ช่วง ก.ย. – ต.ค. 65 ยอดผู้ถูกคุกคามทะยานสูงถึง 56 ราย รวมเยาวชน เหตุบุคคลสำคัญลงพื้นที่ยังเป็นปัจจัยหลัก

จากการติดตามสถานการณ์คุกคามและละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางเมืองโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ในช่วงระหว่างเดือน ก.ย. – ต.ค. 2565  ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่ามีจำนวนผู้ถูกละเมิดสิทธิเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 56 คน และหนึ่งในนั้นเป็นเยาวชนมีอายุเพียง 15 ปี 

เมื่อพิจารณาสถานการณ์ตามแต่ละภูมิภาคพบว่า ในระยะ 2 เดือนที่ผ่านมาเกิดการคุกคามเกิดขึ้นในภาคอีสานมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ โดยมีจำนวนผู้ถูกคุกคามเป็นจำนวนอย่างน้อย 18 ราย ขณะที่ภาคเหนือและภาคใต้มีจำนวนผู้ถูกคุกคามเท่ากันคือ อย่างน้อย 14 ราย และภาคกลางมีจำนวนอย่างน้อย 9 ราย ซึ่งเป็นเยาวชนหญิงอายุ 15 ปี จำนวน 1 ราย

.

.

ในภาพรวมตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงปัจจุบัน (10 พ.ย. 2565) ศูนย์ทนายฯ ได้รับแจ้ง/ทราบข้อมูลการถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองจากทั้งนักกิจกรรมและประชาชนทั่วไปเป็นจำนวนมากถึง 280 ราย ซึ่งในจำนวนดังกล่าวนับเป็นเยาวชนจำนวน  20 ราย 

อย่างไรก็ดี ตัวเลขเหล่านี้เป็นเพียงข้อมูลที่ศูนย์ทนายฯ ได้รับแจ้ง/ทราบเท่านั้น ซึ่งคาดว่าในความเป็นจริงคงจะมีจำนวนมากกว่านี้ และจำนวนดังกล่าวยังได้มาจากการไม่นับคนซ้ำ ขณะที่ในความเป็นจริงผู้ถูกคุกคามบางรายได้เผชิญกับการถูกคุกคามซ้ำๆ อยู่เสมอ ไม่เว้นแม้แต่เยาวชน

.

“บุคคลสำคัญลงพื้นที่” หัวใจของการคุกคามเพื่อปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง

สาเหตุสำคัญของการคุกคามคือ เพื่อปิดกั้นการแสดงออกทางการเมืองในระหว่างที่มีการลงพื้นที่ของบุคคลสำคัญ เป็นต้นว่าการเสด็จของสมาชิกราชวงศ์ และการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี 

โดยตลอด 2 เดือนมานี้ มีตัวอย่างการติดตามคุกคามเนื่องจากการเสด็จของสมาชิกราชวงศ์ที่สำคัญ ได้แก่ กรณีการตามประกบและถ่ายรูป 2 นักกิจกรรมอุดรธานี เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2565 ขณะไปร่วมแสดงความยินดีกับพี่ชายและคนรู้จักในงานรับปริญญาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ซึ่งเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ เสด็จไปมอบปริญญา รวมถึงการติดตามสอบถามข้อมูลไปจนถึงบุกที่พักเพื่อเช็คพิกัดนักกิจกรรมอีก 2 ราย ก่อนการเสด็จถวายผ้าพระกฐินของพระเทพฯ ที่ จ.อุดรธานี วันที่ 25 ต.ค. 2565

ขณะที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีเหตุการณ์เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2565 “นัท” นักกิจกรรมจากกลุ่มเยาวรุ่นทะลุเพดาน ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจำนวน 5 – 6 คน ติดตามคุกคามตั้งแต่ปากซอยบ้านถึงลานคนเมือง เหตุเพราะจะมีขบวนเสด็จของในหลวงรัชกาลที่ 10 และราชินี ในวันเดียวกัน 

ในส่วนของภาคใต้ตอนล่างปรากฏว่ามีกรณีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งทหารและตำรวจพากันไปเยี่ยมบ้านนักกิจกรรมอย่างน้อย 10 ราย ในช่วงก่อนการเสด็จ จ.ปัตตานี ของรัชกาลที่ 10 และราชินี ทั้งมีการติดตามนักกิจกรรมใน จ.สุราษฎร์ธานี อีกอย่างน้อย 3 ราย ก่อนการลงพื้นที่ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างการคุกคามในพื้นที่อีสาน ที่สืบเนื่องมีบุคคลสำคัญเดินทางไปลงพื้นที่อยู่บ่อยครั้งตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ด้วยเพราะเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัย ซึ่งการลงพื้นที่แต่ละครั้งได้นำไปสู่การติดตาม-คุกคามนักกิจกรรมการเมือง ตลอดจนปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนทั่วไป

อาทิ กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงพื้นที่รับฟังรายงานการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่ จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2565 ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่จำนวนมากได้เข้าขัดขวางกิจกรรมชูป้ายขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ของนักกิจกรรมในขอนแก่น ทั้งมีตำรวจนอกเครื่องแบบคอยทำหน้าที่ตามถ่ายภาพนักกิจกรรมในระยะประชิด จนนักกิจกรรมรู้สึกถูกคุกคามเกินไป นำไปสู่เหตุชุลมุน และนักกิจกรรม 2 รายถูกตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบทำร้ายร่างกาย

อีกกรณีหนึ่งเกิดขึ้นขณะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.อุบลราชธานี ในวันที่ 4 ต.ค. 2565 ซึ่งมีผลทำให้นักกิจกรรมอย่างน้อย 6 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามคุกคาม ทั้งในรูปแบบการโทรติดต่อ เฝ้าหน้าบ้าน กระทั่งตามประกบแม้จะยืนยันว่าไม่ได้มีแผนการจะทำกิจกรรมใด และมีนักกิจกรรมและประชาชนอย่างน้อย 2 ราย ถูกตำรวจเข้าขัดขวางเพื่อป้องกันไม่ให้เข้าใกล้บริเวณที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเดินทางผ่าน ทั้งยังมีนักกิจกรรมถูกบังคับให้หยุดไลฟ์และลบคลิปเหตุการณ์ที่ประชาชนถูกตำรวจปิดกั้นการแสดงออกด้วย

นอกจากนี้ มีการเปิดเผยข้อมูลด้วยว่าไม่เพียงแต่คนที่เคยทำกิจกรรมเท่านั้นที่ถูกคุกคาม หากแต่ประชาชนทั่วไปที่บังเอิญใส่เสื้อสีแดงขับขี่รถเข้าเมืองเพื่อทำธุระก็ถูกตำรวจที่ตั้งด่านเรียกให้จอดรถ เพื่อถ่ายรูป พร้อมสอบถามว่า “รู้มั้ย นายกฯ มา เขาห้ามใส่เสื้อสีแดง”

หรืออีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 28 ต.ค. 2565 พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางไป จ.บึงกาฬ และทำให้ประชาชนและนักกิจกรรม โดยเฉพาะกลุ่มคณะราษฎรบึงกาฬ ต่างถูกเจ้าหน้ารัฐติดตามเพื่อปรามการออกมาเคลื่อนไหว เช่นเดียวกันกับการลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์น้ำท่วมของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่ จ.ศรีสะเกษ เมื่อ 12 ต.ค. 2565 ที่ส่งผลทำให้มีการคุกคามนักศึกษา-นักกิจกรรมอย่างน้อย 2 ราย โดยเป็นการคุกคามในรูปแบบการไปติดตามและสอบถามข้อมูลของบุคคลเป้าหมายจาก รปภ.ประจำหอพักนักศึกษา โดยทางตำรวจได้ฝากข้อความไว้ด้วยทำนองว่า นายจะมา ไม่อยากให้ (นักกิจกรรม) ไปรับนายอีก

.

นอกจากกรณีต่างๆ ข้างต้นแล้ว ยังมีกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกผู้ดูแลสถานที่จัดงานศิลปะ “คืนความยุติธรรม” เข้าไปพูดคุยก่อนจัดงาน โดยทางเจ้าหน้าที่สั่งห้ามมิให้มีการชู 3 นิ้ว และห้ามมิให้พูดถึงเรื่อง ม.112 รวมไปถึงเรื่องของสถาบันกษัตริย์ จนเป็นเหตุให้กลุ่มผู้จัดงานดังกล่าวจำเป็นต้องเลื่อนกำหนดการออกไปจากเดิม
และยังมีกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ทองหล่อ กระทำการคุกคาม“บีม” นักกิจกรรมการเมืองวัย 18 ปี และผู้ปกครอง เพื่อตรวจเช็คพิกัดว่าบีมอยู่ที่ไหน และมีแผนการจะทำกิจกรรมใดหรือไม่ โดยฝ่ายเจ้าหน้าที่อ้างว่า “นายสั่ง” ให้มาเพราะบีมมีชื่ออยู่ในรายชื่อเฝ้าระวังระดับสีแดง

.

ปิดกั้นเยาวชนหญิง อายุ 15 ปี และคุกคาม “เด็กชาย อายุ 13 ปี”  ผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง

ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีเหตุการณ์คุกคาม ปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองเกิดขึ้นกับเยาวชนด้วยดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างน้อย 2 กรณี ได้แก่ เหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ทราบสังกัดตำหนิ “เยาวชนหญิงอายุ 15 ปี” เพียงเพราะเธอสงสัยว่าขบวนรถซึ่งติดสติกเกอร์ระบุว่า เป็นทรัพย์สินของสำนักงานพระราชวังที่แล่นผ่านหน้าโรงเรียนของเธอนั้นกำลังจะไปที่ใด และเมื่อเธอเข้าไปสอบถามกับนายตำรวจคนดังกล่าวก็ถูกตะคอกกลับมาทำนองว่า “ไม่ต้องมาเสือก”

อีกกรณีหนึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ “เอีย” เยาวชนนักกิจกรรมอายุ 13 ปี ถูกกลุ่มชายไม่ทราบชื่อจำนวน 6 คน ข่มขู่และทำร้ายร่างกายระหว่างขับขี่รถจักรยานยนต์บริเวณพระราชวังจิตรลดาฯ เมื่อเวลาประมาณ 03:30 น. ของวันที่ 22 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยชายกลุ่มดังกล่าวได้ขับรถตามประกบและสั่งให้เอียจอดรถ ซึ่งเมื่อจอดรถแล้ว ทั้งหมดก็เข้ามาประชิดตัว จากนั้นชายคนหนึ่งใช้มีดขนาดยาวจ่อข่มขู่ แล้วต่อยเข้าที่ใบหน้าพร้อมถามว่า “มึงเก่งหรอ” ซึ่งเอียกล่าวว่า ในตอนนั้นเขาถูกต่อยจนปากแตก และสังเกตเห็นว่าคนกลุ่มนี้มีอาวุธปืนขนาดสั้นไม่ทราบรุ่นและยี่ห้อพกติดตัวมาด้วย 

ซึ่งสำหรับเหตุการณ์นี้ เอียยอมรับว่าเหตุการณ์อาจจะยังไม่สามารถระบุตัวตนผู้กระทำผิดได้อย่างชัดเจน แต่ก็อาจมองได้ว่าเกี่ยวเนื่องกับการที่ตนเป็นนักกิจกรรมการเมือง ทั้งนี้เพราะยืนยันได้ว่าไม่เคยมีปัญหากับใคร

ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์การละเมิดสิทธิและคุกคามนักกิจกรรมทางการเมืองที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปี 2565 พบว่าเอียเป็นนักกิจกรรมเยาวชนหนึ่งที่ถูกติดตามคุกคามอย่างหนัก โดยเอียมักถูกติดตามสอดแนมอยู่เสมอ เคยถูกควบคุมตัว ค้นกระเป๋า และพาไปลงบันทึกประจำวันโดยไม่มีเหตุอันควรขณะกำลังเดินทางไปร่วม #ม็อบ13มิถุนา65 รวมถึงเคยถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจำนวน 5 – 7 คนเข้าควบคุมตัวไว้กว่า 2 ชั่วโมง เมื่อวันที่  17 ส.ค. 2565 ที่ห้างสยามพารากอน เหตุเพราะประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่ห้างดังกล่าว

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง :

> 2 เดือนแรกปี 2565: จนท.รัฐติดตามประชาชนระหว่างมีขบวนเสด็จเข้มข้น ยอดผู้ถูกคุกคามไม่น้อยกว่า 83 ราย

> 2 เดือน ผู้ถูกคุกคามโดยจนท.รัฐ เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 66 ราย เหตุจากมีขบวนเสด็จยังเป็นปัจจัยสำคัญ 

> ครึ่งปี 65 ยอดรวมประชาชนและนักกิจกรรมถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามอย่างน้อย 191 ราย เป็นเยาวชนไม่ต่ำกว่า 19 คน อายุต่ำสุดคือ 13 ปี

> สถานการณ์คุกคาม-ปิดกั้นกิจกรรมการเมืองช่วง ก.ค. – ส.ค. 65 ยังพบเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 33 กรณี 

.

X