พฤษภาคม 65: ยอดรวมผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองรวม 1,813 คน ในจำนวน 1,074 คดี

เดือนพฤษภาคม 2565 สถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมืองมีคดีใหม่เพิ่มขึ้นไม่มากนัก แนวโน้มส่วนใหญ่เป็นคดีตามมาตรา 112 ที่ยังคงมีการใช้กล่าวหานักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวหรือประชาชนในโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปัญหาการประกันตัวและการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมในคดีข้อหานี้ก็ยังดำรงอยู่ ขณะที่คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมที่เริ่มต่อสู้ถึงชั้นศาล ก็ยังพบแนวโน้มที่ศาลจะพิพากษายกฟ้อง หรืออัยการสั่งไม่ฟ้องอย่างต่อเนื่อง แต่ก็สร้างภาระให้กับผู้ถูกดำเนินคดีเป็นระยะเวลายาวนาน

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,813 คน ในจำนวน 1,074 คดี  ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 280 ราย

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนเมษายน 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้น 5 คน คดีเพิ่มขึ้น 9 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) 

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,605 ครั้ง

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 195 คน ในจำนวน 211 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 125 คน ในจำนวน 39 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,452 คน ในจำนวน 631 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง) 

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 107 คน ในจำนวน 75 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 132 คน ในจำนวน 151 คดี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 34 คน ใน 18 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 25 คน ใน 6 คดี

จากจำนวนคดี 1,074 คดีดังกล่าว มีจำนวน 190 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว โดยมากเป็นคดีที่ผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจ หรือในชั้นศาล ในจำนวนนี้มีกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องจำนวน 11 คดี 

.

.

แนวโน้มเกี่ยวกับการดำเนินคดีในช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 นี้ ยังมีสถานการณ์สำคัญ ดังต่อไปนี้

ผู้ถูกดำเนินคดี 112 เพิ่มอีกอย่างน้อย 7 คดี ยังมีผู้ถูกคุมขังไม่ได้ประกันตัว

จากจำนวนคดีใหม่ที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด 9 คดีในเดือนพฤษภาคม พบว่าเป็นคดีข้อหาตามมาตรา 112 ถึง 7 คดี และมีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่อย่างน้อย 5 คน ทำให้ยอดผู้ถูกดำเนินคดีโดยภาพรวมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 211 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีที่เยาวชนถูกกล่าวหาจำนวน 19 คดี

คดีสำคัญในเดือนที่ผ่านมา ได้แก่ คดีของ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง สมาชิกกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ที่ถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 ถึง 3 คดีในเดือนเดียว ทั้ง 3 คดี ศาลมีการออกหมายจับ โดยที่ตำรวจไม่ได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหามาก่อนอีกด้วย ได้แก่ คดีจากการปราศรัยในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว ของ สน.สำราญราษฎร์, คดีจากการปราศรัยในกิจกรรมวันแรงงานสากล ของ สน.นางเลิ้ง และคดีจากการปราศรัยในกิจกรรม “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน” เนื่องในวันจักรี ของ สน.บุปผาราม เก็ทถูกจับกุมคุมขังในเรือนจำเป็นเวลา 30 วัน ตลอเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อนได้รับการประกันตัวในวันสุดท้ายของเดือน

.

.

ขณะที่คดีการปราศรัยในวันจักรีนั้น ยังมีนักกิจกรรมที่ถูกออกหมายจับ และดำเนินคดีอีก 2 ราย นอกเหนือจากเก็ท ได้แก่ โจเซฟ และมิ้นท์ ทั้งสองถูกนำตัวไปที่ บช.ปส. ซึ่งไม่ใช่ท้องที่เกิดเหตุ ก่อนถูกนำตัวไปขอฝากขังที่ศาลอาญาธนบุรี และได้รับการประกันตัวภายใต้เงื่อนไขของศาล

นอกจากนั้น ยังมีคดีของ “พลอย” เบญจมาภรณ์ นักกิจกรรมเยาวชนอายุ 17 ปี ที่ถูกกล่าวหาคดีมาตรา 112 เป็นคดีที่ 2 กรณีร่วมทำโพลสำรวจ “เห็นด้วยหรือไม่ที่รัฐบาลอนุญาตให้กษัตริย์ใช้อำนาจตามอัธยาศัย” เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2565 กรณีนี้มีรายงานว่าตำรวจ สน.บางซื่อ ไปขอออกหมายจับ แต่ศาลเยาวชนฯ ยังไม่อนุมัติ จึงมีการออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาแทน

รวมทั้งยังมีคดีใหม่ของประชาชนทั่วไปอีก 2 ราย ได้แก่ คดีของ “ภราดร” พนักงานโรงงาน ที่ถูกกล่าวหาจากการแชร์ข้อความลงในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” ช่วงปี 2563 กรณีนี้เขาถูกออกหมายจับ โดยไม่ทราบว่าเคยมีการออกหมายเรียกมาก่อน จึงได้เข้ามอบตัวกับตำรวจ สภ.บางแก้ว

และคดีของสุรศักดิ์ พนักงานบาร์ที่ถูกตำรวจนำหมายค้นเข้าตรวจค้นห้อง และถูกพาตัวไปที่ บก.ปอท. โดยไม่ได้มีหมายเรียกหรือหมายจับ ก่อนถูกแจ้งข้อหาจากการแชร์ข้อความจากเพจ “KTUK – คนไทยยูเค” มีเนื้อหาเชื่อมโยงรัชกาลที่ 10 กับคุกวังทวีวัฒนาเมื่อช่วงต้นปี 2565

สถานการณ์การดำเนินคดีมาตรา 112 พร้อมกับควบคุมการแสดงออกเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ยังเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยยังมีผู้ถูกคุมขังด้วยข้อหานี้ในระหว่างต่อสู้คดี โดยไม่ได้รับการประกันตัว อีก 4 คน ได้แก่ เนติพร, ใบปอ, สมบัติ ทองย้อย และเวหา แสนชนชนะศึก  ส่วนนักกิจกรรมที่ถูกคุมขัง อย่าง “ตะวัน” และ “เก็ท” แม้จะได้รับการประกันตัวในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมหลังถูกขังกว่า 30 วัน แต่ก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขของศาล ที่ห้ามออกนอกเคหสถาน การกำหนดระยะเวลาการประกันตัวอย่างจำกัด พร้อม ข้อกำหนดห้ามการกระทำต่างๆ ที่กว้างขวาง

ขณะที่สถานการณ์การพิจารณาคดีมาตรา 112 ในชั้นศาล ยังเต็มไปด้วยข้อจำกัด ซึ่งกระทบต่อหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม โดยในเดือนที่ผ่านมา มีอย่างน้อย 3 คดี ที่ศาลสั่งตัดพยานในคดีที่จะมาเบิกความในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้พระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ หรือกรณีคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ศาลก็ยังคงไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารต่างๆ ตามที่ฝ่ายจำเลยร้องขอ 

นอกจากนั้นยังมีคดีของทิวากร ที่ศาลจังหวัดขอนแก่นห้ามผู้สังเกตการณ์จดบันทึกในห้องพิจารณา รวมทั้งในชั้นอัยการ ก็พบว่ามีการเร่งรัดสั่งฟ้องคดีต่อศาล แม้ฝ่ายผู้ต้องหาจะร้องขอความเป็นธรรม ขอให้สอบพยานเพิ่มเติมก็ตาม เช่น คดีของทานตะวัน ที่อัยการใช้เวลาในการพิจารณาสำนวนอย่างรวดเร็ว ก่อนสั่งฟ้อง 

.

.

แนวโน้มคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลยังยกฟ้องและอัยการสั่งไม่ฟ้องเพิ่มเติม แต่ภาระทางคดีเกิดขึ้นต่อเนื่อง 

ด้านสถานการณ์คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมือง แม้ไม่มีคดีใหม่เพิ่มขึ้นมากนักในเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองลดความเข้มข้นลงไป แต่คดีจากการชุมนุมในช่วงสองปีที่ผ่านมา ศาลก็ทยอยมีคำพิพากษาเป็นระยะ 

พบว่าแนวโน้มส่วนใหญ่ ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง หรือลงโทษปรับในข้อหาลหุโทษ แต่การต่อสู้ในแต่ละคดีก็ใช้ระยะเวลานับปี ทำให้เกิดภาระทางคดีต่อฝ่ายนักกิจกรรมอย่างชัดเจน โดยหลายคนถูกกล่าวหาเป็นคดีนับ 10 คดี ยุทธวิธีการใช้ “กฎหมาย” และ “กระบวนการยุติธรรม” ในการระงับยับยั้งการชุมนุมและแสดงออก จึงยังคงเป็นปัญหาสำคัญของการใช้อำนาจรัฐในปัจจุบัน

ในเดือนที่ผ่านมา ศาลแขวงลพบุรีมีคำพิพากษายกฟ้องคดีคาร์ม็อบลพบุรีเพิ่มเติมอีก 1 คดี โดยเป็นคดีคาร์ม็อบคดีที่สองในลพบุรีที่ศาลยกฟ้อง นอกจากนั้นยังมีคดีของสมณะดาวดินฯ กรณีร่วมกิจกรรมหมู่บ้านทะลุฟ้า ที่ศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษายกฟ้องในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ให้ลงโทษปรับในข้อหากีดขวางการจราจร

รวมทั้งยังมีคดีที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องเพิ่มอีก 1 คดี ได้แก่ คดีคาร์ม็อบ “รวมพลังคนพันธุ์ R อาชีวะขับไล่เผด็จการ” วันที่ 15 ส.ค. 2564 ซึ่งอัยการเห็นว่าที่เกิดเหตุเป็นถนนเปิดโล่ง ผู้คนสัญจรไม่หนาแน่น มีการใส่หน้ากากอนามัย และการขับขี่ยานพาหนะย่อมมีการเว้นระยะห่าง ทำให้ไม่เข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

.

.

แต่ก็มีผลทางคดีที่ศาลเห็นว่าเข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยลงโทษปรับด้วยอัตราที่ไม่มากนัก อย่างคดี #รดน้ำกดหัวประยุทธ์ ของกลุ่มทะลุฟ้า เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2564 ศาลแขวงดุสิตลงโทษปรับคนละ 2,000 บาท หรือคดีของลำไย คนขับรถเครื่องเสียง ในการชุมนุมของกลุ่มราษฎรฝั่งธน ที่สถานีรถไฟฟ้า MRT ท่าพระ เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563 ศาลอาญาตลิ่งชันลงโทษปรับ 5,000 บาท 

แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามของนักกิจกรรมในการร้องขอความเป็นธรรมไปยังอัยการสูงสุด ให้ยุติการดำเนินคดีจำนวนมากที่เกิดขึ้นจากการใช้เสรีภาพในการชุมนุม แต่ก็ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางการสั่งฟ้องคดีจำนวนมากจนถึงปัจจุบัน

ดู สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง

.

X