ผีห่าซาตานกินบ้านเมืองคน
ภาษีของเรามันปล้น
ร่ายมนต์ให้คนหมอบคลาน
ไอ้บ้ากามล้านขนานดือ
.
กีต้าร์ริทึ่มสั่นระรัวในอากาศเปปนเป็นเสียงคอร์ดจีเมเจอร์ สอดประสานท่วงทำนองอ่อนไหวจากไวโอลิน โสตประสาททรงจำหวนนึกถึงทำนองกันตรึม ฟากฝั่งอีสานใต้ เมโลดี้ช่างเข้ากับ ‘อุษาคเนย์’ ชื่อวงดนตรีที่ชายหนุ่มฟร้อนท์แมนแนะนำผ่านบทเพลง ‘ผีห่าซาตาน’ ขับกล่อมมวลชนครั้งแรกที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 ชุมนุมครั้งใหญ่ของราษฎรที่กลายเป็นประวัติศาสตร์ประชาชน ก่อการม็อบครั้งนั้นแตกตัวเป็นจักรวาลหลากเรื่องราวเล่าไม่รู้จบสิ้น
“เราไม่มีเพลงจังหวะกระชับ ให้ผู้ชุมนุมได้มีส่วนร่วม ก็เลยคิดว่านำเพลงผีห่าซาตานมาผสมกับทำนองกันตรึม ที่จะเล่นเปิดวงแบบซาวน์เช็ค พอเล่นหลายปี จึงลองเอามาเขียนเนื้อใส่ ก็เลยคิดถึงเรื่องการรัฐประหาร คิดถึงรัฐเผด็จการ นาฬิกา เรือดำน้ำ คิดถึงประชาชนที่สู้กับพวกนี้ ก็เลยออกมาเป็นเพลง ความเป็นผีห่าซาตาน เป็นนามธรรมคือพวกปรสิต เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่มีอำนาจ ผีห่าตนใดทำให้มึงต้องชั่วแบบนี้นะ ผีห่าซาตานตนใด ที่พ่อแม่มึงไม่ได้สอนให้ชั่วแบบนี้ ผมเข้าใจว่าผีห่าซาตานที่ผมเขียน มันมีอิทธิพลในการทำชั่วไม่อายฟ้ามัวดิน”
ชีวิตแต่หนหลังของ ‘เบียร์’ พิศาล บุพศิริ จากอำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม เต็มไปด้วยเรื่องราวผูกพันบนเส้นลวดในแบบฉบับมือกีต้าร์และนักร้องนำวงเพื่อชีวิตหลากชื่อ ก่อนปักหลักยึดมั่นชื่อวง ‘อุษาคเนย์’ จัดตั้งอุดมการณ์คนเท่ากันผ่านเสียงเพลงยาวนานนับสองทศวรรษ
ในวันที่ปีกเสรีประชาธิปไตยถูกทุบตีด้วยมือตีนจากคณะทหารที่เข้ายึดอำนาจ บางคนหลบลี้หนีภัย บางคนสูญหายจากไปไม่มีวันหวนกลับ บางคนยืนหยัดสู้แต่ต้องแลกด้วยอิสรภาพที่ถูกจองจำนานนับปี โดยท้าทายเขายังอยู่ที่เดิมสั่งสมบ่มเพาะความคิดและบทเพลง สบโอกาสมองเห็นลู่ทางใหม่จากพรรคการเมืองที่จะมาคานอำนาจเก่า เขาตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการ แต่ไม่นานพรรคการเมืองที่เป็นปรปักษ์กับชนชั้นนำก็ถูกยุบไปด้วยกลไกศาลรัฐธรรมนูญ
ถึงที่สุด ในฐานะอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ จำเลยคดีวิ่งไล่ลุง ที่ศาลจังหวัดนครพนมพิพากษายกฟ้อง เบียร์ยังคงร่วมเดินทางไปกับพรรคการเมืองและอุดมการณ์ที่เขาเชื่อมั่น เช่นเดียวกับบทเพลงที่จรดปากกาแต่ง ในโมงยามที่อุดมการณ์ไม่ผันแปร ชีวิตบนเส้นลวดและความฝันอันก้าวไกล เขาอยากเห็นดอกไม้ประชาธิปไตยเบ่งบานกลางท้องทุ่งอีกครั้ง
.
ม้า หมา ไม้ บ้านแพง เมือง 3 ม.
ในทางภูมิศาสตร์ บ้านแพงคืออำเภอทิศเหนือสุดของนครพนม แต่หากเอากรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง ในภาคอีสาน อำเภอบ้านแพงคือระยะทางที่ไกลจากส่วนกลางที่สุด 747 กิโลเมตร วัดได้จากค่าโดยสารหมอชิต-บ้านแพง จะมีราคาตั๋วสูงที่สุด
สำหรับเบียร์ บ้านเกิดเขาไม่ใช่เมืองที่อยู่ลึกลับ เป็นอำเภอริมฝั่งโขงที่ติดกับประเทศลาว มีสินค้าผิดกฎหมายข้ามฝั่งมามากแห่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น ยาเสพติด ไม้พะยูง หมา แม้กระทั่งตัวนิ่ม หรือรถผิดกฎหมาย ด้วยที่นี่ห่างจากเมืองนครพนมเกือบ 100 กิโลเมตร หากไม่มีกิจธุระหลายคนเลือกที่จะมองข้ามพื้นที่แห่งนี้
“แต่พอพูดถึงบ้านแพง มาบ้านแพง จะได้รับการขนานนามว่า 3 ม. หมา ม้า ไม้ ม้าคือยาบ้า (ยาเสพติด) ในทัศนะของผมมองว่าบ้านแพงโดยภูมิศาสตร์ เป็นเมืองพักผ่อน เป็นเมืองสุดซอย คือ ไม่ใช่เมืองทางผ่าน มีเพียงเส้นทางข้ามจังหวัดจากนครพนมไปบึงกาฬเท่านั้น”
เบียร์ย้อนเล่าว่า ที่อยู่อาศัยในวัยเด็กเป็นบ้านปู่ที่สืบทอดตระกูลบุพศิริ ตระกูลใหญ่ของคนไทญ้อริมฝั่งโขง อำเภอท่าอุเทนและละแวกใกล้เคียง มีเครือญาติเป็นนักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ นักมวย ครู กล่าวได้ว่าอยู่ในแวดวงสังคมและการช่วยเหลือสังคมมาตลอด แต่แล้วพอพ่อกับแม่เลิกกัน จึงได้ย้ายไปอยู่ครอบครัวฝั่งแม่ เขาก็ได้ใช้ชีวิตในวัยเด็กที่อำเภอเงียบสงบแห่งนี้ได้ไม่นาน เนื่องจากแม่ที่เป็นข้าราชการครู อยากให้ลูกมีโอกาสทางการศึกษา จึงส่งเบียร์ไปเรียนต่อมัธยมในตัวเมืองสกลนคร เมืองที่เจริญกว่าทั้งในแง่เศรษฐกิจและการศึกษา นั่นอาจเป็นจุดเริ่มมองเห็นการศึกษาค่อนข้างเหลื่อมล้ำและความเจริญกระจุกตัว ระหว่างจังหวัดกับอำเภอ บุคลากรและระบบการศึกษาค่อนข้างต่างกันมาก
จนเมื่อต้องไกลจากเมือง 3 ม. มากขึ้น หลังจบชั้นมัธยมต้น เข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยเทคโนโลยีขอนแก่น จบ ปวช.จากที่นั่น เริ่มขยับเข้าสู่ศูนย์กลางไปวิทยาลัยเทคนิคนนทบุรีช่วงปี 2541 แต่ด้วยภาวะหลายอย่างในขณะนั้นส่งผลให้เรียนไม่จบ ในทางหนึ่งเขายอมรับว่าเกเรติดเหล้าติดบุหรี่ แต่ในอีกทางหนึ่งความอ้างว้างและขาดหลักอะไรพึ่งพิงก็เป็นส่วนสำคัญให้คนหนุ่มหลายคนและแม้แต่เขาเอง ‘หลงทาง’ จึงตัดสินใจกลับบ้านแพงและบวชที่วัดแห่งหนึ่งในตัวอำเภอ ระหว่างศึกษาพระธรรมเบียร์ค้นพบแก่นคิดบางอย่างที่ภายหลังส่งผลให้ตัดสินใจไม่นับถือศาสนาใดๆ
“ตอนนั้นถ้าให้บอกถึงคำสอน ในวงการพระเองก็ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ควรจะเคารพไปทั้งหมด ถ้าเกิดจะเคารพกันจริงๆ ก็ต้องเคารพคำสอน สิ่งที่ผมได้คือได้คุยกับตัวเองมากกว่า ส่วนหนึ่งก็เรียนรู้หมวดธรรมะ ให้รู้ทุกอย่างว่าเราคิดไปเองหมด เหมือนเราสร้างมันขึ้นมาทั้งนั้น ผมสรุปส่วนสำคัญได้คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่เคยสร้างคน มีแต่คนสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และแสวงหาผลประโยชน์จากมัน”
ถึงอย่างนั้นการบวชทำให้เขาได้สติและมีเวลาตามหัวใจไตร่ตรองตัวเองอยู่ 3 เดือน จึงพบว่าอยู่อย่างเดิมไม่ได้ เขาตัดสินใจขอกลับไปตั้งต้นเรียนหนังสือเพื่อค้นหาตัวตนอีกครั้ง
.
ชมรมค่ายอาสาฯ รามฯ-อีสาน ช่วงเวลาแห่งการแสวงหา
หลังกลายมาเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ใหม่หมาด รหัสปี 43 (ก่อนภายหลังย้ายไปคณะรัฐศาสตร์จนเรียนจบ) ชีวิตอันเงียบเหงาที่รามคำแหง วิทยาเขตบางนา ขณะนั้นทำให้เบียร์อยากมีเพื่อน อย่างน้อยๆเป็นหมู่มิตรไว้สังสรรค์เมื่อเว้นว่างจากการเรียน ตั้งแต่วันแรกที่มหาวิทยาลัยเปิดแห่งนั้น เมื่อเห็นป้ายชมรมชมรมค่ายอาสาฯ รามฯ-อีสาน เขาจึงตัดสินใจไม่ยากที่จะเข้าสังกัด
“ผมเป็นคนชอบมีสังคม ชอบช่วยเหลือเพื่อน ผมเห็นเพื่อนโดนรังแกไม่ได้ ผมเอาคืนเลยนะ เพื่อนโดนรังแกผมต่อยแทนเพื่อนเลย เมื่อก่อนเป็นอย่างนั้นก็เลยเป็นคนชอบสมาคม ตอนนั้นเห็นป้ายชมรมอีสานจึงได้เข้าไปสมัครเพื่อต้องการที่จะมีเพื่อน ไม่ได้มีความคิดที่จะช่วยเหลือสังคมอะไรเลย”
จากค่ายแรกที่ไปสร้างศาลาให้ชาวบ้านไกลถึงอำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ จนเรื่อยมาถึงเข้าร่วมม็อบสมัชชาคนจน เรียกร้องรัฐบาลชวน หลีกภัย แก้ไขร้อยแปดปัญหา ตอนนั้นเด็กหนุ่มอย่างเขายังไม่รู้จักม็อบหรือสมัชชาคนจนว่าเรียกร้องอะไรอยู่ ไม่รู้จักแนวทางต่อสู้ที่ว่า ไม่กลัวเจ็บ ไม่กลัวจับ ไม่ใช้ความรุนแรง บรรยากาศในความทรงจำวันที่ 17 กรกฎาคม 2543 หน้าทำเนียบรัฐบาลฝั่งถนนพิษณุโลก คือพอลงจากรถได้ไม่นาน ก็เกิดการสลายการชุมนุมทันที
“ในความคิดแรก ทำไมมันโหดร้ายรุนแรงขนาดนี้ เราก็ตกใจ ทำไมมันทำกันขนาดนี้ใช้กระบองตีหัวชาวบ้านตีหัวนักศึกษา ขณะเดียวกันก็กลัว จากกลัวเป็นโกรธ ว่าทำไมไม่ฟังกันมันก็เหมือนจิ๊กโก๋ที่ไม่มีเหตุผลยกพวกตีกัน แต่ว่านี่มันไม่ใช่จิ๊กโก๋ยกพวกตีกัน มันคือปัญหาของเจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจทำร้ายประชาชน”
หลังจากวันนั้นเขาได้แต่ถามเพื่อนว่าการทำกิจกรรมเชิงสังคมสงเคราะห์ หรือไปร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่นในงานพาแลงของชมรมอีสานเสร็จกินเหล้าสังสรรค์เฮฮา เป็นสิ่งที่เพียงพอสำหรับหน้าที่นักศึกษาแล้วหรือไม่
“ก็มีรุ่นพี่เขาอธิบายว่าสภาพสังคมไทยไม่ใช่แค่การทำงานสังคมสงเคราะห์แล้วประเทศจะพัฒนา มันไม่ใช่ว่า ไปสร้างอะไรให้เขาแล้วชีวิตพวกเขาจะพ้นจากความยากจน เราก็ตั้งคำถามว่ามันมีอะไรมากกว่านี้หรือเปล่า”
หลังจากนั้นชายหนุ่มเริ่มศึกษาและตั้งคำถามเชิงวิพากษ์สังคมมากขึ้น แลกเปลี่ยนในประเด็นหนักๆเชิงโครงสร้างมากขึ้น “จนคิดว่ากระบวนการมันทำให้เราเปลี่ยนแล้ว ตั้งแต่นั้นมันพลิกเลย คือมันมีกระบวนการการทำงานอย่างเป็นระบบ หลอมกระบวนความคิดเราจนเป็นระบบ จึงเริ่มไปทำงานเคลื่อนไหวกับชาวบ้านจริงๆ จังๆ”
ภายในมหาวิทยาลัยรามคำแหง ชายหนุ่มเริ่มมีเพื่อนเยอะขึ้น จึงได้ทำกิจกรรมร่วมกลุ่มหลักของนักกิจกรรมรามคำแหง ก่อนโยงไปทำกิจกรรมกับ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ที่ช่วงเวลานั้นมีศรายุทธ ใจหลัก เป็นเลขาธิการ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรองเลขาธิการ ตอนนั้นนิสิต นักศึกษา เคลื่อนไหวหลากประเด็นปัญหาชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนปากมูล โรงโม่หิน และปัญหาอำนาจล้นมือของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
“ในช่วงเวลานั้นผมไม่ได้เรียนเลย ทำกิจกรรมอย่างเดียว ลงทะเบียนรักษาสภาพไปเรื่อย ประมาณ 4-5 เทอม ผมใช้ชีวิตอยู่ต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ และไปม็อบของกรรมกรเกือบทุกโรงงานก็ว่าได้ จนปี 2545 เริ่มแสวงหาคอมมิวนิสต์เก่า ไปเรียนเรื่องการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์ก็ไปเล่นดนตรีตามฐานที่มั่นที่จัดงานรำลึก เป็นยุคแสวงหาไปเรื่อยๆ พอผ่านไประยะหนึ่งถึงได้กลับมาเรียน พอเรียนจบก็ยังทำงานการเมืองเช่นเดิม ทั้งเคลื่อนไหวแล้วก็เล่นดนตรีในร้านอาหารเพื่อยังชีพ”
.
อุษาคเนย์ วงดนตรีแห่งสังคม(นิยม)
เบียร์เริ่มเล่นดนตรีตั้งแต่ปี 2544 ในช่วงที่ทำกิจกรรมการเมืองอย่างเข้มข้น สำหรับเขาดนตรีไปพร้อมกับการแสวงหา เพลงก็ต้องเป็นแนวของเพื่อชีวิตแนวแสวงหา เพลงภายในยุคนั้นจะเล่นเป็นเพลงแสงทอง ประกายไฟ เพลงอาสาพัฒนา เป็นเพลงที่คนส่วนมากในสังคมไม่รู้เรื่อง เป็นเพลงการต่อสู้เก่าๆ ของสหาย เมื่อตอนไปเล่นดนตรีตามฐานที่มั่นก็จะเคยไปที่ไกลสุด คือจังหวัดตากบริเวณจุดเลยน้ำตกทีลอซูเข้าไปและทางใต้ที่ไกลสุดก็คือสงขลา
ในนามวงดนตรีวัฒนธรรมประชาชนในนามวง ‘โฮม’ หรือวง ‘ของเรา’ สมาชิกเปลี่ยนเข้าออกหลายครั้ง จึงได้เปลี่ยนชื่อวงไปเรื่อย ตอนนั้นตัวเขาเองไม่เคยมีความคิดว่าจะต้องไปทำงานในระบบ คิดแค่เพียงว่าจะเคลื่อนไหวไปพร้อมกับประชาชน ช่วงนั้นมีรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 นับเป็นยุคเฟื่องฟูของคนทำงานองค์กรไม่แสวงหากำไร (NGO)
“เราก็เข้าใจว่าเราไม่ทำงานราชการหรอก เราเป็นเอ็นจีโอช่วยเหลือชาวบ้าน คือองค์กรไหนก็ได้เขียนของบ ผมได้อยู่ช่วยพี่ๆ เอ็นจีโอ ก็คือสามารถเลี้ยงชีพตัวเองได้ และยังช่วยเหลือสังคมได้”
เวลาผ่านไปสักพักสมาชิกในวงต่างออกไปทำงานในสายงานอื่นๆ เหลือแค่มือกีต้าร์พ่วงนักร้องนำอย่างเขาและ บี้ มือไวโอลิน จึงพูดคุยตกลงปลงใจกันว่า ทำมาขนาดนี้แล้ว ก็น่าจะได้สานต่อ ส่งทอดวัฒนธรรมให้คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะนักศึกษาที่ทำกิจกรรม เบียร์และบี้ จึงเริ่มตั้งวงกัน 2 คนในชื่อวงอุษาคเนย์ มาจากชนเผ่าและวัฒนธรรมร่วมของคนอุษาคเนย์ ยิ่งเครื่องดนตรีอุษาคเนย์มีเฉพาะของที่นี่
“ก็เลยคิดว่า ถ้าเราจะสร้างวงต่อไป เราต้องมีเครื่องดนตรีที่แปลกออกไปจากเครื่องดนตรีสากล อาจจะเป็นเล่นกีต้าร์ สีไวโอลิน ผสมกับแคน พิณ เราต้องการให้มันหลากหลายในด้านวัฒนธรรม เครื่องดนตรีของภูมิภาคแถบนี้มารวมกัน”
ส่วนมากภาษาที่ใช้เขียนเพลง มาจากการอ่านวรรณกรรม ด้วยเบียร์ชอบอ่านอะไรที่สนุก ชอบนักดนตรีที่เขียนเพลงเป็นปรัชญา “ผมไม่คิดว่าตัวเองจะเขียนเพลงได้นะ คือตั้งแต่เล็กจนโตผมเขียนบทร้อยกรองร้อยแก้วไม่เป็นเลย ผมพูดได้อย่างเดียวว่าสิ่งที่พลิกชีวิตผมคือการเข้าเรียนมหาวิทยาลัย แล้วก็ไปทำงานกิจกรรม เจอวัฒนธรรมแสวงหา จึงหล่อหลอมให้เราต้องอ่านหนังสือ เข้าใจปัญหาสังคม ว่าต้องจัดการกับสังคมอย่างไร สรุปว่าวัตถุดิบของเพลงมาจากวรรณกรรม งานวิชาการซะส่วนใหญ่”
หนังสือที่มีอิทธิพลต่อชีวิตและการทำเพลงของเบียร์คือ ‘ข้าวเขียว’ วรรณกรรมที่บอกถึงความทุกข์ยากของชาวนา กับความเป็นขบถของลูกสาวนายทุน ผลงานจาก สมคิด สิงสม นอกจากนี้มี ‘ด้วยรักแห่งอุดมการณ์’, ‘ตำบลช่อมะกอก’ ของวัฒน์ วรรลยางกูร ก็เป็นอีกแรงบันดาลใจหลักในการทำงาน
“หลังๆ มาหนังสือของพี่วัฒน์มีอิทธิพลต่อผมมาก นักเขียนอย่าง วัฒน์ วรรลยางกูร ในเมืองไทยหายาก เพราะเป็นคนอุดมการณ์เสมอต้นเสมอปลาย และไม่เคยหักหลังความคิดของตัวเอง ไม่เคยคิดเข้าข้างคนที่เข่นฆ่าเพื่อนตัวเอง และไล่ฆ่าตัวเอง ไม่ยอมศิโรราบต่ออำนาจใด”
ถึงปัจจุบันเบียร์เขียนเพลงสะสมไว้หลายสิบเพลง ยกตัวอย่างเพลง ‘ทุรยุค’ บทเพลงแทนยุคข้าวยากหมากแพง ยุคแห่งความยากจน ยุคของประชาชนที่สิ้นไร้ไม้ตอกจริงๆ เป็นความลำบากตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 ที่ประชาชนรู้สึกแสนเข็ญกับสภาพสังคม ทั้งการต่อสู้ การเรียกร้องสิทธิ มืดมนไปหมด
ส่วนที่เหลือ เป็นเพลงเนื้อหาต่างจากบทเพลงท้องตลาดทั่วไป มีตัวละครที่ดูตกสมัยอย่างชาวไร่ชาวนา คนสลัม หลายครั้งมาย้อนดูผลงาน เขาตกใจกับตัวเองว่า “เพลงนี้เราแต่งหรอวะ!” เขาย้ำว่าหลักๆ เพลงของวงอุษาคเนย์ ไม่มีคำว่ารัก ไม่ใช่เพลงรัก ไม่มีเศษเสี้ยวของความรักแบบหนุ่มสาวเลย
หนี้บุญคุณหรือหลุมอำพราง
นี่คือคำถามจากคนจนรุ่นใหม่
โลกแห่งความจริงมันปิดกั้นไม่ได้
ต้องพังทลายด้วยยุคสมัยที่ไกลกว่า
(เพลง ‘ก้าวไปด้วยกัน’, ผู้แต่ง ‘เบียร์ อุษาคเนย์’)
.
ทรงจำ 49,57 รัฐประหารสองครั้งที่แสนยากจะลืมเลือน
ย้อนไปหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เบียร์และเพื่อนก็ยังออกไปเล่นดนตรีต้านรัฐประหาร แต่บรรยากาศหลังทหารล้มรัฐบาลทักษิณตอนนั้น ทำให้ทุกอย่างน่ากลัวไปหมด เบียร์ฉายภาพว่าก่อนรัฐประหาร 2549 เพื่อนแตกออกเป็น 2 ฝ่าย เป็นเหลืองเป็นแดงกันแล้ว
“แต่สำหรับผมไม่ได้พูดถึงเรื่องเอาหรือไม่เอาทักษิณนะ ผมให้น้ำหนักการไม่เอารัฐประหาร ไม่เอาการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมากกว่า”
เมื่องานทางการเมืองโดนจับตาหมดเขาก็ตัดสินใจไปทำบริษัทมาสเตอร์ซัพพลายแอนด์เซอร์วิส เกี่ยวกับระบบทำงานโรงงานกับเพื่อน ตอนนั้นตั้งใจหางานหาเงินเพื่อมาทำงานการเมืองต่อ ทำไปพักหนึ่งก็ไม่ไหวเพราะนักกิจกรรมที่อยู่ในแวดวงงานสังคมอย่างเขา รู้สึกไม่ถูกจริต อีกทั้งทำงานการเมืองไม่ได้ จึงตัดสินใจออกจากกรุงเทพฯ มาปักหลักที่จังหวัดขอนแก่นประมาณปี 2551-2552
“เหตุผลที่มาอยู่ขอนแก่นก็เพราะว่ามาหานักศึกษา มาทำงานกับนักศึกษา แล้วก็เปิดร้านก๋วยเตี๋ยวไก่ด้วยอยู่ฝั่งกังสดาล มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็จะสัมพันธ์กับนักศึกษา เราคิดเราฝันถึงสังคมนิยม คิดว่าต้องปฏิบัติด้วยหมายถึงว่าเราต้องขยายคนให้ได้มากที่สุด คิดว่าสภาพเป็นแบบนี้มันต้องมีทุกฝ่ายโดยเฉพาะปัญญาชนที่มาเป็นแนวหน้าก็เลยตัดสินใจว่าเป้าหมายก็คือการขยายงานนักศึกษา ทำงานกับนักศึกษา ให้นักศึกษาเติบโตทางความคิดทางสังคม แล้วตอนชุมนุมปี 2553 ของคนเสื้อแดงเราเริ่มขยับแล้ว
“ตอนนั้นในความคิดผมเป็นคนเสื้อแดง ประชาชนส่วนมากเลือกรัฐบาลทักษิณเนี่ยมันถูกทำลาย ผมก็เป็นคนที่เลือกทักษิณ ผมเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยด้วยนะ ผมเข้าใจว่าถ้าไม่ยอมรับกติกาการเลือกตั้งมันจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเกิดว่าเราไม่ยอมเคารพกติกา สังคมเราจะอยู่กันยังไง เราจะยอมรับอะไร ในเมื่อคนส่วนมากเขาเลือกพรรคทักษิณ”
จบจากปี 2553 หลังการสลายการชุมนุม จนเข้าสู่เลือกตั้ง 2554 “นายกฯ ยิ่งลักษณ์ขึ้นมาเราก็ได้เคลื่อนไหวกับเสื้อแดง มาขยายให้ชาวบ้านเข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้างมากขึ้น คุยกับเพื่อนว่าต้องลงทำหน้าที่ขยายผลต่อเนื่อง จึงเริ่มเปิดร้านอาหารของตัวเอง มีดนตรีเล่น ตอนนั้นพูดได้ว่าทำงานกับเสื้อแดงแล้วก็เปิดร้านอาหารไว้เป็นฐานที่มั่นความคิดการเมืองด้วย”
กระทั่งรัฐประหารพฤษภาคม 2557 เบียร์ต้องขนหนังสือและเอกสารเกี่ยวข้องการเมืองหลายอย่างทิ้งหมด เพราะคาดเดาสถานการณ์ไม่ได้ว่าจะถูกทหารเข้ามาบุกค้นบ้านหรือไม่ หนังสืออย่าง ‘กลั่นจากสายเลือด’ ของ วัฒน์ วรรลยางกูร ,หนังสือ ‘The King Never Smile’ , ‘กงจักรปีศาจ’, บรรดาหนังสือของ จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกเผาทำลาย จากนั้นบทบาททางการเมืองของคนรอบข้างค่อยๆ เริ่มลดลง
“มีการวิเคราะห์ว่า รัฐประหารครั้งนี้เอาจริงนะ ไล่ล่า พี่วัฒน์ ไล่ล่าสุรชัย แซ่ด่าน ไล่ล่าหลายคน ช่วงเวลาถัดจากนั้นแม้เราไม่ได้จะเดินทางไปไหน แต่ก็ต้องหยุดการเคลื่อนไหว ก่อนจะเริ่มทำอาชีพขายอาหารควบคู่ไปกับรอจังหวะน่านฟ้าทางการเมืองเปิดกว้างอีกครั้งเพื่อขยับสู้กันอีกคำรบ”
.
อนาคตใหม่ ชุบชูจิตใจที่จะฝันต่อ
เกี่ยวแขนที่แค้นคับทับถมใจ
กุมมือเติมไฟให้ความหวัง
ล้มลุกคลุกคลานเมื่อคนพาลคอยเบียดบัง
กว่าจะถึงทุ่งฝันอันไกลห่าง
(เพลง ‘ทุ่งฝันวันใหม่’, ผู้แต่ง ‘เบียร์ อุษาคเนย์’)
สำหรับเบียร์สัญญาณที่บ่งบอกถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ คือเมื่อมีการต่อสายตามสำนักกิจกรรมระหว่างภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคใต้ ที่เคยทำงานกิจกรรมการเมืองด้วยกันไม่ขาดสาย เขาเป็นหนึ่งในคนที่ได้รับการติดต่อให้มาร่วมงานพรรค จึงไม่ปล่อยโอกาสที่จะได้ทำงานกับเพื่อนเก่าสมัยเคลื่อนไหวช่วงปี 2543 อย่างธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค
กระทั่งเดือนพฤษภาคมปี 2561 มีการจดจัดตั้ง “ผมก็ทิ้งธุรกิจทางบ้านด้วยไม่คิดอะไรมาก เพราะหนทางที่เราเดิน ชนชั้นปกครองเขาไม่เห็นด้วยอยู่แล้วที่จะทำแบบนี้ เราออกมาทำเต็มที่ดีกว่า แม้คิดว่าการตั้งพรรคการเมืองของเราเป็นพรรคที่ไม่เคยมีอยู่ในรัฐสภาเลย เราเข้าใจว่าฝ่ายความมั่นคงรู้ ก็ไม่กลัว ก็เลยเป็นที่มาของการออกจากการทำมาหากินอีกครั้ง”
ส่วนสำคัญสำหรับเบียร์ต่อพรรคอนาคตใหม่อีกอย่างคือการแต่งเพลง ‘ทุ่งฝันวันใหม่’ เพลงที่ผ่านการคัดเลือกจากโครงการ “ร่วมสร้างอนาคตใหม่ผ่านเสียงดนตรี” ในความหมายที่มองไปให้ถึงสังคมอันเทียมเท่า การปลุกความหวังของคนที่จะคานอำนาจรัฐเผด็จการ พร้อมกับดูแลดอกผลเสรีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนับจากนี้ไป
นอกจากเป็นเพลงที่พรรคไว้ใช้สื่อสารทางสาธารณะเวลามีกิจกรรม ทุ่งฝันวันใหม่จากปลายปากกาของเบียร์ยังถูกนำไปเล่นตามที่ชุมนุมทางการเมืองหลายต่อหลายเวทีระหว่างปี 2563-2564
ขณะเดียวกับบทบาทในพรรคที่อยู่ในโครงสร้างของจังหวัดนครพนม หลังอนาคตใหม่จดจัดตั้ง เริ่มมีการประชุมถี่ขึ้น มีการวางตัวผู้สมัคร ส.ส. เริ่มทำงานหาสมาชิกพรรค ก่อนขยับงานภายใต้กฎหมายพรรคการเมือง แต่เมื่อมารู้ว่า ที่จังหวัดนครพนม ไม่มีคนลงสมัคร ส.ส.เขต 4 เพื่อไม่ให้พรรคเสียโอกาส เบียร์จึงตัดสินใจไปลงรับสมัครเลือกตั้ง ที่เขตอำเภอ นาแก ปลาปาก วังยาง และบางส่วนของอำเภอเมือง ทั้งที่บ้านแพง ถิ่นฐานของเขาที่คุ้นเคยอยู่ในพื้นที่เขต 1
หลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 คะแนนของเบียร์ ที่สังกัดพรรคอนาคตใหม่ มาเป็นอันดับที่ 3 เป็นรองจากผู้สมัครพรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ
“ตอนหาเสียงไปแบบไม่รู้จักอะไร หาเพื่อนเอาข้างหน้า หาเสียงด้วยวิธีใช้เครือข่ายที่ดินที่เคยทำงานละแวกนั้น แล้วก็ไปให้เขาช่วยแต่ขอพักอาศัยกับเขา ขอเอารถไปจอด ขอเอาป้ายไปลง ขอให้เป็นศูนย์ประสานงานจนได้รับเป็นเพื่อนกันถึงทุกวันนี้”
ที่สุดเขาไม่ปฏิเสธว่า คะแนนที่ได้ร่วม 7,800 เสียง จากการลงเลือกตั้งครั้งแรก เป็นเพราะมาจากกระแสพรรค ลำพังตัวเขาแทบไม่รู้จักใครในพื้นที่เขตดังกล่าว “ตัวเองยังลงคะแนนให้ตัวเองไม่ได้ คิดว่า 99% เป็นกระแสเป็นคะแนนของอนาคตใหม่ที่ประชาชนเห็นความหวังบางอย่างจากฐานคิดประชาธิปไตยของพรรค”
.
วิ่งไล่ลุง และทางที่จะมุ่งวิ่งต่อไป
เมื่อถามถึงเหตุการณ์วิ่งไล่ลุงเมื่อต้นปี 2563 อันกลายคดีความที่เขาตกเป็นจำเลยข้อหาจัดชุมนุมโดยไม่ได้แจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ต้องสู้คดีอยู่เกือบ 2 ปี กิจกรรมครั้งนั้นเบียร์คิดว่าต้องแสดงพลัง เพราะขณะนั้นไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจของ คสช.
“คุณมาแบบไม่ถูกกฎกติกา เราก็แสดงพลังไป มันมีการโปรโมทผ่านเฟซบุ๊กผม ตอนนั้นผมอัพสเตตัสซึ่งจำไม่ค่อยได้แล้วว่าอะไร คนก็แชร์กันไปเยอะมากจนผมตกใจ เราก็ไม่คิดว่าจะเป็นคนที่ฝ่ายรัฐจับตาดู แต่ก็ยินดีถ้าเกิดว่าวิ่งไล่ลุงเนี่ยเป็นคนนัดชุมนุม โคตรภูมิใจเลยว่าเราแค่ชวนวิ่งคนก็ให้ความสนใจ”
การโพสต์ครั้งนั้นยังเป็นการระบายความคับข้องใจ เพราะกลุ่มนักศึกษาที่กรุงเทพฯ ถูกห้ามจัด เพื่อนที่อุบลฯ ก็ถูกห้ามจัด แม้เป็นแค่การออกกําลังกาย ซึ่งไม่เพียงกระทบต่อนักกิจกรรมอย่างเขาที่ถูกติดตาม ในระหว่างต้องไปทำงานลงพื้นที่รับเรื่องร้องเรียนชาวบ้านกับพรรค ยังปรากฏตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมาหาถึงบ้าน อย่างเลี่ยงไม่ได้คนในบ้านและละแวกบ้านต่างตกใจไปตามๆ กันกับสิ่งที่เกิดขึ้น
“ครอบครัวเริ่มรู้แล้วว่าโดนคุกคาม ลูกก็ยังเล็ก ผมโกรธชิบหายเลย ว่าทำไมตอนนั้นให้นอกเครื่องแบบไปตามหาที่บ้าน ถ้าอยากได้อะไร เบอร์โทรผมก็มี ตอนนั้นเป็นสายสืบจากบ้านแพงเป็นชุดแรกที่ไปหาผมเลย คราวต่อมาผู้กำกับ สภ.บ้านแพง ก็เรียกเข้าไปหาเพื่อเจรจาให้หยุดกิจกรรม”
เมื่อกิจกรรมเดินหน้า จนเสร็จเช้าวันที่ 12 มกราคม 2563 หลังการวิ่งยุติลง ตำรวจติดตามเบียร์ขณะยังไม่ถึงบ้านและให้ไปที่ สภ.เมืองนครพนม เมื่อเดินทางไปถึง ตำรวจระบุว่า จะแจ้งข้อหา “ไม่แจ้งการชุมนุม” และเจรจาให้จ่ายค่าปรับ 1,000 บาท เพื่อให้จบกันไป แต่เขายืนยันปฏิเสธข้อกล่าวหา ตำรวจจึงกล่าวว่า จะรวบรวมหลักฐานและออกเป็นหมายเรียกให้เข้าไปรับทราบข้อกล่าวหา
จากนั้นตั้งแต่วันรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองนครพนม เมื่อปลายเดือนมกราคม 2563 จนถึงวันนัดฟังคำพิพากษาในเดือนตุลาคมปี 2564 เป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี ที่ต้องเดินทางจากอำเภอบ้านแพงไปต่อสู้คดีทั้งที่สถานีตำรวจ สำนักงานอัยการ และศาล ด้วยจิตสำนึกว่า ที่ประชาชนหลายคนถูกดำเนินคดีทั้งที่แค่ออกมาวิ่งและแสดงความอึดอัดใจต่อรัฐบาล ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดีว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็นเครื่องมือเผด็จการ ในอนาคตทุกฝ่ายต้องผลักดันกฏหมายที่รับรองสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ด้วยกันอย่างเท่าเทียม
6 ตุลาคม 2564 จึงเป็นอีกวันแห่งความทรงจำทางการเมืองของนักดนตรีและนักกิจกรรมผู้นี้ เมื่อศาลจังหวัดนครพนมนัดฟังคำพิพากษาคดีวิ่งไล่ลุง คืนก่อนนัดชี้ชะตาเขาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “คำตัดสินจะออกมาอย่างไรก็ยอมรับ ทั้งยืนยันบนหลักการความเป็นคนบนผืนแผ่นดินที่ประชาชนเป็นเจ้าของร่วมกัน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารของ คสช. เป็นกฎหมายขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน ปิดปากประชาชน กีดกันไม่ให้ประชาชนลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องต่อการบริหารของรัฐ”
กระทั่งศาลจังหวัดนครพนมอ่านคำพิพากษาสรุปใจความได้ว่า ตามข้อความที่จำเลยโพสต์ว่า “วิ่ง-ไล่-ลุง 12 มกราคม 2020 นครพนม กะแลนนำเดียว เวลา 6 น.ณ ลานพญาศรีสัตตนาคราช #มาพ้อกันเด้อ” ไม่มีข้อความที่แสดงออกหรือพฤติกรรมใดนอกจากนี้ ที่ทำให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมหรือร่วมจัดการชุมนุม ทั้งขณะร่วมวิ่ง จำเลยก็มิได้มีพฤติการณ์ใดๆ ที่ทำให้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมหรือเป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุมดั่งที่วินิจฉัยแล้วข้างต้น พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานของจำเลยอีก พิพากษายกฟ้อง
การที่ศาลตัดสินยกฟ้องวันนั้น เหมือนปลดล็อคความคิดความเชื่อหลายอย่างในตัวเขา ทำให้รู้สึกแน่วแน่และมั่นคงบนเส้นอุดมการณ์ที่เดินทางอยู่ ขณะเดียวกันก็อดคิดไม่ได้ว่าการดำเนินคดีเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองเพื่อให้หยุดเคลื่อนไหวและยอมสยบต่ออำนาจที่เขาไม่เคยศรัทธา
ส่วนที่มองอนาคตตัวเองไว้นอกจากการเขียนเพลงและเล่นดนตรีในนามวงอุษาคเนย์อันเป็นภารกิจที่รื่นรมย์ยาวนานไม่จบสิ้น การทำงานกับพรรคก้าวไกลยังเป็นภารกิจที่ขับเคลื่อนชีวิตและความฝันเคียงไปด้วยกัน หรือบทบาทของพ่อลูกสองที่ประคองความรักให้ครอบครัวอบอุ่นต่อไป
แต่ไม่ว่าในบทบาทไหน เขาก็พร้อมจะทำหน้าที่นั้นอย่างเต็มที่ที่สุด เหมือนว่าชีวิตได้ปักหมุดพันผูกกับเรื่องราวการต่อสู้อันยาวนาน จนกว่าจะพบพานสิ่งที่เรียกว่า ‘คนเท่ากัน’
**หมายเหตุ งานชิ้นนี้อุทิศแด่ วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ผู้ไต่ชีวิตอยู่บนเส้นลวดแห่งเสรีภาพอย่างสง่างามมาโดยตลอด
.
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ผู้โพสต์นัดหมาย “วิ่งไล่ลุง” นครพนม ยืนยันสู้คดี “ไม่แจ้งชุมนุม”
ผู้โพสต์นัดหมาย “วิ่งไล่ลุง” นครพนม ถูกดำเนินคดี “ไม่แจ้งชุมนุม”
.