ครึ่งปี 65 ยอดรวมประชาชนและนักกิจกรรมถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามอย่างน้อย 191 ราย เป็นเยาวชนไม่ต่ำกว่า 19 คน อายุต่ำสุดคือ 13 ปี

ปี 2565 ดำเนินมาได้ครึ่งทาง เช่นเดียวกับสถานการณ์การใช้อำนาจนอกกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการเข้าติดตามคุกคามประชาชนและนักกิจกรรมถึงที่พักอาศัย ที่ทำงาน สถานศึกษา รวมทั้งมีการเรียกตัวไปพูดคุย โดยปราศจากหมายเรียกใดๆ พฤติการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและถูกทำให้กลายเป็นเรื่อง “ปกติ” โดยไม่สามารถตรวจสอบอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในปฏิบัติการเช่นนี้ได้

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ต้นปี 2565 มีประชาชนและนักกิจกรรมถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าติดตามคุกคามไปถึงบ้านพัก หรือเรียกตัวไปพูดคุย ในช่วงระหว่าง  ม.ค. – ก.พ. อย่างน้อย 83 ราย นับเป็นเยาวชน 9 คน, มี.ค. – เม.ย. อย่างน้อย 66 ราย นับเป็นเยาวชน 8 คน และในช่วง พ.ค. – มิ.ย. นี้ มีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 42 ราย นับเป็นเยาวชน 4 คน 

*ข้อมูล ณ วันที่ 1 ก.ค. 2565

**หมายเหตุ เนื่องจาก ณ ปัจจุบันมีเยาวชน 2 รายที่อายุครบ 18 ปีบริบูรณ์แล้ว จึงรวมได้ทั้งหมด 19 คน

เมื่อพิจารณาตามภูมิภาค เฉพาะเดือน พ.ค. – มิ.ย. แล้วพบว่าพื้นที่ภาคกลางมีจำนวนผู้ถูกติดตามคุกคามสูงเป็นอันดับหนึ่ง คืออย่างน้อย 16 ราย ขณะที่ในภาคอีสาน 13 ราย ภาคเหนือมี 10 ราย และภาคใต้ 3 ราย

ทั้งหมดนี้ทำให้ยอดรวมผู้ถูกติดตามคุกคามในช่วงครึ่งปี 2565 นี้ มีจำนวนมากกว่า 191 ราย นับเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ได้ 19 คน และเป็นเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ได้ 2 คน ซึ่งทั้งคู่มีอายุเพียง 13 ปีเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงจำนวนที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรับทราบข้อมูลเท่านั้น คาดว่าคงจะมีจำนวนประชาชนและนักกิจกรรมถูกติดตามคุกคามเป็นจำนวนมากกว่านี้

.

คุกคามเพราะมีบุคคลสำคัญลงพื้นที่และมีขบวนเสด็จ

การถูกติดตามคุกคามโดยภาพรวมในรอบสองเดือนเศษที่ผ่านมา ยังมีสาเหตุสำคัญมาจากการมี “บุคคลสำคัญลงพื้นที่” โดยบุคคลสำคัญ ได้แก่ ทั้งที่เป็นสมาชิกราชวงศ์ และผู้นำรัฐบาล ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาใช้วิธีติดตามคุกคามนักกิจกรรมหรือประชาชนที่เคยแสดงออกทางการเมือง เพื่อตรวจสอบความเคลื่อนไหวและควบคุมการแสดงออก

ในภาคอีสานที่ จ.อุบลราชธานี มีกรณีเจ้าหน้าที่ติดตามคุกคามและจับกุมนักกิจกรรม ทั้งที่ไม่มีใครประกาศว่าจะทำกิจกรรมใดๆ ในระหว่างที่มีการเสด็จของในหลวงและราชินีช่วงปลายเดือนเมษายน หากแต่การเสด็จดังกล่าวก็มีผลทำให้นักกิจกรรมถูกติดตามและถ่ายภาพเพื่อเช็คพิกัดที่อยู่เป็นระยะๆ 

นอกจากนี้แล้วในพื้นที่ภาคอีสานยังมีกรณีการติดตามคุกคามนักกิจกรรมที่เนื่องมาจาก ร.10 และราชินี เสด็จไปที่วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม โดยศูนย์ทนายความเพื่อนสิทธิมนุษยชนได้รับข้อมูลว่ามีการคุกคามนักกิจกรรมกลุ่มดึงดินและกลุ่มอุดรพอกันทีอย่างหนัก รวมถึงมีการกดดันสถานศึกษาและผู้ปกครองของนักกิจกรรมกลุ่มดังกล่าว เพื่อสอบถามข้อมูลชื่อ-สกุล ที่อยู่ และติดตามเช็คพิกัดในระหว่างก่อนการเสด็จด้วย

ในส่วนของภาคใต้ เมื่อ 25 เม.ย. 2565 พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา ลงพื้นที่ จ.สงขลา และ จ.พัทลุง มีนักกิจกรรมในพื้นที่อย่างน้อย 7 ราย ถูกตำรวจไปหาที่บ้าน  โดยหนึ่งในนั้นถูกตำรวจควบคุมตัวไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมายเป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมง เหตุเพียงเพราะต้องการเข้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

ในพื้นที่ภาคเหนือ อดีตแกนนำเสื้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่ ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนัดหมายสอบถามข้อมูลความเคลื่อนไหว ก่อนการลงพื้นที่เชียงใหม่และแม่ฮ่องสอนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน

.

คุกคามโดยไม่ทราบสาเหตุ

นอกเหนือจากการมีบุคคลสำคัญลงพื้นที่หรือมีขบวนเสด็จแล้ว การติดตามคุกคามนักกิจกรรมและประชาชนในอีกหลายกรณีไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ และการติดตามคุกคามโดยไม่ทราบสาเหตุนี้ นับเป็นเหตุผลลำดับที่สองของการคุกคามประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

อาทิ ในกรณีของสุปรียา อดีตนักกิจกรรมกลุ่มเชียงรายปลดแอกและผู้ต้องหาในคดี 112 จากเหตุการติดป้ายข้อความ “งบสถาบันฯ>งบเยียวยาประชาชน” ก็เปิดเผยว่ามักจะถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามอยู่เสมอ โดยล่าสุดเมื่อกลางเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา สุปรียาได้รับแจ้งจากเพื่อนบ้านว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในเครื่องแบบ-นอกเครื่องแบบ ประมาณ 4-5 นาย เดินทางมาด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล 2 คัน เข้าไปจอดและตรวจค้นบ้านตามภูมิลำเนาของเธอในจังหวัดเชียงราย พร้อมถ่ายภาพบ้านของเธอ โดยไม่มีการแสดงหมายค้นหรือหมายจับ หรือแจ้งสาเหตุใดๆ ในการเข้าไปตรวจดูในบริเวณบ้าน

อีกกรณีหนึ่งคือ “พอช” เยาวชนอายุ 17 ปี ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบติดตามคุกคามถึงบ้านมากกว่า 8 ครั้ง ภายในเวลาหนึ่งอาทิตย์ โดยมีพฤติการณ์ส่วนใหญ่เป็นการตามมาถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ สอดส่องที่พักอาศัย และยังได้เข้ามาพูดคุยกับสมาชิกในครอบครัวด้วย ซึ่งพอชระบุว่าในการคุกคามครั้งหนึ่งเจ้าหน้าที่ได้บอกว่าพวกเขามาทำตามหน้าที่ มาเพื่อดูแลรักษาความปลอดภัย แต่กระนั้นก็ไม่วายพูดจาเชิงข่มขู่ยายของพอชด้วยว่า “บอกให้น้องเขาเลิกทำกิจกรรม ไปม็อบ ถ้ายังไม่หยุด ระวังตัวเอาไว้ให้ดี” ทั้งนี้ พอชเองกล่าวด้วยเขาเองก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดในการถูกติดตามอย่างต่อเนื่องนี้

และกรณีของ “ทองแสง” สมาชิกกลุ่มอุตรดิตถ์ปลดแอก ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาติดตามถ่ายรูปถึงที่บ้าน โดยอ้างว่าเป็นสายตรวจ ผ่านมาถ่ายภาพบ้านหลายหลัง แต่หลังขอดูโทรศัพท์ก็พบว่าถ่ายบ้านของเขาอยู่หลังเดียว ทั้งยังมีการถ่ายป้ายทะเบียนรถ โดยไม่ทราบเหตุผลการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ซึ่งสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่รัฐ

อนึ่ง ยังมีการใช้อำนาจควบคุมตัวโดยมิชอบ 2 นักกิจกรรม จ.นครสวรรค์ เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคม โดยเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวจากสถานศึกษา ค้นโทรศัพท์มือถือ ก่อนจะนำตัวไปสอบปากคำ ทั้งที่ไม่มีทนายเข้าร่วมด้วย แม้ในกรณีนี้จะทราบถึงสาเหตุแห่งการคุกคาม เนื่องจากทางตำรวจแจ้งว่าเป็นการ “เชิญตัวไปพูดคุยกัน” เพื่อตามหาแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “มังกรปฏิวัติ” หากแต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีหมายใดๆ ตามกฎหมาย

.

แม้แสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ก็ยังถูกห้าม

การถูกติดตามคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐยังรวมถึงการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ด้วย ซึ่งสถิติในวาระครึ่งปี 2565 ชี้ว่ามีผู้ติดตามคุกคามเนื่องมาจากการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ อาทิ การรณรงค์เข้าชื่อ การชูป้าย และการติดป้าย เป็นจำนวนอย่างน้อย 26 ราย

กรณีตัวอย่างที่สำคัญ คือ การห้ามมิให้ผู้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในทางการเมืองเข้าไปยังพื้นที่จัดงานรับปริญญาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 27 – 29 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยห้ามทั้งผู้ร่วมงานที่สวมใส่เสื้อหรือชูป้ายอันมีข้อความเกี่ยวกับการเมือง ตลอดจนบัณฑิตที่เพียงแต่ต้องการถ่ายภาพกับแผ่นป้ายข้อความซึ่งได้มาจากชั้นเรียนรัฐศาสตร์

หรือที่จังหวัดแพร่ ซึ่งมีผู้ขึ้นป้ายข้อความ “ประเทศนี้เป็นของประชาชน” ในโอกาสครบรอบ 90 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก็พบว่าเจ้าหน้าที่ตึกที่นำป้ายไปติด ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าพูดคุย และกดดันให้นำป้ายดังกล่าวลง เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 65

.

การติดตามประชาชนที่แชร์โพสต์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

สาเหตุการเข้าติดตามคุกคามของเจ้าหน้าที่ที่ยังพบอย่างต่อเนื่อง คือผู้แชร์โพสต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์  โดยในรอบสองเดือนที่ผ่านมา มีประชาชนทั่วไปอย่างน้อย 6 ราย ในจังหวัดทั้งทางภาคกลาง เหนือ และอีสาน ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหน่วยงานพื้นที่ และหน่วยสันติบาล เข้าไปหาถึงบ้าน  โดยทราบว่าบางส่วนมีสาเหตุมาจากการแชร์โพสต์ข้อความจากเพจคนไทยยูเค และเพจของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์

เจ้าหน้าที่ที่เข้าติดตามมักจะแจ้งให้ลบโพสต์ที่เฉพาะเจาะจงดังกล่าว และมีการให้เซ็นเอกสารว่าได้แชร์ข้อความจริง และจะไม่กระทำการเช่นนี้อีก ขณะที่มีกรณีหนึ่ง หลังจากตำรวจมาพบที่บ้านแล้ว ยังมีการเรียกตัวไปที่สถานีตำรวจในอีกวันหนึ่ง โดยไม่มีหมายใดๆ ด้วย เพื่อเซ็นเอกสารข้อตกลงในลักษณะดังกล่าว 

.

รูปแบบการคุกคามโดยการไปถึงบ้าน หรือพื้นที่ส่วนตัว พบมากที่สุด

รูปแบบของปฏิบัติการคุกคามติดตามนักกิจกรรมและประชาชน ยังคงมีลักษณะคล้ายคลึงกันที่ผ่านๆ มา กล่าวคือ เจ้าหน้าที่รัฐมักใช้วิธีการไปหาที่บ้าน ที่ทำงาน ตลอดจนสถานศึกษาของบุคคลเป้าหมายเป็นสำคัญ โดยในครึ่งปี 2565 นี้ เจ้าหน้าที่รัฐใช้วิธีการดังกล่าวไปอย่างน้อย 140 ครั้ง ซึ่งการคุกคามรูปแบบนี้นอกจากจะสร้างความหงุดหงิดรำคาญใจและมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันแก่นักกิจกรรมที่เป็นบุคคลเป้าหมายแล้ว อีกทางหนึ่งยังสร้างความวิตกกังวลและความเครียดให้แก่บุคคลรอบข้างพวกเขาเหล่านั้นด้วย 

.

กล่าวได้ว่าโดยภาพรวมของสถานการณ์การติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐตลอดช่วงเวลาครึ่งปี 2565 จึงยังดำเนินไปอย่างเข้มข้น ทำให้ยังต้องติดตามสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนนี้ในเดือนต่อๆ ไปของปีนี้ 

ทั้งนี้ ประชาชนที่ถูกติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐเนื่องจากการแสดงออกทางการเมือง สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนมาที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในทุกช่องทาง

.

ย้อนอ่านรายงาน 

เดือน ม.ค.-ก.พ. >> 2 เดือนแรกปี 2565: จนท.รัฐติดตามประชาชนระหว่างมีขบวนเสด็จเข้มข้น ยอดผู้ถูกคุกคามไม่น้อยกว่า 83 ราย

เดือน มี.ค.- เม.ย. >> 2 เดือน ผู้ถูกคุกคามโดยจนท.รัฐ เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 66 ราย เหตุจากมีขบวนเสด็จยังเป็นปัจจัยสำคัญ

.

X