตำรวจประกาศว่าหากยังกระทำต่อจะดำเนินการตามขั้นตอน คือ ฉีดน้ำและ ฉีดน้ำผสมแก๊สน้ำตา แต่อีก 1 นาที ถัดมา ตำรวจฉีดน้ำในทันที และประกาศให้ชุดจับกุมเตรียมตัว ด้านชินวัตร จันทร์กระจ่างประกาศให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในบริเวณสนามหลวงและอย่าเข้าปะทะ สำหรับผู้ที่จะเดินทางกลับเดินทางกลับไปทางสะพานพระปิ่นเกล้า

19.40 น. มีรายงานว่าตำรวจใช้แก๊สน้ำตา นอกจากนั้นยังมีการรายงานว่าที่หน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์มีผู้บาดเจ็บจากกระสุนยาง 1 คน ถูกยิงเข้าที่ไหล่ซ้ายและหน้าอกขวาเหนือราวนม

เวลา 20.29 -20.39 น. ตำรวจ ตชด.ชุดควบคุมฝูงชนบริเวณถนนราชดำเนินใน ใช้เครื่องยิงแก๊สน้ำตาไปทางด้านผู้ชุมนุมที่ทิศสะพานปิ่นเกล้า

หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมในคืนนั้น มีผู้ชุมนุมถูกจับกุมรวม 30 ราย ก่อนถูกส่งไปควบคุมตัวที่ บก.ตชด. ภาค 1 จ.ปทุมธานี และได้รับการประกันตัวในชั้นฝากขังในวันที่ 22 มี.ค. 2564

สำหรับจำเลยในคดีนี้ถูกจับกุมบริเวณหน้าศาลฎีกา ตั้งแต่ในช่วงที่เจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม โดยมีชุดเจ้าหน้าที่วิ่งเข้าไล่จับกุมผู้ชุมนุม รวมทั้งหญิงผู้พิการทางหู ซึ่งยืนถือป้ายข้อความ “เอา คืนมา ขอความสุขคืนประชาชน” ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนบริเวณใกล้แยกสะพานผ่านฟ้าก็ถูกควบคุมตัวไปด้วย โดยพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด 6 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนใช้กำลังประทุษร้าย ให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และมาตรา 216, ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน และทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่

ต่อมา วันที่ 15 ก.ค. 2564 พนักงานสอบสวนได้เรียกทั้ง 4 คน เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ในข้อหา “ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยผู้กระทําความผิดคนใดคนหนึ่งมีอาวุธ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสอง

วันที่ 4 ก.ค. 2566 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 ยื่นฟ้องทั้งสี่ต่อศาลอาญาในข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนใช้กำลังประทุษร้าย ให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และมาตรา 216 และร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน มีเพียงบุญล้อม จำเลยที่ 3 ที่ถูกฟ้องในข้อหาทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่อีก 1 ข้อหา 

คำฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2564 กลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 500 คนได้ร่วมกันชุมนุมที่บริเวณถนนราชดำเนินในเพื่อขับไล่รัฐบาลใช้ชื่อกลุ่มว่า รีเดม จำเลยทั้ง 4 กับพวกได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองดังกล่าว อันเป็นการชุมนุมในสถานที่แออัด เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค โดยการชุมนุมทางการเมืองดังกล่าวไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด 

แล้วจำเลยทั้งสี่กับพวกได้มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายด้วยการโห่ร้อง ด่าทอ ขว้างปา ประทัดยักษ์ ระเบิดปิงปอง ขวดพลาสติก ขวดแก้ว ก้อนหิน ถุงปลาร้า ถุงน้ำปลา และใช้ท่อนไม้และใช้วัสดุของแข็งตี และใช้หนังยางด้ามจับยิงหัวนอต ลูกแก้ว รวมถึงกระโดดถีบใส่ศีรษะเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน อันเป็นการกระทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจสั่งการให้กลุ่มผู้ชุมนุมรวมถึงจำเลยทั้งสี่ยุติการชุมนุม แต่กลุ่มผู้ชุมนุมรวมทั้งจำเลยทั้งสี่ขัดขืนไม่เลิกการกระทำการดังกล่าว

จำเลยทั้ง 4 กับพวกยังได้ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนด้วยการขว้างประทัดยักษ์ ระเบิดปิงปอง ขวดพลาสติก ขวดแก้ว ก้อนหิน ถุงปลาร้า ถุงน้ำปลา และใช้ท่อนไม้และใช้วัสดุของแข็งตี และใช้หนังยางดั้มจับยิงหัวนอต ลูกแก้ว รวมถึงกระโดดถีบใส่ศีรษะเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน เป็นเหตุให้ตำรวจรวม 11 นายได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กายและจิตใจ

ในวันดังกล่าวจำเลยที่ 3 ยังได้ใช้ท่อนไม้ขนาดยาวประมาณ 1-2 เมตร ตีฟาดไปบริเวณศีรษะของ ร.ต.อ.เฉลิมพงษ์ ตระกูลชาวท่าโขลง ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนในบริเวณดังกล่าว จนเป็นเหตุให้ ร.ต.อ.เฉลิมพงษ์ ได้รับบาดเจ็บ กล้ามเนื้อบริเวณต้นคออักเสบ เป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจ 

จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา การสืบพยานมีขึ้นในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้

.

วันนี้ (21 พ.ย. 2567) เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณา 905 ศาลอาญา รัชดาฯ จำเลยทั้งสี่พร้อมทนายความเดินทางมายังห้องพิจารณา จนเวลา 09.30 น. ผู้พิพากษาได้ออกนั่งพิจารณาและสอบถามบุญล้อมว่า ทำไมก่อนหน้านี้ถึงไม่สามารถติดต่อได้ บุญล้อมตอบว่า โทรศัพท์เสียและเขาไปทำงานอยู่ต่างจังหวัด ทำให้ทนายติดต่อไม่ได้ ภายหลังทนายสามารถติดต่อได้จึงได้มาฟังคำพิพากษาในวันนี้

จากนั้นศาลได้เริ่มอ่านคำพิพากษา สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ 

  • คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยได้ทำความผิดตามมาตรา 215 , 216, ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานที่ทำหน้าที่ตามกฎหมาย, ทำร้ายเจ้าพนักงาน, ฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่

พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกันว่า ในที่ชุมนุมมีบางคนใส่หน้ากากอนามัย บางคนก็ไม่ใส่ ไม่พบการเว้นระยะห่าง ไม่มีจุดบริการเจลแอลกอฮอล์และไม่มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขดูแลการจัดกิจกรรม

เวลา 17.00 น. พ.ต.อ.สนอง แสงมณี ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงซึ่งสามารถกระจายเสียงในระยะ 300 เมตร ประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม มีผู้ชุมนุมยืนบริเวณตู้คอนเทนเนอร์ มีผู้ชุมนุมใช้หนังสติ๊กยิงลูกแก้ว ขว้างปาสิ่งของ โยนอิฐและสิ่งของลักษณะคล้ายระเบิดปิงปองและโห่ร้องใส่ตำรวจควบคุมฝูงชน 

มีผู้ชุมนุมใช้ไม้ตีตำรวจควบคุมฝูงชนจนเกิดแผลฉีกขาด บางรายมีแผลฟกช้ำบริเวณขา ซึ่งเกิดจากการที่ผู้ชุมนุมใช้กำลังกับตำรวจควบคุมฝูงชนที่เข้าจับกุมผู้ชุมนุมที่ไม่ปฏิบัติตามประกาศให้เลิกชุมนุม ผู้ชุมนุมบางคนได้ใช้เชือกดึงตู้คอนเทนเนอร์ลงมา 

พยานโจทก์ได้เบิกความว่า เห็นจำเลยที่ 1 ใช้ไม้ไล่ตีตำรวจ ส่วนจำเลยที่ 2 อยู่รวมกับผู้ชุมนุมที่ด่าทอและปาของใส่ หลังผู้ชุมนุมใช้เชือกดึงตู้คอนเทนเนอร์ได้แล้ว พบจำเลยทั้งสี่ยืนบริเวณแนวหน้าของผู้ชุมนุม ซึ่งการเบิกความของพยานโจทก์นั้นสอดคล้องกันและสอดคล้องกับบันทึกคำให้การให้ชั้นสอบสวนด้วย

แม้ที่ชุมนุมจะเป็นสถานที่เปิดโล่ง แต่มีผู้ชุมนุม 500 คน มีความหนาแน่นและแออัด ง่ายต่อการแพร่โรคโควิด-19 พยานหลักฐานโจทก์รับฟังเป็นที่ยุติว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมทางการเมืองที่ไม่มีมาตรการป้องกันโควิด-19

ในส่วนคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ที่อ้างว่ามารับลูกชายที่มาเล่นสเกตบอร์ดในบริเวณใกล้เคียง จำเลยที่ 2 ที่อ้างว่า ไปสังเกตการณ์การทำกิจกรรมการชุมนุม และจำเลยที่ 4 ที่อ้างว่าไปรับอาหารที่แจกในที่ชุมนุม ศาลเห็นว่า คำเบิกความของจำเลยทุกรายไม่มีพยานหลักฐานยืนยัน ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่ติดใจสืบพยาน

  • ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในส่วนจำเลยที่ 3 ว่ากระทำความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานหรือไม่

พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายเบิกความว่า จำหน้าคนร้ายซึ่งคือจำเลยที่ 3 ได้ เนื่องจากขณะนั้นเจ้าหน้าที่ฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมและผู้ใต้บังคับบัญชากำลังจับผู้ชุมนุมรายหนึ่ง แต่ผู้ชุมนุมใช้ไม้ตีผู้ใต้บังคับบัญชา ตนจึงเข้าไปช่วยและเมื่อเข้าไปใกล้ ๆ จึงถูกตีบริเวณคอทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ 

ศาลเห็นว่า พยานเห็นจำเลยที่ 3 ในระยะ 3-5 เมตร ในพื้นที่ที่มีแสงสว่าง รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ใช้ไม้ตีศีรษะทำให้พยานบาดเจ็บ แม้จะพิจารณาถึงอาวุธที่ใช้ตีว่าอาจจะทำให้เกิดบาดแผลร้ายแรงไม่น่าจะทำให้แค่กล้ามเนื้ออักเสบ แต่เนื่องจากพยานสวมหมวกนิรภัยของตำรวจจึงทำให้บาดแผลไม่ร้ายแรง

พิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 140, 215, 216 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกจำเลยที่ 1, 2 และ 4 คนละ 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 มีความผิดตามมาตรา 295 และ 296 ด้วย จำคุก 4 ปี

ริบของกลางที่เก็บมาจากที่เกิดเหตุ ได้แก่ ลูกแก้วทรงกลม จำนวน 18 ลูก, เศษชิ้นส่วนพลุควัน จำนวน 1 ชิ้น, ชิ้นส่วนฝาโลหะ จำนวน 1 ชิ้น, เศษชิ้นส่วนฝาโลหะ จำนวน 1 ชิ้น และเศษชิ้นส่วนแก้วขนาด จำนวน 1 ชิ้น

หลังจากอ่านคำพิพากษาตำรวจศาลได้ใส่กุญแจมือจำเลยเข้าด้วยกันเป็นคู่ ก่อนนำตัวไปยังห้องขังของศาลอาญา รัชดาฯ

ต่อมา เวลา 16.18 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันจำเลยที่ 1 – 4 ในระหว่างอุทธรณ์ สำหรับจำเลยที่ 1, 2 และ 4 กำหนดวงเงินประกันคนละ 100,000 บาท และจำเลยที่ 3 วงเงินประกันจำนวน 200,000 บาท โดยได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ ทำให้ทั้งสี่ไม่ต้องถูกนำตัวไปยังเรือนจำและทัณฑสถานหญิงกลาง

X