รวมบทสัมภาษณ์นักกิจกรรม / ประชาชนผู้ตื่นรู้ – สำรวจเรื่องราวการต่อสู้กับความยุติธรรมที่สร้างหมุดหมายใหม่ให้กับการเคลื่อนไหวในปี 2564

ปี 2564 นับได้ว่าเป็นปีที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชนมีความน่าสนใจในหลายแง่ โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของการชุมนุมอีกหลายครั้งที่ต่อเนื่องมาจากปี 2563 อย่างไรก็ตาม ที่เกิดขึ้นตามมาคู่กันคือจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองซึ่งมากเป็นประวัติกาล ไม่ว่าจะเป็นข้อกล่าวหาฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ที่ถูกใช้โดยเจ้าหน้าที่รัฐหลายร้อยครั้ง สมควรแก่การตั้งคำถามว่า ใช้เพื่อควบคุมการชุมนุม หรือป้องการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 กันแน่ รวมไปถึงการกลับมาของคดีมาตรา 112 ที่เมื่อรวมโทษแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาบางรายอาจต้องถูกจำคุกเป็นเวลานับร้อย ๆ ปี

พวกเขาเหล่านั้นไม่ใช่แค่ “เหยื่อ” ของรัฐที่มุ่งทำนิติสงครามกับประชาชน แต่คือนักสู้ที่ปฏิเสธที่จะเพิกเฉยต่อความไม่เท่าเทียมและกล้าก้าวเท้าออกมายืนอยู่เบื้องหน้าของการเปลี่ยนแปลง

แม้จะคดีความเป็นชนักติดหลัง แต่การเปลี่ยนแปลงเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่อาจหวนกลับ ศูนย์ทนายฯ ชวนทบทวนบทสัมภาษณ์ ถ้อยแถลงยืนยันในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของนักกิจกรรรมทางการเมือง นักต่อสู้เยาวชน เหล่าญาติของผู้ต้องขัง หรือแม้แต่ผู้ชุมนุมในม็อบแต่ละครั้งที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงของอำนาจรัฐ สำรวจภาพชีวิต การต่อสู้กับความอยุติธรรมในนามของกฎหมาย  ที่เป็นภาพแทนการต่อสู้บนท้องถนนของประชาชน ในปี 2564 ได้อย่างน่าสนใจ

ยอดอ่านสูงสุดเดือนมกราคม: สนทนากับ “รุ่งศิลา” กวีที่แลกอิสรภาพเกือบ 5 ปี สู้คดี 112 ในวันที่สังคมยังหวาดกลัว

สิรภพหรือที่รู้จักในนามปากกาบนโลกออนไลน์ว่า “รุ่งศิลา” คือหนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ในช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 จากการถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่บทความและข้อความจำนวน 3 ข้อความบนเว็บบอร์ดประชาไทในปี 2552 และในเว็บ-เฟซบุ๊กส่วนตัวในปี 2556-2557 ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเห็นว่าทำให้ประชาชนไม่เคารพเทิดทูนกษัตริย์

เขาเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ตัดสินใจให้การปฏิเสธ ขอสู้คดีมาตรา 112 แม้เขาจะต้องแลกอิสรภาพเกือบ 5 ปีให้กับเรือนจำ เพื่อต่อสู้คดีที่ศาลยังไม่ตัดสิน ท่ามกลางสังคมสุญญากาศที่การวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายมาตรา 112 กลายเป็นเรื่องทำได้ยาก ในห้วงเวลาที่ผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เป็นตราบาปที่สังคมไม่กล้าแม้จะเอ่ยถึง

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนสนทนากับสิรภพถึงเส้นทางการต่อสู้คดีมาตรา 112 อันยาวนานบนศาลทหาร-พลเรือน และวิธีคงความเป็นมนุษย์ในชุดผู้ต้องขังที่ทำให้ “5 ปีในคุกก็เอาเกียรติของเขาไปไม่ได้”

อ่านบทสนทนาทั้งหมด: https://tlhr2014.com/archives/25137

อ่านข้อมูลคดีมาตรา 112 ของสิรภพ: https://database.tlhr2014.com/public/case/580/lawsuit/202/

อ่านประมวลเนื้อหาถ้อยความในชั้นสืบพยาน https://tlhr2014.com/archives/26121

อ่านเนื้อหาคำพิพากษา https://tlhr2014.com/archives/25228

ยอดอ่านสูงสุดเดือนกุมภาพันธ์: “การเข้าเรือนจำครั้งนี้ไม่ยุติธรรม” เสียงสะท้อนจากทนายจำเลยในวันที่ 4 ราษฎรไม่ได้ประกัน

ศูนย์ทนายฯ ชวนย้อนระลึกเรื่องราวของ 4 นักกิจกรรม ได้แก่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม, อานนท์ นำภา, และสมยศ พฤกษาเกษมสุข เมื่อคราวที่พวกเขาต้องหวนคืนเรือนจำในคดีความสืบเนื่องจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 หรือ #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เนื่องจากศาลมีคำสั่งไม่ให้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 4 หลังจากที่อัยการมีคำสั่งฟ้อง วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ราว 1 สัปดาห์ก่อน ชาย 4 คนนั่งอยู่บนม้านั่งในห้องเวรชี้ของศาลอาญา ด้านในตกแต่งคล้ายกับห้องพิจารณาคดีที่เมื่อมองขึ้นไป มีบัลลังก์ผู้พิพากษาสูงชะลูดเหนือศีรษะ


ชายที่อายุน้อยที่สุดสวมแว่นตาสี่เหลี่ยม เขายังคงเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กำลังจะเรียนจบ


คนถัดมาคือหมอลำจากจังหวัดขอนแก่น ผู้กำลังพยายามตั้งต้นชีวิตใหม่ หลังต้องถูกจำคุกสองปีเศษในคดีมาตรา 112 จากการร่วมเล่นละครเจ้าสาวหมาป่า เมื่อปี 2556


อีกคนหนึ่งคือทนายความสิทธิมนุษยชนที่ช่วยเหลือคดีผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553

คนสุดท้ายคือชายวัยกลางคนสูงที่เคยถูกจองจำยาวนานเพราะข้อหามาตรา 112 ถึง 7 ปี จากการเป็นบรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ

พวกเขามาจากต่างพื้นเพ ต่างวัย แต่ชีวิตกลับผูกพันด้วยคดีการเมือง หลังถูกฝ่ายความมั่นคงชี้ว่าคำพูดและความคิดของพวกเขา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ทั้งยังต้องเผชิญกับการถูกคุมขังในเรือนจำกว่า 2 อาทิตย์ หลังศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน เมื่อเดือนตุลาคมของปีที่ผ่านมา

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้ง 4 เผชิญกับโชคชะตาที่คล้ายกันอีกครั้ง เมื่อต้องนั่งนับเวลาถอยหลัง 4 ชั่วโมงเพื่อฟังคำสั่งศาลที่จะชี้ว่า พวกเขาต้องสู้คดีในชุดนักโทษหรือจะได้ต่อสู้คดีในโลกภายนอก

ทว่ากว่า 4 ชั่วโมงในห้องเวรชี้และชีวิตเบื้องหลังกรงขังเปรียบเสมือนสิ่งรี้เร้นที่มีเพียงทนายความเป็นพยาน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงชวนทนายจำเลยมาพูดคุยถึงช่วงเวลาชี้ชะตาของจำเลย ก่อนศาลชั้นต้นจะไม่ให้ประกัน ทำให้ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม, อานนท์ นำภา, และสมยศ พฤกษาเกษมสุข ต้องก้าวเท้าเข้าเรือนจำ แม้ศาลจะยังไม่เริ่มสืบพยานหรือพิพากษาว่ามีความผิดจริง


++การดำเนินคดีที่เร่งรัด อัยการสั่งฟ้องหลังรับสำนวนคดีจากพนักงานสอบสวนไม่ถึง 2 อาทิตย์++


“เราไม่คิดด้วยซ้ำว่าวันนั้น [9 ก.พ. 64] จะสั่งฟ้องคดีเลย” ทนายเล่าแฝงความประหลาดที่ยังหลงเหลืออยู่ แม้เหตุการณ์จะผ่านไปแล้ว

นับตั้งแต่การชุมนุมเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ของปีที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 14 ก.พ. 64 มีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมและประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกกว่า 198 คดี ขณะที่คดีจำนวนมากยังคงอยู่ในชั้นสอบสวน ส่วนอีกจำนวนหนึ่งอัยการเริ่มทะยอยสั่งฟ้องคดีต่อศาล แต่คดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร กลับแตกต่างออกไปตั้งแต่ชั้นสอบสวน

“เมื่อเดือนที่แล้ว พนักงานสอบสวนสน.ชนะสงครามส่งหมายนัดส่งตัวอัยการให้กับผู้ต้องหาไป แต่ผู้ต้องหาต้องการเลื่อน ตำรวจก็แจ้งว่าจะไปขอหมายจับ ถึงสุดท้ายศาลจะแจ้งว่าไม่มีการออกหมายจับก็ตาม แต่เราคิดว่าถึงขั้นต้องไปออกหมายจับกันเลยหรือ ปกติตามขั้นตอนการส่งตัวอัยการก็สามารถตกลงนัดได้ตามความสะดวกของผู้ต้องหา

“เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ตำรวจสน.ชนะสงครามก็มาที่ศาลด้วย เพื่อดูว่าผู้ต้องหามาตามนัดรายงานตัวอัยการไหม ถ้าไม่มาเขาจะเตรียมไปออกหมายจับ แต่ปกติแล้วถ้าผู้ต้องหาไม่มาตามนัด อัยการจะแจ้งให้ตำรวจออกหมายจับต่อไป ไม่จำเป็นต้องรีบขอออกหมายในวันนั้นทันที”

เมื่อเช้าวันที่ 9 ก.พ. 64 ทั้งสี่ตัดสินใจยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมเพื่อขอให้สอบ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และชำนาญ จันทร์เรือง ถึงประเด็นปัญหาการบังคับใช้มาตรา 112 ในบริบทสังคมไทยและในมุมมองของกฎหมายระหว่างประเทศ

“ปกติแล้วถ้ายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม อัยการมักสั่งให้สอบเพิ่ม แล้วนัดให้ฟังคำสั่งฟ้องในนัดหน้า ในคดีอื่นๆ ที่เรายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม อัยการก็ขอให้สอบเพิ่ม ถ้าตัดสินใจฟ้องคดี สามารถสั่งฟ้องในนัดหน้าได้ สามารถเลื่อนออกไปได้ ไม่ได้มีอะไรจำกัดให้ยื่นฟ้องในวันที่ 9 ก.พ. เท่านั้น

“หลังยื่นหนังสือ รอฟังคำสั่งอัยการ เรายังคิดอยู่เลยว่าอาจเลื่อนนัดให้ฟังคำสั่งครั้งหน้า พอสุดท้ายโฆษกอัยการแถลงว่าฟ้องแน่ เราคิดแล้วว่าคงไม่ได้ประกัน แม้ตามหลักไม่มีเหตุที่จะไม่อนุญาตให้ประกันตัว เพราะผู้ต้องหาก็ไปรับทราบข้อหาตามนัด ไปรายงานตัวตามนัดตลอด ไม่เคยหลบหนี”

แม้ทนายจะไม่คาดคิดว่านั่นจะเป็นวันสุดท้ายที่ทั้งสี่จะมีอิสรภาพ แต่ทั้งสี่เหมือนจะล่วงรู้หน้าอยู่แล้วว่า วันนั้นจะเป็นวันที่ต้องก้าวเท้าเข้าเรือนจำ ถึงจะเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจได้สำหรับผู้เรียกร้องความ “ยุติธรรม”



++“วันนี้ผมพร้อม ผมไม่ได้เอารถมาด้วย”++



“ก่อนหน้าวันนัด 1 วัน [8 ก.พ. 64] เราโทรคุยกับพี่สมยศว่าจะยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมวันพรุ่งนี้ แล้วก็คุยกันเรื่องคดี เราคิดว่ายังไม่ฟ้องหรอก อะไรจะฟ้องคดีเร็วขนาดนี้ เพิ่งส่งสำนวนไปไม่ถึง 2 อาทิตย์เลย แต่พี่สมยศคิดว่าน่าจะฟ้องเลย เพราะตำรวจบอกแกว่า คดีนี้อัยการกับตำรวจเขาทำสำนวนร่วมกัน สำนวนค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว

“ตอนที่คุยกับแกทางโทรศัพท์วันนั้น เรารู้สึกแกนิ่งผิดปกติ แกคงคาดการณ์ไว้แล้วและฝากฝังให้เราช่วยดูแลเรื่องต่างๆ พอถีงวันนัด เราเห็นแกใส่รองเท้าแตะ แกบอกกับเราว่า ‘วันนี้ผมพร้อม ผมไม่ได้เอารถมาด้วย’

“ระหว่างรอผลประกัน แกคิดว่าวันนี้ศาลคงไม่ให้ประกัน พอคำสั่งศาลลงมาแล้ว เราลงจากชั้นบนของศาลไปที่ห้องเวรชี้เพื่ออ่านคำสั่งให้ฟัง แกบอกว่า แกจะอดอาหารหรืออยากจะให้แกฆ่าตัวตาย เราก็บอก เดี๋ยวก่อนพี่ อย่าเพิ่งพูดแบบนั้น ใจเย็นๆ

“ความรู้สึกของคนที่อยู่ในเรือนจำมานาน ได้รับอิสรภาพมาอยู่ข้างนอกไม่กี่ปีแล้วต้องกลับไปใหม่ อาจเป็นแบบนั้น ส่วนเมื่อวันก่อน [10 ก.พ. 64] เราเข้าไปเยี่ยมพี่สมยศที่เรือนจำ แกบอกว่า

“ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องเป็นห่วง”



++“ผมไม่คิดว่าเขาจะขังผมวันนั้นเลย”++



“ผมคิดว่าจะได้ประกันนะ เขาคงใช้เกมจิตวิทยากับเรา ทำให้เรากังวลไปเองจะไม่ได้ประกัน ผมว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะไม่ได้ประกัน ถ้าพวกเราต้องเข้าเรือนจำ จะเป็นการเร่งปฏิกริยา ทำให้คนไม่เห็นความเป็นธรรม ทำให้คนออกมาชุมนุม” เพนกวินตอบคำถามของทนายขณะรอฟังผลประกันในห้องเวรชี้

“วันนั้นเพนกวินเป็นคนเดียวที่คิดว่าจะได้ประกัน ไม่ได้เตรียมตัว ไม่ได้ขอให้แม่มาที่ศาลด้วย ตามปกติ แม่เขาจะตามเพนกวินไปเกือบทุกนัด” ทนายเล่า

“วันรุ่งขึ้น เราเจอแม่เพนกวินที่เรือนจำ เหมือนก่อนหน้านี้แกร้องไห้มาก่อน แกไปชะเง้อดูอยู่ด้านหน้าเรือนจำ เขาอยากเจอ อยากหาลูก อยากคุยกับลูก

“แม่แกเสียใจที่ไม่ได้ไปในวันนั้น แกเล่าให้เราฟังว่า ปกติไปกับลูกตลอด แต่ก่อนหน้า เพนกวินบอกวันที่ 9 เป็นแค่นัดรายงานตัว ‘พรุ่งนี้ ไม่มีอะไรหรอกแม่’

หลังทนายเข้าเยี่ยมเพนกวินที่เรือนจำ ทนายเอ่ยถึงผลประกันที่เขาเคยประเมินไว้

“ผมก็ไม่คิดว่าเขาจะขังผมวันนั้นเลย” เพนกวินตอบอีกครั้ง



++“ผมมากรุงเทพฯ ทีไรติดคุกทุกที ไม่อยากมากรุงเทพฯ อีกแล้ว”++



“ตั้งแต่ที่แบงค์ถูกควบคุมตัวช่วงเดือนตุลาคม แบงค์บอกเขาไม่เข้าใจทำไมเขาถึงถูกออกหมายจับ เขาไม่ใช่แกนนำ วันนั้น [19 ก.ย. 63] เขาพูดเรื่องนิรโทษกรรมนักโทษ 112 ด้วยซ้ำ ไม่ได้พูดถึงข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันหรืออยู่ในขบวนเดียวกันกับแกนนำ” ทนายความเล่า

“เขาพูดเรื่องนิรโทษกรรม เพราะต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่ เพื่อล้างมลทิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้สถาบันอยู่ในสถานะที่ดีด้วย ทำให้เขาไม่เคยคิดว่าจะถูกดำเนินคดีอีกครั้ง

“แม้เราจะไม่ได้เป็นทนายแบงค์ในคดีนี้ แต่เราเคยเป็นทนายให้เขาในคดีแรก [คดี 112 จากการแสดงละครเจ้าสาวหมาป่า] ระหว่างรอผลประกัน เลยคุยกับแบงค์หลายเรื่อง เรื่องปัญหาชีวิต ครอบครัว เรื่องงาน เรื่องความไม่เป็นธรรม แบงค์ร้องไห้เลย [นิ่งไปสักพัก] ตั้งแต่หลังออกจากเรือนจำในคดีแรก ชีวิตเขาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว

“แม่ของแบงค์เพิ่งเสีย งานหมอลำก็แสดงไม่ได้เพราะโควิดระบาด พอมีแพลนจะทำสตูดิโอหมอลำออนไลน์ ก็ต้องมาเข้าเรือนจำอีก แบงค์คงคิดว่าเขายังไม่ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่สุดท้ายกลับต้องมาเข้าเรือนจำอีกครั้ง

“ผมมากรุงเทพฯ ทีไรติดคุกทุกที ครั้งนี้ก็เหมือนกัน มากรุงเทพฯ ยังไงก็ได้ติดคุก ไม่อยากมากรุงเทพฯ เลย ทั้งที่มารายงานตัวตลอด แต่ก็ถูกขังทุกที” ทนายทวนคำตัดพ้อของแบงค์ในห้องเวรชี้

“หลังจากอัยการสั่งฟ้องคดี แบงค์อยากคุยกับศาล อยากอธิบายถึงเจตนา อธิบายว่าเขาไม่ผิด แต่ตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ศาลคนที่อ่านคำฟ้องให้ฟังกับศาลคนที่ตัดสินใจให้ประกันตัวเป็นคนละคน อยู่คนละส่วนกัน ศาลที่มาอ่านฟ้อง เขาแค่อ่านคำฟ้องให้ฟัง แจ้งสิทธิของจำเลย ไม่ได้มีการไต่สวนหรือเปิดช่องให้ใช้ดุลยพินิจอะไร ส่วนศาลที่ให้ประกัน เขาพิจารณาอ่านจากคำฟ้องอย่างเดียว เห็นแค่ตัวกระดาษ ยังไม่เห็นพยานหลักฐานอะไรเลย

“ถ้ามีโอกาสให้จำเลยได้อธิบาย ได้พูดก็คงจะดี ศาลจะได้เห็น ได้เจอ ได้ฟังคำอธิบายของจำเลย พอเราไปเยี่ยมแบงค์ที่เรือนจำ เขาก็ถามว่าเมื่อไหร่เขาจะได้อธิบายให้ศาลฟัง”



++“อานนท์คาดการณ์และเตรียมใจเข้าเรือนจำ แต่ไม่ได้หมายความว่าทำใจหรือเข้าใจได้”++



“วันนั้นอานนท์สวมเสื้อกันหนาวทับเสื้อยืด คงประเมินไว้บ้างแล้วว่าต้องเข้าเรือนจำ พอมีคำสั่งฟ้องคดี เราคุยวางแผนกันว่าต่อไปจะเอายังไง ขั้นตอนต่อไปคืออะไร จะทำอะไรต่อในทางคดี จะยื่นอุทธรณ์ไหม เมื่อไหร่

“เขาคงรู้ว่าถึงเวลาก็คงต้องเข้าเรือนจำ แต่ถามว่าเข้าใจไหมกับสิ่งที่เกิดขึ้น เราว่ามันไม่มีใครเข้าใจ ถึงอานนท์จะรู้ล่วงหน้า เตรียมใจไว้ แต่ไม่ใช่ว่าจะทำใจได้ คงไม่มีใครเข้าใจว่าทำไมต้องเข้าเรือนจำเพราะเรื่องนี้ ทั้งที่ไปรายงานตัวตลอด เราคิดว่าไม่มีใครเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นอานนท์หรือคนอื่นๆ หรือแม้แต่ตัวเราเอง ก็ยังไม่เข้าใจ

“การเข้าเรือนจำมันไม่ยุติธรรมหรอก คำสั่งศาลระบุเหตุผลว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำๆ หลายครั้งหลายครา เราคิดว่าเป็นคำสั่งที่มีอคติต่อการแสดงออกของกลุ่มประชาธิปไตย ประเด็นแรกคือการกระทำของจำเลยไม่ใช่เป็นความผิดด้วยตัวของมันเอง การปราศรัยยังเป็นข้อต่อสู้ของจำเลยว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก อีกประเด็นคือ จากการบรรยายฟ้องของโจทก์ การปราศรัยของจำเลยเป็นการพูดแบบเปิดเผยสุจริต ไม่ได้ไปลักลอบกระทำความผิด ดูจากคำพูดแล้ว เนื้อหาไม่ได้เข้าข่ายดูหมิ่น แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสาธารณะด้วยคำพูดที่ทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้

“ทีนี้ยิ่งศาลวินิจฉัยก้าวล่วงไปถึงการกระทำครั้งอื่นๆ ด้วยว่าการกระทำนั้นอาจผิดเหมือนกัน ก็เหมือนวินิจฉัยไปก่อนว่าทุกการปราศรัยมีความผิด ศาลรู้แล้วหรืออว่าแต่ละการชุมนุมพูดถึงประเด็นไหน เขาอาจจะพูดประเด็นอื่นหรือมีพยานหลักฐานที่พิสูจน์หักล้างกันได้

“การไม่ให้ประกันทำให้จำเลยถูกกักขังระหว่างการพิจารณา ทั้งๆ ที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาว่าผิด ในทางกฎหมาย อย่างในป.วิอาญา เขาก็ระบุว่าการประกันตัวเป็นสิทธิ เพื่อป้องกันสิทธิของจำเลยไม่ให้ถูกพิพากษาไปก่อนว่าเป็นคนผิด ไม่ต้องพูดถึงกฎหมายระหว่างประเทศอย่าง ICCPR ที่ให้ความคุ้มครองด้านนี้อยู่แล้ว

“ตอนเราลงไปห้องเวรชี้ อ่านคำสั่งศาลให้ฟัง ทุกคนนิ่ง เพราะไม่รู้จะพูดอะไรอีกแล้ว เพราะมันเป็นการโต้แย้งบนคนละฐานความคิด

“เรื่องยากที่คนยอมรับและเข้าใจ โดยเฉพาะจำเลย”

ก่อนจบบทสนทนา เราถามทนายถึงโอกาสที่ทั้งสี่คนจะหวนคืนสู่อิสรภาพอีกครั้ง

“เราอาจจะตอบคำถามเหมือนคนมีปม ตอนที่เป็นทนายให้แบงค์ในคดี 112 จากการแสดงละครเจ้าสาวหมาป่า ยังอยู่ในยุค คสช. ที่ขอประกันสักกี่ครั้งก็ไม่เคยได้ ทำให้แบงค์และกอล์ฟตัดสินใจรับสารภาพในที่สุด เพราะถ้าสู้คดีโดยไม่ได้รับการประกันตัวต้องอยู่ในเรือนจำอย่างน้อย 1 ปี ถ้าสำหรับคดี 112 จำเลยรับสารภาพ ศาลอาจลงโทษ 5 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปีครึ่ง ถือเป็นระยะเวลาเท่าๆ กัน ดีไม่ดีอาจจะได้ออกเร็วกว่าคนที่ปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี”

เรื่องราวคดี 112 ในยุค คสช. เหมือนถูกนำมาเล่าซ้ำเดิม อีก 1 สัปดาห์ต่อมา ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนศาลชั้นต้นไม่ให้ประกันตัวทั้งสี่คน ระบุอัตราโทษสูง อาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย-ส่งผลกระทบวงกว้าง ทั้งคำปราศรัยยังกระทบกระเทือนจิตใจของชาวไทยผู้จงรักภักดี หากได้รับการปล่อยตัว อาจหลบหนี

จนถึงตอนนี้ เรายังคงไม่รู้แน่ชัดว่าอีกกี่วันหรือกี่ปีที่เราจะเห็นทั้งสี่คนในโลกภายนอกอีกครั้ง

เนื้อหาฉบับเว็บไซต์: https://tlhr2014.com/archives/25998

ยอดอ่านสูงสุดเดือนมีนาคม: ปากคำอดีตปลัดอำเภอ ผู้ชุมนุมโดยสงบใน #ม็อบ28กุมภา แต่ถูกจับกุม-แจ้ง 6 ข้อหา

“จังหวะที่ตำรวจประกาศให้กลับบ้าน แป๊ปเดียวเองนะ แล้วตำรวจก็กรูเข้ามา มีทั้งโล่ กระบอง จังหวะนั้นผมเห็นหลายคนถือปืนยาง แล้วหลายคนก็แตกตื่น” พีรวุฒิเล่าย้อนเหตุการณ์ขณะก่อนถูกจับกุมช่วงค่ำวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา

พีรวุฒิ (สงวนนามสกุล) อดีตปลัดอำเภอ วัย 31 ปี เป็นอีกหนึ่งใน 23 ผู้ถูกจับกุมจาก #ม็อบ28กุมภา ย้อนกลับไปในค่ำคืนนั้น เขาเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าตนได้ไปร่วมชุมนุมเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปยังกองพันทหารราบที่ 1 โดยไม่ได้มีบทบาทใดในการชุมนุม เป็นแต่เพียงผู้เข้าร่วมชุมนุม

ขณะสถานการณ์เริ่มวุ่นวาย และพีรวุฒิตัดสินใจว่าจะกลับบ้าน ทางตำรวจได้ประกาศให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากพื้นที่ หลังจากนั้นไม่ถึง 5 นาที ตำรวจได้เข้ากระชับพื้นที่ ซึ่งตนสังเกตเห็นโล่ กระบอง และเจ้าหน้าที่บางนายได้ถืออาวุธปืนและเริ่มยิงกระสุนยาง ทำให้ฝั่งผู้ชุมนุมที่อยู่เกาะกลางแตกตื่น ได้ถอยร่นเข้ามาทางปั๊มเชลล์ อีกส่วนวิ่งหลบไปทางศูนย์กีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง

พีรวุฒิจึงตัดสินใจวิ่งออกจากปั๊ม และคนแถวนั้นแจ้งว่าให้หลบไปทางซอยประชาสงเคราะห์ เนื่องจากตำรวจกำลังเข้ามา “กระชับพื้นที่” ในปั๊ม ระหว่างนั้นมีผู้หญิงสะดุดล้มข้างหน้า ตนจึงตัดสินใจช่วยพาเข้าไปหลบในซอกของลานจอดรถ

หลังจากรอให้สถานการณ์ภายนอกสงบประมาณ 15 นาที ผู้หญิงคนนั้นได้บอกตนว่าจะวิ่งไปหาทีมพยาบาล เนื่องจากมากับหน่วยพยาบาลอาสา ซึ่งเธอได้กลับไปอย่างปลอดภัย ส่วนตนรอดูท่าทีต่อและตรวจสอบสถานการณ์ภายนอกกับเพื่อนทางออนไลน์อยู่นั้น ก็ได้มีตำรวจควบคุมฝูงชน 2 นาย เข้าตรวจค้นบริเวณนั้นและเข้าจับกุมตัวเขา

พีรวุฒิตัดสินใจไม่หลบหนีหรือขัดขืนการจับกุม โดยมองว่าตนมีเจตนาในการมาชุมนุมอย่างสงบสันติ และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงกับตำรวจตั้งแต่แรกเริ่มชุมนุมจนถึงวินาทีนั้น น่าจะพูดคุยกันได้ และไม่ได้คาดคิดว่าจะถูกดำเนินคดี

แม้เขาจะเล่าเหตุการณ์ก่อนหน้าให้เจ้าหน้าที่ฟัง ยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุวุ่นวาย แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีท่าทีสนใจ เขาจึงตะโกนบอกผู้สื่อข่าวว๊อยซ์ทีวีที่กำลังถ่ายทอดสดอยู่ว่า “ผมเป็นผู้บริสุทธิ์ ถ้าใครเป็นเพื่อนผม เห็นผมโดนจับกุมติดตามผมด้วยนะครับ ชื่อพีรวุฒิครับ”

หลังจากจับกุม พีรวุฒิ เผยว่า ตนไม่ได้ถูกทำร้ายขณะจับกุมเหมือนผู้ถูกจับรายอื่นบางคนที่ถูกเจ้าหน้าที่ใช้กระบองตีหรือกระทืบ เพียงแต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งสิทธิในการจับกุม หรือระบุว่าเขากระทำความผิดใดขณะจับกุม ทั้งยังมีการปฏิบัติอย่างไม่ให้เกียรติของเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้วาจา หรือการใช้เท้าเขี่ยผู้ต้องหาของเจ้าหน้าที่ ก่อนที่ 20 นาทีต่อมา เจ้าหน้าที่จะพาผู้ต้องหาทยอยไปยังรถคุมขัง

“ความรู้สึกเหมือนกรณีตากใบ” เขาระบุหลังถูกจับขึ้นรถคุมขังคันแรก

พีรวุฒิรู้สึกว่าไม่ควรจับคนมากว่ายี่สิบคนมารวมกองไว้ในรถคันเดียว (ขนาดรถหกล้อ) ที่ร้อนอบอ้าว และไม่สะอาด หลายคนต้องนั่งยองๆ พาดตัวกันไปมา ทุกคนถูกจับมัดมือไว้ด้านหน้าหรือหลังด้วยสายเคเบิ้ลไทร์ หลายคนบาดเจ็บจากการรัดแน่นเกินไป เกิดเป็นรอยแดงช้ำบนข้อมือทั้งสองข้าง แม้ภายหลังเจ้าหน้าที่จะช่วยคลายเส้นเคเบิ้ลและเคลื่อนย้ายผู้ถูกจับกุม โดยแยกกลุ่มด้วยรถอีกสองคันก็ตาม

นอกจากนี้ พีรวุฒิได้ยืนยันว่าหลังถูกจับกุมเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการแจ้งข้อมูลใดๆ เพิ่มเติม ขณะที่อยู่บนรถคุมขังผู้ถูกจับกุมได้ช่วยกันพยายามติดต่อบุคคลภายนอก เพื่อให้ทราบเหตุการณ์ถูกจับกุมและสถานที่ที่จะพาตัวพวกเขาไป

ภายหลังจึงทราบว่าเขาและผู้ชุมนุมรายอื่นถูกพาไปยังกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 พีรุวฒิถูกตั้งข้อกล่าวหา 6 ข้อหา ซึ่งรวมไปถึงข้อกล่าวหาอย่างมั่วสุมใช้กำลังประทุษร้าย, ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน และร่วมทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงแต่อย่างใด ก่อนในเย็นวันต่อมา ศาลจะให้ประกันตัวผู้ถูกจับกุมทั้งหมดออกมา

“ผมขอให้ทุกคนสู้ต่อไป ขอให้ทุกคนช่วยเป็นกระบอกเสียงด้วยความหวังดีต่อประเทศนี้”

พีรวุฒิเล่าว่า ตนจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านรัฐศาสตร์ และเคยเป็นอดีตข้าราชการปลัดอำเภอ ก่อนตัดสินใจลาออก เนื่องจากไม่พอใจระบบข้าราชการ หลังจากนั้นหันมาช่วยงานทางการเมือง ด้วยการเป็นผู้ช่วย ส.ส. ของพรรคอนาคตใหม่อยู่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นแล้ว หลังจากพรรคถูกศาลรัฐธรรมนูญพิพากษายุบ

เขายืนยันเจตนารมณ์ว่าการไปร่วมชุมนุมคือการไปแสดงออกโดยสงบ เรียกร้องอย่างสันติ อยู่ภายใต้กรอบเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และเขาไม่เคยพกพา “อาวุธ” ไปร่วมชุมนุมแม้แต่ครั้งเดียว

พีรวุฒิ ยังได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวภายหลังเหตุการณ์ระบุว่า สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ทำรุนแรงเกินกว่าเหตุไปมาก และขัดต่อสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ที่ประชาชนสามารถออกมาชุมนุมโดยสงบได้ และเขาจะสู้ต่อไป ไม่ว่าทั้งทางคดี หรือการชุมนุมโดยสงบสันติ พร้อมทั้งขอให้ประชาชนสู้ต่อ เพราะหากทุกคนไม่สู้ ก็จะไม่มีวันเห็นเพื่อนร่วมประเทศมีชีวิตที่ดีกว่านี้ และจะไม่มีวันส่งต่อประเทศที่ดีกว่านี้ให้คนรุ่นต่อไปได้

อ่านเรื่องของพีรวุฒิบนเว็บไซต์ https://tlhr2014.com/archives/26563


อ่านรายงานเหตุการณ์ชุมนุม #ม็อบ28กุมภา https://tlhr2014.com/archives/26380


อ่านเรื่องราวของพนักงานส่งอาหาร อีกหนึ่งผู้ถูกจับกุมจาก #ม็อบ28กุมภา ทั้งที่เพียงไปยืนดูเหตุการณ์ https://tlhr2014.com/archives/26444

ยอดอ่านสูงสุดเดือนเมษายน: ฟังเพลงชีวิตของ “พอร์ท ไฟเย็น” ศิลปินผู้ใช้ดนตรีและกีต้าร์เป็นอาวุธสู้เผด็จการ

การชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นตลอดเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา เสียงเพลงถูกหยิบขึ้นมาใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือขับเคลื่อนสังคมและสร้างความสนุกสนานแก่มวลชนไปด้วยในขณะกัน หลายเพลงที่ดังก้องผ่านเครื่องขยายเสียงหาฟังไม่ได้จากสื่อกระแสหลัก เนื้อร้องที่พาดพิงการเมืองอย่างตรงไปตรงมา แฝงนัยยะของการตั้งคำถามและถกเถียงต่อระบบชนชั้นและศักดินา หลายเพลงมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นผลงานจาก “วงไฟเย็น”

วงดนตรีไฟเย็นก่อตั้งขึ้นจากกลุ่มคนผู้ต้องการประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2554 เริ่มเป็นที่รู้จักจากการร่วมแสดงดนตรีบนเวทีปราศัยและเสวนาในกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงของคนเสื้อแดง จนถึงตอนนี้มีผลงานเพลงแล้ว 3 อัลบั้ม รวม 101 เพลง ผลงานที่ได้รับความนิยมและอาจคุ้นหูใครหลายคน เช่น ไม่รักนะ ระวังติดคุก, ปลดปล่อย เปลี่ยนแปลง, ต้นมะขามสนามหลวง เป็นต้น

ปัจจุบันมีสมาชิกวงไฟเย็น 3 ใน 4 คน ได้ลี้ภัยอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส เหลือแต่เพียง ปริญญา ชีวินปฐมกุล หรือ “พอร์ท ไฟเย็น” วัย 36 ปี ผู้เป็นได้ทั้งนักร้อง ร้องประสาน มือเบส และมือกีต้าร์ เนื่องจากเขายังคงต้องรักษาตัวจากโรคตับอักเสบ เบาหวาน และปลายประสาทอักเสบอยู่ในประเทศไทย

แต่พอร์ทกลับถูกจับกุมเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตามหมายจับของศาลทหารกรุงเทพลงวันที่ 1 สิงหาคม 2559 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กจำนวน 3 โพสต์ใ่นช่วงปีนั้น นั่นทำให้จนถึงขณะนี้ พอร์ทยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนครอบครัวและรุ่นพี่คนสนิทของพอร์ทมาพูดคุย และบอกเล่าเรื่องราวของชายหนุ่มผู้หลงรักดนตรีและอุทิศชีวิตให้กับการใช้เสียงเพลงเพื่อทวงคืนสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนให้ได้รู้จักมากขึ้น

อ่านต่อบนเว็ปไซต์ >> https://tlhr2014.com/archives/28419

ยอดอ่านสูงสุดเดือนพฤษภาคม: “สังคมถึงเวลาเปลี่ยนแปลงตั้งนานแล้ว ไม่ใช่ในปีสองปีนี้” คุยกับ ‘แซน’ นร.ภูเขียว 1 ในเยาวชนที่ถูกดำเนินคดี ในวันที่ม็อบเคลื่อนไหวด้วยหัวใจเยาวรุ่น

ในวัย 15 ปี ความสนใจของเด็กผู้หญิงวัยทีนเอจคนหนึ่งที่มีต่อโลกทั้งใบ คงสดใสเจือปนไปด้วยสิ่งสวยงามน่ารัก เท่าที่คนในวัยนั้นจะจินตนาการฝันถึง เช่นเดียวกับแซน เด็กนักเรียนโรงเรียนภูเขียว ที่เธอมักใช้เวลาว่างหลังเรียนและเป่าฟลุตในวงโยธวาทิตประจำโรงเรียน ด้วยการไปเดินพิพิธภัณฑ์ หอศิลปวัฒนธรรม หรือหอสมุดในเมืองใหญ่ๆ เพื่อหาแรงดลใจในการสร้างงานแบบตัวเอง

ยิ่งเมื่อได้อ่าน ‘โฉมหน้าศักดินาไทย’ ‘แซน’ ตกผลึกถึงสิ่งที่จิตร ภูมิศักดิ์เขียนไว้ว่า “สังคมถึงการเปลี่ยนแปลงตั้งนานแล้ว ไม่ใช่ในปีสองปีนี้ มันควรจะมีการปฏิรูปหรือปฏิวัติอะไรสักอย่างได้แล้ว เกี่ยวกับความเชื่อเก่าๆ ที่ถูกฝังรากลึกลงไปไม่สามารถนำมาพัฒนาต่อได้ และมันส่งผลเสียในรุ่นต่อรุ่น ควรจะหยุดได้แล้ว หยุดได้ตั้งแต่ยุคเขา คือสิ่งที่จิตรกำลังจะบอกหนู”

แต่แล้วสิ่งที่พบเผชิญระหว่างการออกไปทำกิจกรรมทางการเมืองเมื่อต้นปีที่ผ่านมา นอกจากความตื่นใจที่ได้พบเจอกับคนวัยเดียวกันที่ฝันถึงความเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับเธอ กลับมาพร้อมคดีความ 2 คดี ทำให้สถานที่ที่เธอควรจะไปหาแรงบันดาลใจกลับกลายเป็น สถานีตำรวจ สำนักงานอัยการ และศาลเยาวชนและครอบครัว

ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหว่านคดีทางการเมืองต่อผู้ประท้วงรัฐบาลในรูปแบบต่างๆ ที่หลายคนคาดไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้นกับเยาวชนด้วย ยิ่งหากนับจำนวนและความถี่ของข้อหาที่เด็กและเยาวชนพบเจอจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง

แซนเริ่มตั้งคำถามว่า หากความฝันคือการได้ออกไปจากที่นี่และเรื่องราวเหล่านี้ นั่นจะเรียกว่าความฝันหรือเปล่านะ?


ในภูเขียว เมืองที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่สิ่งจำลอง


สำหรับคนภายนอกเมื่อผ่านมาอำเภอภูเขียวจะพบว่าเป็นอำเภอใหญ่อำเภอหนึ่ง เป็นศูนย์กลางหน่วยงานราชการในพื้นที่ตอนบนของจังหวัดชัยภูมิ มีความเจริญทางเศรษฐกิจจากอ้อยและโรงงานน้ำตาล แต่สำหรับ ‘แซน’ คนรุ่นใหม่ที่เกิดปี 2548 ในครอบครัวประกอบธุรกิจเคเบิลทีวีมองว่า ภูเขียวเป็นเมืองที่อยู่กึ่งกลางระหว่างความเป็นเมืองกับธรรมชาติ เป็นเมืองที่แสนสงบ แต่ถึงวันที่ต้องส่งเสียงทางการเมืองจริงๆ ที่แห่งนี้ก็ไม่เคยเงียบเหงาหรือเว้นว่างจากการต่อสู้
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยภูเขียว หลักฐานการตื่นรู้ร่วมสมัยของคนในพื้นที่ ตั้งอยู่กลางเมืองตั้งแต่ปี 2484 ไม่ไกลจากที่ที่เด็กนักเรียนอย่างแซนจะเดินผ่านและเห็นวัตถุสัญลักษณ์ทางการเมืองนี้อยู่ทุกวัน


“หนูเคยหาคำตอบตอน ป.3 เพราะว่าบ้านหนูอยู่ตรงข้ามกับอนุสาวรีย์เลย (อยู่หน้าบ้าน) สมัยก่อนช่วงฉลองวันชาติที่จะใช้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลองเป็นฉาก ภูเขียวเป็นหนึ่งในพื้นที่จัดงาน ข้าราชการและประชาชนในอำเภอจึงอยากสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแบบถาวรเหมือนที่กรุงเทพฯ พวกเขาจึงระดมเงินกันทำให้มันเกิดขึ้น หนูจึงเข้าใจว่าที่นี่ให้ความสำคัญกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย และแม่หนูปลูกฝังเรื่องการเมืองมาตั้งแต่เด็ก แม่จะเล่าให้ฟังว่าอนุสาวรีย์แบบนี้จะมีแค่ในกรุงเทพฯ กับมีในไม่กี่จังหวัด เช่นที่อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ” แซนรำลึกถึงอดีต

แต่ความทรงจำที่แซนได้ปะทะกับการเมือง นักการเมือง ครั้งแรกย้อนไปสิบปีที่แล้ว ในช่วงวันที่ 24 มิถุนายน 2554 เมื่อยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย เดินทางไปหาเสียงก่อนเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่อำเภอภูเขียว ด้วยที่บ้านทั้งพ่อและแม่เป็นคนเสื้อแดง แม่เธอมักเล่าให้ฟังว่า หลังการขึ้นมามีอำนาจของ ทักษิณ ชินวัตร ปัญหาปากท้องของชาวบ้านจะได้รับการตอบสนองมากกว่าคนอื่นๆ และเป็นนายกฯ ที่ทำตามนโยบายที่วางไว้ ก่อนหน้านั้นพ่อแม่ของแซนไปม็อบที่โน่นที่นี่บ้าง เช่นเดียวกับวันที่พรรคเพื่อไทยไปที่โรงเรียนภูมิวิทยา เด็กหญิงแซนในวัย 6 ขวบ จากโรงเรียนอนุบาลบ้านทับทิม จึงได้ไปรู้เห็นในบรรยากาศก่อนเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งนั้นด้วย

“ที่ภูเขียวมีกลุ่มคนเสื้อแดง เท่าที่จำความได้ แม่เอาสติกเกอร์เบอร์ 1 ที่เป็นเบอร์ยิ่งลักษณ์มาติดที่หน้ารถเลย หนูมองว่าแกอัธยาศัยดี เข้าถึงง่ายและรับฟังปัญหาชาวบ้านได้ดี ตอนแกมาปราศรัย ก็ไม่ได้มีการกั้นรั้ว ทั้งยังให้คนเข้ามาสอบถามนโยบายได้เต็มที่” แซนเล่าถึงอดีตนายกรัฐมนตรีสุภาพสตรีหนึ่งเดียวของประเทศไทย

แต่แล้วหลังจากนั้น 3 ปี ความทรงจำทางการเมืองของแซนก็แจ่มชัดอีกครั้ง ในปลายปีรัฐประหาร 2557 ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถูกจับกุมจากการไปชูสามนิ้วแสดงออกไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารต่อหน้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่เดินทางมาราชการในจังหวัดขอนแก่น ตอนดูข่าวเมื่อคราวนั้นเธอเห็นความกล้าบางอย่างของกลุ่มนักศึกษา

ก่อนที่อีก 2 ปีต่อมา เธอถึงได้รู้ว่าชายผู้ห้าวหาญคนดังกล่าว ก็เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขชาวภูเขียวเหมือนกัน เมื่อ 1 วันก่อนออกคะแนนเสียงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 ไผ่ จตุภัทร์ และ ปาล์ม วศิน นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ถูกจับกุมระหว่างเดินแจกใบปลิวเอกสารไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนถูกคุมตัวมาที่ สภ.ภูเขียว ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ

“ตอนนั้นปี 2559 อยู่ ป.5 พี่ไผ่ถูกจับมาที่ สภ.ภูเขียว ตอนที่เขามุงกันเยอะๆ ก็จะเฮโลกันไปด้วย แต่หนูไม่เคยมองว่าพวกพี่เขาเป็นผู้ร้ายตั้งแต่แรกเห็นนั้น หนูเลยยังไม่ตัดสินใจว่าพี่แกทำผิดอะไร คือยังไม่รู้เลยตอนนั้นว่าพี่เขาทำอะไรมา”

ที่ สภ.ภูเขียว วันนั้นแซนได้ยินการพูดถึงไผ่ จตุภัทร์ ในทางที่ดีบ้าง ในทางที่ไม่ดีบ้าง แต่บรรดาเสียงที่บอกว่าไม่ควรทำ แซนได้ยินข้ออ้างว่า กิจกรรมดังกล่าวทำให้สังคมแตกแยกบ้าง ทำให้ประเทศไม่เจริญบ้าง นั่นทำให้แซนเริ่มตั้งคำถามถึงบรรดาข้ออ้างของผู้ใหญ่ที่พยายามขัดขวางการแสดงออกของเยาวชนที่แตกต่างกับรัฐ

“มีครูที่โรงเรียนคนหนึ่งเขามองว่า ไม่ยอมรับพี่ไผ่เป็นลูกศิษย์แล้ว ถ้าภายหลังเขาคิดได้ก็น่าจะเปลี่ยนใจ แต่มันไม่ใช่ปัญหาของเรา เพราะถ้าเขาจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนก็เป็นสิทธิของเขา ตราบใดที่ไม่เบียดเบียนใคร ส่วนตัวเรายังมองว่าพี่ไผ่เป็นรุ่นพี่และเป็นไอดอลของเรา”

นอกจากมองว่า รุ่นพี่โรงเรียนภูเขียวทั้งสองคนจะไม่ได้ทำผิดอะไรแล้ว การแสดงออกครั้งนั้นในพื้นที่อำเภอภูเขียว ส่งผลให้แซนตัดสินใจไม่ยากที่จะยกให้ไผ่เป็นไอดอลทางความคิด และกลายมาเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์แบบจริงๆ จังๆ จากการชุมนุม #ภูเขียวจะไม่ทน ผ่านการปราศรัยของเธอครั้งแรกเมื่อต้นปี 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยภูเขียว อันเปรียบเสมือนการเปิดเส้นทางต่อสู้ทางการเมือง ที่ภายหลังเธอมาเข้าใจกับตัวเองว่า
“ถ้าโดนคดีสักครั้งคงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกในสถานการณ์ที่มีการแจกคดีแบบนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ควรปกติ แต่กลายเป็นเรื่องปกติ”



ในห้องเรียน พื้นที่สร้างสรรค์และบางครั้งทำให้นึกฝันในที่ที่ดีกว่า



บรรดาข้อเรียกร้องของนักเรียนนักศึกษา ที่ออกมาประท้วงรัฐบาลเมื่อปี 2563 คงหนีไปพ้น 3 หลักการของกลุ่มเยาวชนปลดแอก 1.หยุดคุกคามประชาชน 2.ยุบสภา และ 3.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่สำหรับแซนมองว่าเรื่องพื้นฐานอย่างอำนาจนิยมและความเหลื่อมล้ำในโรงเรียน ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เธอต้องออกมาพูดเพื่อให้ผู้ใหญ่มองเห็นปัญหา


“เพราะทุกคนมีศักยภาพที่แตกต่างกัน และสายการเรียนโรงเรียนหนูมีให้เลือกน้อยมาก ไม่กระจายไปตามความถนัดและความสนใจของนักเรียน อย่างหนูถนัดเรียนดนตรี ศิลปะ แต่โรงเรียนหนูมีแค่วิทย์-คณิต, ศิลป์-คำนวณ และศิลป์-ภาษา การเรียนวิทย์-คณิต ผู้ใหญ่อาจมองว่าเรียนวิทย์-คณิต สามารถ แต่ถ้าเกรดตกเรียนไม่ไหวก็เข้าคณะอะไรไม่ได้อยู่ดี และมันทำให้เราไม่มีความสุขกับชีวิตช่วงนี้ ทั้งที่อายุช่วงนี้เราควรมีความสุขกับมัน การศึกษาและทุกอย่างเราประเมินได้เอง มากกว่าที่ผู้ใหญ่จะมากำหนดกฎเกณฑ์ให้เรา” แซนสะท้อนไว้ตอนหนึ่ง

“หนูจะตอบคำถามที่ว่า อยากเรียนประเทศไหนมากกว่า เพราะตอนนี้การศึกษาไทยถอยหลังลงทุกที หลายสิ่งหลายอย่างขัดต่อความสามารถที่หนูมี และขัดกับสิ่งที่หนูชอบ และรัฐสวัสดิการที่ไม่พัฒนาพอให้คนคิดฝันถึงความสุขจากการทำงาน”
แซนยังมองว่า ถ้าการเมืองดี เป็นรัฐสวัสดิการ ยึดในหลักคนเท่ากัน เด็กจะสามารถมองเห็นจินตนาการอื่นในสังคมที่ดีกว่าในขั้นกว่า รวมถึงทำอะไรก็ได้ที่มีความสุข อยู่กับสิ่งนั้นได้นาน และมีประโยชน์กับประเทศไปตลอดได้


“ถ้าความฝันคือการได้ไปจากที่นี่ เด็กรุ่นเราก็เป็นแบบนี้กันหลายคน การเปลี่ยนแปลง ไม่รู้จะเปลี่ยนแปลงได้ช้าได้เร็วเท่าไหร่ คุณภาพผู้นำก็ลดลง อายุเราก็มากขึ้น เราอาจไปตั้งหลักที่อื่นค่อยกลับมาเคลื่อนไหว หรือจะเลือกสู้อยู่ที่นี่ไปเรื่อยๆ อันนี้ก็ยังตัดสินใจไม่ได้”


ด้วยความคิดที่ว่าการอยู่จังหวัดชัยภูมิเป็นโอกาสหนึ่งในการมองเห็นเรื่องที่ดูจะห่างไกลจากปัญหาในกรุงเทพมหานคร นอกจากเป็นนักเรียนที่สนใจการเมืองในระดัชาติ แซนเล่าอีกว่า อยากเป็นประชาชนที่ทำเพื่อประชาชนในพื้นที่ด้วยกันเอง โดยเฉพาะการสื่อสารปัญหาเรื่องที่ดินในชัยภูมิที่ชาวบ้านถูกรุกไล่ที่ทำกินจากอุทยานแห่งชาติ หรือแม้แต่การตั้งโรงงานน้ำตาลในภูเขียว ในแง่หนึ่งทำให้ตัวอำเภอถูกมองว่ามีความเจริญทางเศรษฐกิจท แต่เรากลับไม่ตั้งคำถามถึงผลเสียทางสิ่งแวดล้อมที่ตามมา โดยเฉพาะน้ำที่ใช้ในชุมชน


ในค่ายราษฎรออนทัวร์ โรงเรียนการเมืองที่มีครูฝ่ายปกครองเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ


ระหว่างวันที่ 29-31 มกราคม 2564 กลุ่มกิจกรรม Unme of Anarchy นำโดย ไผ่ จตุภัทร์, อินทิรา เจริญปุระ, ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ แอมมี่ The Bottom Blues และนักกิจกรรมอื่นๆ จัดค่ายในชื่อ ‘ราษฎรออนทัวร์’ ให้เยาวชนไปศึกษาพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย โดยเปิดรับสมัครนักเรียนชั้น ม.3 – ม.6 ในพื้นที่ภูเขียว แซนไม่พลาดที่จะสมัครเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนั้น แต่แล้วก่อนเดินทาง 1 วัน กลับมีเรื่องไม่คาดฝันเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ภูเขียว ไปคุกคามถึงบ้านของแซนและเพื่อนนักเรียนที่สมัครไปค่ายอีก 2 คน เพื่อสอบถามรายละเอียด หนำซ้ำครูฝ่ายปกครองก็ไปพบผู้ปกครองนักเรียนบางรายที่จะไปค่าย ทั้งกล่าวหาว่า ค่ายนี้เป็นค่ายล้างสมอง หลังจากนั้น นักเรียนส่วนหนึ่งที่ลงชื่อเข้าร่วมก็มาขอถอนตัวออก

“หนูเจอหนักสุดคือตำรวจมาบ้านโดยตรงเลย และมีครูฝ่ายปกครองมาพูดถึงแง่ลบของค่าย แต่เราก็ยังไป ส่วนคนอื่นๆ ถอนตัว เพราะผู้ปกครองไม่อนุญาต สำหรับหนู พ่อแม่ก็ยังกังวลว่า จะมีโอกาสโดนคดีหรือไม่”

หลังจากค่ายเสร็จ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กลุ่มจัดค่ายราษฎรออนทัวร์ มุ่งหน้าจากอำเภอวังสะพุงมาที่อำเภอภูเขียว เพื่อจัดชุมนุมหวังเรียกร้องให้ตำรวจที่ไปคุกคามนักเรียนแต่ละบ้าน ออกมาขอโทษต่อพฤติกรรมดังกล่าว การชุมนุมจัดบริเวณหน้าโรงเรียนภูเขียว ต่อเนื่องไปที่หน้า สภ.ภูเขียว ท้ายที่สุดการชุมนุมในวันนั้น นอกจากจะไม่ได้รับการขอโทษแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ภูเขียว ยังออกหมายเรียกข้อหาชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกด้วย รวมถึงแซน เยาวชนคนเดียวที่ถูกดำเนินคดีถึง 4 ข้อหา ปัจจุบันคดียังอยู่ระหว่างการสอบสวนของตำรวจ

“เราก็ได้แต่บอกพ่อแม่ว่า ที่หนูโดนหมายคดีนี้ มันไม่ใช่เพราะหนูทำผิด แต่เป็นเพราะตำรวจเขาไม่มีจรรยาบรรณ และหนูไม่ได้ตั้งคำถามกับ 4 ข้อหา ทางการเมืองที่เขาจะเอาผิด แต่ตั้งคำถามว่าหนูถูกดำเนินคดีได้ยังไงมากกว่า”

สำหรับเรื่องที่ว่า “โดนล้างสมอง” แซนสะท้อนไว้ว่า “การไปค่ายควรเกิดจากการตัดสินใจของผู้ที่จะไป ไม่ใช่ผู้มีอำนาจหน้าไหน และเขาควรรู้ด้วยว่าแถวบ้านเราไม่ได้มีอะไรให้ศึกษามากมาย การที่มีโอกาสศึกษาเขาควรจะเปิดรับอะไรใหม่ๆ และให้เราตัดสินเองว่าจะดีหรือไม่ดี โดยพื้นฐานหลายๆ อย่าง”

ปลายเดือนมีนาคม 2564 ระหว่างเข้ากรุงเทพฯ ไปทำกิจกรรมกับกลุ่ม Unme of Anarchy อีกครั้งในกิจกรรม “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ก่อนจะมีการสลายหมู่บ้านในช่วงเช้ามืดของวันที่ 28 มีนาคม แซนและเยาวชนอีก 5 ราย ถูกรวบตัวไปที่ บก.ตชด.ภาค 1 ด้วย ครั้งนี้แซนถูกดำเนินคดี 5 ข้อหา ก่อนจะถูกพาตัวไปศาลเยาวชนและครอบครัวกลางในช่วงเย็น เพื่อให้ศาลตรวจสอบการจับกุม และยื่นขอประกันตัว โดยเยาวชน 4 ราย มีผู้ปกครองมาประกันตัวไป แต่กับแซนครั้งนี้นับว่าโชคร้ายเพราะพ่อแม่ไม่ได้อยู่ใกล้

“กังวลเรื่องการเข้าไปอยู่ในสถานพินิจมากๆ เพราะพ่อกับแม่อยู่ภูเขียว เข้ากรุงเทพฯ มาไม่ทัน และไม่มีคนมาประกันตัวออก แต่ที่สุดก็มีอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนหนึ่ง เอาตำแหน่งอาจารย์มาประกัน โดยไม่ได้วางหลักทรัพย์อะไร ตอนนั้นก็โล่ง แต่ระหว่างที่รอว่าศาลจะให้ประกันมั้ย หนูเหลือบเห็นว่ารถบ้านเมตตามาจอดรอ เตรียมมารับตัวเราไปแล้ว แต่ก็ทำใจไว้แล้ว”

จากวันที่รู้เห็นการเมืองผ่านผู้ปกครอง จนถึงจุดที่มาเผชิญหน้ากับการเมืองเอง แซนไม่คิดว่าตำรวจจะดำเนินคดีกับเยาวชนได้ “แต่ละคดีคือการจำกัดขอบเขตการแสดงออกของเยาวชน ทั้งที่จริงเราควรที่จะแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี การถูกดำเนินคดีเป็นสิ่งที่หนูคิดไม่ถึง”



ในปัจจุบัน แม้จะชอบอยู่ในที่ไม่มีแสง แต่แสงมักจะเพ่งมาหา



ถ้าตัดเรื่องทางการเมืองออกไป แซนเล่าว่าเธอกำลังสนใจศึกษาประวัติศาตร์ ทั้งในกระแสหลักแบบ หนังสือสี่แผ่นดิน ของคึกฤทธิ์ ปราโมช หรือในกระแสรองเชิงวิพากษ์วิจารณ์ในหน้าเพจเฟซบุ๊กต่างๆ
“ตอนนี้อายุ 16 ปี ในวัยอย่างเราควรได้ไปพิพิธภัณฑ์ หอศิลปวัฒนธรรม ไปหาแรงบันดาลใจบ้าง ไปหอสมุดกรุงเทพ อย่างที่อยากไปมากกว่าไปที่ศาล สถานีตำรวจ เพราะนอกจากประวัติศาสตร์ เรากำลังสนใจศิลปะในด้านประติมากรรม และงานวาด งานเชิงแอ็บสแตร็กส์”

สำหรับกลุ่มกิจกรรมของนักเรียน แซนรู้จักกลุ่มนักเรียนเลวที่กรุงเทพฯ และคุ้นเคยกับภาคีนักเรียน KKC ของขอนแก่น ด้วยความคิดทางการเมืองพวกเขาอันน่านับถือจิตใจ ในส่วนบทบาทนักกิจกรรมทางการเมืองของตนเองต่อไปนี้ แซนรับว่า หากให้เธอเป็นแกนนำในการต่อสู้คงไม่ใช่ทางที่ถนัด แต่ถ้าหากขบวนการเคลื่อนไหวไม่มีแกนนำจริงๆ ค่อยว่ากันอีกที

เมื่อให้ประเมินตัวเอง แซนคิดว่าสิ่งที่เธอต้องปรับปรุงคือวางแผนให้ถี่ถ้วนมากขึ้น และเซฟเวลาในการทำอะไรหลายๆ อย่าง ต้องเคลื่อนไหวเร็วมากกว่านี้ให้ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน โดยความคิดทางการเมืองของเด็กรุ่นเธอ ก็ไม่มีใครเห็นด้วยกับเผด็จการอยู่แล้ว เพียงแต่การแสดงออกอาจจะแตกต่างกัน

“หนูชอบอยู่ในที่ที่ไม่มีแสง แต่แสงชอบมาหาหนู ที่หนูไม่อยากมีแสงเพราะเป็นเรื่องความปลอดภัยในชีวิตประจำวันด้วย อยากทำค่ายทำงานด้านความคิดมากกว่า แลกเปลี่ยนความคิดกับมวลชน” แซนบอกไว้อีกตอน

ทุกวันนี้นอกจากแซนผชิญคดีการเมืองอยู่ 2 คดี เป็นผลให้ต้องเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ – ภูเขียว ซึ่งเธอยอมรับว่ายุ่งยาก ยิ่งถ้าเปิดเรียนน่าจะยุ่งยากกว่าเดิม แซนยังกังวลเรื่องเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาตาม หรือมาสร้างสถานการณ์อันน่ากังวล

“มันมีครั้งหนึ่งที่หนูขับรถอยู่แถวสวนสาธารณะ แล้วตำรวจนอกเครื่องแบบกวักมือเรียก ทำให้ต้องบิดหนีอย่างเดียว หรือไม่ก็มีมาทักว่าหน้าคุ้นๆ นะ คือเป็นตำรวจมาทักเราว่าหน้าคุ้นๆ จะทำให้เราคิดยังไง”

ถึงอย่างนั้นแซนก็ไม่ได้โดดเดี่ยวหรืออ้างว้างเกินไปสำหรับการต่อสู้ในทุกครั้งที่ผ่านมา เพื่อนๆ ที่โรงเรียนภูเขียวต่างให้กำลังใจและคอยช่วยเหลือแซนเป็นอย่างดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสนับสนุนจากคนในครอบครัวและเพื่อนในโรงเรียน ทำให้ด้านหนึ่งอำเภอภูเขียวก็มีนักกิจกรรมอย่างไผ่ จตุภัทร์ หรือแซน ยืนหยัดขึ้นมาได้ ท่ามกลางเมืองที่ผู้ใหญ่ส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่พวกเขาและเธอเรียกร้องอยู่

“สำหรับหนูไม่ได้รับความคิดเพียงฝั่งเดียว แต่รับความคิดในฝั่งพวกคุณที่อยู่ตรงข้ามด้วย และเอาเก็บมาคิดในบางเรื่อง เราอยากให้เอาสิทธิมนุษยชนมาเป็นฐานในความคิด สำหรับทุกคนที่ออกมาเรียกร้อง ไม่ว่าในยุคไหน วัยไหน หนูคิดว่าเขาทำไม่สมเหตุสมผลที่ดำเนินคดีคนที่ออกมาแสดงความเห็น”

ส่วนปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นแซนคิดว่า ไม่ว่าจะเป็นความไม่เท่าเทียมหรืออำนาจนิยมที่ประสบบ่อยๆทำให้คิดได้เอง และทุกคนก็เห็นว่าปัญหามันมีอยู่ตรงหน้า ต่อให้ไม่ได้ฟังความคิดเห็นใคร แต่สิ่งที่อยู่ตรงหน้ามันทำให้เห็นปัญหาอยู่แล้ว

“ระบอบประชาธิปไตยควรเป็นประชาชนปกครองร่วมกับรัฐบาล แต่ตอนนี้รัฐบาลปกครองประชาชนอยู่ฝ่ายเดียว หนูก็เลยไม่ตัดสินใจว่าพรรคการเมืองไหนดี พรรคการเมืองไหนไม่ดี แต่ต้องวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้ แล้วคนรุ่นหนูจะต้องออกมาทำ และสร้างมาตรฐานใหม่” แซนกล่าวทิ้งท้าย


อ่านเนื้อหาฉบับเว็บไซต์: https://tlhr2014.com/archives/29994

ยอดอ่านสูงสุดเดือนมิถุนายน: กว่าจะ ‘หมดศรัทธาฯ’: เรื่องราวของ ‘ทิวากร วิถีตน’ กับวิถีการต่อสู้ที่ตนเลือกเอง

การหายตัวไปจากหน้าคอนโดมิเนียมในกรุงพนมเปญของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมือง เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ทำให้มีหลายคนลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเขา จนเป็นกระแสการเคลื่อนไหวหนึ่งที่ก่อตัวรวมเป็นคลื่นการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2563 ที่ผ่านมา

ทิวากร วิถีตน เกษตรกรจากจังหวัดขอนแก่น คือหนึ่งคนอยู่ในกระแสธารดังกล่าว การหายตัวของวันเฉลิม ฉุดให้ทิวากรคิดว่า ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างกับสถานการณ์ที่ชวนอึดอัดของประเทศนี้ แต่สิ่งที่เขาเลือกทำต่างออกไปจากคนอื่นๆ ด้วยการใส่เสื้อยืดสกรีนประโยคที่ว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” โพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย จนเกิดเป็นประเด็นใหญ่ในโลกออนไลน์

แม้จะยืนยันว่าตัวเองไม่ได้มีอาการป่วยทางจิตใดๆ แต่วิธีที่รัฐเลือกใช้จัดการกับคนที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ในกรณีของทิวากรนั้นแตกต่างออกไปจากกรณีของคนอื่น ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 มีแพทย์และเจ้าหน้าที่ตำรวจรวมกว่า 10 คน เข้ามาถึงบ้านของทิวากร บังคับคุมตัวเขาไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์

ทิวากร ถือเป็นคนแรกๆ ที่ออกมาแสดงออกต่อสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา ก่อนจะมีปรากฏการณ์ซึ่งเรียกว่า “ทะลุเพดาน” ที่ผู้คนต่างแสดงออกในประเด็นสถาบันกษัตริย์อย่างเปิดเผยในการชุมนุม หากนับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 ที่เป็นเหมือนหมุดหมายของความขัดแย้งทางการเมืองระลอกปัจจุบัน

กว่าประเด็นสถาบันกษัตริย์จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในพื้นที่สาธารณะได้อย่างทุกวันนี้ ต้องผ่านการต่อสู้ทางการเมืองมาอย่างมากมาย เช่นเดียวกับทิวากร ชีวิตเขาต้องเดินผ่านจุดตัดทางการเมืองมาอย่างมากมายในความขัดแย้งทางการเมืองระลอกนี้ กว่าที่เขาจะกล้าลุกขึ้นพูดความในใจว่าเขาหมดศรัทธาต่อสถาบันกษัตริย์แล้ว

อย่างไรก็ตาม การลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ต่อสถาบันกษัตริย์อย่างแพร่หลาย ตามมาด้วยการฟ้องคดีมาตรา 112 ที่มีจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ภายในเวลาในไม่ถึง 1 ปี “ผมเคยบอกว่าจะไม่ใส่เสื้อตัวนี้ แต่พอทนายอานนท์กับอีก 3 แกนนำ โดนจับเข้าคุก ในช่วงเดือนกุมภา ผมก็เลยกลับมาใส่เสื้อวันที่ 15 กุมภา ยังไม่พอ ผมจะขายเสื้อด้วย” จากที่ก่อนหน้านี้เขาเคยประกาศจะไม่สวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” เนื่องจากกลัวจะเกิดความขัดแย้งในสังคม ทิวากรกลับมาใส่อีกครั้ง และโพสต์ในเฟซบุ๊กเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 ปล่อยตัวแกนนำคณะราษฎร

ทำให้วันที่ 4 มีนาคม 2464 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมทิวากรถึงบ้านในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมฯ พร้อมตรวจค้นแล้วยึดคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และเสื้อยืด “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ไปเป็นของกลาง ทิวากรต้องเข้าไปอยู่ในทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นราว 2 ชั่วโมง ก่อนจะได้รับประกันตัวออกมา โดยให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมจะต่อสู้ในชั้นศาล

ทิวากรมองในแง่ดีว่า การถูกดำเนินคดีเป็นโอกาสที่จะได้ใช้คำพิพากษาพิสูจน์ว่า คำว่า “หมดศรัทธาฯ” ไม่ได้ผิดกฎหมาย “คนเขาไม่กล้าแสดงออกว่าเราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว เพราะว่าเค้าคิดว่ามันผิดกฎหมาย แล้วก็มีตำรวจจะมาจับ ถ้าศาลตัดสินออกมาว่าผมไม่ผิด แสดงว่าเราสามารถบอกว่าหมดศรัทธาได้” ทิวากรอธิบาย

เขามองว่าการกระทำของเขาไม่ได้เข้าองค์ประกอบความผิดของมาตรา 112 และไม่ได้สร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในสังคม เป็นการส่งข้อความไปยังสถาบันกษัตริย์โดยตรง แม้คนที่ยังศรัทธาในสถาบันฯ ก็สามารถใส่เสื้อหรือแสดงออกว่าตัวเองยังศรัทธาในสถาบันกษัตริย์อยู่ได้ เพื่อจะให้สังคมได้รู้ความต้องการของกันและกัน จากที่ก่อนหน้านี้ความคิดเห็นเหล่านั้นถูกกดทับด้วยอำนาจ กฎหมายต่างๆ

“มันไม่ใช่การต่อสู้อะไรนะ มันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการพูดและการแสดงออก สำหรับผมสิ่งที่ผมอยากแสดงออกก็คือผมหมดศรัทธาสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว แล้วก็อยากให้สถาบันกษัตริย์ปฏิรูป เพื่อที่จะให้ผมเนี่ยกลับมาศรัทธาอีกครั้ง แค่นั้นเอง”

อ่านบทสัมภาษณ์โดย สมานฉันท์ พุทธจักร ฉบับเต็มที่ https://tlhr2014.com/archives/31043

ยอดอ่านสูงสุดเดือนกรกฎาคม: “ถ้าประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ เขาก็มีสิทธิที่จะพูดไม่ใช่เหรอ” คำถามเคล้าเสียงสะอื้นจากแม่ของ “ประสงค์” หนุ่มผู้ถูกคุมขังคดี 112

“ถ้าประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ เขาก็มีสิทธิที่จะพูดไม่ใช่เหรอ” – แม่วัย 70 ปี ของ #ประสงค์” หนุ่มจังหวัดลพบุรี ผู้ถูกคุมขังคดี 112 ตั้งคำถามกลับ


“ประสงค์ โครตสงคราม” หรือ #โด่ง ถูกจับกุมที่บ้านพักในจังหวัดลพบุรี ในเช้าตรู่วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา #มาตรา112 จากการโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์กษัตริย์ จำนวน 3 ข้อความ ก่อนที่พนักงานสอบสวน สน.บางพลัด จะนำตัวเขาไปขอฝากขังในวันถัดมา และศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างสอบสวนถึง 3 ครั้ง ด้วยเหตุผล “#พฤติการณ์คดีร้ายแรงเกรงว่าจะหลบหนี”

ขณะนี้เขาถูกควบคุมขังอยู่ที่ #เรือนจำชั่วคราวทุ่งน้อย จังหวัดนครปฐม ซึ่งอยู่ภายในพื้นที่เรือนจำมณฑลทหารบกที่ 11 โดยในระหว่างนี้ #ไม่อนุญาตให้ญาติหรือทนายความเข้าเยี่ยมได้ โดยอ้างสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด แต่เมื่อกักตัวครบ 21 วันแล้ว เขาจะถูกส่งตัวเพื่อไปคุมขังต่อที่เรือนจำพิเศษธนบุรีต่อไป

คุณสุปราณี แม่ของประสงค์วัย 70 ปี เปิดเผยว่า ทราบดีว่าสถานการณ์แพร่ระบาดโควิดในเรือนจำค่อนข้างมีความรุนแรง ลูกชายของเธอมีน้ำหนักตัวถึง #120กิโล เกรงว่าหากติดโควิดในเรือนจำขึ้นมา อาจจะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตมากกว่าคนอื่นๆ

และกล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้เธอตั้งใจจะหยุดทำงานและพักอยู่บ้านถาวร เพราะเธอป่วยเป็น #โรคนิ่วในไต #ความดัน และ #ไขมันในเลือดสูง อีกทั้งยังรู้สึกเวียนหัวหน้ามืดคล้ายจะเป็นลมบ่อยครั้งในขณะทำงานอีกด้วย

แต่เมื่อลูกชายเพียงคนเดียวมาถูกจับแบบนี้ และไม่รู้ว่าเขาจะถูกปล่อยตัวออกมาเมื่อไหร่ เธอจึงทำได้เพียงก้มหน้าทำงานอดทนกับสารพัดโรคที่รุมเร้าต่อไป เพราะยังมีค่าใช้จ่าย ค่าเช่าบ้าน และหนี้สินที่เธอต้องแบกรับภาระอยู่ทุกวัน #จึงวอนขอศาลให้ประกันตัวลูกชาย อย่างน้อยเธอก็จะได้อุ่นใจหากเป็นอะไรขึ้นมา

อ่านบทสัมภาษณ์บนเว็บไซต์ >> https://tlhr2014.com/archives/32212

ยอดอ่านสูงสุดเดือนสิงหาคม: ปากคำของ “เข้ม” วินมอเตอร์ไซค์ผู้ถูก คฝ. นับสิบรุมทำร้ายเกือบ 10 นาทีที่ดินแดง ในคืน #ม็อบ10สิงหา

“[ตำรวจควบคุมฝูงชน] ไม่ได้ถามผมเลย เขาเข้ามากระชากผมเลย ขณะที่ผมพูดว่า ‘ผมไม่ได้มาชุมนุมอะไรเลย ผมมาส่งผู้โดยสาร’ เขาก็ไม่ฟัง เขาลากผมไปอีกที่นึงเพื่อรุมกระทืบ”

“เข้ม” (นามสมมติ) ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างวัย 33 ปี เผยด้วยเสียงสั่นเครือ ขณะเล่าย้อนถึงเหตุการณ์การสลายการชุมนุมในคืนวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา

ในวันนั้นเอง กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้จัดกิจกรรม ‘คาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช’ เพื่อกดดันให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี หลังกลุ่มนักกิจกรรมได้ประกาศยุติการชุมนุมในเวลา 17.05 น. มีรายงานว่ามีมวลชนบางส่วนตกค้างอยู่ในบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง และตำรวจชุดควบคุมฝูงชนได้ยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางเข้าไปในพื้นที่นั้น ตั้งแต่ 17.00 น. โดยประมาณ

คณาจารย์นิติศาสตร์และเครือข่ายนักกฎหมายจำนวน 111 คนชี้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐสลายการชุมนุมโดยอาศัยกำลังและความรุนแรง เช่น การยิงเจาะจงตัวบุคคล และการยิงแก๊สน้ำตาเข้าไปในพื้นที่ของชุมชน โดยไม่ใส่ใจต่อความปลอดภัยและสวัสดิภาพของผู้คน นอกจากนี้ยังพบเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ร่วมกันทุบตีคนที่ผ่านไปมาและทุบรถที่จอดอยู่ การกระทำดังกล่าวละเมิดหลักการในการสลายการชุมนุม ทั้งยังแสดงให้เห็นถึง “ความตั้งใจที่จะสร้างความรุนแรงโดยฝั่งของเจ้าหน้าที่รัฐ”

ในคืนวันที่ 10 สิงหาคม เข้มรับส่งผู้โดยสารตามปรกติ ตลอดทั้งวันเขาไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบเลย เข้มจึงไม่คาดคิดว่าตนจะได้เผชิญหน้ากับตำรวจชุดควบคุมฝูงชน และถูกทำร้ายร่างกายจนต้องไปห้องฉุกเฉิน ในขณะที่จักรยานยนต์คู่ใจถูกยิงด้วยกระสุนยางจนได้รับความเสียหายอย่างหนัก

ในช่วงเวลาประมาณ 19.00 น. มีผู้โดยสารจ้างวานเข้มให้ไปส่งที่ตลาดในย่านดินแดง ในขณะที่เขากำลังมุ่งหน้ากลับบ้าน ได้มีประชาชนในละแวกนั้นเตือนให้คนสัญจรไปมาให้ใช้เส้นทางอื่น เขาจึงขับเข้าไปในซอยโรงเรียนราชประสงค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมชนและอาคารพาณิชย์ต่างๆ

ณ เวลานั้นเอง ร้านค้าต่างๆ ในละแวกนั้นยังคงเปิดอยู่ และประชาชนบางส่วนกำลังเดินทางกลับบ้านเช่นกัน

ในขณะที่เข้มขับรถเข้ามาในซอย ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนจำนวน 20 คนได้เข้ามาในพื้นที่ดังกล่าวเช่นกัน เมื่อเห็นเข้มเดินทางเข้ามา เจ้าหน้าที่ได้ยิงกระสุนยางและแก๊สน้ำตามาที่เขา จนกระทั่งรถของเขาเสียหลักล้ม

เข้มพยายามเข้าไปหลบในร้านขายของชำแห่งหนึ่ง แต่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนจำนวนประมาณ 10 นายได้ติดตามเขาไปถึงข้างร้าน และกระชากตัวเขาออกไปรุมทำร้ายด้านนอก ในขณะที่ประชาชนคนอื่นๆ คอยตะโกนว่า “อย่าทำเค้า อย่าทำเค้า” เพื่อให้เจ้าหน้าที่หยุดทำร้ายเขา

เข้มเล่าว่าตำรวจตะคอกใส่เขาเป็นทำนองว่า “มึงมานี่เลย มึงออกมา” แม้เขาจะใส่เสื้อวินของคนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างอย่างชัดเจน และอธิบายกับเจ้าหน้าที่ว่าเขาไม่ใช่ผู้ชุมนุม เขาเพียงแต่เข้ามาส่งผู้โดยสารเท่านั้น ในขณะที่ผู้เห็นเหตุการณ์คนหนึ่งกล่าวว่า “มัน [ตำรวจควบคุมฝูงชน] ไม่สนใจเลยว่าใครเป็นใคร”

“เขาน่าจะแจ้งก่อนนะครับว่าจะมีการยิงอะไรเข้ามาแบบนี้ เขาไม่มีการบอกอะไรสักคำเลย อยู่ๆ เขาก็ยิงเข้ามาเลย” เข้มกล่าว

เข้มระบุว่าตำรวจชุดควบคุมฝูงชนร่วมกันทำร้ายเขาเป็นเวลาเกือบ 10 นาที ก่อนจะออกไปจากพื้นที่ หลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงสิ้นสุดลง ผู้คนในชุมชนช่วยกันชำระคราบแก๊สน้ำตาออกจากตัวของเขา

ต่อมาไม่นาน เจ้าหน้าที่ได้กลับเข้ามาในซอยโรงเรียนราชประสงค์อีกครั้ง พร้อมกับยิงแก๊สน้ำตาโดยไม่มีการประกาศให้ประชาชนหลบเข้าอาคารก่อน เข้มและคนอื่นๆ จึงเข้าไปหลบในร้านขายของชำ ในระหว่างนั้นเอง เขาและคนอื่นๆ ผลัดกันใช้น้ำเกลือล้างใบหน้าของตัวเอง มีคนพยายามเอาพัดลมไล่ควันให้ออกไปข้างนอก อย่างไรก็ตาม ละอองของแก๊สน้ำตาทำให้ประชาชนในร้านไออย่างรุนแรง เข้มกล่าวว่า ณ ขณะนั้น ตนรู้สึกเหมือนใกล้จะตายแล้ว

สำหรับเหตุการณ์ยิงแก๊สน้ำตาเข้ามาในซอยโรงเรียนราชประสงค์ ผู้เห็นเหตุการณ์คนหนึ่งเล่าว่า ตำรวจควบคุมฝูงชนได้ยิงแก๊สน้ำตาเข้ามาในซอยทั้งหมด 3 รอบ แต่เจ้าหน้าที่ประกาศให้ทราบล่วงหน้าว่าจะยิงแก๊สน้ำตาและให้ประชาชนหลบเข้าอาคารเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ในครั้งอื่นๆ เจ้าหน้าที่ยิงแก๊สน้ำตาเข้ามากลางถนนทันที ในขณะที่มีประชาชนยังคงยืนอยู่ภายนอกอาคาร

ต่อมาเข้มเดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจร่างกาย ซึ่งแพทย์ได้วินิจฉัยว่าเขามีอาการบาดเจ็บที่กระดูกซี่โครงขวา คาดว่าเป็นภาวะกระดูกชายโครงอักเสบ นอกเหนือไปจากนั้น เข้มยังพบแผลถลอกที่บริเวณอื่นๆ อาทิ ข้อเท้า, เข่า, มือ และตามลำตัว เขายังมีอาการปวดหน้าอกรุนแรง จนไม่อาจเดินทางไปไหนได้สะดวกนับตั้งแต่คืนวันที่ 10 สิงหาคม จนจวนครบหนึ่งอาทิตย์แล้ว

ในด้านของผลกระทบต่อทรัพย์สิน ส่วนชุดสีของรถจักรยานยนต์และกระจกรถของเข้มแตก เนื่องจากตำรวจควบคุมฝูงชนยิงกระสุนยางมาที่ตัวรถ เขากล่าวว่าตนไม่มีทุนทรัพย์สำหรับซ่อมแซมอุปกรณ์หาเลี้ยงชีพของตัวเองตอนนี้ และเมื่อไม่มีพาหนะขับขี่ เข้มจึงไม่อาจกลับไปประกอบอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างได้จนถึงตอนนี้

“อยากจะฝากเจ้าหน้าที่นะครับว่า ช่วยเตือนหรือว่าแจ้งอะไรก่อน ให้ประชาชนที่เขาไม่ได้ร่วมชุมนุมรับรู้ก่อน การที่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องมาบาดเจ็บจากเจ้าหน้าที่มันไม่สมควรครับ” เข้มระบายความในใจในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ “ผมไม่สามารถพูดอะไรไปมากกว่านี้ มันจุกไปหมด”

อ่านข่าวบนเว็บไซต์: https://tlhr2014.com/archives/33508

ยอดอ่านสูงสุดเดือนกันยายน: เมื่อ “ฮ่องเต้” โดนข้อหาหมิ่นกษัตริย์

“มันจุกจนพูดไม่ออก นึกภาพว่าถ้าอีกหน่อยเด็ก 10 ขวบพูดแล้วโดน ม.112 หรือเด็ก ม.ต้น ม.ปลาย โดนคุกคาม พวกเขาคือเยาวชนของชาติเลยนะ คุณจะบอกว่าเขาโดนชักจูงเพราะเขาเป็นเด็กเหรอ มันก็ไม่ใช่ หลายๆ อย่างในสังคมไทยควรจะไปต่อได้แล้ว คุณขวางการเปลี่ยนแปลงไม่ได้หรอก ยิ่งคุณขวาง คุณนั้นแหละคือปัญหา หรือถ้าบอกว่าไม่ใช่ปัญหา ก็ยกเลิกกฎหมาย 112 แล้วมาคุยกันว่าคุณไม่ใช่ปัญหาอย่างไร”

ชวนสนทนากับ “ฮ่องเต้” ธนาธร วิทยเบญจางค์ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และแกนนำ พรรควิฬาร์ WilarParty ในค่ำคืนก่อนเขาเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” เป็นคดีแรกในชีวิต ทำให้ฮ่องเต้กลายเป็นวัยรุ่นอายุ 22 ปี ที่มีคดี 112 เป็นของตัวเอง

“ผมคนเดียวทำอะไรไม่ได้หรอกกับกฎหมาย 112 อย่างมากผมก็ด่าว่ากฎหมาย 112 มันแย่อย่างไร แต่สุดท้ายแล้วกฎหมายนี้ถูกสะท้อนการใช้อำนาจผ่านผู้บังคับใช้กฎหมาย อย่างตำรวจ ศาล หรือกระบวนการยุติธรรมต่างๆ

“การเตรียมใจของผมก็มีได้แค่อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด เราเชื่อมั่นในประชาชนต่อไป เชื่อมั่นในคนอื่นๆ ที่เขาก็เห็นเหมือนกัน ถ้าเราโดนแบบนี้ เรายิ่งต้องเชื่อสิว่าคนอื่นจะเห็นว่ากฎหมายนี้มันไม่มีมาตรฐานอย่างไร คงจะมีคนเชื่อเหมือนเราว่ากฎหมายนี้ขาดมาตรฐาน ขัดต่อหลักการ ขัดต่อเสรีภาพของประชาชน เรามีหน้าที่เชื่อเท่านั้น

“ศรัทธาฮะ”

อ่านบทสัมภาษณ์ “เมื่อ ‘ฮ่องเต้’ โดนข้อหาหมิ่นกษัตริย์” โดย วรรณา แต้มทอง
https://tlhr2014.com/archives/34468

ยอดอ่านสูงสุดเดือนตุลาคม: เบียร์ อุษาคเนย์: บนเส้นลวดแห่งอุดมการณ์คนเท่ากัน

“ผีห่าซาตานกินบ้านเมืองคน
ภาษีของเรามันปล้น
ร่ายมนต์ให้คนหมอบคลาน
ไอ้บ้ากามล้านขนานดือ”


กีต้าร์ริทึ่มสั่นระรัวในอากาศเปปนเป็นเสียงคอร์ดจีเมเจอร์ สอดประสานท่วงทำนองอ่อนไหวจากไวโอลิน โสตประสาททรงจำหวนนึกถึงทำนองกันตรึม ฟากฝั่งอีสานใต้ เมโลดี้ช่างเข้ากับ ‘อุษาคเนย์’ ชื่อวงดนตรีที่ชายหนุ่มฟร้อนท์แมนแนะนำผ่านบทเพลง ‘ผีห่าซาตาน’ ขับกล่อมมวลชนครั้งแรกที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 ชุมนุมครั้งใหญ่ของราษฎรที่กลายเป็นประวัติศาสตร์ประชาชน ก่อการม็อบครั้งนั้นแตกตัวเป็นจักรวาลหลากเรื่องราวเล่าไม่รู้จบสิ้น

“เราไม่มีเพลงจังหวะกระชับ ให้ผู้ชุมนุมได้มีส่วนร่วม ก็เลยคิดว่านำเพลงผีห่าซาตานมาผสมกับทำนองกันตรึม ที่จะเล่นเปิดวงแบบซาวน์เช็ค พอเล่นหลายปี จึงลองเอามาเขียนเนื้อใส่ ก็เลยคิดถึงเรื่องการรัฐประหาร คิดถึงรัฐเผด็จการ นาฬิกา เรือดำน้ำ คิดถึงประชาชนที่สู้กับพวกนี้ ก็เลยออกมาเป็นเพลง ความเป็นผีห่าซาตาน เป็นนามธรรมคือพวกปรสิต เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่มีอำนาจ ผีห่าตนใดทำให้มึงต้องชั่วแบบนี้นะ ผีห่าซาตานตนใด ที่พ่อแม่มึงไม่ได้สอนให้ชั่วแบบนี้ ผมเข้าใจว่าผีห่าซาตานที่ผมเขียน มันมีอิทธิพลในการทำชั่วไม่อายฟ้ามัวดิน”

ชีวิตแต่หนหลังของ ‘เบียร์’ พิศาล บุพศิริ จากอำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม เต็มไปด้วยเรื่องราวผูกพันบนเส้นลวดในแบบฉบับมือกีต้าร์และนักร้องนำวงเพื่อชีวิตหลากชื่อ ก่อนปักหลักยึดมั่นชื่อวง ‘อุษาคเนย์’ จัดตั้งอุดมการณ์คนเท่ากันผ่านเสียงเพลงยาวนานนับสองทศวรรษ

ในวันที่ปีกเสรีประชาธิปไตยถูกทุบตีด้วยมือตีนจากคณะทหารที่เข้ายึดอำนาจ บางคนหลบลี้หนีภัย บางคนสูญหายจากไปไม่มีวันหวนกลับ บางคนยืนหยัดสู้แต่ต้องแลกด้วยอิสรภาพที่ถูกจองจำนานนับปี โดยท้าทายเขายังอยู่ที่เดิมสั่งสมบ่มเพาะความคิดและบทเพลง สบโอกาสมองเห็นลู่ทางใหม่จากพรรคการเมืองที่จะมาคานอำนาจเก่า เขาตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการ แต่ไม่นานพรรคการเมืองที่เป็นปรปักษ์กับชนชั้นนำก็ถูกยุบไปด้วยกลไกศาลรัฐธรรมนูญ

ถึงที่สุด ในฐานะอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ จำเลยคดีวิ่งไล่ลุง ที่ศาลจังหวัดนครพนมพิพากษายกฟ้อง เบียร์ยังคงร่วมเดินทางไปกับพรรคการเมืองและอุดมการณ์ที่เขาเชื่อมั่น เช่นเดียวกับบทเพลงที่จรดปากกาแต่ง ในโมงยามที่อุดมการณ์ไม่ผันแปร ชีวิตบนเส้นลวดและความฝันอันก้าวไกล เขาอยากเห็นดอกไม้ประชาธิปไตยเบ่งบานกลางท้องทุ่งอีกครั้ง


อ่านบทสัมภาษณ์: เบียร์ อุษาคเนย์: บนเส้นลวดแห่งอุดมการณ์คนเท่ากัน

https://tlhr2014.com/archives/36882

ยอดอ่านสูงสุดเดือนพฤศจิกายน: เสียงโต้กลับของผู้ต้องหาคดี ม.112 ในเรือนจำต่อคำวินิจฉัย ‘ปฏิรูป=ล้มล้าง’ ของศาลรัฐธรรมนูญ


หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกรณีการชุมนุมปราศรัยและเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของ 3 แกนนำราษฎร ได้แก่ อานนท์ นำภา, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ในการชุมนุม #เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 และการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ว่า “เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อ ‘ล้มล้าง’ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560”

ไม่นานหลังจากนั้น ผู้ต้องขังทางการเมืองโดยเฉพาะผู้ที่ถูกกล่าวหาด้วยคดีมาตรา 112 ซึ่งขณะนี้อยู่ในเรือนจำอย่างน้อย 5 ราย ได้รับรู้ถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว พวกเขาได้ฝากถ้อยแถลงออกมาถึงพี่น้องประชาชนผู้ร่วมเดินทางเคียงข้างในขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยทั้งหลายให้ได้รับรู้ถึงเจตนารมณ์ที่ยังยึดมั่นไม่คลอนแคลน

อ่านฉบับเต็มบนเว็บไซต์ https://tlhr2014.com/archives/37737

ยอดอ่านสูงสุดเดือนธันวาคม: ความฝันที่ถูกพรากไป และความหวังใหม่กำลังงอกงาม คุยกับ ‘จรัส’ หนุ่มวัย 18 ปี คดี ม.112 ‘วิจารณ์ศก.พอเพียง’

หลังต่อสู้คดีมานานกว่า 1 ปีเศษ ศาลจังหวัดจันทบุรีมีคำพิพากษาออกมาว่า การที่ ‘#จรัส’ วิจารณ์แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของอดีตพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 นั้น ไม่มีความผิดฐาน ‘หมิ่นกษัตริย์’

เนื่องจากไม่เข้าองค์ประกอบตามข้อกฎหมาย แต่ศาลให้ ‘#ลงโทษจำคุก’ ในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) แทน โดยให้รอลงอาญาไว้เป็นเวลา 2 ปี คำตัดสินที่ออกมาดูเหมือนจะทำให้จรัสหายใจได้คล่องคอขึ้นมากแล้ว แม้บทบาท ‘#จำเลย’ ของเขาจะยังไม่สิ้นสุดก็ตาม เนื่องจากยังต้องจับตาเรื่องการอุทธรณ์คดีของคู่ความทั้งสองฝ่ายต่อไป

ตัวเลขอายุ 18 ปี สำหรับวัยรุ่นคนอื่นๆ ในรุ่นราวคราวเดียวกันนี้ น่าจะถือได้ว่าเป็นช่วงวัยแห่งการเปลี่ยนผ่านที่น่าระทึกและตื่นเต้นไม่น้อย หลายคนต้องทุ่มทั้งพลังกายพลังใจอย่างหนักเพื่อให้ฟันฝ่าช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ไปได้ ทั้งการมุ่งเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย หรือการเลื่อนสถานะไปเป็นผู้บรรลุนิติภาวะ ต้องลดการพึ่งพาครอบครัวลง บางคนก็ต้องออกไปใช้ชีวิตด้วยตนเอง

แต่สำหรับ ‘#จรัส’ ขณะที่เขาอายุได้ 18 ปีนี้ บททดสอบก้าวข้ามสู่การเป็นผู้ใหญ่ ดูเหมือนจะหนักหนากว่าเพื่อนในวัยเดียวกันมากมายนัก จากเด็กหนุ่มที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความฝัน ความหวัง วันหนึ่งสิ่งเหล่านั้นที่กำลังสดใสดูเหมือนจะเลือนรางหายไป เมื่อต้องตกเป็นผู้ต้องหาและจำเลยในคดี ม.112 ข้อกฎหมายที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี และสาเหตุยังเกิดจากเพียงการเข้าไปแสดงความคิดเห็นส่วนตัวในโลกออนไลน์ จนทำให้เขาเคยคิดที่อยากจะ ‘#หนี’ ออกไปให้ไกลแสนไกล รวมถึงต้องจำใจสลัดทิ้งความฝันบางอย่างไว้เบื้องหลังอย่างน่าเสียดาย

อ่านบทสัมภาษณ์จรัส: https://tlhr2014.com/archives/38667

X