ผู้ (ต้องขัง) หญิงอย่างฉันยังสู้ไม่ถอย

วันสตรีสากล 2567

8 มีนาคม #วันสตรีสากล ยังคงมี ‘ผู้หญิง’ และ ‘เพื่อนผู้หญิง’ อย่างน้อย 7 คน ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำทั่วประเทศ ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือการออกมาใช้สิทธิ เสรีภาพ แสดงออกและแสดงความคิดเห็นทางการเมือง พวกเขาทุกคนยังคงต่อสู้ ‘ทุกวินาที’ จากข้างหลังกรงขัง อาจจะเป็นการต่อสู้ที่เข้มข้น ลำบาก และใช้พลังยิ่งกว่าเมื่อครั้งที่ต่อสู้อยู่ข้างนอกด้วยซ้ำไป

◾“ตะวัน” และ “บุ้ง” – ยังคงต่อสู้ตามข้อเรียกร้องของตัวเอง ด้วยการวางเดิมพันชีวิต อดอาหาร อดน้ำประท้วง พร้อมกับ “แฟรงค์” และ “บัสบาส”

◾“น้ำ” วารุณี – ยังคงต่อสู้ อดทนกับความผิดหวังที่ศาลไม่ให้ประกันตัวครั้งแล้วครั้งเล่า เฝ้ารอวันได้กลับไปทำหน้าที่ ‘เสาหลัก’ ดูแลครอบครัวของตัวเองอีกครั้ง

◾“อัญชัญ” – ยังคงต่อสู้กับการเบียดเสียด ความแออัดในเรือนจำ ความเจ็บป่วยและความชราภาพตามช่วงวัย นับถอยหลังวันที่จะได้กลับมามีอิสรภาพในช่วงบั่นปลายชีวิตของตัวเองอีกครั้ง

◾“แม็กกี้” – ยังคงต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความหลากหลายทางเพศ และกฎระเบียบของเรือนจำที่มองข้าม ละเลยต่อกลุ่ม ‘คนข้ามเพศ’

◾“วรรณภา” – ยังคงต่อสู้และอดทนที่จะได้กลับมาเจอหน้าลูกชายทั้ง 2 คนอีกครั้ง

◾“กัลยา” – ยังคงต่อสู้กับโรคประจำตัว ความลำบากที่เรือนจำไกลบ้านถึงนราธิวาส

พวกเราขอถือเอาวาระวันสตรีสากลนี้สดุดี ระลึกถึง เชิดชู ชื่นชม และจะขอยืนหยัดเคียงข้าง ‘ผู้หญิง’ ที่กล้าหาญทุกคน ทั้งที่ร่วมปูหนทางสร้างประชาธิปไตยในเมื่อครั้งอดีต และผู้ที่ยังขับเคลื่อนร่ำร้องหาความเป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะ ‘พวกเธอ’ เพื่อน พี่ น้อง ป้า ฯลฯ ที่กำลังเผชิญความยากลำบากอันไม่อาจจินตนาการได้ในสถานที่คุมขังในคดีการเมือง


1.

“ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมวัย 22 ปี ปัจจุบันถูกฝากขังพร้อมกับ “แฟรงค์” ณัฐนนท์ จากถูกกล่าวหาว่า บีบแตรใส่ขบวนเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพฯ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2567 โดยมีข้อหาหลักเป็น “ยุยงปลุกปั่นฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 

ตะวันและแฟรงค์ตัดสินใจอดอาหารและน้ำเพื่อประท้วงตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. 2567 ซึ่งเป็นวันแรกของการถูกคุมขัง ครั้งนี้เป็นการอดอาหารประท้วงในเรือนจำครั้งที่ 3 ของตะวัน และเป็นครั้งที่ 2 ของแฟรงค์ ทั้งคู่มีข้อเรียกร้อง 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ 

  1. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
  2. จะต้องไม่มีคนเห็นต่างทางการเมืองถูกคุมขังอีกในอนาคต
  3. ไทยไม่สมควรเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN)

ปัจจุบันตะวันอดอาหารและน้ำประท้วงอยู่ที่ รพ.ธรรมศาสตร์ เช่นเดียวกับแฟรงค์ที่ดำเนินการประท้วงอยู่ที่ รพ.ราชทัณฑ์ ทั้งสองยังคงต่อสู้กับความทรมานของร่างกาย ความอยุติธรรม และเพื่อให้สังคมรับฟัง ‘ทุกข้อเรียกร้อง’ ที่เธอมองว่าเป็นเรื่องพื้นฐานมากที่ควรจะได้รับแก้ไข

อ่านเพิ่มเติม : เปิดบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาคดี #ขบวนเสด็จพระเทพฯ ของ “ตะวัน – แฟรงค์” อ้างคลิปเหตุการณ์สร้างประเด็นให้เกิดความแตกแยก จึงแจ้ง ม.116-พ.ร.บ.คอมฯ เพิ่ม ก่อนศาลไม่ให้ประกัน


2.

“บุ้ง” เนติพร นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง วัย 28 ปี ปัจจุบันถูกคุมขัง เนื่องจากการถูกถอนประกันในคดีมาตรา 112 กรณีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ เมื่อปี 2565 พร้อมกับการถูกศาลอาญากรุงเทพใต้สั่งลงโทษจำคุก 1 เดือน ในคดีละเมิดอำนาจศาล ซึ่งปัจจุบันครบกำหนดโทษ 1 เดือนแล้ว

บุ้งอดอาหารและน้ำประท้วงตั้งแต่วันที่ 2 ของการถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2567 โดยมี 2 ข้อเรียกร้อง ได้แก่

  1. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
  2. จะต้องไม่มีคนเห็นต่างทางการเมืองถูกคุมขังอีกในอนาคต

หลังอดอาหารและน้ำมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ปัจจุบันบุ้งถูกพาตัวไปอยู่ที่ รพ.ราชทัณฑ์ เพื่อเฝ้าระวังอาการและติดตามสภาพร่างกายที่ได้รับผลกระทบจากการประท้วง อย่างไรก็ตามเธอหลังเผชิญความทรมานทางด้านร่างกาย อาเจียนปนเลือดบ่อยครั้ง บุ้งตัดสินใจยุติการอดน้ำไปเป็นการจิบน้ำในปริมาณที่จำกัด

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบุ้งยังคงอดอาหารประท้วงและต่อสู้กับความทรมานทางร่างกายต่อไปตามเจตนารมณ์เดิมในตอนแรกเพื่อต้องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและไม่ต้องการให้ผู้ต้องขังคดีการเมืองอีกในอนาคต

อ่านเพิ่มเติม : ศาลสั่งถอนประกัน ‘บุ้ง’ เหตุพ่นสีลงบนธงราชินี-ชุมนุมหน้า วธ. แต่ไม่ถอนประกัน ‘ตะวัน’ ชี้ ไม่ผิดเงื่อนไขประกัน

ศาลอาญากรุงเทพใต้ลงโทษจำคุก “บุ้ง” 1 เดือน คดีละเมิดอำนาจศาล ส่วน “หยก” ให้ตักเตือน ชี้ตั้งใจสร้างความปั่นป่วน ลดความน่าเชื่อถือของศาล


3.

“น้ำ” วารุณี วัย 30 ปี ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 จากกรณีที่หลายคนเห็นว่าไม่น่าจะต้องรับโทษหนักหนาขนาดนี้ นั่นคือ จากกรณีที่ถูกฟ้องว่าโพสต์เป็นภาพรัชกาลที่ 10 ขณะเปลี่ยนเครื่องทรง “พระแก้วมรกต” เป็นชุดกระโปรงยาวสีม่วงจากแบรนด์ Sirivannavari และใส่ภาพสุนัขด้วย ซึ่งวารุณีให้การว่าไม่ได้เป็นตัดต่อภาพเพียงแต่นำมาโพสต์ลงเฟซบุ๊กเท่านั้น 

คดีนี้ศาลอาญาพิพากษาให้จำคุก 3 ปี ก่อนลดเหลือ 1 ปี 6 เดือน ทำให้วารุณีถูกคุมขังมาตั้งแต่นั้นโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัวเรื่อยมา แม้ว่าคดีจะยังอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา ในช่วงแรกวารุณีพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะประท้วงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นและเรียกร้องสิทธิประกันตัว เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2566 เธอตัดสินใจอดอาหารและต่อมาได้อดน้ำร่วมด้วย ก่อนจะยุติการประท้วงลงในวันที่ 46 เพราะศาลยังคงไม่ให้ประกันตัวครั้งแล้วครั้งเล่า ขณะที่ร่างกายของวารุณีทรุดโทรมลง

ปัจจุบัน วารุณียังคงต่อสู้กับความผิดหวัง ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับตัวเธอ และเฝ้ารอวันได้กลับไปทำหน้าที่ ‘หัวหน้าครอบครัว’ ดูแลพ่อและน้องทั้งสองคนอยู่  

ปัจจุบันวารุณีถูกขังระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา 255 วันแล้ว หรือเกือบ 9 เดือนแล้ว

อ่านเพิ่มเติม : ‘วารุณี’ คือใคร ในสายตาของครอบครัว

ศาลพิพากษาคดี ม.112 จำคุก 3 ปี ลดโทษเหลือ 1 ปี 6 เดือน “วารุณี” เหตุโพสต์ภาพ ร.10 เปลี่ยนเครื่องทรง ‘พระแก้วมรกต’ เป็นชุดราตรี ก่อนศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว


4.

“ป้าอัญชัญ” อดีตข้าราชการระดับสูง อายุ 68 ปี ผู้ต้องขังหญิงที่ถูกคุมขังเป็นระยะเวลายาวนานคนหนึ่ง เมื่อรวมกับการถูกขังในครัังแรก 3 ปี 9 เดือน 9 วัน ปัจจุบันเธอถูกขังนานเกือบ 7 ปีแล้ว โดยมีกำหนดปล่อยตัวในวันที่ 24 ก.ย. 2574 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า

ป้าอัญชัญถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 จากการแชร์คลิปเสียงของ “ดีเจบรรพต” นักจัดรายการวิทยุใต้ดินที่วิพากษ์วิจารณ์การเมืองและสถาบันกษัตริย์ เป็นจำนวนทั้งหมด 29 ข้อความ นับเป็น 29 กรรม โดยศาลอาญาพิพากษาจำคุกรวม 87 ปี ก่อนลดเหลือ 29 ปี 174 เดือน (ราว 43 ปี 6 เดือน)

ป้าอัญชัญยังคงต่อสู้กับความโรยราแห่งวัย ต่อสู้กับความเบียดเสียด ต้องแย่งทรัพยากรกับผู้ต้องขังอื่นในเรือนจำตามสภาพแวดล้อมที่ฝืนไม่ได้ ต่อสู้กับโรคประจำตัว ความเจ็บปวดตามข้อกระดูกจากสังขารที่นับถอยหลังไปทุกวัน เพื่อเฝ้ารอวันที่ได้กลับออกไปใช้ปั่นปลายชีวิตของตัวเองอย่างมีอิสรภาพอีกครั้ง

อ่านเพิ่มเติม : ศาลจำคุก 87 ปี “อัญชัญ” คดีม.112 เหตุแชร์คลิป “บรรพต” สูงสุดเท่าที่เคยบันทึกไว้

ครบ 3 ปี วันพิพากษาจำคุก ‘112’ อัญชัญ : ขอให้อดทนกันไว้ อยู่กับปัจจุบันให้ได้


5.

“กัลยา” อดีตพนักงานข้าราชการจากกรุงเทพฯ วัย 29 ปี ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 อยู่ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาสมาตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค. 2566 จากการถูกศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนจำคุก 6 ปี จากคดีที่ถูกฟ้องว่าโพสต์เฟซบุ๊ก 2 กระทง

ระหว่างถูกคุมขังนานวัน กัลยาจำใจต้องลาออกจากราชการ ไม่เช่นนั้นอาจจะถูกลงโทษทางวินัย ‘ฐานละทิ้งหน้าที่ราชการ’ ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินกำหนด ยิ่งไปกว่านั้นเธอต้องต่อสู้กับโรคประจำตัวอย่าง ‘ลิ่มเลือดอุดตัน’ ที่ทำให้เลือดออกง่าย ไหลหยุดยาก รู้สึกชาตามแขนและขาบ่อยครั้ง นับวันยิ่งอาการชาแต่ละครั้งยิ่งนานขึ้น 

เธอต้องต่อสู้ปรับตัว เอาตัวรอดให้ได้ในเรือนจำต่างถิ่นที่มีวัฒนธรรม อาหาร และศาสนา แตกต่างออกไปจากที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ต้องต่อสู้กับความเสียใจ ผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่า โดยเฉพาะการอยู่ห่างไกลจากครอบครัวและคนรัก 

จนถึงตอนนี้ กัลยายังคงถูกสู้ต่อไปในเรือนจำ 3 จังหวัดตอนล่างสุดของประเทศไทย มากกว่า 140 วัน หรือเกือบ 5 เดือนแล้ว

อ่านเพิ่มเติม : ชีวิต ‘กัลยา’ ในวันที่ถูกขังไกลบ้านด้วย ม.112 สองศาลยืนจำคุก 6 ปี อยู่ที่เรือนจำนราธิวาส ไร้แววได้ประกัน แม้ป่วยลิ่มเลือดอุดตัน ไม่เคยหลบหนี


6. 

“วรรณภา” แม่เลี้ยงเดี่ยว วัย 36 ปี ถูกคุมขังในคดีสิ้นสุดแล้ว หลังศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุก 3 ปี มาตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย. 2565 ในข้อหา “อั้งยี่” จากกรณีถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการขายเสื้อของกลุ่มสหพันธรัฐไท เมื่อช่วงปี 2561

ในตอนแรกเธอถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ต่อมาถูกย้ายตัวไปยังทัณฑสถานหญิงชลบุรีอย่างกะทันหันเมื่อ 27 มิ.ย. 2566 โดยญาติไม่ทราบเรื่องแต่อย่างใด

วรรณภายังคงต่อสู้กับความคิดถึง ความกังวล อาลัยลูกชายทั้ง 2 คน วัย 10 กว่าปี และ 19 ปี ต่อสู้กับการหมดอิสรภาพ หมดหนทางจะได้ติดต่อสื่อสารกับลูกชายและโลกภายนอก ยังคงต่อสู้และอดทนที่จะได้กลับมาดูแลลูกชายหัวแก้วหัวแหวนทั้งสองคนอีกครั้ง อย่างที่เธอทำมาตลอดเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา

อ่านเพิ่มเติม : ‘วรรณภา’ จำเลยคดีสหพันธรัฐไท- หัวอกแม่เลี้ยงเดี่ยวลูกสอง และฝันร้ายที่รัฐไทยมอบให้ 

“วรรณภา” ผู้ต้องขังคดีขายเสื้อสหพันธรัฐไท ถูกย้ายไปคุมขังที่ชลบุรี อ้างเหตุเรือนจำแออัด ขณะลูกชายเดินทางไปเยี่ยมลำบาก


7.

“แม็กกี้” ผู้นิยามว่าตัวเอง คือ ‘กะเทย’ วัย 26 ปี ถูกจับกุมและคุมขังในคดีมาตรา 112 จากการถูกกล่าวหาว่าทวีตข้อความ 18 ข้อความ มาตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณาคดี โดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัวเรื่อยมา ล่าสุดสัปดาห์หน้านี้ ในวันที่ 14 มี.ค. 2567 ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาในคดีของแม็กกี้แล้ว หลังถูกคุมขังมานานกว่า 4 เดือน 

แม็กกี้เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศอีกคนหนึ่งที่ประสบปัญหากับการที่รัฐไทยยังมองพลเมืองของตนมีว่าเพียง 2 เพศ นั่นส่งผลต่อทางนโยบายในการดูแลและปฏิบัติต่อผู้ต้องขังโดยตรง ทำให้กลุ่มคนที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำหนดได้รับความยากลำบากในการใช้ชีวิตในเรือนจำอย่างมาก แม้ว่าระยะหลังจะมีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบบางตามที่มีการเรียกร้องและเพื่อตามกระแสโลกแล้วก็ตาม แต่ยังคงมีอีกหลายเรื่องที่รอการแก้ไข ปรับปรุง เพื่อโอบรับทุกคน ทุกเพศ 

สำหรับแม็กกี้ เธอเล่าให้ฟังว่า ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีการจัดห้องขังสำหรับผู้ต้องขังที่เป็น LGBTQIA+ ไว้รองรับชัดเจน แต่ปัจจุบันเริ่มมีความแออัดแล้ว ผู้ต้องขังในห้องมีมากถึงประมาณ 41 คน โดยเวลานอนแทบจะไม่ค่อยเหลือทางเดินในห้องอีกแล้ว

สิ่งที่แม็กกี้อยากให้เรือนจำปรับปรุงเพื่อกลุ่มคน LGBTQIA+ 

  1. “ทรงผม” เวลาถูกเบิกตัวออกศาลเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะมีการตรวจทรงผม ถ้ายาวเกินเกณฑ์ก็จะถูกไถออกด้วยแบตตาเลียนเป็นรองทรงสูงสั้นเกรียน แม็กกี้อยากไว้ผมตามอัตลักษณ์ของตัวเอง
  2. เมื่อถูกเบิกตัวออกมาศาล เจ้าหน้าที่จะให้ใส่เครื่องพันธนาการ หรือ “ตรวนเท้า” ซึ่งทำให้เสียดสีกับข้อเท้าและลำบากเวลาย่างเดิน แม็กกี้อยากให้เจ้าหน้าที่อนุญาตให้ใส่ ‘ถุงเท้า’ ได้เพื่อป้องกันการเสียดสีจากตรวน
  3. อยากให้การแต่งหน้าไม่ผิดระเบียบ อยากให้นักโทษที่เป็น LGBTQIA+ สามารถแต่งหน้าได้
  4. สุดท้ายแม็กกี้ฝากให้เรือนจำไม่กำหนดโควต้าในการจ่ายยารักษาโรคพื้นฐานอย่างแก้ปวดหัว เพราะแม็กกี้มีอาการปวดหัวบ่อย และยาแก้ปวดค่อนข้างหายากในเรือนจำ ถูกเรือนจำกำหนดโควต้าในแต่ละวัน

แม็กกี้ยังคงต่อสู้กับการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ การเข้าถึงสิทธิประกันตัว ลุ้นกับโอกาสอาจจะต้องย้ายไปเรือนจำอื่นด้วยโทษจำคุกที่สูงเกิน 15 ปี และอดทนที่จะได้กลับออกมาใช้ชีวิตที่เป็น ‘ตัวของตัวเอง’ อีกครั้ง

อ่านเพิ่มเติม : เผยกรณี “แม็กกี้” ถูกคุมขังคดี ม.112 มาแล้ว 19 วัน หลังถูกจับกุม-กล่าวหาทวีต 18 ข้อความ ยื่นประกันตัว ศาลอาญากรุงเทพใต้ยังไม่อนุญาต 

บันทึกเยี่ยม 8 ผู้ต้องขังคดี ‘112’: ยังไม่มีใครได้ประกันตัว แต่ทุกคนยังคาดหวัง

X