อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีคาร์ม็อบ “คนพันธุ์ R อาชีวะขับไล่เผด็จการ” ชี้คาร์ม็อบมีการเว้นระยะห่างรถ จึงไม่เสี่ยงโรคโควิด-19

เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2565 พนักงานอัยการคดีอาญามีนบุรี มีนัดฟังคำสั่งในคดีของ 2 นักกิจกรรมจากกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้แก่ ธนเดช ศรีสงคราม หรือ “ม่อน อาชีวะ” และ สมเพชร สืบฤกษ์ ในคดีที่ทั้งสองคนถูกกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีจัดกิจกรรมคาร์ม็อบ “รวมพลังคนพันธุ์ R อาชีวะขับไล่เผด็จการ” เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เคลื่อนขบวนจากบริเวณหน้าศูนย์การค้าแฟชั่นไอซ์แลนด์ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564  ต่อมาพบว่าอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอย่างเด็ดขาดแล้ว ทำให้คดีสิ้นสุดลง

คดีนี้ ทั้งสองคนถูกดำเนินคดีที่ สน.บางชัน โดยมี พ.ต.ท.ภูทิต ทีวะรัตน์ ตำรวจฝ่ายสืบสวน สน.บางชัน เป็นผู้กล่าวหา ในข้อกล่าวหา “ร่วมกันทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 5 คน” โดยธนเดชเข้ารับทราบข้อหาเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2564 และสมเพชรเข้ารับทราบข้อหาเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2564

จากนั้น พนักงานสอบสวนได้มีการส่งสำนวนคดีให้อัยการคดีอาญามีนบุรี ในช่วงเดือนตุลาคม 2564 จากนั้นอัยการได้มีการนัดรายงานตัวในแต่ละเดือนเรื่อยมา จนกระทั่งอัยการแจ้งว่ามีคำสั่งไม่ฟ้องคดีเด็ดขาดในที่สุด

.

อัยการชี้ผู้ต้องหาเข้าชี้แจง ตร. เท่ากับขออนุญาตโดยปริยายแล้ว ทั้งคาร์ม็อบในที่โล่ง มีการเว้นระยะห่างพอสมควรแล้ว

สำหรับเนื้อหาคำวินิจฉัยของพนักงานอัยการ ลงวันที่ 11 เม.ย. 2565 ระบุว่า เมื่อพิจารณาความเห็นและคำสั่งซึ่งผู้ตรวจสำนวนเสนอแล้วเห็นว่าตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 30), ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ฉบับที่ 9) ข้อ 3, ประกาศกรุงเทพมหานครฯ ฉบับที่ 36 และคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) ที่ 11/ 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับระหว่างวันเวลาเกิดเหตุ ได้ความว่า ในเขตกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดนั้น ห้ามบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 5 คน จัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค หรือจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกัน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดต่อสัมผัสกันที่สามารถแพร่โรคได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่ได้รับอนุญาตนั้น

แม้ตามวันเวลาเกิดเหตุมีกฎหมายและประกาศดังกล่าว ห้ามการจัดกิจกรรมของกลุ่มบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 5 คนก็ตาม แต่มีประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 36) ในข้อ 3 ให้เปิดดำเนินการห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ห้างร้านฯ ได้จนถึงเวลา 20.00 น. แสดงว่าห้างสรรพสินค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ และห้างร้านทั่วไป ซึ่งตั้งอยู่บริเวณท้องที่เกิดเหตุเปิดทำการ และย่อมมีบุคคลทั่วไปสัญจรไปมาโดยใช้รถใช้ถนนเข้าออกเพื่อใช้บริการในบริเวณห้างฯ ดังกล่าวและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นจำนวนมากพอสมควร อันเป็นการใช้ชีวิตและประกอบอาชีพตามปกติ โดยตามท้องถนนมีบุคคลทั่วไปใช้รถใช้ถนนอยู่ ดังปรากฏตามคำให้การของพยานที่ 3-13 ซึ่งให้การยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นในการกระทำผิด โดยให้การในวันเกิดเหตุได้ใช้เส้นทางถนนรามอินทราผ่านจุดที่เกิดเหตุเท่านั้น 

แม้กลุ่มผู้ต้องหาทั้งสองกับพวกได้จัดกิจกรรมกันเองโดยไม่ขออนุญาต และไม่ใช่การดำเนินการของหน่วยงานราชการหรือองค์กรอื่นใดที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน และไม่มีมาตรการทางสาธารณสุขรองรับ แต่ในวันเวลาเกิดเหตุ ผู้ต้องหาที่ 1 ได้เข้าชี้แจงกำหนดการจัดกิจกรรมกับ ผกก.สน.บางชัน ก่อนจัดกิจกรรม อันถือได้ว่าเป็นการขอความร่วมมือหรือขออนุญาตเจ้าพนักงานโดยปริยายแล้ว

ประกอบกับสภาพบริเวณที่เกิดเหตุเป็นถนนอันเป็นที่เปิดโล่ง ผู้คนสัญจรไม่หนาแน่น ในการจัดกิจกรรมคดีนี้อยู่บริเวณริมถนนใช้รถจักรยานยนต์และรถยนต์เป็นยานพาหนะ มีการใส่หน้ากากอนามัย และการขับขี่ยานพาหนะดังกล่าวย่อมมีการเว้นระยะห่างระหว่างรถแต่ละคันอยู่เป็นปกติวิสัย ซึ่งถือได้ว่ามีมาตรการเว้นระยะห่างของบุคคลที่ปลอดภัยพอสมควรแล้ว

แม้ว่าผู้กล่าวหาจะมี นางสุวรรณา มะปรางหวาน ตำแหน่งวิชาการสุขาภิบาลชำนาญการ ให้การยืนยันพฤติกรรมการกระทำผิดของผู้ต้องหาทั้งสองกับพวกก็ตาม แต่ถ้อยคำของพยานดังกล่าวเกิดจากการตรวจสอบดูเพียงจากภาพถ่ายในวันเวลาเกิดเหตุ ซึ่งเจ้าพนักงานฝ่ายสืบสวนสอบสวนให้พยานดูเพื่อประกอบความเห็นที่ได้ให้การภายหลังเกิดเหตุแล้ว ซึ่งถือเป็นเพียงความเห็นทางวิชาการเท่านั้น มุมมองและทัศนวิสัยตามภาพถ่ายและสภาพในพื้นที่จริงนั้นแตกต่างกันมาก

อีกทั้ง จำนวนคนและภาพการใช้รถใช้ถนนมีสภาพเช่นเดียวกับที่ประชาชนใช้สัญจรในช่วงก่อนหลังเวลาเกิดเหตุ โดยปรากฏว่ากลุ่มบุคคลรายอื่นๆ ทั้งที่เข้าร่วมกิจกรรมและไม่เข้าร่วมการจัดกิจกรรมต่างใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน และถึงแม้ว่าการกระทำของผู้ต้องหาทั้งสองกับพวก จะเป็นการร่วมกันชุมนุมเพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาล อันเป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสุจริต เป็นการชุมนุมที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กระทำโดยสงบและปราศจากอาวุธ อันเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ตามข้อกล่าวอ้างหรือไม่ก็ตาม และแม้ว่าผู้ต้องหาทั้งสองกับพวกจะทราบดีอยู่แล้วว่าบริเวณหน้าศูนย์การค้าที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ที่มีการประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และได้นัดรวมตัวกันเพื่อจัดทำกิจกรรมทางการเมืองโดยมีการรวมตัวกันมากกว่า 5 คนก็ตาม การกระทำดังกล่าวก็ยังไม่ถือว่าเป็นการเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรงจึงไม่เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายดังกล่าว

พิเคราะห์จากพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้วพยานหลักฐานคดีนี้ยังไม่มีมูลเพียงพอให้รับฟังได้ว่าผู้ต้องหาทั้งสองกับพวกกระทำความผิดตามข้อกล่าวหาคดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง

ความเห็นในการสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าวลงนามโดย ถาวร โมครัตน์ อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ

.

คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คดีที่ 9 ที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง ขณะคดีรอต่อสู้อีกนับร้อย

คดีนี้นับเป็นคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คดีที่ 9 อันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 ที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี โดยเป็นคดีอันเนื่องมาจากกิจกรรมลักษณะคาร์ม็อบคดีที่ 4 ภายหลังจากคดีคาร์ม็อบที่จังหวัดตาก, จังหวัดมุกดาหาร และคดีคาร์ม็อบ 1 ส.ค. 2564 จากหน้าสนามบินดอนเมือง อัยการก็มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีไปก่อนหน้านี้  ขณะเดียวกัน ยังมีคดีคาร์ม็อบอีก 2 คดีที่จังหวัดลพบุรี ที่ศาลพิพากษายกฟ้องไปแล้วเช่นกัน

แต่คดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องหรือศาลยกฟ้องในลักษณะนี้ ยังเป็นเพียงจำนวนส่วนน้อย เมื่อเทียบกับคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีการกล่าวหาทั้งหมด โดยคดีคาร์ม็อบในหลายพื้นที่ อัยการได้ทยอยสั่งฟ้องคดีขึ้นสู่ชั้นศาล และยังเป็นภาระของผู้ถูกกล่าวหาในการต่อสู้คดีต่อไป

ดู >> สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง

.

X