ทนายยื่นหนังสือเรียกร้องความเป็นธรรมในคดี “ตะวัน” หลังอัยการเร่งส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด ยังไม่สอบพยานฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา

23 พ.ค. 2565 เวลา 15.00 น. ที่ สำนักงานอัยการสูงสุด ทนายความในคดีของ  “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักเคลื่อนไหวอิสระวัย 20 ปี ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมและขอให้สั่งสอบสวนเพิ่มเติมต่ออัยการสูงสุด ในคดีที่ตะวันถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 จากการไลฟ์สดก่อนมีขบวนเสด็จ เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา

ในวันนี้ นายอิทธิพร แก้วทิพย์ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดลงมารับหนังสือดังกล่าวด้วยตนเอง ในการยื่นหนังสือดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อร้องขอความเป็นธรรมจากอัยการ หลังจากการไต่สวนคัดค้านฝากขังตะวันครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2565 พบว่าอัยการในคดีนี้เพิ่งได้รับสำนวนคำฟ้องจากพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง และทำการเร่งรัดเสนอต่ออัยการสูงสุดทันที โดยยังไม่ได้มีระยะเวลาพิจารณาสำนวนคดีอย่างเพียงพอ และยังไม่ได้มีการสอบพยานฝ่ายผู้ต้องหา

.

ร้องขอความเป็นธรรม 3 ประการ 

ในหนังสือที่ยื่นต่ออัยการสูงสุด มีเนื้อหาระบุถึงการขอความเป็นธรรม ดังนี้

1. ในสำนวนคดีนี้ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า พนักงานสอบสวนได้นำหมายจับของศาลไปจับกุมตัวผู้ต้องหาตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2565 และแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องหาซึ่งเป็นบุคคลที่มีอายุเพียง 20 ปี ในข้อหาอุกฉกรรจ์หลายข้อหา ทั้งที่พฤติการณ์ที่อ้างมานั้นล้วนแต่เป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอยขาดเหตุผลรองรับข้อกล่าวหา โดยเจตนากลั่นแกล้งผู้ต้องหาซึ่งมีความคิดเห็นทางการเมืองขัดแย้งกับรัฐบาลเท่านั้น

2. ภายหลังจากการที่จับกุมตัวผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนได้ฝากขังผู้ต้องหาจนถึงบัดนี้ นับเป็นเวลา 78 วันแล้ว โดยพนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวมาโดยตลอด ในขณะนี้ผู้ต้องหาถูกขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกรุงเทพ และโดยพฤติการณ์แห่งการสอบสวนคดี พนักงานสอบสวนเร่งรัดการสอบสวนโดยสอบเฉพาะพยานของผู้กล่าวหาเท่านั้น โดยพนักงานสอบสวนไม่ได้สอบสวนพยานของผู้ต้องหาแต่อย่างใด ทั้งที่ผู้ต้องหาร้องขอให้สอบสวนพยานของฝ่ายผู้ต้องหาหลายครั้ง การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหา และเป็นการกระทำที่ผิดต่อประมวลวิธีพิจารณาความอาญาอย่างร้ายแรง เพราะพนักงานสอบสวนมีหน้าที่พิสูจน์ความผิดและความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาด้วย จึงเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ต้องหา

3. การที่ผู้ต้องหาถูกขังไว้ที่ทัณฑสถานหญิงกรุงเทพจนบัดนี้ จึงทำให้ไม่มีโอกาสที่จะต่อสู้คดีนี้อย่างเต็มที่ในชั้นสอบสวนแต่อย่างใด

.

ขอให้สอบพยานฝ่ายผู้ต้องหาเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์

ทนายความยังได้ขอให้อัยการสูงสุดได้พิจารณาและมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนคดีนี้ทำการสอบสวนพยานของผู้ต้องหา เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ได้แก่ 

1. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อพิสูจน์ประเด็นเกี่ยวกับการกระทำของผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาในเชิงธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติในประวัติศาสตร์ชาติไทยว่า ไม่ได้เป็นการผิดต่อประเพณีและวัฒนธรรมซึ่งถือเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด

2. พนัส ทัศนียานนท์ อดีตอัยการ, อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อพิสูจน์ประเด็นเกี่ยวกับการกระทำของผู้ต้องหาว่าไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และเป็นเสรีภาพที่ได้รับการปกป้องจากกฎหมาย

3. รณกร บุญมี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อพิสูจน์ประเด็นเกี่ยวกับการกระทำของผู้ต้องหาว่าไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตราอื่นตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด

เนื่องจากขณะนี้ผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่และสภาพร่างกายที่อิดโรยมาก ไม่สามารถมาร้องความขอเป็นธรรมได้ด้วยตัวเอง ทนายความของผู้ต้องหาจึงมาดำเนินการแทนตามกฎหมาย

จนถึงตอนนี้ ตะวันได้ถูกคุมขังและประกาศอดอาหารอยู่ในทัณฑสถานหญิงกรุงเทพนับตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. 2565 จนถึงวันที่ 23 พ.ค. 2565 มาเป็นระยะเวลา 34 วันแล้ว  

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ศาลให้ฝากขัง “ตะวัน-เก็ท” ต่ออีก 7 วัน ก่อนนัดไต่สวนประกันตะวัน 26 พ.ค. – ไม่อนุญาตให้ประกันเก็ทครั้งที่ 3 อ้างไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

‘สมบัติ’ เป็นห่วงครอบครัวข้างนอก แต่กำลังใจยังดี ขณะ ‘ตะวัน’ ยังอดอาหารต่อ แม้จะวูบ หน้ามืดทุกวัน อาการอาจทรุดหากยังถูกฝากขังผัดหน้า | ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

X